TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnology"ทราฟฟี่ ฟองดูว์" (Traffy Fondue) เครื่องมือแก้ปัญหาเมืองของผู้ว่าฯ กทม. "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์"

“ทราฟฟี่ ฟองดูว์” (Traffy Fondue) เครื่องมือแก้ปัญหาเมืองของผู้ว่าฯ กทม. “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”

ผู้บริหารที่เข้าใจเทคโนโลยี ย่อมเลือกเครื่องไม้เครื่องมือที่สอดคล้องกับเป้าหมาย หนึ่งในนั้นคือ ผู้ว่าฯ คนใหม่ของกทม. ที่ชื่อ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่นำทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) กลับมาใช้อีกรอบ เพื่อให้คนกรุงเทพฯ​ รายงานปัญหาที่ได้พบเจอรอบตัวว่าจุดไหนในกทม. มีปัญหาอะไรบ้าง

https://www.facebook.com/photo?fbid=445252760936738&set=a.418717816923566

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาทางกายภาพในกทม. เช่น ทางเท้าพัง น้ำท่วมขัง ถนนเปลี่ยว ขยะสะสม มีลักษณะของปัญหาที่ใกล้เคียงกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งความยากของปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งอยู่ที่ปริมาณของปัญหาที่มีจำนวนมาก เป็นปัญหาเส้นเลือดฝอยซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วทุกพื้นที่ในกรุงเทพฯ

กทม. จะต่อยอดระบบการรายงานปัญหาออนไลน์ทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ที่พัฒนาโดย สวทช. เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยแจ้งปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่การแจ้งปัญหา การติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของ กทม. และการดูสถิติการแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งสามารถขยายผลเปิดรับประเด็นทางสังคมต่าง ๆ ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น มิติสาธารณสุข มิติการศึกษา ความเดือดร้อนรำคาญอื่น ๆ (เช่น จากมลพิษทางเสียง) จากที่ปัจจุบันรับเรื่องร้องเรียนใน 5 ด้าน ได้แก่ น้ำท่วม ขยะ จราจร ความปลอดภัยและทางเท้า นอกเหนือจากการแก้ปัญหาและแจ้งให้ประชาชนรับทราบถึงความคืบหน้าแล้ว การติดตามและการดำเนินการแก้ไขต่าง ๆ จะถูกใช้เป็นหนึ่งในข้อมูลสำหรับการประเมินผู้อำนวยการเขต และผู้ว่าฯ กทม.ในอนาคตด้วย

ประชาชนทุกคนรวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ สามารถร่วมรายงานปัญหาที่ได้พบ รวมถึงการรายงานผลการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผ่านการแอดไลน์เพื่อนชัชชาติ หรือเข้าทราฟฟี่ ฟองดูว์โดยตรง เมื่อเจอปัญหาของเมืองให้รายงานผ่านไลน์เพื่อนชัชชาติ โดยคลิกที่ “รายงานปัญหาเส้นเลือดฝอย” ระบุรายละเอียดปัญหา ถ่ายรูป ส่งพิกัดแจ้ง ด้วยการพูดคุยกับ Chatbot ข้างต้น

ระบบหลังบ้านจะทำการรวบรวมปัญหา จัดทำสถิติ และจัดลำดับความสำคัญ โดยสามารถดูภาพรวมได้ที่ https://share.traffy.in.th/teamchadchart และระบบจะแจ้งกลับเมื่อปัญหาได้รับการแก้ไข และมีการประมวลในภาพรวมว่าในแต่ละพื้นที่ ว่ามีสถิติการแจ้งเรื่องอะไรบ้าง รอดำเนินการกี่เรื่อง แก้ไขเสร็จแล้วกี่เรื่อง

ทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) งานวิจัยของคนไทย

ทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) คือ งานวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) เป็นแพลตฟอร์มที่จัดทำขึ้นสำหรับสื่อสารปัญหาของเมือง ระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประชาชนสามารถแจ้งปัญหาที่พบไปให้ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วผ่านทางแอปพลิเคชันบนมือถือ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความสะอาด ปัญหาทางเท้า ไฟส่องสว่าง หรือถนนชำรุด โดยเป็นการแจ้งปัญหาในรูปแบบที่มีข้อมูลเพียงพอให้หน่วยงานสามารถดำเนินการได้ทันที เช่น มีภาพถ่าย และตำแหน่งบนแผนที่

ขณะเดียวกันหน่วยงานที่รับผิดชอบก็สามารถให้ข้อมูลและอัปเดตสถานการณ์การแก้ไขปัญหาสื่อสารกลับมาให้แก่ประชาชนได้ นอกจากนี้ ในส่วนของเจ้าหน้าที่ยังมีระบบบริหารจัดการและติดตามปัญหา บริการข้อมูลทางสถิติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวางแผนงบประมาณและกำลังคน ซึ่งหน่วยงานของรัฐและเอกชนสามารถตั้งกลุ่มรับแจ้งและบริหารจัดการปัญหาของตนเองได้

ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะผู้พัฒนา ทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) พูดถึง “ฟองดูว์” (Fondue) ว่า เป็นคำพ้องมาจาก ฟ้อง + ดู ฟ้องด้วยภาพ ส่งภาพมาให้และชี้ชวนกันไปดู เมื่อเห็นภาพ ก็จะรู้ถึงปัญหา ดูที่ไหน บนแผนที่ ตำแหน่งของภาพที่ส่งพิกัดแจ้งมา ปัญหาก็จะส่งตรงไปยังเจ้าหน้าที่เพื่อรับการแก้ไข ตรงจุด ชัดเจนและรวดเร็ว

หลักการทำงานของ “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” (Traffy Fondue) คือ Line Chatbot ให้ประชาชนใช้ในการพูดคุย รับแจ้งปัญหา ข้อร้องเรียน และติดตามสถานะการแก้ไขปัญหาและใช้ AI ในการวิเคราะห์และคัดแยกประเภทปัญหา จากข้อความ รูปภาพ และตำแหน่ง โดยเจ้าหน้าที่เป็นผู้ใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ในการรับแจ้งและจัดการปัญหา จากทุกที่ ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ มีการแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ เพิ่มการให้คะแนน (Rating) เมื่อแก้ปัญหาเสร็จ เพิ่มฟีเจอร์ให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละภาคส่วน ให้เหมาะสมกับผู้ใช้ประโยชน์ของแต่ละหน่วยงาน

ที่ผ่านมาเนคเทค สวทช. ร่วมมือกับสมาคมสันนิตบาตเทศบาล และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น นำแพลตฟอร์ม “Traffy Fondue” ไปใช้งานในพื้นที่ต่าง ๆ อีกทั้งยังร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยนำ “Traffy Fondue” ไปใช้กับการรับแจ้งการเผาหรือการเกิดไฟป่าใน 50 จังหวัดอีกด้วย

นอกจากนี้ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2563 ซึ่งพบการระบาดในเกือบทุกพื้นที่ ทีมนักวิจัยเนคเทค สวทช. ได้ประยุกต์ใช้ “Traffy Fondue” ในแพลตฟอร์มไลน์แชตบอต เพื่อให้ประชาชนใช้ในการรายงานข้อมูลบุคคลเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงการระบาดโควิด-19 และพื้นที่กรุงเทพมหานครเดินทางกลับภูมิลำเนาได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานผู้ใช้ข้อมูลดังกล่าวต้องการทราบว่า คนที่มีความเสี่ยงจากโรคโควิด-19 เดินทางกลับมายังภูมิลำเนามีอยู่ที่ใดของประเทศบ้าง เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ในการคัดกรองคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ให้มีส่วนรับผิดชอบสังคมและปฏิบัติตัวตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานหลายหน่วยงานใช้ “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” (Traffy Fondue) ในการรับแจ้งปัญหา อาทิ

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ใช้ “ฟองดูว์” รับแจ้งและจัดการสาธารณภัยทั่วประเทศเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถแจ้งเหตุด่วนสาธารณภัย ประสานขอความช่วยเหลือ ในการแจ้งเตือนภัยที่เข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว ให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการชี้เป้าจุดเสี่ยง จุดอันตรายบนทางข้าม ทางม้าลายที่ชำรุด มีข้อบกพร่อง สีเส้นไม่ชัดเจน ไม่มีเส้นชะลอความเร็ว ไม่มีไฟส่องสว่าง ไม่มีไฟสัญญาณ ร่วมกันเป็นหูเป็นตาตรวจสอบจุดเสี่ยง จุดบกพร่องที่อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุทางถนน รับแจ้งภัยผ่าน LINE @1784DDPM ทั่วประเทศ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ต่อยอดฟองดูว์เป็นแพลตฟอร์มขึ้นทะเบียน รับแจ้งปัญหาและประเมินสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม Line Chatbot เมืองใจดีเที่ยวทุกวัย ภายใต้แนวคิด “เจอ แจ้ง แจ่ม แจ๋ว” เพื่อให้คนพิการได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม โดยคำนึงถึงสิ่งสุ่มเสียงใน 5 ด้าน ได้แก่ ทางลาด ที่จอดรถ ห้องน้ำ ป้ายสัญลักษณ์ และบริการข้อมูล “เมื่อพบเห็นจุดที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก แจ้งผ่าน @jaideecity”

ปัจจุบัน ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ได้นำไปใช้ในไปยังหน่วยงาน ที่ปภ 96, ปปช 52 เทศบาล 368, อบต 350, นิคมอุตสาหกรรม 13 รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ร่วมบริหารจัดการ 6,809 คน และประชาชนแจ้งมาในระบบ 48,515 คน

หน่วยงานที่อยากใช้ Traffy Fondue แอปฯ เพื่อบริหารจัดการปัญหา รับทราบปัญหารวดเร็ว ตอบสนอง ส่งต่อ ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทำได้ 5 ขั้นตอนง่าย ๆ

ฝั่งประชาชน แค่เป็นเพื่อนกับ Traffy Fondue ด้วยวิธีเพิ่มเพื่อน ค้นหาไอดี @Traffy Fondue สแกน OQ Code หรือคลิกที่ลิงก์ https://lin.ee/nwxfnHw พิมพ์ปัญหา ถ่ายรูป แชร์ตำแหน่ง ส่งเข้าไปในเขตที่พื้นรับผิดชอบ

ทั้งนี้ ทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) เป็นหนึ่งใน ทราฟฟี่ ซีรีย์ (Traffy) ที่เนคเทค สวทช. มีส่วนร่วมเข้าไปสร้างเมืองปลอดภัย ชุมชนน่าอยู่ในโดยนำร่องเมืองท่องเที่ยวระดับโลกและมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โครงการ Smart Phuket

เริ่มต้นพัฒนาจากทราฟฟี่ เวสต์ (Traffy Waste) ระบบบริหารจัดการการเก็บขยะอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วจึงพัฒนาเป็นทราฟฟี่ ฟองดูว์ แอปพลิเคชันในการบริหารจัดการปัญหาเมือง รับโจทย์จริง พบปัญหาของเมืองที่กระทบต่อความเป็นอยู่ การใช้ชีวิต เศรษฐกิจของคนในจังหวัดภูเก็ต ผ่านการทดสอบใช้งานจริง เพื่อใช้บริหารจัดการเมืองด้านสิ่งแวดล้อม ใช้แจ้งปัญหาและแก้ปัญหาในพื้นที่ การรับเรื่อง/ข้อร้องเรียนจากประชาชน และส่งถึงเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยตรง ให้รับทราบปัญหาและนำไปสู่การแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว

กทม. มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนหลากหลายช่องทาง เช่น สายด่วน 1555 ระบบรับเรื่องร้องทุกข์ทางอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊กศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ กรุงเทพมหานคร ศูนย์กทม.1555 แต่ช่องทางเหล่านี้ยังมีข้อติดขัดในบางมิติ เช่น การติดตามและตรวจสอบความคืบหน้าของการแก้ไขยังมีอยู่อย่างจำกัด การขาดการรายงานผลและการแสดงการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ปัจจุบันแจ้งเพียงรายงานตัวเลขเรื่องร้องเรียนที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่รับรู้ถึงความคืบหน้าทำให้กระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างประชาชนและ กทม. ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน สรุปสถิติการแจ้งปัญหาเส้นเลือดฝอยผ่านทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ทั้งหมดรวม 4,670 เรื่อง รับเรื่อง จำนวน 3,118 เรื่อง ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 1,489 เรื่อง แก้ไขเสร็จสิ้น จำนวน 63 เรื่อง ประเภทปัญหา ประกอบด้วย จราจร ทางเท้า ความปลอดภัย น้ำท่วม ขยะ เรื่องเสนอแนะ และอื่น ๆ

โดย 10 อันดับเขตที่แจ้งปัญหาสูงสุด ตามลำดับดังนี้ จตุจักร , ราชเทวี , ประเวศ , สวนหลวง , บางเขน , ห้วยขวาง , ปทุมวัน , ดินแดง , วัฒนา และ บางกะปิ (ข้อมูล ณ วันที่ 2 มิ.ย.65 เวลา 14.17 น.)

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

12 เด็กไทย ผู้ชนะโครงการ Swift Student Challenge ในงาน WWDC22 ของ Apple

รีเล็กซ์ โซลูชั่น บุกตลาดไทย ประเดิม “แม็คโคร” เป็นลูกค้ารายแรก ช่วยดันสู่ Digital Retail

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ