TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessเคล็ดลับการบริหารความคิดและเวลา แบบ “อโณทัย เวทยากร”

เคล็ดลับการบริหารความคิดและเวลา แบบ “อโณทัย เวทยากร”

ในแวดวงเทคโนโลยี ไม่มีใครไม่รู้จักผู้ชายคนนี้ “อโณทัย เวทยากร” ผู้ที่คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์มากกว่า 30 ปี สั่งสมประสบการณ์การทำงานจนประสบความสำเร็จ ขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงในระดับโลกของบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอย่าง “เดลล์ เทคโนโลยีส์” 

“อโณทัย” ดูแลกิจการทั้งหมดของบริษัทเดลล์ฯ ในตลาดเกิดใหม่ของเอเชีย 28 ประเทศ ดูแลตั้งแต่การวางแผนยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการ บุคลากร การทำงานร่วมกับพันธมิตรในแต่ละประเทศ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าในแต่ละประเทศ 

อโณทัย เวทยากร รองประธานบริหาร ตลาดเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชีย และกลุ่มธุรกิจคอนซูเมอร์ภูมิภาคเอเชียใต้ เดลล์ เทคโนโลยีส์ กล่าวกับ The Story Thailand ว่า หลายคนชอบถามคำถามว่า “เป็นคนไทยแล้วขึ้นมาเป็นผู้นำขององค์กรระดับโลกและดูแลประเทศจำนวนมาก ทำอย่างไร” คนไทยไม่ได้ด้อยกว่าประเทศไหนในโลก คนไทยมีความสามารถ อยู่ที่ว่าจะมีเวทีให้แสดงออกและมีความกล้าที่จะออกมาสู้กับโลกภายนอกหรือไม่

​17 ปี กับเดลล์ เทคโนโลยีส์ “อโณทัย” เริ่มจากการเป็นผู้จัดการประจำประเทศไทย และได้รับความไว้วางใจให้ดูแลอินโดจีน ซึ่งค่อย ๆ สั่งสมประสบการณ์ ทั้งเรื่องทักษะการบริหาร การปฎิสัมพันธ์กับผู้คนมากหน้าหลายภาษาต่างวัฒธรรม การทำงานกับรัฐบาลด้วยกฎข้อบังคับที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งตรงนี้เป็นพื้นฐานทีดีสำหรับตัวเขา ซึ่งดูแลตลาดอินโดจีนมา 8-9 ปี ก่อนได้รับการโปรโมทให้มาดูแลภูมิภาคที่ใหญ่ขึ้น 

“ความเป็นคนไทยมีความแตกต่างอยู่ 1-2 จุด คือ ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ทำให้ทำงานด้านความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้ดีกว่า ทำให้เขามีแรงบันดาลใจในการทำงานด้วย และสามารถข้ามข้อจำกัดในการทำงานกับคนต่างชาติ เวลาอยู่ในที่ประชุม เราจำเป็นที่จะต้องออกความเห็น ต้องข้ามข้อจำกัดให้ได้ และมีส่วนร่วมในการประชุม ออกความเห็น ทำให้ผู้บริหารระดับสูงมองเห็นเรา และเข้าใจในศักยภาพของเรา และรู้ว่าเราสามารถทำงานมากกว่าที่เราทำได้ในอนาคต คือ การแสดงผลงานและแสดงวิสัยทัศน์นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นในที่ประชุมหรือการทำงานจริง ๆ”

จากการที่สั่งสมประสบการณ์มานาน ทำให้ “อโณทัย” นอกจากจะดูแลคน ดูแลพันธมิตรได้แล้ว ยังสามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกค้าได้ 

“วันนี้เราข้ามจากการขายธรรมดา ไปนั่งข้าง ๆ ลูกค้า เป็น Trusted Advisor ที่จะช่วยเขาแก้ปัญหาทางธุรกิจ แก้ปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่ การเป็น Trusted Advisor ที่จะช่วยลูกค้าได้ เป็นเรื่องสำคัญมาก”

อย่างไรก็ดี การดูแล 28 ประเทศก็มีความท้าทายที่เจอ คือ ความแตกต่างทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมทำให้มนุษย์มีความแตกต่างกันในเรื่องการตัดสินใจ รวมถึงการดีลกับผู้คนและการใช้เทคโนโลยี นอกจากนี้ ความท้าทายอีกประการ คือ ความพร้อมและความเข้าใจเทคโนโลยีที่ไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศ และข้อจำกัดในการทำธุรกิจในแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องกฎระเบียบของรัฐบาล 

“ที่สำคัญ คือ ผมอยู่เมืองไทยต้องดูแล 28 ประเทศ มันคือ กรทำงานจากระยะไกล ต้องใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจในทีมงานและตัวแทนในแต่ละประเทศ” 

Business Resiliency และ Digital Mindset 

ผู้ประกอบการไทยมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้มากขึ้น ถ้าเทียบประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ประเทศไทยอยู่แถวหน้าในเรื่องการใช้เทคโนโลยี รวมถึงการยอมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ความพร้อมด้านเศรษฐกิจ และความพร้อมของคน 

“วันนี้เทคโนโลยีต้องมาอยู่แถวหน้า ต้องมานำธุรกิจ ต้องมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ธุรกิจ สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ลูกค้า ช่องทางการจำหน่ายใหม่ ๆ หรือรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ เทคโนโลยีจะเป็นแกนหลักสำคัญอย่างมากหลังวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเป็นตัวจุดชนวนทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกมีปัญหา ไม่เฉพาะเมืองไทยเท่านั้น” 

มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะตกกว่าประเทศอื่น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจส่งออกค่อนข้างสูง ซึ่งทั้งสองอุตสาหกรรมนี้ คือ ปัญหาใหญ่ เชื่อว่า อีก 1-2 ปี ธุรกิจนี้จะกลับมา แต่ธุรกิจต้องเตรียมความพร้อม

ทั้งนี้ มีอยู่ 2 เรื่องที่มีความสำคัญมากสำหรับธุรกิจปัจจุบัน คือ การสร้าง Business Resiliency และการยอมรับความคิดทางธุรกิจที่ใช้ดิจิทัลเป็นตัวนำ (Digital Mindset) 

Business Resiliency คือ ความยืดหยุ่นที่สามารถดำเนินธุรกิจได้ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวการณ์ไหน ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจะเห็นว่าธุรกิจไหนที่สามารถดำเนินการต่อได้ในภาวะวิกฤติก็จะมีรายได้หล่อเลรี้ยงบริษัทได้ การมีความพร้อมแบบนี้ ไม่ว่าจะนำเทคโนโลยีมาใช้ การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้ธุรกิจยังคงเดินหน้าได้ไม่ว่าจะเกิดสภาวกรณ์ไหน ไม่ว่าจะกี่เฟสก็ตาม 

การมี Digital Mindset เพราะวันนี้เทคโนโลยีไม่ได้อยู่หลังบ้าน แต่ต้องออกมาอยู่แถวหน้า การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น เช่น ระบบ IoT, Multicloud,​ AI และ Machine Learning เป็นต้น จะทำให้องค์กรธุรกิจก้าวต่อไปได้  ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะไหนก็ตามหลังจากโควิด-19 

วิกฤติโควิด-19 ทำให้การใช้เทคโนโลยีเร็วขึ้น หลังเกิดโควิด-19 ประมาณ 1-2 เดือน ยอดขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เติบโตมาก เนื่องจากองค์กรเริ่มมองเห็นว่าจะทำงานแบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องเป็น Mobility มากขึ้น ต้องทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Anywhere Culture) วัฒนธรรมการทำงานเริ่มเปลี่ยนแปลงไป 

การใช้เทคโนโลยีแบบ as a service มีมูลค่าเติบโตสูงขึ้นมากทั้ง Software-as-a-service และ Infrastructure-as-a-service จ่ายเป็นครั้ง ๆ รายเดือน หรือรายไตรมาส มีอัตราการเติบโตสูงมาก 

“พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการต้องปรับตัว ประเทศไทยต้องอยู่แถวหน้า ๆ ในการปรับตัว เพราะมีความจำเป็นต้องปรับตัวมากกว่าประเทศอื่น ๆ เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการทำธุรกิจในประเทศไทย”

เดลล์ มีองค์ความรู้ในการช่วยธุรกิจในการทรานส์ฟอร์มจากธุรกิจแบบดั้งเดิมมาเป็นธุรกิจที่มีความทันสมัยมากขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านงานสัมมนา อาทิ งาน Dell Technologies World และงาน Dell Technologies Forum ซึ่งคนไทยสามารถลงทะเบียนเข้าฟังได้ เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายว่าในสภาวการณ์แบบนี้ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการวางยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนธุรกิจทำอย่างไร

ทัศนคติและการบริหารจัดการเวลา

อโณทัย กล่าวว่า มี 2 เรื่องที่มีความสำคัญมากในการบริหารจัดการตัวเอง คือ ทัศนคติ (Attitude) และการบริหารจัดการเวลา (Time Management) 

ทัศนคติ เป็นเรื่องสำคัญมาก โดยส่วนตัวไม่ว่างานจะหนักแค่ไหน แต่รู้สึกว่ามันธรรมดา เพราะมีความรู้สึกว่าตื่นเช้ามาไม่ได้มาทำงาน แต่ตื่นเช้ามาใช้ชีวิต ตื่นมาแต่ละวันจัดการหน้าที่อย่างไร ความท้าทายที่ต้องเจอแต่ละวัน มีวิธีการจัดการแก้ปัญหาอย่างไร ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต เพราะคิดแบบนี้ จึงไม่รู้สึกว่ามันคือความเครียด 

การบริหารจัดการเวลา คือ ต้องแบ่งเวลาให้เป็น และเป็นสิ่งหนึ่งสำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งของผู้บริหาร เพราะว่าทุกคนมีเวลาในแต่ละวันเท่ากัน ใครที่สามารถบริหารจัดการเวลาได้ดีที่สุด ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด จะทำให้คนนั้นมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง 

“เราทำงานอย่างเดียวไม่ได้ เราไม่ใช่เครื่องจักร เราเป็นมนุษย์ เราต้องพยายามแบ่งเวลาบางส่วนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้างแล้วแต่ความชอบ อย่างผมเองใช้กีฬาและงานอดิเรกอย่างอื่นมาช่วยลดความเครียดลงไป” 

กีฬาโปรดของ อโณทัย คือ กอล์ฟ ซึ่งเขามองว่ากอล์ฟเป็นกีฬาทางธุรกิจ เป็นกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ การตีกอล์ฟทำให้ได้อยู่กับลูกค้า-คู่ค้า ได้นานขึ้นในสนามกอล์ฟ การพูดคุยไม่ได้อยู่ในห้องสี่เหลี่ยม แต่อยู่ในสนามที่กว้าง และการเล่นกีฬากอล์ฟ เปรียบเทียบกับการทำธุรกิจได้ เริ่มตั้งแต่ต้องมียุทธศาสตร์และการวางแผน ต้องเรียนรู้คนที่เล่นด้วย พันธมิตรและคู่แข่ง สามารถนำมาพัฒนาศักยภาพตัวเองได้จากการเล่นกีฬา  

“บางช็อตเราต้องตีข้ามน้ำ ซึ่งเป็นช็อตวัดใจ น้ำ .. เมื่อมองด้วยสายตามันกว้างมาก จะตีลูกให้ข้ามไปได้อย่างไร หลายครั้งเราตกหลุมพลางของตัวเอง ตกหลุมพลางสิ่งที่เรามองเห็น คือ น้ำ พอเห็นน้ำก็เกิดความกลัวว่าตีไปจะตกน้ำ และมันมักจะตกเสมอ”​

นักกอล์ฟเก่ง ๆ “น้ำ” ที่ขวางข้างหน้าไม่มีผลกับเขาเลย เขาจะมองข้ามน้ำไปเลย เขามองข้ามอุปสรรคและมองข้ามไปช็อตต่อไปแล้วว่าจะเอาลูกกอล์ฟไปตกลงตรงไหน เพื่อที่จะทำให้มีโอกาสที่จะชนะในการแข่งขันมากที่สุด การมองข้ามอุปสรรค หรือการวางแผนที่ดี หรือการบังคับจิตใจตัวเองจากความกลัวเป็นเรื่องสำคัญมาก 

ทำงานด้วยหลักอิทธิบาท 4

อโณทัย ยึดหลักการทำงานโดยใช้หลักอิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา เริ่มจากความรัก รักในสิ่งที่ทำ รักในการทำงาน ตื่นขึ้นมาแล้วมีความสุขในการทำงาน รักแล้วต้องหมั่นฝึกฝนฝีมือตลอดเวลา พัฒนาตัวเองให้เก่งยิ่งขึ้นไป ต้องมุ่งมั่น 

การทำงานไปวัน ๆ โดยไม่มีความมุ่งมั่น โอกาสที่จะสำเร็จจะยาก เวลามีความมุ่งมั่น จะมีการใส่ใจกับการทำงานจริง ๆ และสุดท้ายต้องนำประสบการณ์การทำงานกลับมาคิด วิเคราะห์ ปรับยุทธศาสตร์

“บางครั้งเราอาจจะแพ้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องสำคัญ การที่แพ้แล้วเอากลับมาวิเคราะห์ ปรับปรุงหาจุดบอดหาจุดอ่อนของเรา  เพื่อที่จะชนะในเกมถัดไป นี่สำคัญที่สุด 4 เรื่องนี้ คือ วงล้อแห่งความสำเร็จที่ผมใช้มาตลอด”

การทำงาน คือ การที่ต้องพัฒนาตัวเองทุก ๆ วัน การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ เชื่อเสมอว่าสิ่งที่พาให้มาประสบความสำเร็จในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าจะสามารถสำเร็จได้ในอนาคต (What got you here, won’t get you there) 

“เราต้องท้าทายตัวเองตลอดเวลา เมื่อเรารู้สึกว่านิ่งแล้ว อยู่กับที่แล้ว นั่นคือ เรากำลังถอยหลัง เราต้องบังคับให้ตัวเองก้าวต่อไป เก่งขึ้นไปเรื่อย ๆ พัฒนาตัวเอง อย่าหยุดเรียนรู้ องค์กรธุรกิจก็เช่นกัน อย่าหยุดที่จะปรับ เมื่อไรก็ตามที่ธุรกิจเริ่มนิ่งหรือเริ่มไม่พัฒนาต่อ จะต้องขับเคลื่อนพัฒนา ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ