TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewNIA ปรับบทบาท รีโฟกัสนวัตกรรม ฟื้นประเทศหลังโควิด

NIA ปรับบทบาท รีโฟกัสนวัตกรรม ฟื้นประเทศหลังโควิด

วิกฤติโควิด-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้ต้องหันมามองคำว่า “นวัตกรรม” ในอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่ง NIA ได้เข้ามาช่วยพัฒนานวัตกรรมทางสังคมของประเทศ นอกเหนือจากการให้ทุนสนับสนุนผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันความหมายของนวัตกรรมเปลี่ยนไปจากการที่พัฒนามาเพื่อสร้างรายได้ เป็นการพัฒนามาเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบในระดับโลก เช่น เข้ามาเร่งให้โรงพยาบาลต้องมาทำเรื่องการแพทย์ทางไกล หน่วยงานรัฐต้องให้บริการประชาชนแบบไร้สัมผัส หรือแม้แต่การเข้าสู่สังคมไร้เงินสด

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวกับ The Story Thailand ว่า โควิด-19 ทำให้ภาพของนวัตกรรมเปลี่ยนไป ทำให้คนไม่พัฒนานวัตกรรมแบบซื้อมาขายไปในรูปแบบเดิม แต่จะมีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นดิจิทัล เพราะโควิด-19 ทำให้เห็นว่า ดิจิทัลช่วยได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น ขณะที่ยังมีผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบดิจิทัล เช่น ผู้สูงอายุที่ไม่มีความสามารถในการเข้าถึงระบบ คนที่อยู่ชายขอบของประเทศ หรือคนยากจน ทำให้เห็นว่าต้องปรับมาพัฒนานวัตกรรมแบบทั่วถึง

“NIA เปลี่ยนบทบาทมา 2-3 ปีแล้ว แต่เมื่อถามว่าต้องเปลี่ยนอีกหรือไม่ ก็ต้องเปลี่ยนอีก โดยจะเปลี่ยนใน 3 บริบท”

1.ปรับตัวเองจากหน่วยงานที่ให้ทุนนักธุรกิจ เป็นคนที่คอยสร้างสะพานหรือซ่อมสะพานที่เชื่อมระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

2.การสร้างตลาดใหม่ พัฒนาอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่และอุตสาหกรรมที่ต้องการขยายตัว ดึงความสามารถของผู้ประกอบการไทย ให้เป็นผู้ให้บริการกับภาคราชการ เพราะฉะนั้นภาคราชการจะเป็น Accelerator กลุ่มใหม่ ที่จะเป็นผู้ใช้นวัตกรรม

3.สร้างแบรนด์ประเทศไทย ให้ต่างชาติเห็นว่าไทยมีบริษัทมีความสามารถหลากหลายสาขา และมีความเป็นนวัตกรรมสูง

โดยโฟกัสไปที่ 3 กลุ่ม คือ

1.นวัตกรรมด้านธุรกิจ กลุ่มที่เป็น Deep Tech เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งยังขาดอยู่มาก โดยเฉพาะด้านเกษตร อาหาร การแพทย์ รวมถึงอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง AI ML AR VR

2.MarTech หมายถึง Music Art Recreation Technology กลุ่มที่ทำเรื่องอุตสาหกรรมดนตรี ศิลปะ และนันทนาการ ไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งสามกลุ่มนี้จะเข้ามามีผลกับกลุ่ม MICE ที่ทำเรื่องงานนิทรรศการต่าง ๆ

3.นวัตกรรมสังคม เป็นส่วนที่สร้างความยั่งยืนและความทั่วถึง ช่วยคนที่ไม่มีกำลังจ่ายให้กับเทคโนโลยี

เชื่อมรัฐ-เอกชน ทั้งในและต่างประเทศ

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า NIA เริ่มต้นปรับตัวเองจากการทำงานบทบาทเดียว คือ การให้ทุนผู้ประกอบการเป็นคนดูแลระบบ เพราะฉะนั้น 3-4 ปีที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับการสร้างระบบ โดยโฟกัสที่ 2 ส่วน คือ บริษัท ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดไหน ถ้าอยากทำนวัตกรรม ก็จะสนับสนุนทุกเรื่องตั้งแต่วันแรก อีกส่วนคือให้โอกาสทางนวัตกรรมในภูมิภาค NIA เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างน้อย 26 จังหวัดทั่วประเทศ และมีศูนย์กลางนวัตกรรม (Innovation Hub) ที่กรุงเทพฯและเชียงใหม่ เพราะฉะนั้นการสร้างโอกาสทางนวัตกรรมให้กระจายออกไปได้ นวัตกรรมของผู้ประกอบการจะไม่กระจุกตัว

ทำงานร่วมกับ 47 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศในมิติของการยกระดับมหาวิทยาลัยของการเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงสถาบันอาชีวะ 800 กว่าแห่ง

ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย สมาคมสตาร์ตอัพฯ รวมถึงสมาคมธนาคาร เพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านธุรกิจ

ร่วมกับหน่วยงานราชการ เช่น โรงพยาบาล หรือ หน่วยงานที่ให้บริการสาธารณะ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการต่างประเทศ ทำให้เกิดการบริการภาครัฐ และรัฐเข้าใจว่าบทบาทการสนับสนุนและผู้ใช้สามารถช่วยระบบอย่างไรได้บ้าง

ด้านต่างประเทศมีพาร์ทเนอร์กับทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ในประเทศที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรม 10 อันดับแรก เพราะฉะนั้นเมื่อสตาร์ตอัพ หรือ SMEs ต้องการไปทำธุรกิจในประเทศเหล่านั้น ก็จะสนับสนุนได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านตลาดและการเข้าสู่ระบบนิเวศของประเทศนั้น ๆ

ไทยยังต้องพัฒนานวัตกรรม

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า จากข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นวัตกรรมถูกพัฒนาโดยบริษัทใหญ่ ๆ ของไทย บริษัทเหล่านี้อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีในระดับต่ำจนถึงกลาง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแย่ เพราะอุตสาหกรรมไฮเทคจะเป็นเรื่องของ ยา การต่อเครื่องบิน และ อุตสาหกรรมทางทหาร ซึ่งไทยไม่มีบริษัทเหล่านี้

บริษัทของไทยสามารถทำได้ดีในช่วงที่ผ่านมา ถ้าให้คะแนนความสามารถให้ได้ถึง 9 จาก 10 คะแนนในเรื่องความพยายามเข้าถึงนวัตกรรมโดยมีผู้นำเป็นเอกชนรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย และยังมีบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางบางส่วนที่ทำนวัตกรรมมากขึ้น

ขณะที่คะแนนด้านความสำเร็จในการนำเสนอนวัตกรรมสอบผ่านแค่ 5 จาก 10 คะแนน สำหรับเอกชน

ส่วนหน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญด้านนวัตกรรมมากขึ้นด้านความตระหนักให้เต็ม 10 แต่กระบวนการทำงานและกระบวนการสนับสนุนที่ทางยังเดินไม่ถูกทาง ยังสอบตกอยู่ ได้คะแนนแค่ 4 จาก 10

“ประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนอยู่ 3 ล้านราย แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นนวัตกรรมทั้งหมด เราต้องการแค่ 2,000 รายที่เป็นเรือธงก็น่าจะเพียงพอทำให้ประเทศไทยก้าวไปได้อีกระดับหนึ่ง”

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า ขณะที่ด้านประชาสังคมหรือภาคตลาด คนไทยติดอันดับ 28 ของโลกในความเป็นตลาดนวัตกรรม เพราะฉะนั้นสินค้าที่เป็นนวัตกรรมหลายต้องการเข้ามาเปิดตัวและทดสอบที่ประเทศไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยก็จะต้องมองภาพว่าการสมดุลระหว่าง การวิจัย การสอน และการพัฒนานวัตกรรม จะบริหารจัดการอย่างไร

ความท้าทายอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้สตาร์ตอัพ SMEs และ กิจการเพื่อสังคม ไปต่อได้ด้วยนวัตกรรม ซึ่งสตาร์ตอัพจะต้องคิดระดับโลก

“เราอยากให้สตาร์ตอัพไปโตในต่างประเทศ เพราะสตาร์ตอัพต้องปรับธุรกิจจากภาวะต่าง ๆ ภายในประเทศ ต้องได้เงินทุนจากต่างประเทศและในประเทศ และการจะโตในต่างประเทศก็ต้องมีรากฐานในประเทศก่อน เพราะฉะนั้นมันเป็นลำดับความสำคัญเดียวกัน”

“เป้าหมายที่รับมาคือต้องสร้างยูนิคอร์นในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งเราคาดหวังว่าประเทศไทยจะมียูนิคอร์น แต่จะเป็นในอุตสาหกรรมไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของสตาร์ตอัพ จากที่ดูน่าจะเป็น Fintech, AgriTech หรือ FoodTech” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
ทรงกลด แซ่โง้ว – เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-QueQ ชูกลยุทธ์ Social Distancing Enabler ลุยตลาดใหม่
-ไมโครซอฟท์ พร้อมช่วยธุรกิจไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19
-FinGas ทรานส์ฟอร์มร้านแก๊ส สร้างอีโคซิสเต็มส์ผู้ใช้แก๊ส
-LINE ตอกย้ำ บทบาท Beyond Super App ดันชีวิตคนไทย Life on LINE
-“ดิจิทัลพีอาร์” ฉลาดสื่อสาร เข้าใจคน-เทคโนโลยี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ