TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessCPTPP vs RCEP เมื่อจีนสนใจเข้าเป็นสมาชิก

CPTPP vs RCEP เมื่อจีนสนใจเข้าเป็นสมาชิก

เมื่อจีนสนใจ CPTPP กระตุกความสนใจของนานาชาติรวมทั้งไทยให้กลับมาทบทวนพิจารณาความตกลงนี้อย่างจริงจัง ซึ่งหากไทยหรือชาติใดจะเข้าเป็นสมาชิกต้องผ่านกระบวนการยอมรับจากสมาชิกเดิม การเจรจาเงื่อนไขการเปิดตลาด และสุดท้ายต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมายของประเทศผู้สมัครที่โดยรวมต้องใช้เวลาราว 1-2 ปี หลังจากนั้นยังมีระยะเวลาผ่อนผันในการปฏิบัติตามเงื่อนไขการเปิดตลาดที่ได้เจรจากันไว้ ดังนั้นในระยะ1-2 ปีนี้ CPTPP จะยังไม่เปลี่ยนแปลงไปปัจจุบัน ขณะเดียวกันไทยก็อยู่ใน RCEP ที่เป็นความตกลงพหุภาคีขนาดใหญ่ทั้งยังมีจีนรวมอยู่ด้วยแม้จะมีความโดดเด่นที่เอื้อประโยชน์ต่อไทยแต่ก็ไม่อาจมองข้าม CPTPP ได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าหากไทยและจีนอยู่ในความตกลง CPTPP นับว่ามีข้อได้เปรียบเหนือกว่า RCEP ในบางประเด็นโดยเฉพาะการเข้าถึงตลาดใหม่การเชื่อมต่อห่วงโซ่การผลิตได้ครอบคลุมยิ่งขึ้นช่วยสร้างแต้มต่อให้กับไทยที่พึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งออกแต่ CPTPP ยังมีประเด็นอ่อนไหวด้านสิทธิบัตรยาและการคุ้มครองพืชพันธุ์ใหม่ที่อาจส่งผลต่อประชาชนจำนวนมากซึ่งเป็นเรื่องที่ RCEP ไม่ได้ระบุไว้ในเงื่อนไขการรวม

การประชุม ครม. เมื่อ 12 ตุลาคม 2564 ได้หารือเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ซึ่งการพิจารณาเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อจีนหันมาสนใจสมัครสมาชิก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตามมาด้วยไต้หวัน รวมถึงสหราชอาณาจักรที่สมัครเป็นสมาชิกเมื่อต้นปี โดยท่าทีของนานาชาติโดยเฉพาะจีนยิ่งทำให้ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างใกล้ชิดกับจีนหวนกลับมาพิจารณา CPTPP อย่างจริงจังอีกครั้ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์เปรียบเทียบใน 2 กรณี กรณีที่ 1 ปัจจุบันไทยและจีนต่างเป็นสมาชิกในความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่กำลังรอการเปิดเสรีอย่างเป็นทางการ กรณีที่ 2 หาก CPTPP รับอังกฤษ ไต้หวัน จีนรวมถึงไทยเข้าเป็นสมาชิกใหม่ ซึ่งการที่ไทยอยู่ในกลุ่มย่อมไม่พลาดโอกาสการเข้าถึงตลาดสำคัญได้ทัดเทียมคู่แข่งในอาเซียน ทั้งยังกลายเป็น FTA ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของ GDP โลก แซงหน้า RCEP โดยภายใต้สมมติฐานว่าไทยและจีนร่วมเป็นสมาชิกในทั้ง 2 กรอบความตกลงมีข้อสังเกตความแตกต่าง ดังนี้

เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง CPTPP กับ RCEP

CPTPP+อังกฤษ+จีน+ไต้หวัน+ไทยRCEP
สมาชิกสมาชิกเดิม 11 ประเทศ (ญี่ปุ่น ออสเตรเลียนิวซีแลนด์ มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไนเวียดนาม ชิลี เปรู แคนาดา เม็กซิโก) สมาชิกใหม่ 4 ประเทศและภูมิภาค (อังกฤษจีน ไต้หวัน ไทย)สมาชิก 15 ประเทศ ประกอบด้วยอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ 
ขนาดเศรษฐกิจ35% ของ GDP โลก (32.5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ)30% ของ GDP โลก (30.9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ)
ขนาดตลาด27% ของประชากรโลก (2,084 ล้านคน)29.0% ของประชากรโลก (2,283 ล้านคน)
จุดเด่นผนึกกำลังการผลิตได้เหนียวแน่นขึ้น เชื่อมอเมริกา เอเชียและยุโรป ยึดโยงห่วงโซ่การผลิตอาเซียนและเอเชีย
การค้ากับโลก36.8% ของการส่งออกโลก (6.3 ล้านล้านดอลลาร์ฯ) 31.7% ของการส่งออกโลก (5.4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ) 
การค้ากับไทย45.2% ของการส่งออกไทยไปโลก (104.66 พันล้านดอลลาร์ฯ) 54% ของการส่งออกไทยไปโลก (123.4 พันล้านดอลลาร์ฯ) 
แนวทางการเจรจามีกรอบใหญ่ไว้เป็นแนวทางหลักในประเทศสมาชิกปฏิบัติตาม แต่มีระยะเวลาให้สมาชิกปรับตัวได้มากขึ้น มีกรอบใหญ่ไว้เป็นแนวทางให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติ และไม่กดดันสมาชิกในการปฏิบัติ 
ประเด็นการเจรจา30 เรื่อง และให้ความสำคัญกับการบังคับใช้ในแต่ละเรื่องอย่างเคร่งครัด โดยเรื่องสำคัญที่เพิ่มเติมจาก FTA ทั่วไป คือ สิ่งทอแรงงาน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทรัพย์สินทางปัญญาและประเด็นรัฐวิสาหกิจ20 เรื่อง และยืดหยุ่นให้แก่สมาชิกในการปรับใช้
มีประเด็นอ่อนไหวในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาครอบคลุมเรื่องสิทธิบัตรยา และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ซึ่งเน้นเดินตามหลักปฏิบัติสากลภายใต้กรอบเวลาที่ตกลง จะส่งผลต่อประชาชนและเกษตรกรจำนวนมากที่ภาครัฐต้องเตรียมแผนงานรับมือ RCEP ไม่มีข้อบังคับที่เคร่งครัด
การเปิดตลาดสินค้ากำหนดสินค้าลดภาษี 99% ของสินค้าทั้งหมด แต่มีความยืดหยุ่นได้ขึ้นกับการเจรจา อาทิ ญี่ปุ่นขอเปิดตลาดแค่ 94% และมีระยะเวลาลดภาษี 21 ปี ต่อยอดจากการเปิดตลาดของ ASEAN กับคู่เจรจาทั้ง 5 ประเทศ หลักๆ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของการเปิดตลาดแต่ละประเทศ 
ตัวอย่างการเปิดตลาดของประเทศที่เป็นสมาชิกทั้งCPTPP และRCEPญี่ปุ่นลดภาษีไก่ ปลาหมึก หมูเปรูลดภาษีรถยนต์ ข้าว น้ำตาล ตู้เย็นเวียดนามลดภาษียางนอก ยางรองมาเลเซียลดภาษีข้าว สินค้าดังกล่าวไม่ลดภาษีภายใต้กรอบRCEP ซึ่งไทยก็ยังต้องเสียภาษี 
ที่มา: IMF, Trademap โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

มิติของการเข้าถึงตลาด: RCEP เป็นกรอบการค้าที่ใกล้ตัวไทยมากที่สุดและไทยมี FTA กับแต่ละประเทศสมาชิกมานานการรวมตัวที่ เกิดขึ้นจึงไม่ทำให้ภาพการแข่งขันของสินค้าไทยต่างไปจากที่เป็นอยู่ขณะที่ CPTPP จะทำให้ไทยมี FTA กับตลาดใหม่มากกว่า RCEP ได้แก่เม็กซิโกแคนาดาอังกฤษและไต้หวันซึ่งเป็นโอกาสทองของไทยในการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางผลไม้อาหารทะเลไปยังแคนาดาส่งออกยานยนต์โทรศัพท์ HDDs ไปเม็กซิโกส่งออกไก่แปรรูปและรถจักรยานยนต์ไปอังฤษรวมถึงการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนยานยนต์ไปไต้หวันโดยถ้าหากไทยเจรจาทำความตกลงทวิภาคีกับแต่ละประเทศคงใช้เวลานานกว่าจะเปิดเสรีได้ทีละประเทศ นอกจากนี้ บางสินค้าไทยก็อาจได้ประโยชน์ในกลุ่มสินค้าที่คู่ FTA ของไทยไม่ได้เปิดตลาดให้ไทยแต่เปิดให้ CPTPP เช่น ญี่ปุ่น (ไก่ ปลาหมึก หมู) เปรู (รถยนต์ ข้าว น้ำตาล ตู้เย็น) เวียดนาม (ยางนอก ยางรอง) มาเลเซีย (ข้าว) 

มิติของการผลิต: CPTPP และ RCEP ล้วนเป็น FTA แบบพหุภาคีที่มีจุดเด่นเหมือนกันตรงที่การเป็นกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่รวมหลายประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวอานิสงส์ให้นักลงทุนสามารถเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตได้อย่างคล่องตัวต่างกันตรงที่ RCEP เป็นการกระชับฐานการผลิตและตลาดในฝั่งเอเชียได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดแต่ CPTPP กลับมีความน่าสนใจมากกว่าด้วยการรวมแหล่งผลิตจากหลายพื้นที่ทั้งภูมิภาคอเมริกายุโรปและเอเชียจึงนับเป็นจุดขายสำคัญที่ยังไม่มี FTA ฉบับใดในโลกมีเอกลักษณ์เช่นนี้ สมาชิกสามารถใช้ประโยชน์จากกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (Rule of Origins: ROOs)ที่ค่อนข้างยืดหยุ่นในการนำเข้าปัจจัยการผลิตจากประเทศนอกกลุ่มเข้ามารวมกับประเทศสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังตัวอย่าง ROOs ของสินค้าเม็ดพลาสติกกำหนดให้ใช้วัตถุดิบภายในสมาชิกร้อยละ 30-45 ที่เหลือสามารถนำมาจากนอกกลุ่มได้ สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์กำหนดที่ร้อยละ 30-60 

มิติด้านกฎระเบียบ: RCEP กำหนดกฎเกณฑ์การเปิดตลาดการค้าและการลงทุนเป็นหลักเท่านั้นแต่ CPTPP เป็นการรวมตัวในเชิงลึกมากกว่า FTA ทั่วไปครอบคลุมการเปิดเสรีด้านอื่นๆอาทิมาตรฐานแรงงานมาตรฐานสิ่งแวดล้อมการไหลของข้อมูลอย่างเสรีและการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า CPTPP เป็นความท้าทายในการยกระดับกฎระเบียบของแต่ประเทศสมาชิกที่ยากจะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ตามมาเพื่อให้ปฏิบัติได้ตามกรอบเวลาที่ได้ตกลงกันไว้

อย่างไรก็ดี ด้วยความเข้มข้นของข้อปฏิบัติ CPTPP จึงได้เปิดให้สมาชิกเจรจาต่อรองช่วงเวลาการปรับตัวในแต่ละเรื่องเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน หลายประเทศก็ยังอยู่ในขั้นตอนการเปลี่ยนผ่าน ดังตัวอย่างของการเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่สมาชิกสามารถกำหนดสัดส่วนวงเงินขั้นต่ำที่สงวนไว้ให้แก่ธุรกิจในประเทศและมีห้วงเวลาการปรับตัวแตกต่างกัน ดังกรณีของเวียดนามมีระยะเวลาปรับตัวได้ยาวนานถึง 26 ปี โดยวงเงินที่อนุญาตให้ต่างชาติร่วมประมูลโครงการก่อสร้างเริ่มที่ 65.2 ล้านดอลลาร์ฯ ในปีแรก ทยอยปรับลดจนเหลือ 8.5 ล้านดอลลาร์ฯ ในปีที่ 16 และสำหรับการจัดซื้อสินค้าเริ่มที่ 2 ล้านดอลลาร์ฯ ในปีแรก จะลดลงเหลือ 0.13 ล้านดอลลาร์ฯ ในปีที่ 26 สำหรับกรณีของมาเลเซียมีระยะเวลาผ่อนผัน 21 ปี โดยโครงการก่อสร้างเริ่มที่ 63 ล้านดอลลาร์ฯ ในปีแรก ทยอยลดลงจนเหลือ 14 ล้านดอลลาร์ฯ ในปีที่ 21

โดยสรุป หากทั้งไทยและจีนอยู่ในความตกลง CPTPP ภาคอุตสาหกรรมการผลิตการส่งออกของไทยที่พึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาตินับว่าได้อานิสงส์ค่อนข้างชัดเจนจากการเข้าถึงตลาดใหม่สามารถแข่งขันได้ทัดเทียมกับคู่แข่งของไทย ทั้งยังคว้าโอกาสได้มีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการรวบปัจจัยการผลิตจากหลายพื้นของโลก ต่างจาก RCEP ที่ไทยได้ประโยชน์จำกัดเฉพาะภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี CPTPP ก็มีประเด็นอ่อนไหวที่ภาครัฐต้องชั่งน้ำหนัก โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ไม่ได้ระบุไว้ใน RCEP ในเรื่องข้อปฏิบัติทางทรัพย์สินทางปัญญาที่อิงกับหลักเกณฑ์สากลไม่ว่าจะเป็นความเข้มงวดในการปรับใช้สิทธิบัตรยา และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ที่จะส่งผลต่อประชาชนและเกษตรกรในวงกว้าง แม้ไทยต้องดำเนินการปรับตัวในเรื่องนี้อยู่แล้วแต่ก็นับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับไทยที่จะต้องปรับตัวภายใต้กรอบเวลาที่ตกลงไว้กับ CPTPP ซึ่งโจทย์สำคัญของทางการไทยคงอยู่ที่การสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนและถูกต้องรวมถึงแผนงานบรรเทาผลกระทบจึงจะช่วยผ่อนคลายแรงตึงเครียดลงได้

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ครม. อยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติให้ไทยเข้าร่วมเจรจากรอบ CPTPP โดยสงวนท่าทีในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกแต่ในลำดับถัดไปหากไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกจะต้องผ่านกระบวนหลายขั้นตอนทั้งการการอนุมัติจาก 11 ประเทศสมาชิก รวมทั้งขั้นตอนการผ่านสภาฯ ตามกฎหมายภายในประเทศด้วย จึงทำให้ประเด็นนี้ยังต้องใช้เวลาเช่นกัน

ดังนั้นในระหว่างทางสิ่งที่ไทยต้องดำเนินการควบคู่กันไปเพื่อช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางการผลิตของไทยอย่างยั่งยืน โดยคงต้องเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับคู่ค้าใหม่ๆ เพื่อสร้างแต้มต่อให้สินค้าไทย การพิจารณาจัดทำ FTA กับสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และอีกหลายประเทศ รวมถึงการยกระดับการผลิตของประเทศไปพร้อมกัน อาทิ ปรับปรุงกฎระเบียบของประเทศไทยให้ไม่ต่ำกว่าแนวปฏิบัติของ WTO ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ลดกระแสการกีดกันทางการค้าในปัจจุบันได้ไม่ว่าไทยจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม FTA ใดๆ ประกอบกับการยกระดับการพัฒนาประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรม การผลักดันพื้นที่การลงทุนและกฎระเบียนใน EEC ให้ตอบโจทย์นักลงทุน การสร้าง Ecosystem ในการผลิตที่ดี การมีแรงงานฝีมือรองรับการผลิตของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ความพร้อมของระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ