TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessรถยนต์ไฮโดรเจน FCEV อีกทางเลือกของยุคพลังงานสะอาด

รถยนต์ไฮโดรเจน FCEV อีกทางเลือกของยุคพลังงานสะอาด

หลังจากที่เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว จากเดิมที่หลายคนคาดว่าจะไม่มีโอกาสพบเจอกับ Climate Change ก็พบว่าต้องมาเจอกับพายุฝนฟ้าคะนองที่รุนแรงบ่อยครั้ง แน่นอนว่าฤดูกาลที่ผิดเพี้ยนก็เริ่มมีให้เห็นแล้วในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เกิดความตื่นตัวเรื่องของความต้องการลดปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้หนึ่งในแนวทางที่จะช่วยชะลอไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นก็คือ การพัฒนายานยนต์ที่ไม่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า EV หรือ Electric Vehicle นั่นเอง

มาทำความเข้าใจกับคำว่า EV กันก่อน

Electric Vehicle นั้นภาษาที่ใช้เรียกกันทั่วไปก็คือ “รถไฟฟ้า” แต่ถ้าไม่อยากเปิดช่องให้คู่สนทนาพาออกไปที่ MRT กับ BTS ได้ก็คงต้องเรียกว่ากันยาวกว่าเดิมว่า “รถยนต์พลังไฟฟ้า” ในที่นี้ไม่ขอพูดถึงบรรดาลูกครึ่งแบบใช้น้ำมันสลับกับไฟฟ้าที่มีทั้งแบบขาร์จไฟโดยตรงได้กับแบบชาร์จไฟโดยตรงไม่ได้ ในที่นี่จะเล่ากันให้ฟังแต่เรื่องของ EV เต็มรูปแบบ แต่ EV ก็ยังมีที่มาของแหล่งกำเนิดพลังงานแยกออกมาอีก จากเดิมที่เข้าใจว่า EV นั้นต้องเป็นรถที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ล้วน ๆ พอไฟฟ้าในแบตใกล้จะหมดเราก็ต้องหาที่ชาร์จแบต อารมณ์เหมือนต้องหาที่ชาร์จแบตโทรศัพท์มือถืออย่างไรอย่างนั้นเลย ซึ่งเชื่อว่าหลายคนก็เข้าใจไปในแนวทางนี้ แต่ใครจะไปรู้ละว่า EV ก็ยังมีรุ่นที่ใช้แหล่งสร้างพลังงานแบบอื่นที่ไม่ใช่การใช้ไฟฟ้าตรง ๆ เพิ่มเข้ามาอีก

ไฮโดรเจนทำให้เราต้องรู้จักคำว่า FCEV

หลังจากที่ได้ทำความรู้จัก EV ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากการชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่แบบร้อยเปอร์เซนต์ ก็ขอเพิ่มเติมตัวอักษรที่ใช้ในการเรียกชื่อของรถประเภทนี้เข้าไปอีกหนึ่งตัว หลังจากนี้เราจะเรียกรถยนต์แบบนี้ว่า BEV (Battery Electric Vehicle) แล้วไฮโดรเจนมาจากไหน รถยนต์ไฮโดรเจนที่เรา ๆ ท่าน ๆ กำลังเริ่มได้ยินตอนนี้ แท้จริงแล้วก็ควรจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มของ EV เช่นเดียวกัน แตกต่างกันที่รถยนต์ประเภทนี้มีการใช้ก๊าซไฮโดรเจนเป็นส่วนสำคัญในการผลิตพลังงานไฟฟ้าขึ้นมาก่อนจะถูกส่งไปขับเคลื่อนมอเตอร์เพื่อให้ล้อหมุน อธิบายง่าย ๆ ก็คือรถรุ่นนี้จะใช้วิธีการเติมแหล่งพลังงานในรูปของก๊าซไฮโดรเจนจากนั้นจะเป็นการผ่านกระบวนการทางเคมีทำให้เกิดพลังงานไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของรถยนต์นั้นเอง ทำให้มีการเรียกชื่ออย่างเป็นทางการของรถยนต์ที่เติมไฮโดรเจนว่า FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle) 

ค่ายรถยนต์มาเลย์ ‘โปรตอน’ เผยยอดขายปี 2022 โตกว่า 23%

SUSUNN กระตุ้นผู้ประกอบการพัฒนาจุดจอดรถยนต์ไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด

BEV กับ FCEV ใครรักษ์โลกกว่ากัน

เรื่องนี้อาจจะต้องย้อนกลับไปถึงจุดกำเนิดของรถยนต์ทั้ง 2 ชนิดนี้ว่าต่างก็มีจุดมุ่งหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปในชั้นบรรยากาศ ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่ารถเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นแบบ BEV และ FCEV โดยเนื้อแท้ข้างในล้วนแล้วแต่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 98 เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน เพราะหลักการทำงานก็คือเป็นการนำเอาพลังงานไฟฟ้าไปใช้ในการหมุนมอเตอร์ให้รถเคลื่อนที่ ทำให้ประเด็นความกรีนของรถทั้ง 2 ชนิดนี้กินกันไม่ลง ถ้าจะให้คะแนนปลายทางก็คงจะออกมาเสมอกัน 

แต่ถ้าหากจะลากเอาประเด็นต้นทางก่อนที่จะเอาพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในรถทั้ง 2 ชนิดนี้ก็พอจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง มีการถกเถียงกันในเรื่องแหล่งที่มาด้านพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการเติม BEV ว่าพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากการเผาถ่านหินและเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ซึ่งกว่าจะได้พลังงานไฟฟ้ามาชาร์จเข้าแบตเตอรี่ในรถก็มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศมากโขอยู่ ในทางกลับกันก็มีการโจมตีไปยังด้านการผลิตเชื้อเพลิงเพื่อนำไปเติมให้กับรถแบบ FCEV ว่าการกลั่นก๊าซไฮโดรเจนก็ใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติเช่นกัน 

คาดว่าเรื่องนี้จะไปจบกันตรงที่ทางผู้ผลิตไฟฟ้ายืนยันได้ว่าไฟฟ้าที่จะเติมให้รถ BEV เป็นพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากกระบวนการพลังงานสะอาดอย่างกังหันลมและโซล่าร์เซลล์ และเช่นเดียวกันกับทาง FCEV ก็ต้องยืนยันได้ว่าก๊าซที่ใช้เติมเป็นก๊าซที่ผ่านการกลั่นมาโดยใช้พลังงานสะอาดเช่นเดียวกัน ประเด็นเรื่องการรักษ์โลกจึงควรจะจบที่ต่างฝ่ายก็ต้องไปใช้วิธีการผลิดที่เกิดจากพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง ไม่ใช่เรื่องที่จะมาเปรียบเทียบกันที่การทำงานของตัวรถยนต์ทั้ง 2 แบบ

คุณว่าทำไมญี่ปุ่นไม่เน้น BEV

เชื่อว่าคำถามนี้จะต้องอยู่ในใจของพวกเราหลายคน ทำไมเจ้าตลาดรถยนต์อย่าง Toyota จึงดูเหมือนขยับตัวเชื่องช้าเรื่องรถพลังงานไฟฟ้าที่มาจากแบตเตอรี่อย่าง BEV ในขณะที่ทั่วโลกพากันเร่งเครื่องอย่างหนัก คำตอบของเรื่องนี้ อาคิโอะ โตโยดะ ประธานของ Toyota มีคำตอบที่ฟังดูแล้วมีนัยยะสำคัญมากเลยทีเดียว

ข้อแรก BEV ไม่รักษ์โลกจริง ท่านประธานกล่าวว่า “BEV ไม่ได้ช่วยโลกจริง เพราะยิ่งมีการใช้รถยนต์แบบนี้มากขึ้นเท่าไร ก็ต้องมีการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นเท่านั้น และไฟฟ้าที่ว่าก็ผลิตมาจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ แน่นอนว่ามันคือการเร่งภาวะโลกร้อนดี ๆ นี่เอง” เนื่องจากก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) ถือเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยสารมีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์ทำลายชั้นบรรยากาศโลกได้ ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่แม้จะเป็นพลังงานสะอาดแต่ก็เสี่ยงรั่วไหล หากเกิดภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหว และสึนามิดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2554

ข้อสอง หากรถในญี่ปุ่นเปลี่ยนมาเป็นแบบ BEV ทั้งประเทศ จะทำให้ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมหาศาลอันจะส่งผลให้ต้องทำการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อผลิตไฟฟ้าในงบที่สูงมากถึง 9.5 ล้านล้านบาท แม้หลายคนอาจจะบอกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์น่าจะเป็นทางออกที่ดีได้ แต่หลังจากเกิดภัยพิบัติกับโรงไฟฟ้าที่ฟุกุชิมะทางการญี่ปุ่นก็มองเห็นแล้วว่าประเทศของตนเองอาจจะไม่เหมาะกับเทคโนโลยีนี้อีกต่อไป และแน่นอนว่าหากเกิดภัยพิบัติขึ้นมารถยนต์แบบ BEV ก็จะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน

ข้อสาม แร่สำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับ BEV จะหายากและมีราคาแพงมากขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้านี้ มีการคาดการณ์ว่าแร่สำคัญอย่าง ลิเธียม โคบอลต์ และนิกเกิล เป็นแร่ที่มีจำกัดและกำลังจะหมดไป ซึ่งทางสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA คาดว่าจะเกิดการขาดแคลนลิเธียมในปี 2568 ตามมาด้วยโคบอลต์ที่จะขาดแคลนในปี 2573 และนิกเกิลจะเริ่มขาดแคลนในปี 2583 ซึ่งเมื่อถึงช่วงเวลานั้นแร่ต่าง ๆ เหล่านี้จะมีราคาพุ่งขึ้นสูงมาก แน่นอนว่ามันจะทำให้ต้นทุนการผลิต BEV สูงขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้น Toyota จึงหาทางออกเพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมา ทางออกจึงไปอยู่ที่แหล่งสร้างพลังงานสะอาดที่ไม่มีวันหมดไปจากโลกใบนี้ ก็คือไฮโดรเจนนั่นเอง

จำนวนสถานีชาร์จสำคัญขนาดไหน

ตอนนี้บ้านเราก็มองเห็นว่ามีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV กันให้เห็นจนชินตาไม่ว่าจะตามที่จอดรถของห้างใหญ่ ๆ ในคอนโดมิเนียม และแน่นอนว่าตอนนี้ในปั๊มน้ำมันก็เริ่มจะมีให้เห็นหรือจะเป็นสถานีชาร์จไฟเดี่ยว ๆ เลยก็ยังมี สาเหตุที่ต้องมีสถานีชาร์จไฟจำนวนมากขนาดนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากคุณสมบัติของ BEV เองที่ใช้เวลาในการชาร์จหรือเติมพลังงานไฟฟ้านานถึง 15-20 นาที เป็นอย่างน้อย แม้จะมีการออกมาบอกว่าถ้าใช้หัวชาร์จแบบซูเปอร์ชาร์จก็จะลดเวลาการชาร์จให้สั้นลงไปอีก แต่ก็ต้องแลกกับค่าไฟฟ้าที่แพงมากขึ้น 

เรื่องการชาร์จเร็วชาร์ช้าก็จะมีข่าวออกมาคล้าย ๆ กับการชาร์จโทรศัพท์มือถือที่มีช่วงหนึ่งแข่งกันชาร์จเร็วด้วยชนิดของสายชาร์จและหัวชาร์จ แล้วทำไมต้องมีสถานีชาร์จถี่ขนาดนี้ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่าใช้เวลาชาร์จต่อคันนาน อีกทั้งชาร์จแล้วก็ยังวิ่งได้ในระยะทางที่จำกัด ก็เลยต้องวางแผนการเดินทางให้ดีเพราะปัจจัยในการใช้พลังงานไฟฟ้ามีตัวแปรหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักที่บรรทุก ลักษณะเส้นทางที่ใช้ขึ้นทางชันก็ใช้พลังงานไฟมาก นั่นเป็นเหตุผลว่าต้องมีการเพิ่มจุดชาร์จในจำนวนมากและเพียงพอ 

ไฮโดรเจนเติมได้เร็ว-ไปได้ไกลกว่าจริงหรือ

ส่วนข้อมูลทางด้าน FCEV หรือการใช้ไฮโดรเจนก็มีการนำเสนอช้อมูลออกมาว่า เป็นความจริงอยู่ที่จำนวนสถานีเติมก๊าซไฮโดรเจนยังมีจำนวนน้อยกว่า ส่วนหนึ่งก็เพราะจำนวนรถยนต์ที่ใช้งานยังมีน้อย แต่ข้อมูลทางเทคนิคก็บอกว่าเวลาที่ใช้ในการเติมก๊าซเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะเวลาที่ใช้ในการเติมก๊าซไฮโดรเจนที่สถานีนั้นใช้เวลาพอ ๆ กับการเติมน้ำมันนั่นเอง เรียกได้ว่าเติมเสร็จได้ภายใน 5 นาทีแล้วก็ไปต่อได้เลย อีกทั้งยังมีการระบุว่าหลังจากที่เติมก๊าซแล้วระยะทางที่วิ่งได้นั้นมากกว่าการชาร์จไฟฟ้าของ BEV เชื่อว่าข้อมูลเรื่องระยะทางที่ขับได้ไกลมากขึ้นก็จะมีออกมาอย่างต่อเนื่อง

ในบ้านเราตอนนี้ BIG 4 อย่าง PTT OR TOYOTA และ BIG ก็ได้ทำการเปิด Future Energy สถานีต้นแบบสำหรับเติมไฮโดรเจนให้แก่ FCEV แห่งแรกของไทยขึ้นมาแล้วที่จังหวัดชลบุรี

โชว์เคสในไทยไฮโดรเจนใช้ได้จริง

ตอนนี้มีการนำเอา FCEV รุ่น Mirai ของโตโยต้า มาทำการทดสอบแบบใช้งานจริงด้วยการนำมาให้บริการรับส่งนักท่องเที่ยวจากสนามบินอู่ตะเภาไปยังพัทยา ชลบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง โดยการให้บริการนี้จะเป็นการเก็บข้อมูลเชิงเทคนิคที่ได้จากการใช้งานจริงด้วย เพื่อสร้างการรับรู้และเป็นข้อมูลรองรับการขยายผลใช้งานในอนาคต

ซึ่งอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงอนาคตของ FCEV ว่า “การนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับประเทศไทยที่จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และการลงทุนมูลค่าสูง ความร่วมมือของพันธมิตรชั้นนำในกลุ่มพลังงานและยานยนต์ครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ทั้งในด้านมาตรฐานระดับสากล และความปลอดภัยสูงสุดที่จะส่งมอบให้กับผู้ใช้บริการในอนาคต”

ได้เห็นแล้วว่าบรรดายักษ์ใหญ่ด้านพลังงานและยานยนต์ออกตัวแรงและเร็วกับรถยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจนอย่าง FCEV ก็น่าจะบอกได้ว่านี่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยในการเปลี่ยนแปลงของวงการรถยนต์ในตอนนี้

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

SHARGE ผนึก เรเว่ ออโตโมทีฟ ติดตั้ง EV Charger ให้ลูกค้ารถ BYD ถึงบ้านทุกคัน

ประชาชนขานรับนโยบาย 30@30 ทำให้ยอดจอง EV พุ่งกว่า 5,800 คัน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ