TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ในยุคแรก: โปรแกรม Lotus 123 และ เวิร์ดราชวิถี

เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ในยุคแรก: โปรแกรม Lotus 123 และ เวิร์ดราชวิถี

ตอนที่แล้วผมได้เขียนเล่าเรื่องการที่มีโอกาสได้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นไอบีเอ็มพีซีเอ็กซ์ที (IBM PC/XT) ในช่วงที่เป็นอาจารย์ใหม่ ๆ เครื่องนี้มีหน่วยความจำขนาด 128 KB ไม่มี Harddisk แต่มีช่องใส่แผ่น Floppy disk แบบอ่านข้อมูลได้สองแผ่น จอภาพที่ใช้งานก็เป็นจอ Monochome สีเขียว และถ้าจะพิมพ์งานออกก็จะเป็นเครื่องพิมพ์แบบ Dot matrix เวลาพิมพ์หน้าหนึ่งใช้เวลานานและเสียงก็ดังไปทั่วห้อง

-จากเครื่องคอมพิวเตอร์เจาะบัตรสมัยนักศึกษา สู่การใช้เครื่อง VAX-11/780 เมื่อเริ่มเป็นอาจารย์
-การเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์และเขียนโปรแกรมสมัยนักศึกษาเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน

เครื่องคอมพิวเตอร์นี้ใช้ระบบปฎิบัติการ MS DOS ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทไมโครซอฟต์ แต่ยังไม่ได้มี User Interface ที่เป็นหน้าจอกราฟฟิกเหมือน Microsoft Windows หรือระบบปฎิบัติการ iOS ของเครื่องคอมพิวเตอร์ Mac ในปัจจุบัน การทำงานจะเป็นโหมดตัวอักษร (Text Mode) ซึ่งจะมีเครื่องหมาย Prompt ขึ้นมารอรับคำสั่งจากผู้ใช้งานในลักษณะ Command Line ผู้ใช้งานจะต้องจำ และพิมพ์คำสั่งให้ถูกต้องโปรแกรมจึงจะทำงาน เช่นจะเรียกดูไฟล์ก็ต้องใช้คำสั่ง DIR หรือจะเปลี่ยนไดเร็กทอรี่ที่เก็บไฟล์ก็ต้องใช้คำสั่ง CD ที่ย่อมาจากคำว่า Change Directory

ที่มาภาพ https://sites.google.com/site/osintro123/dos-disk-operating-system?fbclid=IwAR0rFbepOipEVkqpbJQWsPEVE5INZJfrKTTqN9AH4P5yemFG3uppsE0lRXE

ดังนั้น ผู้ที่จะใช้คอมพิวเตอร์สมัยนั้นก็ต้องไปเรียนรู้การใช้คำสั่งเหล่านี้ แต่สำหรับผมส่วนใหญ่จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยอ่านคู่มือการใช้งานที่ส่วนใหญ่เขียนโดยท่านอาจารย์ พ.ต.ประพัฒน์ อุทโยภาศ ซึ่งได้เขียนหนังสือการใช้งานคอมพิวเตอร์และโปรแกรมต่าง ๆ ออกมามากมาย ท่านเปรียบเสมือนปรมาจารย์ด้านคอมพิวเตอร์ของประเทศคนแรก ๆ หนังสือของท่านทำให้การเรียนในวิชาคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องที่สนุก เข้าใจง่าย และช่วยให้คนจำนวนมากสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้เป็น ผมคิดว่าท่านได้สร้างนักคอมพิวเตอร์ให้กับประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

แม้ผมจะไม่เคยมีโอกาสได้พบหรือเรียนหนังสือกับท่าน แต่ผมก็นับถือว่าท่านเป็นอาจารย์ที่ได้สอนคอมพิวเตอร์ให้กับผม จนสามารถประกอบอาชีพในวงการคอมพิวเตอร์ได้ทุกวันนี้ ที่สำคัญที่สุดในตอนหลังผมก็ได้มีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับลูกชายของท่าน คือ ผศ.ดร.ภุชงค์ อุทโยภาศ รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีดิจิทัล ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งก็เป็นคนไอทีที่เก่งมากอีกท่านหนึ่งที่ทุ่มเทเสียสละและมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้วงการไอทีประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าขึ้น

ในด้านการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปสมัยนั้นจะต้องใช้โปรแกรมที่เก็บอยู่ในแผ่น Floppy Disk 5¼ นิ้วที่มีความจุข้อมูล 360 KB จะใช้โปรแกรมแต่ละครั้งก็เลือกโปรแกรมที่อยู่ในแผ่น Disk เสียบเข้าไปในช่อง Floppy Drive ที่มีอยู่สองช่องเพื่อโหลดโปรแกรมเข้าหน่วยความจำและบางครั้งก็อาจต้องมีการเขียนหรืออ่านข้อมูลจากแผ่น บางโปรแกรมขนาดใหญ่หน่อยก็ต้องคอยสลับแผ่นอ่านเข้าออกให้วุ่นวาย นอกจากนั้นก็เป็นความยากลำบากของพวกเราอีกแบบหนึ่งที่ต้องเก็บและรักษาแผ่น Disk ถ้าทำหายไม่ได้สำเนาไว้ข้อมูลต่าง ๆ ก็จะสูญหายไปเลย

สมัยนั้นยังไม่มีโปรแกรม Word, Powerpoint หรือ Excel ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้หรอกครับ โปรแกรมสำเร็จรูปยังมีไม่มากนัก ถ้าจะนึกโปรแกรมสเปรดชีดสมัยนั้น ก็คือโปรแกรม Lotus 123 ซึ่งเป็นของบริษัทไอบีเอ็มและน่าจะเป็นโปรแกรม Killer App ตัวแรกเลย เพราะสมัยนั้นต้องให้มั่นใจได้ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่จะซื้อมาใช้ต้องสามารถรันโปรแกรมนี้ได้

โปรแกรมประมวลผลคำ (Word Processer) ในยุคนั้นก็คือ Word Perfect แต่จะสามารถพิมพ์ได้เฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น ดังนั้น ช่วงนั้นเราจะเห็นความเก่งของคนไทยที่ได้พัฒนาโปรแกรมมาเพื่อการใช้ภาษาไทย หนึ่งในนั้น คือ โปรแกรม Word PC (เวิร์ดราชวิถี) ที่ใช้คำย่อว่า RW ซึ่งพัฒนาโดยนายแพทย์ชุษณะ มะกรสาร เป็นหมอประจำโรงพยาบาลราชวิถี โดยเวอร์ชั่นแรก ๆ ต้องใช้กับการ์ดภาษาไทย Hercules แสดงผล 8 บรรทัดใน 1 หน้าจอเวอร์ชั่นสุดท้ายเป็นเวอร์ชั่น 2 แสดงผลแบบขาวดำ 25 บรรทัด

ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยทีมงานของ รศ.ยืน ภู่วรวรรณ เป็นอีกทีมหนึ่งที่มีการวิจัยเรื่องการโปรแกรมประมวลผลคำภาษาไทย และมีการพัฒนาโปรแกรม Thai Easy Writer มาก่อนหน้านั้น และมีการกำหนดให้มีมาตรฐานระบบภาษาไทยสำหรับคอมพิวเตอร์ (ใน พ.ศ. 2527 มีใช้อยู่กว่ายี่สิบระบบ) และในภายหลังก็มีการพัฒนาระบบมาตรฐาน Thai Kernel System ใน พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นระบบที่รับรองการพัฒนาโปรแกรมที่ใช้ภาษาไทยโดยไม่ต้องขึ้นกับฮาร์ดแวร์

ที่มาภาพ https://th.wikipedia.org/wiki/ราชวิถีเวิร์ดพีซี?fbclid=IwAR0669fK5g30bFGZrx_J-elnm-HBeblcgC4JCawhQmgEhLIe9vGNz2xdWlQ#/media/ไฟล์:Rajavithi_Word_PC_Intro.png

นอกจากนี้ยังมีภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกันพัฒนาโปรแกรมประมวลผลคำภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ชื่อว่า โปรแกรม Cu-Writer (เวิร์ดจุฬา) ใช้คำย่อว่า CW เป็นผลงานพัฒนาโปรแกรม ที่ทำกันต่อเนื่องหลายรุ่น ใช้การแสดงผลด้วยกราฟฟิกที่เขียนด้วยชอฟต์แวร์ล้วน ๆ แต่ต้องจัดหาฮาร์ดแวร์ภาษาไทยมาเพิ่ม

https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/1/1c/Rajavithi_Word_PC.png?fbclid=IwAR0Avab98fpFeT1im4GIW7X8D0igEoivCzBt706E3P3ZqWiAruFf_fgZ0T8

น่าเสียดายที่งานวิจัยและการพัฒนาระบบมาตรฐานภาษาไทยของสถาบันต่าง ๆ ในประเทศต้องหยุดชะงักไป เพราะโปรแกรมเหล่านี้ไม่สามารถขยายฐานผู้ใช้ได้สำเร็จ เมื่อมีการขยายการใช้งานของระบบ Microsoft Windows ในเวลาต่อมา ซึ่งหากคนไทยได้สนับสนุนการใช้โปรแกรทสำเร็จรูปของไทยอย่างต่อเนื่องในเวลานั้นก็อาจทำให้งานวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์ของบ้านเราคงจะเข้มแข็งกว่านี้ไปอีกมาก

ในแง่ของการเขียนโปรแกรมผมก็ได้ใช้ไมโครคอมพิวเตอร์เรียนรู้การเขียนโปรแกรมในหลาย ๆ ภาษาทั้ง Pascal หรือ Prolog ซึ่งก็มีส่วนช่วยทำให้พัฒนาการเขียนโปรแกรมของตัวเองได้ดีขึ้นมาก แต่การพัฒนาโปรแกรมสมัยนั้นก็ยังเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะการจะ compile โปรแกรมแต่ละครั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ก็จะใช้เวลานาน และบางครั้งโปรแกรมที่พัฒนาก็ดูน่าเบื่อที่จะเป็นเพียงการแสดงผลออกจอสีเขียวผ่าน Command line มากกว่าที่จะมากภาพกราฟฟิกที่สวยงามมากนัก

แต่การที่ได้เล่นกับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ที่ห้องสารบรรณแทบทุกวันก็ถือว่าเป็นโอกาสอันดีของผม ที่สมัยนั้นเป็นเรื่องยากสำหรับคนทั่วไปจะได้ใช้คอมพิวเตอร์ได้บ่อยขนาดนี้ และก็ได้ช่วยพัฒนาทักษะทำให้สามารถไปเรียนต่อปริญญาโทและเอกในต่างประเทศที่ต้องเขียนโปรแกรมและใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นส่วนใหญ่ได้จนสำเร็จการศึกษา

แหล่งข้อมูล beerkung.files.wordpress.com th.wikipedia.org

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-หัวเว่ย ขึ้นนำซัมซุงในรอบ 9 ปี จากยอดจัดส่งสมาร์ทโฟนทั่วโลก
-ซีอันจ่อเปิดเส้นทางรถไฟสินค้าเชื่อมจีนกับยุโรปกลาง-ตะวันออกเพิ่มอีก
-ซัมซุง จับมือ AIS PLAY ส่งแอปพลิเคชันลงซัมซุงสมาร์ททีวี
-ฟรีแลนซ์ออนไลน์ อาชีพทางเลือกในยุค COVID-19

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ