TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessเอไอเอส-สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ลงทุน 30 ลบ ตั้งบ.ร่วมทุน “สห แอดวานซ์ เน็ทเวอร์ค”

เอไอเอส-สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ลงทุน 30 ลบ ตั้งบ.ร่วมทุน “สห แอดวานซ์ เน็ทเวอร์ค”

การตั้งบริษัทร่วมทุนเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจของเอไอเอสในการเสริมแกร่งอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยกระดับสู่ Smart Industrial ตอกย้ำความมุ่งมั่นของเอไอเอสในการนำเทคโนโลยี 5G ร่วมฟื้นฟูประเทศไทย พร้อมผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทยทัดเทียมเวทีโลก

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า การตั้งบริษัทร่วมทุน “บริษัท สห แอดวานซ์ เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ SAN” ระหว่างบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI บริษัทในเครือสหพัฒน์ กับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส มีเงินลงทุน 30 ล้านบาท AIS ถือหุ้น 70% สหพัฒน์​ถือ 30% ซึ่งในระยะแรกบริษัท JV นี้จะโฟกัสที่โรงงานใน 4 สวนอุตสาหกรรมของสหพัฒน์ ก่อน แต่ในอนาคต บริษัท JV นี้ สามารถขยายธุรกิจและบริการไปสู่อื่น ๆ ได้

“ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มผลผลิตให้กับโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ทั้งยังเป็นต้นแบบของการนำเอาเทคโนโลยี 5G ไปใช้ในนิคมอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม โมเดลบริษัทร่วมทุนจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการแสดงถึงพันธะสัญญาและความตั้งใจที่จะทำให้โครงข่าย 5G เกิดขึ้นจริงจัง ลงทุนในพื้นที่ที่มีคนใช้จริง”

สมชัย กล่าวว่า AIS 5G SA ทำให้สามารถทำ network slicing ได้ คือ แบ่งคลื่นควมถี่ที่อยู่ (คลื่นความถี่รวมที่เอไอเอสมีนั้นมากที่สุด) ไปให้แต่ละโรงงาน แต่ละแอปพลิเคชัน ใน EEC เอไอเอสสามารถทำ network slicing ให้แต่ละโรงงาน ได้เป็นการเฉพาะ อาทิ โรงงงานที่ใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการผลิต หรือการทำนิคมอุตสาหกรรมอัตโนมัติ ทำ face recognition และ CCTV เป็น automatic factory ทั้งนี้ขึ้นกับความต้องการของโรงงาน

สมชัย กล่าวว่า แต่ละโมเดลขึ้นกับพันธมิตรของเอไอเอสมากกว่า สำหรับเคสสวนอุตสาหกรรมทั้ง 4 แห่งที่มี 112 โรงงาน หากต้องการให้นิคมอุตสาหกรรมมีโครงสร้างดิจิทัลที่มีความเข้มแข็ง แข็งแรง รูปแบบการตั้งบริษัทร่วมทุนจะเหมาะสมที่สุด

วิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มูลค่าธุรกิจของสหพัฒน์ปีละแสนกว่าล้าน เป้าหมาย คือ การนำ 5G เข้ามาลดต้นทุน ซึ่งเบื้องต้นคาดหวังลดต้นทุน 5% หรือ 5,000 ล้านบาทหรือสร้างมูลค่าเพิ่มได้ คาดว่าจะต้องใช้วลาสัก 1 ปีเป็นอย่างน้อย ในการเริ่มไลน์การผลิตระบบอัตโนมัติ ที่ใช้ความสามารถของโครงข่าย 5G ทั้งนี้ ขึ้นกับความพร้อมของแต่ละโรงงาน อาทิ หากขึ้นไลน์การผลิตมาม่า 500 ล้านบาท เป็นระบบอัตโมัติ กระบวนการผลิตมาม่าอาจจะไม่ใช้คนเลย อาจจะช่วยลดราคามาม่าได้ 10 สตางค์ห่อ ก็สามารถลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้ เป็นต้น

“นอกจากการลงทุนเพื่อสร้างไลน์การผลิตใหม่ที่เป็นระบบอัตโนมัติ ไลน์การผลิตเดิมก็สามารถเพิ่มความสามารถในการผลิตได้ จากโครงข่าย 5G เช่นกัน” สมชัย กล่าวเสริม

บริษัท สห แอดวานซ์ เน็ทเวอร์ค ให้บริการโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fibre Optic) และ ICT Infrastructure ภายในสวนอุตสาหกรรมของ SPI ทั้ง 4 แห่ง คือ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี, อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี, อ.เมือง จ.ลำพูน และ อ.แม่สอด จ.ตาก รวมพื้นที่ประมาณ 7,255 ไร่ ซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่กว่า 112 แห่ง

“สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง มีความตั้งใจที่จะพัฒนาสวนอุตสาหกรรมไปสู่มาตรฐานสากล โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามายกระดับการบริหารและพัฒนาพื้นที่ภายในสวนอุตสาหกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ยกระดับกระบวนการผลิตสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะ และนำไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 อีกทั้งยังเป็นการรองรับการเติบโตของบริการ 5G สำหรับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในอนาคต”

นอกจากนี้ ด้วยศักยภาพของ สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ที่เป็นผู้นำด้านสินค้าอุปโภคและบริโภค และมีความแข็งแกร่งด้านการดำเนินธุรกิจพัฒนาที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน เมื่อผนวกกับจุดแข็งของเอไอเอส ในด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่แข็งแกร่งด้วยเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และครอบคลุมทั่วประเทศ จะช่วยให้ผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่ EEC สามารถผลิตสินค้าและดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ช่วยดึงดูดให้นักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกสนใจมาลงทุนตั้งฐานการผลิตที่ในพื้นที่ EEC มากยิ่งขึ้น อันจะเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้กลับมาแข็งแกร่ง และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยได้อย่างยั่งยืน

“โมเดล JV เป็นโมเดลที่เราถนัดและชอบที่สุด และมาเจอพันธมิตรที่มีความจริงใจแบบเอไอเอสยิ่งตัดสินใจง่าย ปกติเราจะร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่นหรือเกาหลี เอไอเอส เป็นบริษัทไทยรายแรกที่สหพัฒน์ร่วมทุนด้วย โดยสวนอุตสาหกรรมที่ศรีราชาเป็นแห่งแรก เอไอเอสเป็นผู้เล่นรายหลัก มีหน้าที่พัฒนาโครงข่ายให้คนไทยใช้ เรามีหน้าที่พัฒนาสินค้าที่เป็นธรรมที่เหมาะสมให้กับผู้บริโภคคนไทย ในอนาคตจะเห็นสินค้าที่ดี ราคาไม่แพงขึ้น”

วิชัย กล่าวว่า ทั้ง 112 โรงงาน สหพัฒน์ฯ มีหุ้นด้วย รู้จักทุกโรงงานเป็นอย่างดี การลงทุนระบบจะทำได้เร็ว โดยแผนธุรกิจของปีหน้า (ปี 2021) จะต้องมีแผนการ implement 5G ของโรงงานด้วย

บริษัท สห แอดวานซ์ เน็ทเวอร์ค หรือ SAN จัดตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 300,000 หุ้น เป็นเงิน 30,000,000 โดย บริษัท แอดวานซ์ บรอดแบรนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (ABN) ถือหุ้น 70% คิดเป็นเงินลงทุน 21 ล้านบาท และ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (SPI) ถือหุ้น 30% คิดเป็นเงินลงทุน 9 ล้านบาท

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ