TH | EN
TH | EN
spot_imgspot_imgspot_img
หน้าแรกSustainabilityแสงสว่างช่วยเปิดโลกคนบนดอย 'GULF – AIS – สวพส.' มอบพลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายให้เข้าถึง “ไฟฟ้า-อินเทอร์เน็ต”

แสงสว่างช่วยเปิดโลกคนบนดอย ‘GULF – AIS – สวพส.’ มอบพลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายให้เข้าถึง “ไฟฟ้า-อินเทอร์เน็ต”

กว่า 700 ชีวิตของชาวบ้านชุมชนบนภูเขาที่บ้านดอกไม้สด จ.ตาก ต้องใช้ชีวิตอยู่ในความมืดมานาน เพราะไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคทั้งไฟฟ้าและระบบการสื่อสารต่าง ๆ ได้ แต่หลังจากที่บริษัทด้านพลังงานร่วมกับบริษัทการสื่อสารเข้าไปติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และเครือข่ายสัญญาณดิจิทัลสำหรับชุมชน ชีวิตของพวกเขาก็เปลี่ยนไป

พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF องค์กรชั้นนำด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานยั่งยืนในระดับภูมิภาค ผนึกกำลังร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่ายดิจิทัลชั้นนำของไทย พร้อมด้วย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. เดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในพื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงบริการโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ด้วยการร่วมมือกันส่งมอบพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ที่ผลิตโดยพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ให้แก่ชุมชน พร้อมติดตั้งสถานีฐานโดยใช้แหล่งพลังงานจากแสงอาทิตย์เชื่อมต่อระบบเครือข่ายสัญญาณดิจิทัลสำหรับชุมชน ผ่านโครงการ Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย

โดยนำร่อง 2 พื้นที่ห่างไกล ชุมชนบ้านดอกไม้สด และ ชุมชนมอโก้โพคี ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก พร้อมตั้งเป้าการทำงานร่วมกันมุ่งขยายผลโครงการต่อเนื่องในพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนสาธารณูปโภคด้านพลังงานไฟฟ้าและระบบสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างการเติบโตร่วมกันของเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน

แสงสว่างช่วยเปิดโลก

อภิชาติ พนารัตน์ธารา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านดอกไม้สด เล่าว่า ก่อนจะมีโครงการดังกล่าว ชาวบ้านได้รับความลำบากมาก ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางและการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก แต่หลังจากที่เราได้รับมอบโครงการดังกล่าว ชาวบ้านก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งเรื่องสุขภาพอนามัย การศึกษาและการเปิดโลกทัศน์

หมู่บ้านดอกไม้สด เป็นหมู่บ้านที่ระบบไฟฟ้าของหลวงเข้าไม่ถึงแม้จะอยู่ห่างจากตัว อ.ท่าสองยางเพียง 40 กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาเดินทาง 3-4 ชั่วโมง  เวลาชาวบ้านเจ็บป่วยกว่าจะเดินทางไปถึงโรงพยาบาลสาธารณสุขตำบลต้องใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ยิ่งในฤดูฝนการเดินทางยิ่งยากลำบากเพราะเส้นทางที่เป็นดินโคลนและมีดินถล่มเป็นระยะ ๆ

ผู้ใหญ่บ้านวัย 29 ปีเล่าว่า เมื่อก่อนคนบนดอยไม่มีไฟฟ้าใช้ มีแค่บางคนที่มีเงินพอซื้อแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่มาเก็บไฟไว้ใช้ เมื่อ GULF ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่สถานีอนามัยของหมู่บ้าน ชาวบ้านก็สามารถไปใช้ไฟที่นั่นได้

ส่วนเสาสัญญาณอินเตอร์เน็ตจาก AIS ก็ช่วยให้ชาวบ้านมีความสุข บางคนไลฟ์สดขายของทางออนไลน์ คนที่อยากเปิดร้านของชำในหมู่บ้านก็ใช้สื่อสารกับคนข้างล่างได้เวลาจะสั่งของมาขาย ไม่ต้องเดินทางลงไปเอง เด็กๆ ก็เอาไว้วิดีโอคอลกับเพื่อนๆ ในเมืองหรือคุยกับพ่อแม่ที่ไปทำงานต่างพื้นที่

“จากที่เราเคยอยู่ในมุมมืด ๆ แต่วันนี้ได้เจอสิ่งดี ๆ มีแสงสว่างให้หมู่บ้าน เป็นการเปิดโลก เปิดอนาคต เปิดชีวิตใหม่ให้หมู่บ้านเลย” อภิชาติกล่าว

แสงสว่างช่วยเปิดโลกคนบนดอย 'GULF – AIS – สวพส.' มอบพลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายให้เข้าถึง “ไฟฟ้า-อินเทอร์เน็ต”

ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างอาชีพใหม่

ธีรตีพิศา เตวิชพศุตม์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ว่า เกิดจากการที่ GULF และ GULF1 บริษัทในเครือ นำร่องติดตั้งชุดอุปกรณ์ระบบโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ทุรกันดารตั้งแต่ปี 2566 ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ บ้านห้วยน้ำไซ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เกาะทุ่งนางดำ อ.คุระบุรี จ.พังงา และบ้านดอกไม้สด อ.ท่าสองยาง จ.ตาก รวมถึงมีทีมวิศวกรจาก GULF1 ให้ความรู้ด้านการบำรุงรักษาและวิธีการใช้งานชุดอุปกรณ์โซลาร์เซลล์แก่ชุมชน เพื่อให้สามารถใช้งานระบบโซลาร์ได้อย่างยั่งยืน เมื่อได้ลงพื้นที่จริง และพูดคุยกับชุมชนถึงปัญหาในการสื่อสารกับคนภายนอกพื้นที่ จึงเล็งเห็นการต่อยอดโครงการโดยการชักชวนพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง AIS เพื่อผนึกกำลังขยายสัญญาณสื่อสาร มอบโอกาสในการเข้าถึงพลังงานและเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาอาชีพ และการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข

ในปีนี้ ทาง GULF ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไปแล้วใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ดอยมอโก้โพคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก บ้านแม่ตอละ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน บ้านผีปานเหนือ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

สำหรับพื้นที่ดอยมอโก้โพคีนั้น เดิมชาวบ้านมอโก้โพคีประกอบอาชีพปลูกข้าวโพดเป็นหลัก ทำให้มีการทำลายป่าเป็นวงกว้าง และยังทำลายสุขภาพผู้ปลูกเนื่องจากการใช้สารเคมี  นอกจากนั้น การเผาในฤดูเก็บเกี่ยวยังก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 อีกด้วย  ซึ่งทาง GULF ได้ร่วมมือกับผู้นำชุมชนสานต่องานรักษาผืนป่าและพัฒนาอาชีพในการปลูกกาแฟให้กับคนในชุมชน GULF จึงได้เข้าไปสร้างโรงเรือนสำหรับการแปรรูปเมล็ดกาแฟและติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อให้กระบวนการล้างทำความสะอาด คัดแยก และสีกาแฟ มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยการใช้พลังงานสะอาด สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ชาวบ้านมีความเชื่อมั่นในการปลูกกาแฟมากขึ้น เพิ่มโอกาสที่จะสร้างรายได้แก่ชุมชน และในอนาคตชุมชนจะพัฒนาไปสู่การแปรรูปกาแฟด้วยตนเอง นับว่าเป็นช่องทางการสร้างอาชีพและการรักษาป่าควบคู่กันอย่างยั่งยืน

ตั้งเป้าติดตั้ง 30 แห่งภายใน 5 ปี

ด้านสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า การทำงานร่วมกับ GULF และ สวพส. ในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ AIS ในทุกด้าน ทั้งการพัฒนาโครงข่ายดิจิทัลขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน เราทลายข้อจำกัดในการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมการใช้งาน เพื่อสร้างการเข้าถึงดิจิทัลให้คนไทยทุกกลุ่ม โดยใช้เทคโนโลยีและแหล่งพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์มาใช้ในการบริหารจัดการระบบสื่อสารเพื่อส่งมอบโครงข่ายดิจิทัลไปยังชุมชนในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างสะดวกสบาย เข้าถึงแหล่งความรู้และบริการต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาธารณสุข รวมถึงสวัสดิการของภาครัฐ

สมชัย กล่าวต่อว่า AIS และพาร์ทเนอร์จะมีการทำงานและติดตามความเปลี่ยนแปลงในแต่ละชุมชนอย่างต่อเนื่องผ่านการทำ Social Impact Assessment หรือประเมินผลลัพธ์ทางสังคมต่อประโยชน์ของโครงการที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในมิติต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าชุมชนจะได้รับการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับบริบทและภูมิปัญญาของชุมชนนั้นๆอย่างแท้จริงและยั่งยืน

“อย่างชุมชนมอโก้โพคี หนึ่งในหลายชุมชนที่ได้เข้าถึงระบบไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์และระบบสื่อสารดิจิทัลของโครงการนี้ จะมีโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตเมล็ดกาแฟและการพัฒนาช่องทางการตลาดให้เป็นที่รู้จักได้มากขึ้น ตามเป้าหมายของผู้นำชุมชนที่ได้รวมกลุ่มคนในชุมชนเปลี่ยนจากการปลูกไร่ข้าวโพดมาปลูกเมล็ดกาแฟ โดยหวังให้เมล็ดกาแฟของชุมชนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดที่กว้างขวางขึ้น อันจะสร้างรายได้สู่คนในชุมชนได้อย่างมั่นคง” สมชัยกล่าว

ทาง GULF และ AIS คาดว่าภายในปีนี้จะสามารถดำเนินโครงการ Green Energy Green Network for THAIs ได้อีก 5 -6  แห่ง และตั้งเป้าดำเนินการให้ครบ 30 แห่งภายใน 5 ปี

เสาสัญญาณแลกคืนพื้นที่ป่า

วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS กล่าวเสริมว่า สิ่งดีๆ ของโครงการนี้อย่างหนึ่งคือ การลดพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านเข้าไปบุกรุก เพราะชาวบ้านสัญญาว่าจะคืนพื้นที่ป่าให้ 1000 ไร่แลกกับการติดตั้งเสาสัญญาณ 1 ต้น

กว่าพันชุมชนยังเข้าไม่ถึงไฟฟ้า

ชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สวพส. ดูแลพื้นที่ที่อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลมากกว่า 500 เมตร ซึ่งในประเทศไทยมีพื้นที่ดังกล่าวประมาณ 20 ล้านไร่ กระจายใน 20 จังหวัด รวมแล้วกว่า 4,000 ชุมชน คาดว่ามีประมาณ 1,000 ชุมชนที่ยังไม่มีไฟฟ้าหรือคลื่นสัญญาณดิจิทัลเข้าถึง

“ภารกิจสำคัญของ สวพส. คือ การนำความรู้ของโครงการหลวงไปพัฒนาให้ชุมชนบนพื้นที่สูงของประเทศมีความอยู่ดีมีสุข สามารถนำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พึ่งพาตัวเองได้” ชวลิตกล่าว

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

“Small but Meaningful” ก้าวเล็ก ๆ ของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนให้ประสบความสำเร็จ  

การ์ทเนอร์เผย ‘Sustainable IT’ หัวใจสำคัญ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก

3 เรื่องที่ต้องรู้… ถ้าอยากสร้างช่อง YouTube ให้ดังและมีรายได้!

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ