TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistการเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์และเขียนโปรแกรมสมัยนักศึกษาเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน

การเรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์และเขียนโปรแกรมสมัยนักศึกษาเมื่อเกือบ 40 ปีก่อน

TheStoryThailand.com ชวนให้ผมมาเขียนบทความรายสัปดาห์ ตอนแรกผมก็ลังเลอยู่ว่าจะเขียนเรื่องอะไรลงทุกสัปดาห์ เพราะถ้าเขียนถึงเรื่องแนวโน้มเทคโนโลยีทุกสัปดาห์บางครั้งอาจไม่มีอะไรใหม่จะเริ่มซ้ำกับเรื่องเดิม ๆ ตั้งแต่ Big Data, AI, Cloud Computing หรือ Blockchain และก็มีผู้เขียนมาจำนวนมากแล้ว

ผมเลยนึกได้ว่าจริง ๆ แล้วอยากเล่าเรื่องเก่า ๆ ที่ให้คนในยุคปัจจุบันได้เห็นภาพของการใช้คอมพิวเตอร์ตั้งแต่อดีต เริ่มตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือจนมาถึงการทำงานในที่ต่าง ๆ ซึ่งความโชคดีของผม คือ ได้เรียนวิชาด้านคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เป็นนักศึกษาเนื่องจากจบด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และได้ใช้ในการทำงานตั้งแต่เป็นอาจารย์ เป็นนักไอที ทำโครงการ ทำธุรกิจ ตลอดจนมีโอกาสพบกับผู้คนในวงการมากมายทั้งภาครัฐ เอกชน ทั้งในและต่างประเทศ

การเล่าประสบการณ์ในอดีตก็อาจเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ให้เห็นถึงวิวัฒนาการการอุตสาหกรรมไอทีในประเทศไทย โดยตั้งใจจะเขียนเป็นตอน ๆ ลงใน The Story Thailand ทุกสัปดาห์

ผมเข้าเรียนปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อปี 2525 ในยุคที่การติดตั้งโทรศัพท์ที่บ้านสักเครื่องหนึ่งในสมัยนั้นมีราคาที่แพงมาก ในยุคที่ผู้คนยังเขียนจดหมายหากัน ถ้าต้องการความเร็วก็ต้องส่งโทรเลขด้วยข้อความสั้น ๆ ดังนั้น ในยุคนั้นไม่ต้องพูดถึงเรื่องของเครื่องคอมพิวเตอร์มันเป็นสิ่งที่หายากมาก และจะมีใช้ในหน่วยงานใหญ่ ๆ ที่มีความจำเป็นเท่านั้น

ผมมีโอกาสได้เรียนวิชาที่ใช้คอมพิวเตอร์วิชาแรกตอนอยู่มหาวิทยาลัยปีที่สอง คือ วิชา Computer Programming for Engineers ซึ่งเป็นวิชาบังคับของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยสมัยนั้นสอนวิชาภาษา FORTRAN IV ซึ่งคอมพิวเตอร์ในยุคนั้นจะเป็นเครื่องเมนเฟรม ถ้าใครเรียนด้านวิศวกรรมก็จะเน้นภาษา FORTRAN แต่ถ้าเรียนสายบัญชีและสถิติก็จะเรียนภาษา COBOL

การเรียนการสอนวิชาการเขียนโปรแกรมสมัยนั้น จะเรียนกันบนกระดานดำส่วนใหญ่ เราจะเขียนโปรแกรมลงในกระดาษและต้องไล่ตรรกะกันเองว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ดังนั้น นักศึกษาที่ผ่านวิชาการเขียนโปรแกรมได้ก็จะต้องมีตรรกะดี ๆ และคาดเดาได้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร วิชาด้านคณิตศาสตร์ก็เลยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้เรามีความเข้าใจด้านการพัฒนาโปรแกรมที่ดีขึ้น

ความโชคดีของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในตอนผมเรียน ก็คือ มีเครื่องคอมพิวเตอร์ NEAC 2200/200 ที่ได้รับโอนมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวเครื่องออกใหญ่โตอย่างภาพที่เห็นนี่ละครับ มีความเร็วของ CPU เพียง 32K และใช้เทปแม่เหล็ก 7 แทรกในการเก็บข้อมูล และมีเครื่องอ่านบัตรในการรับข้อมูลเข้า และมีเครื่องพิมพ์ในการแสดงผล ต้องเขียนโปรแกรมแบบเจาะบัตร และโปรแกรมสั้น ๆ ก็ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 3-4 นาทีในการประมวลผล

จะเขียนโปรแกรมสักโปรแกรมหนึ่งต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์ เพราะต้องส่งไปเจาะบัตรแล้วรอเข้าคิวประมวลผล ต้องไปนั่งเฝ้ารอผลอยู่หน้าห้องคอมพิวเตอร์ ถ้าผิดก็กลับมาแก้ไขอีก ส่งกันไปมาหลายรอบจนได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง พวกเราเองไม่ได้เคยสัมผัสเครื่องคอมพิวเตอร์นี้หรอกครับ แต่แม้จะยากลำบากที่จะเขียนโปรแกรมแต่ก็สนุกที่ได้เรียนรู้ ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยและอาจารย์โดยเฉพาะท่าน ผศ.วันชัย ธนาเศรษฐอังกูร ที่ตั้งใจสอนให้ผมมีความสนใจเรื่องการเขียนโปรแกรมมาจนทำงานได้ทุกวันนี้

เครื่องคอมพิวเตอร์ NEAC 2200/200

จุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกอันหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้การเขียนโปรแกรมภาษาอื่นตอนเรียนหนังสือ คือ ในตอนเรียนชั้นปีที่ 3 คุณพ่อได้ซื้อเครื่องคอมพิวตอร์พกพาเล็ก ๆ ที่สามารถเขียนโปรแกรมยี่ห้อ Sharp PC 1500 ราคาหลักพันต้น ๆ แต่ก็ถือว่าแพงสำหรับนักศึกษาสมัยนั้น เครื่องนี้ใช้ CPU Z80 ซึ่งเป็นไมโครโปรเซสเซอร์ขนาด 8 bits มีหน่วยความจำ 2 KB และหน้าจอเป็น LCD ขนาด 156×7 pixel เครื่องนี้สามารถเขียนโปรแกรมภาษา BASIC ทำให้ผมได้หัดเขียนโปรแกรมด้วยตัวเองแบบเห็นเขียน แม้จะมีหน้าจอเล็ก ๆ แต่ก็ได้เรียนรู้มากมาย จนกระทั้งสามารถเขียนโปรแกรมรถถังยิงกันจากหน้าจอเล็ก ๆ นี้ได้

Sharp PC 1500

วิชาด้านการเขียนโปรแกรมอีกวิชาที่ผมได้เรียน ก็คือ วิชา Microprocessor เพราะผมเรียนสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า เลยต้องเรียนภาษา Assembly ที่จะเขียนโปรแกรมมาควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ และมีการแสดงผลเล็ก ๆ ผ่าน LED โดยใช้ Z80 Microprocessor Kit Board

แน่นอนการเขียนโปรแกรมภาษา Assembly ยากกว่าภาษา BASIC และ FORTRAN IV มาก แต่ก็ทำให้ตัวผมเองได้เข้าใจกลไกการทำงานของคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ได้ดียิ่งขึ้น

ปีสุดท้ายก่อนที่ผมจะจบการศึกษาเริ่มมีเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์เข้ามา ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์มีห้องปฎิบัติการที่ซื้อเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์มา ซึ่งสมัยนั้นที่ยังไม่มี Harddisk และใช้ Floppy disk ในการอ่านและเขียนโปรแกรมเข้ามา 4-5 เครื่อง พร้อมทั้งเปิดวิชาเลือกหนึ่งตัว เพื่อสอนการใช้โปรแกรมง่ายในการทำเอกสารหรือ spreadsheet ยังจำได้เลยว่านักศึกษาแย่งกันลงเรียนจนล้นห้อง 50-60 คน และต้องผลัดกันเข้าคิวกันไปใช้เครื่อง แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ที่ทำให้พวกเราได้สัมผัสกับเครื่องคอมพิวเตอร์มากขึ้น

จากที่เล่ามาแล้วไม่น่าเชื่อว่าผมได้สัมผัสกับเครื่องคอมพิวเตอร์ตอนเรียนน้อยมาก แต่สุดท้ายเมื่อจบมาก็สามารถทำมาหากินกับสาขาคอมพิวเตอร์มาเกือบตลอด ตลอด 4 ปีก็เรียนวิชาโปรแกรมภาษาหลักเพียงภาษาเดียว หลาย ๆทักษะด้านคอมพิวเตอร์อาจารย์ในมหาวิทยาลัยไม่เคยสอนเพราะยุคนั้นยังไม่มี แต่เพราะได้เรียนพื้นฐานและวิธีคิดที่ดีทำให้เราเรียนรู้เองได้ ผมมักจะบอกกับหลาย ๆ คนว่า ผมเรียนหนังสือจบสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ทำอาชีพมาหลากหลาย ทั้งเป็นอาจารย์ โปรแกรมเมอร์ กรรมการบริษัท นักธุรกิจ Auditor และผู้บริหารธนาคาร แต่อาชีพเดียวเลยที่ไม่เคยทำตั้งแต่จบมา คือการเป็น วิศวกรไฟฟ้า แต่ก็เพราะเรียนคอมพิวเตอร์อย่างที่เล่าให้อ่านนี่ละครับทำให้สามารถประกอบอาชีพมาได้ทุกวันนี้

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-ความแตกต่างระหว่าง เงินหยวนดิจิทัล เงินบาทดิจิทัล Bitcoin Libra และระบบการชำระเงินดิจิทัล
-TikTok ใคร ๆ ก็ไม่รัก
-No way Win-Win บทเรียน CPTPP จากชาติภาคีถึง ไทยแลนด์

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ