TH | EN
TH | EN
หน้าแรกNewsKBTG ส่ง Tech Kampus สร้าง Tech/Tech Talent Ecosystem ดันไทยยืนแถวหน้าในโลกยุคใหม่

KBTG ส่ง Tech Kampus สร้าง Tech/Tech Talent Ecosystem ดันไทยยืนแถวหน้าในโลกยุคใหม่

KBTG สร้าง Ecosystem ของ Tech และ Tech Talent ผ่านโครงการ Tech Kampus ประเดิมทำ Co-research & Academic กับ 9 พันธมิตรก่อนขยายอีกนับสิบภายในปีนี้  

Tech Capability คือ สิ่งที่สำคัญมากสำหรับการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปี 2016 อยู่ในยุคของ Technology Disruption ต่อมาในปี 2018 เป็นยุค Disruption Domino ที่เกิดการ Disrupt ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ มีเดีย คอมเมิร์ซ การเงิน และโลจิสติกส์ พอโควิดเข้ามาทำให้เข้าสู่ยุค Continuos Disruption คือ ดิสรัปชันเกิดอย่างต่อเนื่องและเกิดพร้อมกัน ใน 10 ปีข้างหน้าโลกจะเปลี่ยนไปมหาศาล 2024 โลกจะหักศอก และปี 2028-2029 โลกจะหักศอกอีกครั้งหนึ่ง ประเทศไทยจะอยู่รอดได้ เรื่องของ Tech Capability เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นตัวกำหนดชะตาว่าประเทศไทยจะอยู่รอดหรือมีตำแหน่งอยู่ตรงไหนในโลก

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการใช้งบประมาณด้าน R&D แทบจะต่ำที่สุดแห่งหนึ่ง ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลีมีการใช้งานด้าน R&D ประมาณ 3% กว่า ๆ ของจีดีพี ซึ่งจีดีพีของญี่ปุ่น คือ 4 ล้านล้านเหรียญฯ หมายความว่างบ R&D ของญี่ปุ่นปีละ 150,000 ล้านเหรียญฯ จีดีพีประเทศไทยอยู่ที่ 500,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่มีการใช้จ่ายงบด้าน R&D อยู่ที่ 0.34% สิ่งที่เกิดขึ้นงบ R&D ของประเทศหนึ่งแทบจะเท่ากับ 33% ของจีดีพีของไทย

ฉะนั้น ถ้ายังสร้างความสามารถด้านเทคโนโลยีแบบไร้ทิศทางไม่เน้นหวังผลเชิงประสิทธิภาพ ไม่มีการร่วมมือกัน จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น 

KBTG จึงจัดโครงการ Tech Kampus โดยร่วมมือกับ 2 องค์การภาครัฐ คือ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และ 7 มหาวิทยาลัย ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล และวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส–เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG)  กล่าวว่า โลกกำลังถูกดิสรัปอย่างต่อเนื่องด้วย Deep Tech ประเทศไทยมี Talent จำนวนมาก สิ่งที่ KBTG อยากทำ คือ การสร้าง Deep Collaboration และ Deep Focus กับหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัย เพราะประเทศไทยไม่มีเวลาเหลือให้ช้าอีกต่อไป 

KBTG คือ บริษัทเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นธนาคารที่ดีที่สุดในประเทศไทยด้าน Financial Innovation และเป็นหนึ่งในธนาคารที่ดีสุดของเอเชียแปซิฟิก เป็นธนาคารที่มีรายได้ 120,000 ล้านบาท ยังบอกชัดเจนว่าจะไปด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ ทำด้วยตัวเองไม่ได้ ยังต้องมองหาความมร่วมมือแบบ Deep Collaboration กับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยชั้นนำของประเทศไทย เพื่อช่วยซึ่งกันและกัน เพื่อมีโจทย์ด้านการวิจัยที่ชัดเจนและมาทำงานร่วมกัน เพื่อจะสามารถมาประยุกต์ใช้กับธนาคารกสิกรไทยที่ต้องการขยายธุรกิจออกต่างประเทศ ที่มีเป้าหมายเป็นหนึ่งในธนาคารที่ดีที่สุดด้านดิจิทัลของโลก (One of the World’s Best Digital Bank) 

ปัจจุบันมีลูกค้า KPLUS เกือบ ๆ 15 ล้านคน ต่อไปมี 100 ล้านคน งานวิจัยที่ทำ Deep Tech Research ที่ร่วมกันทำกับหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยจะถูกนำไปสู่ลูกค้าในระดับภูมิภาคเอเชีย 

“การร่วมกันนี้จะทำให้นักวิจัย หน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัยมีที่ปล่อยของไปถึงคนเป็น 100 ล้านคน ไปช่วยระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนนับ 100 ล้านคน นี่แค่ KBank และ KBTG บริษัทเดียว ต่อไปเมื่อเอกชนอื่น ๆ เข้ามาร่วมกันเป็นพันธมิตรจะยิ่งสร้างผลกระทบมากขึ้น” 

ทุกที่ที่เป็น Tech Hub สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความร่วมมมือที่เข้มข้นระหว่างเอกชน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานวิจัย เอกชนแทบจะมาตั้ง Lab ในมหาวิทยาลัย และทุก Tech Hub ของโลก Deep Collaboration และ Synergy คือ กุญแจสำคัญของการสร้าง World-class Tech Ecosystem เพื่ออนาคตของประเทศไทย คือ ก้าวสำคัญ 

“การทำ Deep Collaboration ทั้งเรื่องงานวิจัย และการศึกษา คือ หัวใจสำคัญในการสร้าง Tech Talent Ecosystem หวังจะสร้าง Tech Talent ยุคใหม่ให้ประเทศไทย” เรืองโรจน์ กล่าว

เรืองโรจน์ กล่าวต่อว่า ท่ามกลางวิกฤติ ปีที่แล้ว KBTG รับคนเพิ่ม 300 คน ปี 2564 นี้ต้องการอีก 450 คน และไปต่างประเทศอีก 80 คน รวมเป็น 530 คน ซึ่งความร่วมมือกับ 9 พันธมิตรในครั้งนี้เป็นการสร้าง Tech Talent ให้สามารถมาร่วมงานกับ KBTG ได้เลย 

“ถ้าได้ 530 คน สมัครเข้ามาแล้วผ่านหมด รับหมดเลยทุกคน เราอยากเป็นบริษัทที่มหาวิทยาลัยอยากทำงานด้วย เรามีการให้การสนับสนุน ให้ความร่วมมือ เข้าไปให้โจทย์ ให้ทรัพยากรคนของเรา ไปช่วยพัฒนาหลักสูตร ไปช่วยสอน ปีนี้จะเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น” เรืองโรจน์ กล่าว

KBTG รับเด็กฝึกงานตั้งแต่ปี 1 เด็กยิ่งมาฝึกงานเร็วเท่าไร ยิ่งช่วยให้เขาค้นพบตัวตนได้เร็ว เด็กจะเข้าใจโลกธุรกิจ โลกการทำงานที่แท้จริง เด็กปี 4 มาทำงานที่ KBTG ทำงานด้วยเรียนด้วย ได้เงินและได้เครดิตหน่วยกิตไปด้วย น้องจบเร็วขึ้น 1 ปี เพิ่มประสิทธิภาพให้กับการศึกษาไทย 25% จบปุ๊บเปิดกระป๋องใช้ได้เลย ไม่ต้อง Reskill เลย 

“การต่อยอดงานวิจัย KBTG ไปในภูมิภาค เราชัดมาก อย่างเวียดนาม ตลาด 100 ล้านคน เราจะนำงานวิจัยไปที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยไป อาทิ ทำ AI as a Service ทำบริการ/เชิงพาณิชย์ สามารถต่อยอดและนำประโยชน์กลับมาที่มหาวิทยาลัย และยังนำมหาวิทยาลัยไทยไปจับมือกับพันธมิตรธุรกิจที่จะเป็นลูกค้าของ KBank และ KBTG ในระดับภูมิภาค” เรืองโรจน์ กล่าวและเสริมว่า “เราอยากเข้าไปร่วมมือพัฒนา Tech Talent ด้วย เริ่มตั้งแต่การทำ Deep Co-research ที่มีโจทย์ร่วมกันและสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการใช้งานจริงของ KBTG ในหัวข้อต่าง ๆ ที่บริษัทสนใจ รวมถึงการเข้าไปร่วมพัฒนาคน”

ที่ผ่านมามีการทำ Co-research กับหน่วยงานวิจัย อาทิ Natural language processing (NLP) เป็นเรื่องสำคัญ นำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมหาศาล รวมถึง Computer Vision ที่นำไปใช้ในเรื่อง eKYC หรือ Contactless Technology ที่มีการใช้งานจำนวนมาก รวมถึง Touchless Navigation และการทำ Smart Branch เพราะสาขาของธนาคารจะยังคงมีอยู่ต่อไป การทำ Retail Transformation ที่เปลี่ยน Touch Point ทั้งหมดของ Retail Banking ทั้งหมดนี่คือ เริ่มต้น แต่ยังจะต้องมีการใช้งาน (​Used-case) อีกมหาศาล 

KBTG ยังเริ่มทำ Co-innovation กับพันธมิตรธุรกิจ อาทิ Major และ Black Canyon ซึ่งจะนำโจทย์เหล่านี้มาทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย ทำวิจัยและแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมกัน โดยที่จะมีผู้ใช้งานเป็น 100 ล้านคน และในอนาคตจะมีลูกค้าจากประเทศจีนด้วย

“จินตนาการว่าผลงานวิจัยของเราจะมีผู้ใช้งานนักร้อยล้านคน ช่วยทำให้ชีวิตของคนนับร้อยล้านคนดีขึ้นสะดวกขึ้น และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย” เรืองโรจน์ กล่าวและเสริมว่า ด้านวิชาการ อยากเริ่ม 2 เรื่องที่สำคัญ คือ Data Science และ Artificial Intelligence (AI) และมีอีกหลายเรื่องที่สนใจ อาทิ Quantum Computer, Cryptography และ Computer Security เป็นต้น KBTG รับได้ 300 คน หากสามารถผลิตบุคลากรด้านไอทีได้มากกว่านี้ยิ่งดี มีบริษัทไทยที่ต้องการ Tech Talent ที่มีทักษะที่ใช้งานได้จริงอีกมาก และยังมีโครงการ Internship ส่งนักศึกษามาฝึกงานกับ KBTG มีโอกาสไม่จำกัด และมี Internship Boost Camp ฝึกงานกับ KBTG 

ความร่วมมือในนอนาคตกับหน่วยงานวิจัยของ KBank และ KBTG และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะทำ Deep Collaboration กับโจทย์วิจัย อยากชวนคนอื่น Department มาร่วมมือกัน เพราะโลกแห่งการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เป็นโลกของสหวิชาการ (Interdisciplinary)

“KBTG Tech Kampus คือ การทำ Deep Collaboration ทั้ง Deep-Research และ Deep Academic (Education) ร่วมกันกับหน่วยงานวิจัยชั้นนำและมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย เพื่อร่วมกันสร้างขีดความสามมารถทางการแข่งขันด้านเทคโนโลยีให้กับประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้อยู่รอดและผู้ชนะได้ในหลาย ๆ อุตสาหกรรม เราสามารถมอบประเทศที่ดีขึ้นให้กับคนรุ่นถัดไปได้ Let’s create the better future ผ่าน Deep Collaboration ผ่าน Tech Kampus ของ KBTG” เรืองโรจน์ กล่าว

​Co-research and Academic

ดร.ทัดพงษ์พงศ์ ถาวรกมล Senior Principal Visionary Architect, KBTG ที่ผ่านบทบาทการเป็นอาจารย์ นักวิจัย และคนทำงานด้านเทคโนโลยี มาแล้ว กล่าวว่า ในอดีตระบบนิเวศระหว่าง Tech Industry และ Academic Research จะแยกจากกัน มองว่าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย คือ การผลิตคน หน้าที่ของหน่วยงานวิจัย คือ การตีพิมพ์ผลงานวิจัย หน้าที่ของธุรกิจ คือ การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีให้กับลูกค้า แต่ใน World-class หรือ US Tech Ecosystem เขาไม่มองว่าสามส่วนนี้เรียงต่อกัน แต่สามส่วนนี้ทำงานร่วมกัน และมีวัตถุประสงค์ร่วมกันอย่างไร 

“อย่าง KBTG อยากได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีให้กับลูกค้า อยากให้เป็นที่ที่น้อง ๆ อยากมาทำงานมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ซึ่ง​ KBTG ส่งคนเข้าไปช่วยให้ความเห็น ช่วยให้ไอเดียตั้งแต่ต้นจนมาถึงไอเดียที่กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ รวมถึงเข้าไปช่วยวางหลักสูตร เป็นต้น”

ดร.ทัดพงษ์ กล่าวว่า วิจัยจากมุมมองขององค์กรธุรกิจสามารถจำแนกงานวิจัยที่นำมาประยุกต์ใช้ได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ ประเภทแรก คือ การทำให้บริการกับบุคคลราบรื่นขึ้น อาทิ Smart Branch ที่นำ Cognitive Technology ไม่ว่าจะเป็น Facial Recognition มาใช้งาน หรือ AI Chat BOT และ NLP มาใช้เพื่อให้บริการทางการเงินราบรื่นขึ้นและเร็วขึ้น 

ประเภทที่สอง คือ การนำงานวิจัยมาใช้ในการจัดการการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชันข้างในองค์กร ในอนาคตที่คนต้องทำด้วย Manual จะค่อย ๆ หมดไป แต่จะเข้าสู่ระบบอัตโนมัติ มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการทำ ​Document Processing งานหลังบ้านจะต้องเร็วขึ้นอย่างน้อย 10 เท่า จากการใช้เทคโนโลยีที่ได้จากงานวิจัย 

ประเภทที่ 3 คือ การนำเทคโนโลยีมาเปลี่ยนรูปแบบบริการทางการเงิน เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจธนาคารไปเลย อาทิ Quantum Technology คือ ต่อไปคำว่าธนาคารหรือบริการทางการเงินจะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นแบบใหม่เลย ซึ่ง KBTG กำลังทำวิจัยอยู่ 

ดร.ทัดพงษ์ กล่าวต่อว่า แนวทางในการทำงานที่จะนำ NLP มาใช้ มีแนวทาง 2 ส่วน คือ เทคโนโลยี และ การนำมาใช้ในองค์กร ซึ่งเทคโนโลยี NLP ภาษาไทย ไปไกลมากแต่ยังไม่สุด ยังสามารถมีโมเดลที่ทำให้เข้าใจความหมายของคำโดด ๆ ในบริบทที่ต่างกันได้ เริ่มเข้าใจบริบทของภาษามากขึ้น ซึ่งภาษาไทยต้องขยายขีดความสามารถตรงนี้ออกไปให้เท่าภาษาอังกฤษ

ส่วนการนำไปใช้ในองค์กร แนวทางต่อไป คือ ในมุมของนักวิจัย คือ ทำได้ และทำได้ดี แต่ในเชิงธุรกิจ มีเรื่องของความคุ้มทุนและประโยชน์ของผลงานเข้ามาเกี่ยวข้อง หากทำงาน ๆ หนึ่ง ต้นทุนที่ใช้มากเท่าใด ทั้งคน และเวลา ฉะนั้น การจะนำเทคโนโลยี NLP มาใช้จะต้องคำนึงถึงเรื่องการนำมาใช้และความคุ้มทุนด้วย (Technology Model และ Business Model) 

“ต้องคำนึงถึงต้นทุนที่ใช้กับผลที่ได้ การทำวิจัยด้านเทคโนโลยี NLP ต้นทุนจะต้องมีประสิทธิภาพ ทำอย่างไรให้  NLP สามารถข้ามโมดูลหรือข้ามอุตสาหกรรมได้ ทำอย่างไรให้ต้นทุนในการใช้งานต่ำลง ซึ่งฝั่งธุรกิจและนักวิจัยต้องมานั่งคุยกันก่อนลงมือทำ” 

ญาณวิทย์ รักษ์ศรี Senior Principal Visionary Architect, KBTG กล่าวว่า งานวิจัยมีหลายขั้น ตั้งแต่การประยุกต์เทคโนโลยีหรือสิ่งที่มีอยู่แล้ว การทำวิจัยใหม่ ที่ผ่านมา KBTG มีการทำงานร่วมด้านวิจัยกับหลายที่ อาทิ การประยุกต์เทคโนโลยี มีการทำวิจัยร่วมเรื่อง Contactless Technology และ Face Recognition เป็นต้น ในอนาคตจะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา ซึ่งต้องเตรียมตัว และดูว่าฝั่งวิชาการถึงไหนแล้ว เอกชนจะสามารถอุดช่องว่างระหว่างวิชาการกับการใช้งานจริงได้อย่างไรบ้าง ซึ่ง Online Service กับ Smart Branch ต้องหลอมรวมกัน สตาร์ตอัพจะเข้ามาลดช่องว่างระหว่างงานวิจัยกับการนำมาใช้จริง KBTG เป็นพันธมิตรกับสตาร์ตอัพเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ 

“ประเทศไทยจะต้องมีความสามารถในการแข่งขัน โอกาสของเทคโนโลยีของไทย จากงานวิจัยของนักวิจัย มาสู่สตาร์ตอัพ และออกมาเป็นผลงานจริง สุดท้ายหากประเทศไทยมีเทคโนโลยีของตัวเอง อยู่ได้ด้วยตัวเองสำคัญ” ญาณวิทย์ กล่าว

ภาคธุรกิจการเงินการธนาคารเป็นสิ่งที่สัมผัสกับชีวิตของผู้คน ความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยเป็นส่วนที่จะทำให้งานวิจัยสามารถเข้าถึงผู้ใช้งานจำนวนมากได้ 

“อยากให้งานวิจัยของคนไทยถูกใช้โดยคนจำนวนมากจากคนไทยและออกไปต่างประเทศไทย อยากเอาเทคโนโลยีของคนไทยไปต่างประเทศ ซึ่งบทบาทของ KBTG และ KBank จะช่วยตรงนี้ได้” ญาณวิทย์ กล่าว

ดร.ทัดพงษ์ กล่าวเสริมว่า บทบาทของ KBTG และ KBank เป็นตลาดให้กับงานวิจัย และยังเป็น Funding Resource ที่สามารถเข้าไปสนับสนุน สร้างความแตกต่างให้งานวิจัยให้ไปต่อได้ และเป็น Technology Platform ให้ผลงานวิจัยได้ 

“เรามี Technology Expertise ที่จะเข้ามาช่วย Empower ให้กับงานวิจัยและสตาร์ตอัพให้เข้มแข็งได้” ดร.ทัดพงศ์ กล่าว

ดร.เจริญชัย บวรธรรมรัตน์ Senior Principal Visionary Architect, KBTG กล่าวว่า การวิจัยด้าน AI โดยเฉพาะ Data Analytic และ Deep Technology สำคัญมาก และมีโจทย์ค่อนข้างมาก เป็นโจทย์ที่สำคัญ และด้วยศักยภาพของเพียงบริษัท ๆ หนึ่งไม่สามารถทำได้ การทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เอาการใช้งานจริงเข้าไปทำวิจัย ทำให้นักศึกษาได้ลองเล่นลองใช้ จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงกับทั้งสองฝ่าย 

“เราจะได้ Tech Talent ได้ Used-case จริง ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของภาคเอกชน และพัฒนาภาคการศึกษา” 

ดร.ทัดพงษ์ กล่าวว่า ความต้องการด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีข้อมูลมีมากขึ้น ในขณะที่ปริมาณของ Talent มีจำกัด ภาคธุรกิจเอกชนควรรีบเข้าไปช่วยให้ Feedback ที่ถูกต้องเพื่อให้แน่ใจได้ว่าเขารู้ว่าเขากำลังเรียนอะไรเพื่อนำไปใช้ในอนาคตอย่างไร คือ การให้โจทย์ที่ถูกต้อง และให้การสนับสนุนตั้งแต่ต้น 

ดร.เจริญชัย กล่าวว่า โครงการ Tech Kampus คาดหวังเรื่องการสร้างบุคลากรอยากให้มีทักษะ 3 อย่าง คือ มหาวิทยาลัยมีการสร้างและพัฒนานิสิตนักศึกษาที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักวิชาการ และการที่ภาคเอกชนภาคธุรกิจเข้าไปมีส่วนร่วมจะทำให้เขารู้จัก Used-case จริง ในเชิงภาคปฏิบัติว่าทำอย่างไร เขาจะได้ปรับตัวได้ ทักษะที่สามที่อยากได้จากโครงการนี้ คือ นิสิตนักศึกษาทุกคนสามารถมีความยืดหยุ่น (Flexibility) รู้จักการปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลง เทคโนโลยี Data และ AI ยังต้องมีการปรับเปลี่ยน มีเทคโนโลยี อัลกอริธึมใหม่ ๆ ตลอดเวลา 

ด้านดร.ทัดพงษ์ มองว่า สิ่งที่ภาคธุรกิจจะเข้าไปช่วยได้ คือ ทำให้บุคลากร หรือนิสิตนักศึกษารู้เส้นทางการเติบโตในอาชีพ (Career Path) ของตัวเองรู้ และเข้าใจชีวิตและมองภาพอนาคตของตัวเองได้ดีขึ้น เมื่อก่อนเรียนหลักวิชา ไม่รู้ว่ามันจะมีประโยชน์และเอาไปใช้จริงอย่างไร 

“ถ้าเราสามารถเอาภาคธุรกิจเข้าไปมีส่วนร่วมในภาควิชาการการเรียนการสอนได้เร็วตั้งแต่ปีต้น ๆ จะทำให้มุมมองต่อการเข้าเรียนแต่ละวิชาจะเปลี่ยนไป เขาจะรู้แล้วว่าเขาเรียนวิชานี้ไปเพื่ออะไร ตอบโจทย์งานในอนาคตของชีวิตเขาอย่างไร” ดร.ทัดพงษ์ กล่าว

สร้าง 2 สิ่ง: Tech Ecosystem และ Tech Talent Ecosystem

เรืองโรจน์ กล่าวเสริมว่า ภายใน 3-5 ปี อยากสร้าง 2  อย่าง สร้าง Vibrant Tech Ecosystem และ Tech Talent Ecosystem การสร้าง Tech Ecosystem จะต้องมี ผู้ประกอบการ บริษัทขนาดใหญ่ และสถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัย 

“การสร้าง Vibrant Tech Ecosystem ประกอบด้วย 4 หลักการ คือ Open, Collaborate, Co-create และ Sharing KBTG เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้สิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ประโยชน์กลับมาที่เรา ลูกค้าเราทั้งธุรกิจและผู้บริโภคได้รับบริการที่ดี เราได้ Tech Talent เก่ง ๆ มาทำงานที่เรา” เรืองโรจน์ กล่าว

เริ่มเห็นว่าสถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัย และคนที่เข้ามาร่วมในระบบนิเวศมากขึ้นเรื่อย ๆ งานวิจัยบางชิ้นมีการใช้งานในภาคเอกชน คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ความฝันของ KBank ต้องการเป็น One of the World’s Digital Bank (ซึ่งปัจจุบันคือ DBS สิงคโปร์) ในตอนนั้นมีลูกค้าเป็นร้อยล้าน งานวิจัยไทยจะถูกใช้โดยคนนับร้อยล้านคน

“การสร้าง Tech Ecosystem คือ ความฝันของผม ตั้งแต่ปี 2012 ผมทำสตาร์ตอัพมาตลอด สตาร์ตอัพ Take off มา 2 Waves แล้ว อยากเห็น  Unicorn Moment ของการสร้าง Tech Startup ในประเทศไทย”

เรืองโรจน์ กล่าวต่อว่า ต่อไปนักวิจัยไทย ไปทำวิจัยที่เวียดนาม และประเทศรรอบ ๆ ใน SEA และ KBTG มี K-Tech ที่จีน จะทำให้นักวิจัยสามารถทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยจากต่างชาติ โดยที่มีสถาบันวิจัยต่าง ๆ ที่เป็นแกนกลาง ความร่วมมือกันในครั้งนี้ คือ Founding Member ของเครือข่ายการวิจัยข้ามประเทศ และจะเป็นปัจจัยที่จะหมุนแกนโลกให้มาให้ความสำคัญที่ประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งที่นักวิจัย สตาร์ตอัพ รวมถึง Tech Talent อยากจะมาที่ประเทศไทย

“3-5 ปี คือ ความฝันของผม ผมฝันคนเดียวไม่สนุก อยากชวนทุกคนมาฝันร่วมกัน และสร้างอนาคตร่วมกัน อยากชวนทั้งหน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัย และภาคเอกชนมาร่วมมือกัน เรามาร่วมสร้าง Tech Talent ที่เจ๋ง ผลิตของที่มันเจ๋ง ๆ ให้คนทั้งภูมิภาคใช้ สร้าง Tech Talent ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของภูมิภาคนี้ อีก 3-5 ปีข้างหน้าเมื่อมองย้อนกลับมา มันคือความภูมิใจ ติดต่อเรามาได้ที่ [email protected]” เรืองโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ