TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewNECTEC ดัน IDA ยก อุตสาหกรรม 4.0

NECTEC ดัน IDA ยก อุตสาหกรรม 4.0

IDA: Industrial IoT and Data Analytics หรือแพลตฟอร์ม IoT และระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม เกิดขึ้นจากความคิดที่ “เนคเทค” ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมอัจฉริยะในประเทศไทย (อุตสาหกรรม 4.0) ซึ่งแขนงหนึ่งที่สำคัญ คือ การทำให้เครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมเชื่อมต่อถึงกันได้ ตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักร ตรวจสอบการใช้พลังงาน และตรวจสอบการผลิตได้แบบทันทีทันใด ซึ่งใช้เทคโนโลยี IoT นำเซ็นเซอร์ไปจับที่เครื่องจักรต่าง ๆ และดึงค่าต่าง ๆ ทั้งการใช้พลังงาน การสั่น รวมไปถึงการจับภาพ และส่งข้อมูลขึ้นไปที่ระบบดลาวด์

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวกับ The Story Thailand ว่า IDA พัฒนามาเพื่อโรงงานอุตสาหกรรม 4.0 เข้ามาช่วยให้โรงงานมีความคล่องตัว ผลิตสินค้าตามความต้องการ ลดการสต๊อกสินค้า วางแผนการผลิตโดยใช้พลังงานต่ำที่สุด

ยุคเศรษฐกิจหลังโควิดคนจะเริ่มกังวลเรื่องการผลิตปริมาณมาก และปรับมาเป็นผลิตตามคำสั่งซื้อ ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมต้องปรับตัวมาสู่ความเข้าใจในการออกแบบสินค้าและกระบวนการมากขึ้น

“ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ จะมาอยู่ในหน้าแผงควบคุม เพื่อให้ผู้บริหารเข้ามาดูข้อมูล และนำไปใช้วางแผนการผลิตได้ เราตั้งเป้าที่จะให้อุตสาหกรรมในประเทศไทยที่อยู่ 2.0 ค่อย ๆ ขยับขึ้นไปเป็น 4.0”

ทำหน้าที่คนกลาง เชื่อมหน่วยงานรัฐ-เอกชน

เนคเทค มีหน้าที่ประสานให้เกิดการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยใช้เทคโนโลยีของเนคเทคบางส่วน เช่น NETPIE จะเป็นแพลตฟอร์ม IoT กลางที่นำมาใช้กับระบบนี้ โดยดึงข้อมูลทั้งหมดขึ้นสู่ระบบ IoT กลาง ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมอื่นได้ผลประโยชน์ด้วย รวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิต สามารถนำไปใช้วางนโยบายการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนให้โรงงานได้

ใช้อุปกรณ์ Universal Remote Terminal Unit (URTU) ไปติดกับเครื่องจักรเพื่อใช้ดึงข้อมูลผ่านเซ็นเซอร์และส่งข้อมูลขึ้นระบบคลาวด์ โดยมีผู้ผลิตเข้ามาช่วยผลิตฮาร์ดแวร์

“โครงการนี้เป็นโครงการนำร่องของที่อยู่ภายใต้ EECi ตั้งเป้าจะตั้งเป็นศูนย์การผลิตที่ยั่งยืนโดยการสร้างระบบนิเวศ”

ดร.ชัย กล่าวต่อว่า เนคเทค จะเข้ามาเป็นผู้จัดหาเทคโนโลยีในราคาที่โรงงานอุตสาหกรรมจับต้องได้ อีกส่วนคือ เข้าไประดมทุนจากภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันมีพาร์ทเนอร์อย่าง “ดีป้า” เข้ามาช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับโรงงานขนาด SMEs

ด้านการติดตั้ง ถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังผู้รวมระบบ (System Integrator) หรือ ซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ให้เข้าใจเทคโนโลยีของ เนคเทค เพื่อลงไปช่วยประกอบและให้คำแนะนำการใช้งานให้กับภาคอุตสาหกรรม

“เราเชื่อว่าโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีความสามารถสูง แต่การจะขยับจากอุตสาหกรรม 2.0 ขึ้นไป เราจำเป็นจะต้องเข้าไปช่วย เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมมอนิเตอร์พลังงานได้ ต่อไปจะมอนิเตอร์ผลผลิตได้ และในอนาคตก็จะสามารถทำการบำรุงรักษาเชิงทำนายได้ (Predictive Maintenance)”

ตั้งเป้าผลักดันโรงงานอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

ดร.ชัย กล่าวว่า IDA เป็นโครงการที่เนคเทคตั้งใจเริ่มตั้งแต่ยังไม่ได้ขออนุมัติจากสภาพัฒน์ฯ คือ เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2019 เดินสายคุยกับพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ และเริ่มทดลองเทคโนโลยีภายใน แต่เมื่อติดโควิด-19 ทำให้เกิดความล่าช้า และได้ลงนามความร่วมมือไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2020 ที่ผ่านมา

เป้าหมายในปีแรกคือการทำแดชบอร์ด (Dashboard) ให้สมบูรณ์ ตามความต้องการของโรงงานต้นแบบประมาณ 10-20 โรงงาน ซึ่งโรงงานเหล่านี้จะเข้ามาช่วยปรับปรุงเทคโนโลยีจนใช้งานได้เหมาะสมกับการมอนิเตอร์

จากนั้นอีก 2 ปี จะใช้เวลากับการขยายผลรวมกับภาคอุตสาหกรรม ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม และ TARA (Thai Automation and Robotics Association) โดยมีเป้าหมายที่ 500 โรงงาน

ดร.ชัย กล่าวต่อว่า นอกจากโครงการนี้ ยังมีอีก 3 โครงการที่เนคเทคอยากจะปั้นให้เกิด คือ Robot Automation ให้ประเทศไทยพัฒนาหุ่นยนต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเองได้ เรื่องที่ 2 คือ Smart Warehouse คือ ผลิตอุปกรณ์ที่เข้ามาช่วยให้คลังสินค้าฉลาดขึ้น และเรื่องสุดท้าย คือ Industrial AI สามารถตรวจชิ้นงาน การควบคุมคุณภาพ (QC) การตรวจขั้นตอนการผลิต โดยใช้กล้องเข้ามาช่วย

“ทั้ง 3 โจทย์นี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนา ซึ่งระบบนิเวศอาจจะยังไม่ครบเท่ากับระบบ IDA”

ดร.ชัย กล่าวต่อว่า การพัฒนาระบบเหล่านี้ ประเทศชาติจะได้ผลประโยชน์ในทุกระดับ

บริษัทใหญ่หรือพาร์ทเนอร์ใหญ่ สามารถมอนิเตอร์การใช้พลังงาน เพื่อวางแผนนโยบายลดการใช้พลังงานการผลิต ด้านหน่วยงานวิจัย ที่ต้องการให้เทคโนโลยีถูกนำไปใช้งาน เนคเทคจะเข้าไปเป็นตัวกลางช่วยทำให้ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้

นอกจากนี้ยังเพิ่ม System Integrator ที่มีความสามารถในเชิงลึก ได้ลงมาเล่นกับเทคโนโลยี และคนรุ่นใหม่สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ ด้านโรงงานอุตสาหกรรมจะได้โซลูชั่นที่ดีในราคาที่จ่ายได้

“ทั้งนี้โรงงานที่เข้ามาร่วมใช้ IDA จะได้ SIRI (Smart Industry Readiness Index) ที่ทำงานร่วมกับสิงคโปร์ ในการประเมินโรงงานว่ามีความพร้อมในการเป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะแค่ไหน และยังขาดอะไร ซึ่งจะทำให้โรงงานต่าง ๆ รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะ”

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-NIA ปรับบทบาท รีโฟกัสนวัตกรรม ฟื้นประเทศหลังโควิด
-QueQ ชูกลยุทธ์ Social Distancing Enabler ลุยตลาดใหม่
-ไมโครซอฟท์ พร้อมช่วยธุรกิจไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19
-FinGas ทรานส์ฟอร์มร้านแก๊ส สร้างอีโคซิสเต็มส์ผู้ใช้แก๊ส
-LINE ตอกย้ำ บทบาท Beyond Super App ดันชีวิตคนไทย Life on LINE

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ