TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเงินล่องหน … กับ New Normal

เงินล่องหน … กับ New Normal

ในยุค New Normal ที่อะไรก็เปลี่ยนไป…การเปลี่ยนแปลงของโลกที่ผ่าน ๆ มาใช้เวลาค่อยเป็นค่อยไปจนเกิดการยอมรับในวงกว้าง แต่ครั้งนี้ไม่ใช่การยอมรับความเปลี่ยนแปลง แต่เป็นการทำใจให้ยอมรับเสียมากกว่า… การเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลที่ว่าเร็ว ยังเร็วไม่เท่ายุคโควิด-19

อันที่จริงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายออนไลน์และฟู้ด เดลิเวอรี่ ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด การ Work From Home การประชุมออนไลน์ การดูแลสุขอนามัย เหล่านี้เป็นแนวโน้มที่เห็นชัดมาอย่างต่อเนื่อง แต่ถูกสปีดให้เร็วขึ้นภายในไม่กี่เดือน รวมไปถึงเรื่องของการจ่ายเงินอิเล็คทรอนิกส์ (E-Payment) หรือ เงินล่องหน คือ มีตัวเลขของเงิน แต่ไม่สามารถจับต้องได้

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการผลักดันการใช้ E-Payment หรือเงินล่องหนมาต่อเนื่อง คือ มีตัวเลขของเงิน แต่ไม่สามารถจับต้องได้ หลายประเทศสร้างบรรยากาศและกระตุ้นการจ่ายเงินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในชีวิตประจำวัน เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้เงินที่เป็นเหรียญหรือธนบัตร

นั่นก็เนื่องมาจากหลายปัจจัย ทั้งต้นทุนการผลิต การต้องมีทุนสำรองเงินตรา การปลอมแปลงธนบัตร การสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของเงิน ไม่ให้เกิดการไซฟ่อนเงิน หรือ ฟอกเงิน และอื่น ๆ อีกมากมาย…

แต่การใช้ E-Payment ก็ยังไปได้ไม่รวดเร็วนัก โดยเฉพาะในประเทศไทย แม้ว่าตอนนี้มีการปรับตัวมากขึ้น แต่ก็เรียกว่าไม่ถึง 50% ขณะที่จีน และอินเดีย ปรับในเรื่องนี้ได้เร็วมาก

การจับจ่ายแบบไม่ต้องสัมผัสเงิน

การมาของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการจับจ่ายเงินโดยการสัมผัสเงินเช่นเดียวกัน เพราะความหวาดระแวง เนื่องจากไวรัสมหาภัยตัวนี้มีชีวิตอยู่ได้หลายวัน โดยจะกระจายไปเกาะติดตามพื้วผิวต่าง ๆ รวมถึงบนพื้นผิวของธนบัตรและเงินเหรียญ โดยสามารถอยู่บนพื้นผิวกระดาษได้นาน 5 วัน และอยู่บนพื้นผิวสแตนเลส หรือ ทองแดง ได้นาน 2-3 วัน

มาสเตอร์การ์ด ผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหญ่ของโลก เผยแพร่ผลสำรวจการใช้จ่ายเงินผ่านออนไลน์ หรือที่ มาสเตอร์การ์ดเรียกว่า Contactless Payments คือ การจ่ายเงินโดยไม่สัมผัสธนบัตร หรือเหรียญ ในประเทศไทย ก็ PromtPay โดยมาสเตอร์การ์ดนำสถิติของเดือนมีนาคม 2563 ในประเทศต่างๆ 19 ประเทศ พบว่ามีการจ่ายเงินในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ประชาชนทั่วโลกประมาณ 79% ประชาชนในเอเชียแปซิฟิก 91% หันมาจับจ่ายแบบ Tap and Go หรือแตะบัตรแล้วตัดค่าใช้จ่ายเลย เช่น บัตรรถไฟฟ้า คือ ไม่ต้องยื่นบัตรให้ ไม่ต้องเซ็น ไม่ต้องรับสลิป เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสให้มากที่สุด

มาสเตอร์การ์ดประเมินแนวโน้มการชำระเงินแบบไม่มีการสัมผัส หรือ จ่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ จะเติบโตอย่างรวดเร็ว เหมือนอย่างในอินเดีย ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด

ปัจจุบันในอินเดียมีจุดชำระเงินในลักษณะนี้กว่า 2 ล้านจุดทั่วประเทศ ซึ่งสถิติของปี 2019 พบว่ามีเติบโตของการชำระเงินแบบไม่มีการสัมผัสถึง 15 เท่า ขณะที่ธนาคารกลางอินเดียก็ยังออกกฎที่เอื้อให้มีสามารถชำระเงินในรูปแบบของ Tap and Go กับบัตรเพื่อการชำระเงินต่าง ๆ ด้วย

นอกจากนี้ก็มีรายงานของ Ingenico Group and Freedom Pay ก็มีข้อมูลสอดคล้องกันที่ระบุว่า ผู้บริโภคในยุคมิลเลนเนียน (อายุระหว่าง 23 ถึง 38 ปี) และ Gen Z (อายุตั้งแต่ 25 ปีลงมา) มีพฤติกรรมที่จะชำระเงินในรูปแบบของการไม่ต้องสัมผัสเงิน เพราะสะดวกกว่า ในฝั่งของผู้ขาย ร้านค้าก็คงชอบเช่นกัน เพราะการตัดสินใจซื้อจะเร็วกว่ามาก

เมื่อแนวโน้มการชำระเงินแบบไม่ต้องสัมผัสเงินเติบโตขึ้น เราก็จะได้เห็นว่าอนาคตตามร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร คงจะนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ ไม่ว่าจะเป็น Tap and Go ทั้งการจ่ายผ่านบัตร หรือ โทรศัพท์มือถือ การใช้แอบพลิเคชั่น E-Wallet หรือกระเป๋าเงินออนไลน์ ผ่านโทรศัพท์มือถือทั้ง IOS และ Android ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีอยู่แล้ว แต่จะมากขึ้น มีการพัฒนามากขึ้น…

แต่สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี คือ แต่ผู้บริโภคที่ถูกบังคับให้ต้องปรับตัว แล้ววันหนึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเรื่องปกติ…และธนบัตรจะกลายเป็นอดีต ที่เราคงหาดูได้ผ่านพิพิธภัณฑ์ออนไลน์

ภาพประกอบจาก mastercard.co.th

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ