TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistNo way Win-Win บทเรียน CPTPP จากชาติภาคีถึง ไทยแลนด์

No way Win-Win บทเรียน CPTPP จากชาติภาคีถึง ไทยแลนด์

ทันทีที่ 11 ชาติ ประกอบด้วย แคนาดา ญี่ปุ่น เม็กซิโก นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ บรูไน ชิลี มาเลเซีย เปรู ออสเตรเลีย และเวียดนาม ลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) หรือ CPTPP เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2018 และมีผลบังคับใช้ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน บรรดาผู้นำ นักธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลกต่างจับตามองความเป็นไปของข้อตกลงทางการค้าครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด 

เหตุผลเพราะ ความตกลงหุ้นส่วนทางการค้าดังกล่าว นับเป็นการเปิดตลาดการค้าที่เข้าถึงผู้คนมากกว่า 500 ล้านคน เป็นข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกเมื่อพิจารณาจากปริมาณจีดีพี โดยมีสัดส่วนจีดีพีสูงถึง 13.5% ของจีดีพีโลก เป็นรองเพียงแค่ข้อตกลงการค้า NAFTA และ ข้อตกลงการค้าของสหภาพยุโรป (European Single Market) 

ทั้งนี้ ข้อตกลงทางการค้าภายใต้ความตกลง CPTPP ไม่ได้หมายรวมเพียงแค่การยกเว้นภาษี หรือปลอดภาษีระหว่างชาติภาคีเครือข่ายระหว่างกันเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงสิทธิพิเศษทางการค้าอื่น ๆ ตลอดจากการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ระบบการค้าบนโลกออนไลน์ และการสร้างห่วงโซ่เครือข่ายการผลิต และการบริการ

แม้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กว่า 1 ปี ของ CPTTP จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละชาติภาคีเครือข่าย โดยมีทั้งได้และเสีย แต่โอกาสที่จะเกิดจากเงื่อนไขของ CPTPP ก็ยังหอมหวาน ชวนให้อีกหลายประเทศเริ่มคิดอย่างจริงจัง 

ยกตัวอย่างเช่น  เวียดนาม ที่เพิ่งออกรายงานเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาว่า ภายในเวลาแค่ 7 เดือนหลังเข้าร่วม CPTPP เวียดนามมีดุลการค้าเกินดุลมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เฉพาะรายได้จากการส่งออกของเวียดนามไปยังชาติสมาชิก CPTPP มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 15.4%

ส่วนออสเตรเลียก็ไม่น้อยหน้า โดยมีรายงานว่า การค้ากับชาติสมาชิก CPTPP ของประเทศขยายตัวเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เช่น การค้ากับญี่ปุ่นขยายตัวขึ้น 19.1% กับ มาเลเซียโตขึ้น 16.5% กับเวียดนามโตขึ้น 13.3% ส่งผลให้มูลค่าการค้าโดยรวมประจำปีเพิ่มขึ้น 11.6% จากก่อนหน้า

ขณะที่ในส่วนของญี่ปุ่น แม้จะมีการนำเข้าจากชาติภาคี CPTPP อย่างออสเตรเลีย และเวียดนาม เพิ่มขึ้น 5.1% และ 7.0% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2019 กระนั้น การส่งออกของประเทศโดยรวมกลับลดลงโดยรวม 4.7% ทำให้ในภาพรวม ญี่ปุ่นยังคงเสียดุลการค้า

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ผลลัพธ์ทั้งหมดข้างต้น ไม่อาจเป็นตัวตัดสินชี้วัดได้ว่า CPTPP ดีหรือไม่ดี สำเร็จหรือล้มเหลวได้ในทันที ด้วยอายุการใช้งานที่น้อยแสนน้อย เมื่อเทียบกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศอื่น ๆ ทั้งแบบทวีภาคี และพหุภาคี

ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญหลายสำนัก CPTPP ยังมีพื้นที่ว่างอีกมากสำหรับการขยายตัวเติบโต ทั้งในแง่ของจำนวนสมาชิก และมูลค่ามหาศาลของผลประโยชน์ ส่งผลให้รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกต่างพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะเข้าร่วม รวมถึง ประเทศไทยบ้านเรา ที่กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาพิจารณาเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วน CPTPP ดังกล่าว

การเข้าร่วมครั้งนี้ของไทย จะเป็นโอกาสทางการค้าที่ให้ผลตอบแทนมหาศาล หรือ การเสียเปรียบที่คาดเดาไม่ได้ คงไม่มีใครให้คำตอบได้ดีกว่าประเทศภาคีที่อยู่ใน CPTPP ในปัจจุบัน โดยตัวแทนจากเวียดนาม ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ได้ขึ้นเวทีร่วมแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ บนเวทีเสวนาที่ทาง คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ภายใต้ห้วข้อ  “ความตกลง CPTPP ประโยชน์ ผลกระทบ และ ประสบการณ์จากประเทศภาคี” เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 

เหล่าผู้แทนแสดงความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย หากไทยจะไม่เข้าร่วมกับ CPTPP จนพลาดสิทธิประโยชน์ และโอกาสด้านการค้าการลงทุนที่จะได้รับ ขณะที่ข้อเสียจากการเข้าร่วม เป็นสิ่งที่ชาติภาคีแต่ละชาติ รวมถึงไทยเอง ในกรณีที่ต้องการเข้าร่วม จะต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักให้รอบคอบถี่ถ้วน

Tran Thi Thanh My ที่ปรึกษาการพาณิชย์ จากสถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทย กล่าวว่า ข้อดีของการเข้าร่วม นอกจากเพิ่มยอดการส่งออกมหาศาล จนเวียดนามเข้าใกล้เป้าหมายการส่งออกสินค้าของประเทศรายปีที่ 15% ขณะเดียวกัน ก็เพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าใหม่ ๆ อย่าง อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารทะเล เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตที่เข้มแข็ง กระนั้น เวียดนามก็ต้องยอมรับความเสียเปรียบ เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ สินค้าเกษตรแปรรูป ผัก และผลิตภัณฑ์จากนามที่ต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันอย่างรุนแรง

ด้าน  Ryohei Gamada นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก องค์การส่งเสริมสินค้าส่งออกญี่ปุ่น (JETRO) กล่าวว่า CPTPP ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2019 เติบโตขึ้น 1.5% หรือคิดเป็นมูลค่าเทียบเท่า 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้จะเป็นการเติบโตที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับชาติภาคีอื่น ๆ แต่ญี่ปุ่น หวังผลในระยะยาว โดย JETRO คาดการณ์ว่า CPTPP จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับญี่ปุ่นได้มากถึง 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งยังจะดึงดูดความร่วมมือและการลงทุนจากเครือข่ายภาคี CPTPP ในด้านธุรกิจดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ ต่อไป แม้จะต้องปวดหัวกับผลกระทบทางลบในสินค้าเกษตร แต่ก็เป็นปัญหาที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังหาทางแก้ไข้

ขณะที่ Hugh Robilliard รักษาการอัครราชทูตที่ปรึกษาของสถานทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย เน้นย้ำข้อดีของ CPTPP ด้วยการเปิดเผยว่า เศรษฐกิจของออสเตรเลียได้รับผลกระทบจากวิกฤติการระบาดของ COVID-19 น้อยมาก เนื่องจากการทำข้อคกลงการค้าเสรีหลายฉบับกับนานาประเทศ รวมถึง CPTPP ที่ทางออสเตรเลียยอมรับว่า CPTPP เป็นหนึ่งในข้อตกลงการค้าที่ดีที่สุด ที่นำมาซึ่งการลงทุนครั้งใหญ่ และส่งผลดีต่อออสเตรเลียเป็นอย่างมาก กระนั้น บรรดาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ของออสเตรเลีย อาจต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันมหาศาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางรัฐบาลกำลังหาทางคลี่คลายบรรเทาประเด็นปัญหาดังกล่าวอยู่

ทั้งนี้ ในมุมมองของเวียดนาม ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ต่างสนับสนุนให้ไทยตบเท้าเข้าร่วมเป็นชาติภาคีกับ CPTPP เพราะจะเอื้อประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน รวมถึงเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจในอีกหลายมิติให้ไทยอย่างมหาศาล โดยต่อให้มีข้อเสียเปรียบจนทำให้เกิดกระแสต่อต้าน กระนั้น ข้อเสียเปรียบเหล่านั้น ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถหาทางจัดการแก้ไขได้ 

โดยกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดกระแสต่อต้านได้ดีที่สุดก็ คือ ความโปร่งใส และการสื่อสารข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมากับประชาชน รวมถึงการพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือบรรเทาเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำ CPTPP  

แน่นอนว่า ในเรื่องของการเจรจาทำความตกลง CPTPP เป็นการตัดสินใจที่รัฐบาลไทยต้องชั่งน้ำหนักเอาเอง และสิ่งที่ชาติภาคีแสดงให้เห็นก็คือ ในการเจรจาทำความตกลงยากที่จะมีคำว่า Win-Win สำหรับทั้งสองฝ่าย มีแต่ Win กับ Lose เพียงแต่ว่าสิ่งที่ต้อง Lose นั้น คุ้มค่าพอที่จะต้องยอมสละไปเพื่อให้ Win ได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น  

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ