TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistจากเครื่องคอมพิวเตอร์เจาะบัตรสมัยนักศึกษา สู่การใช้เครื่อง VAX-11/780 เมื่อเริ่มเป็นอาจารย์

จากเครื่องคอมพิวเตอร์เจาะบัตรสมัยนักศึกษา สู่การใช้เครื่อง VAX-11/780 เมื่อเริ่มเป็นอาจารย์

ผมจบปริญญาตรีเดือนมีนาคม พ.ศ. 2529 ในยุคที่เศรษฐกิจบ้านเรายังไม่ดีนัก แม้สมัยนั้นมหาวิทยาลัยในประเทศไทยจะมีคณะวิศวกรรมศาสตร์เพียงแค่ 8 สถาบัน หรือที่เรียกย่อกันสั้น ๆ ว่า “แปดเกียร์” และจำนวนคนที่จบด้านวิศวกรรมศาสตร์ทุกสาขาปีหนึ่งก็มีเพียงแค่จำนวนไม่กี่พันคน แต่ยุคนั้นเรายังไม่ได้เข้าสู่ประเทศที่มีอุตสาหกรรมการผลิตมากมาย ประกอบกับเศรษฐกิจที่แย่ทำให้การจบวิศวกรรมไฟฟ้าก็ไม่ได้หมายความว่าจะหางานได้ง่ายนัก

โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Seaboard Development Program (ESB) ก็เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในพ.ศ. 2525 ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) การก่อสร้างต่าง ๆ ก็ยังไม่มีมากนัก จึงไม่ต้องแปลกใจที่วิศวกรรุ่นผมจบออกมาแต่ละคนหางานยากมากและบางคนตกงาน แม้แต่สาขาวิศวกรรมโยธา และงานที่หลายคนใฝ่ฝันในตอนนั้นคือการรับราชการ หรือทำงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

หลายคนอาจโตมาไม่ทันกับการใช้ชีวิตช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วงปีพ.ศ. 2522 ซึ่งตอนนั้นเกิดวิกฤติราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูง โดยกลุ่มประเทศ OPEC ได้ประกาศขึ้นราคาน้ำมันดิบ 4 ครั้ง ตอนนั้นรถต้องเข้าคิวซื้อน้ำมัน เราต้องปิดทีวีช่วง 18.30-20.00 และหลังเที่ยงคืน เราต้องปิดปั้มน้ำมันหลังสี่ทุ่ม ผมยังจำเนื้อร้องเพลงหนึ่งติดหูที่ว่า “น้ำมัน ขาดแคลน คุยกับแฟน ก็ต้องดับไฟ” ซึ่งชีวิตตอนผมเป็นนักศึกษาก็คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตประจำแบบนี้มาเกือบตลอด

ตอนนั้นเราขาดแคลนเงินสด รัฐบาลไม่มีรายได้ มีแต่เงินไหลออกจากประเทศ ไม่สามารถเก็บภาษีได้ จนถึงขนาดที่ว่า ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ซึ่งเป็นโฆษกรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ออกมาเปิดเผยในภายหลังว่ามีเดือนหนึ่งรัฐบาลไม่มีเงินในคงคลังเหลือ ถึงกับต้องขอกู้ธนาคารพาณิชย์มาจ่ายเงินเดือนข้าราชการ

รัฐบาลสมัยนั้นมีนายกรัฐมนตรี คือ พลเอกเปรม มีรัฐมนตรีการคลังชื่อสมหมาย ฮุนตระกูล ผลของเศรษฐกิจตกต่ำลากยาวมาหลายปีมาก ทำให้คนที่จบวิศวกรรมศาสตร์ก็หางานทำยากมาก แต่เราก็รอดมาได้ สิ่งหนึ่งที่เห็นในยุคนั้นคือผู้บริหารประเทศมีความตั้งใจจริงและมีผู้เชี่ยวชาญอยู่รอบข้าง ทำให้เรารอดพ้นวิกฤตินั้นมาได้ และผมก็ค่อนข้างโชคดีที่เข้าจบมาในช่วงเศรษฐกิจพอจะเริ่มฟืนตัวขึ้นบ้างเล็กน้อย

สมัยนั้นยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์มากนัก ไม่มีโทรศัพท์มือถือ และไม่มีอินเทอร์เน็ต ตอนนั้นการสมัครงานเราต้องเขียนจดหมายส่งไปที่บริษัท และรอเรียกสัมภาษณ์ทางจดหมายที่ตอบกลับ จบออกมาไม่กี่วันผมก็โชคดีที่ได้ถูกเรียกเข้าไปสัมภาษณ์งานที่บริษัท GMI Electronics (Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทที่คนอเมริกันมาลงทุนสร้างโรงงานประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บน Circuit board เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ

ผมไปสัมภาษณ์งานแล้วโชคดีที่ได้งานเลยทันที ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษของผม ซึ่งฝรั่งที่เป็นผู้จัดการอยากรับผมไว้แม้ว่าผมจะจบมาจากมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด และอาจไม่ได้มีพื้นฐานด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่เก่งนัก

โรงงานที่ผมทำงานตั้งอยู่บนถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งปัจจุบันก็คือบริเวณตรงห้างเซียร์รังสิต ยังจำได้ว่าสมัยทำงานถนนวิภาวดีรังสิตยังมีข้างละสองเลน เวลาพักกลางวันผมและเพื่อนที่ทำงานก็จะเดินข้ามถนนวิภาวดีฯ ไปทานอาหารฝั่งตรงข้าม โดยสมัยนั้นยังไม่มีสะพานลอย ส่วนตัวเองก็อาศัยอยู่แถวสะพานใหม่นั่งรถเมล์มาไม่กี่นาทีก็มาถึงที่ทำงานแล้ว

ที่ทำงานแห่งนี้น่าจะเป็นช่วงเดียวที่ผมทำงานโดยตรงกับสาขาที่จบมาคือวิศวกรรมไฟฟ้า แต่ก็เป็นช่วงสั้น ๆ เพียงสี่เดือนกว่า จากเดือนเมษายนจนถึงกลางเดือนสิงหาคม 2529 ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะไม่ชอบงานด้านนี้มากนัก และคิดว่าอยากทำอะไรก็ได้ที่ได้สัมผัสกับการใช้คอมพิวเตอร์หรือคณิตศาสตร์

ช่วงที่ทำงานอยู่ที่บริษัท ผมมีโอกาสได้กลับเข้าไปภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมีอาจารย์บางท่านได้สอบถามว่าผมสนใจจะมารับราชการเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาหรือไม่ จริง ๆ แล้วเกรดเฉลี่ยโดยรวมผมไม่ดีนักเพราะตอนเรียนปีหนึ่งเน้นทำกิจกรรมมากจนเกินไป แต่ก็โชคดีพอเข้าเรียนภาควิชาแล้วเกรดเริ่มดีขึ้นเพราะได้เรียนวิชาด้านคำนวณที่สนใจ แต่ถ้าจะเข้ามาเป็นอาจารย์ก็ไม่แน่ใจว่าจะสอนได้ดีไหม แต่อาจารย์ท่านก็เมตตาแล้วแนะนำว่าเป็นการบรรจุอาจารย์มาเพื่อเตรียมตัวไปศึกษาต่อ

สุดท้ายผมก็ตัดสินใจสมัครรับราชการเป็นอาจารย์ ด้วยเงินเดือนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของการทำงานเอกชน ยังจำได้ว่ารับเงินเดือนเพียง 2,750 บาทบวกกับเงินช่วยค่าครองชีพอีก 200 บาท

ไอบีเอ็มพีซีเอ็กซ์ที (IBM PC/XT) ที่มาภาพ https://www.recycledgoods.com/digital-11-780-dec-vax-11-780-computer-vintage-1977-mainframe/?fbclid=IwAR2uHl1GUux7IPAIYGl_niyKgbSN1SixFhQByEzm1c6e0XK9aMD5pQMNQdE

การเข้ามาเป็นอาจารย์ทำให้ผมโชคดีที่ได้เล่นเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ที่ภาควิชามีเพียงแค่สองเครื่องตั้งไว้ตรงกลางห้องสารบรรณ ซึ่งสมัยนั้นเป็นเครื่องรุ่นไอบีเอ็มพีซีเอ็กซ์ที (IBM PC/XT) เครื่องนี้ใช้ระบบปฎิบัติการ PC DOS 2.0 มีหน่วยความจำขนาด 128 KB จำได้ว่าไม่มี Harddisk แต่มีช่องใส่แผ่น Floppy disk แบบอ่านข้อมูลได้สองด้านขนาด 5¼ นิ้วที่มีความจุข้อมูล 360 KB ได้สองแผ่น เครื่องนี้ใช้ CPU เบอร์ 8088 ความเร็ว 4.77 MHz และมีช่อง Socket เราสามารถใส่ CPU เบอร์ 8087 ซึ่งโปรเซสเซอร์ด้านการคำนวณ (Math coprocessor) ร่วมได้

เห็นสเปคของเครื่องรุ่นนี้หลายคนอาจแปลกใจว่ามันมีประสิทธิภาพด้อยกว่าโทรศัพท์มือถือสมัยนี้หลายเท่าแล้วทำอะไรได้ละ ผมคงขออนุญาตยกไปเล่าเรื่องการใช้ไมโครคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ในตอนหน้าว่าผมได้เรียนรู้อะไรจากเครื่องนี้บ้าง

ส่วนตัวผมเองเมื่อเข้ามาสอนหนังสือก็ได้รับมอบหมายให้ไปสอนวิชา Electrical Engineering Math และ Computer Programming for Engineers ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ท้าท้ายสำหรับอาจารย์ป้ายแดงอย่างผม แต่ก็โชคดีที่ได้สอนวิชาที่อยากสอนโดยเฉพาะวิชาการเขียนโปรแกรมที่ยังเป็นภาษาฟอร์แทรน แต่ดีหน่อยที่เปลี่ยนเป็น Fortran 77 และข้อสำคัญศูนย์คอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ Vax-11/780 มาแทนเครื่องคอมพิวเตอร์ NEAC 2200/200 ที่เป็นการเรียนโดยการเจาะบัตรแล้ว

เครื่องคอมพิวเตอร์ Vax-11/780 เป็นเครื่องที่ผลิตโดยบริษัท Digital Equipment Corporation (DEC) ซึ่งเป็นบริษัทคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่สมัยนั้น (ภายหลัง DEC ถูกบริษัท Compaq ซื้อไปในปี 1998 ก่อนที่ Compaq จะรวมกับ Hewlett-Packard (HP) ในปี 2002)

เครื่องคอมพิวเตอร์ Vax-11/780 ที่มาภาพ https://en.wikipedia.org/wiki/VAX-11?fbclid=IwAR3XDvKr_SVigKmfcxMcQGvn1ZtVhOm_92XCvY_tGnFND2qpVc2XgKf1FzQ

Vax-11/780 เป็นเครื่องรุ่นแรกใช้ CPU ที่มีสถาปัตยกรรมชุดคำสั่งที่เป็น Virtual Address eXtension (VAX) และมีหน่วยความจำ 2 MB เครื่องมี Terminal ในการป้อนข้อมูลและแสดงผล จำได้ว่ามีห้องคอมพิวเตอร์ที่มี Terminal ประมาณ 20-30 เครื่องเพื่อให้นักศึกษามาใช้เครื่องในการเรียนการเขียนโปรแกรมโดยใช้ Program Development ผ่าน VAX Editor และเมื่อต้องส่งงานก็พิมพ์โปรแกรมออกทางเครื่องพิมพ์ได้

การได้สอนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ Vax-11/780 และควบคุมนักศึกษาทำปฎิบัติการ ช่วยแก้ไขโปรแกรมในห้องคอมพิวเตอร์ ก็สร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผม ทำให้ผมได้เรียนรู้การ debug โปรแกรมจำนวนมาก และทำให้ได้ทักษะที่ดีขึ้นกว่าการเขียนโปรแกรมเองตามลำพัง เพราะต้องใช้ตรรกะและความเข้าใจที่ดีในการที่จะไปแก้ไขโปรแกรมของคนอื่น ๆ

การเข้ามาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ถือเป็นการตัดสินใจทีดีของผม และเป็นส่วนช่วยทำให้ผมได้ทำงานในสิ่งที่ชอบไปอีกยาวนาน คงกราบขอบคุณ รศ.วันชัย ธนาเศรษฐอังกูร และ รศ.ดร.อาจณรงค์ ฐานสันโดษ อาจารย์ที่ปรึกษาที่ได้ให้ความเมตตาแนะนำเข้ามาเป็นอาจารย์ ร่วมถึง ศ.ดร.ปริญญา จินดาประเสริฐ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ในตอนนั้น ที่กรุณารับผมเข้าทำงานและให้คำแนะนำในการทำงานมาตลอด และท่านก็เป็นแบบอย่างของอาจารย์และนักวิชาการที่เป็นแนวทางให้กับอาจารย์รุ่นหลัง ๆ

บทความอื่น ๆ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ