TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewStartDee แพลตฟอร์มเสริมการเรียนรู้ เปลี่ยนประเทศด้วยการศึกษา

StartDee แพลตฟอร์มเสริมการเรียนรู้ เปลี่ยนประเทศด้วยการศึกษา

StartDee เกิดขึ้นจากภารกิจการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนให้เด็กทั่วประเทศเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากขึ้น ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ เป็น Netflix ของการศึกษาที่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนทุกระดับชั้น ทุกวิชา ทั้งในและนอกห้องเรียน

พริษฐ์ วัชรสินธุ ซีอีโอ บริษัท เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน StartDee กล่าวกับ The Story Thailand ว่า การให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาเป็นความสนใจส่วนตัวพอสมควร เพราะเชื่อว่าแทบจะทุกปัญหาทั่วโลกจุดเริ่มต้นของการแก้ไขอยู่ที่การศึกษา เช่น ในประเทศไทยที่คนบอกว่ามีความเหลื่อมล้ำสูง แต่จะลดความเหลื่อมล้ำนั้นได้อย่างไรเมื่อเด็กยังไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้เท่าเทียมกัน

ส่วนตัวมีความเชื่อว่าถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงการศึกษาจะต้องเปลี่ยนที่ระบบ และนโยบายจากภาครัฐ ซึ่งทำให้ตัดสินใจไปทำงานการเมือง

“แต่ในวันที่เราไม่ได้เข้าไปทำงานการเมือง เราต้องมองว่าในฐานะที่เป็นเอกชนจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง ซึ่งเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาได้”

StartDee พยายามนำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคล เพราะเด็กแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะสอนเนื้อหาเดียวกันให้กับเด็กทุกคน โดยใช้การลำดับเนื้อหาที่นำมาสอนให้สอดคล้องกับความถนัดและความแตกต่างของเด็กแต่ละคน และใช้เทคโนโลยีเข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับเนื้อหาให้ตรงกับความต้องการของเด็ก

ออกแบบแอปพลิเคชันเป็นแบบเส้นทางการเรียนรู้ ยกตัวอย่าง การเรียนภาษาอังกฤษ จะใช้การเล่าเรื่องโดยให้ครูเป็นตัวละครและสอดแทรกความรู้เข้าไป ให้นักเรียนตอบคำถามจากการดูวีดีโอ เมื่อตอบได้ก็จะสามารถไปดูคลิปต่อไปได้ และมีการเก็บแต้ม เด็กที่เรียนมากจะมีแต้มมาก สามารถนำแต้มไปซื้อของรางวัลในแอปพลิเคชันได้

“เป็นการสร้างประสบการณ์การเรียนออนไลน์ที่ไม่ใช่การนำสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนมาแปะในช่องทางออนไลน์ แต่เป็นการผสมผสานระหว่างความบันเทิงและการเรียนรู้”

ซึ่งเป้าหมายสูงสุดจะต้องมีเทคโนโลยีที่ฉลาดมาก เข้ามาวิเคราะห์การเรียนอย่างลึกซึ้ง อีกส่วนคือต้องมีคลังเนื้อหาที่มหาศาล

สวมบทบาทแพลตฟอร์มเสริมการเรียนรู้

พริษฐ์ กล่าวว่า StartDee เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเสริมการเรียนรู้ที่โรงเรียน ส่วนตัวเชื่อว่าการเรียนที่โรงเรียนเป็นประสบการณ์ที่ขาดไม่ได้สำหรับการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก อย่างแรก คือ เด็กสามารถเข้าถึงเนื้อหาในวิชานั้นผ่าน StartDee ได้ อีกส่วน คือ สามารถใช้ควบคู่กับการเรียนในโรงเรียนได้

เด็กที่เข้ามาใช้แพลตฟอร์มแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

-กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่เข้ามาใช้บ้าง
-กลุ่มที่ 2 เข้ามาดูวีดีโอและทำแบบฝึกหัดจนจบ แต่อาจจะไม่ได้เข้ามาบ่อยครั้ง
-กลุ่มที่ 3 เข้ามาบ่อยและเข้ามาเกิน 30 นาทีต่อ 1 ครั้ง

สิ่งที่น่าสนใจ คือ การใช้งานต่อครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 15-30 นาที ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะเด็กควรจะใช้เวลากับการทำกิจกรรมอย่างอื่นนอกจากการเรียนรู้บ้าง

สร้างเนื้อหาทั้งในและนอกห้องเรียน

พริษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน StartDee มียอดดาวน์โหลด 150,000 ครั้ง เป็นตัวเลขที่มากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากวิกฤติโควิดทำให้เด็กต้องหาช่องทางเรียนออนไลน์ รวมถึงมีโปรโมชั่นให้เด็กทดลองเรียนฟรีถึง 6 สัปดาห์ ช่วงก่อนเปิดเทอม

มีเนื้อหาอยู่ประมาณ 2,000 กว่าวีดีโอ ในระดับชั้น ป.4 – ม. 6 มีทั้งหมด 7 วิชา คือ คณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคม

ส่วนวิชานอกห้องเรียนทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละวิชา โดยเน้นเรื่อง ทักษะการวางแผนทางการเงิน ทักษะด้านดิจิตอล ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ความรู้ด้านสุขภาพพื้นฐาน และการแนะแนวอาชีพ

“สิ่งหนึ่งที่เราตกลงกับพาร์ทเนอร์ คือ เนื้อหาเหล่านี้จะไม่มีการคิดค่าสมาชิกรายเดือน เพราะเราอยากให้เด็กเข้าถึงเนื้อหาพวกนี้ได้มากที่สุด”

ส่วนเนื้อหาการศึกษาจะคิดเป็นค่าสมาชิกรายเดือน ซึ่งพยายามคิดค่าบริการต่ำที่สุดในขณะเดียวกันบริษัทก็ต้องอยู่รอดได้ นอกจากนี้ StartDee ยังทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อตรวจสอบว่าเด็กที่เข้ามาใช้แอปพลิเคชันกี่คนที่มาจากโรงเรียนที่มีสัดส่วนเป็นเด็กยากจนสูง และทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนเพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับเด็กกลุ่มนี้

“เมื่อนำข้อมูลของ StartDee ไปเปรียบเทียบกับ กสศ. ทำให้คาดการณ์ได้ว่าเด็กที่อยู่ในแพลตฟอร์มประมาณ 30% มาจากครอบครัวยากจน ซึ่งเป็นที่น่าดีใจเพราะเราต้องการทำแพลตฟอร์มเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้”

นอกจากนี้ StartDee ยังร่วมมือกับ AIS โดยถ้าใช้ ZEED SIM จะสามารถเข้ามาเรียนได้โดยที่ไม่เสียค่าอินเทอร์เน็ตแม้แต่บาทเดียว

การศึกษาถูกพัฒนา ธุรกิจอยู่รอดได้

StartDee มีเป้าหมาย 2 อย่างคือ เด็กไทยจะต้องได้รับการพัฒนาจากการใช้แอปพลิเคชัน และบริษัทจะต้องอยู่รอดได้

พริษฐ์ กล่าวว่า การวัดผลของนักเรียน คือ ให้เด็กมีประสบการณ์ที่ดีและการเรียนรู้ที่ดีขึ้น ซึ่งยังมีความยากในการเก็บข้อมูลอยู่พอสมควร สิ่งที่เก็บได้ คือ ดูว่าเด็กตอบคำถามถูกต้องมากขึ้นหรือไม่ มีพัฒนาการหรือไม่ ส่วนการวัดความเข้าใจอาจจะต้องใช้การทำแบบสอบถามกับเด็กนักเรียน

ส่วนสุดท้ายที่ยากที่สุด คือ StartDee มีเป้าหมายจะเปิดข้อมูลให้สถาบันวิจัยเข้ามาวิเคราะห์และนำไปต่อยอดได้ในระดับนโยบายประเทศ”

ขณะเดียวกันธุรกิจจะต้องอยู่รอดได้ StartDee เป็นธุรกิจเพื่อสังคมจึงไม่ได้ตั้งเป้ากำไรไว้มาก แต่จะต้องมีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย บริษัทต้องมีความยืดหยุ่น พนักงานทุกคนก็จะต้องมีความพร้อมปรับรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องกับทิศทางที่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

“การมีการเงินที่แข็งแกร่งไม่ได้มีไว้เพื่อให้เรามีกำไรมหาศาล แต่มีไว้เพื่อทำให้เราสามารถสร้างประโยชน์กับนักเรียนได้ดีที่สุด ถ้าเราบริหารจัดการได้ดีเท่าไหร่ก็จะยิ่งลดค่าใช้จ่ายให้กับนักเรียนได้มากเท่านั้น”

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-KKU Digital Transformation จิ๊กซอว์หลักของการทรานส์ฟอร์ม ม.ขอนแก่น
-โควิด-19 ปัจจัยปฏิรูปภาครัฐ DGA หนุนหน่วยงานรัฐให้บริการดิจิทัล
-TikTok สั้นแต่ไม่ง่าย สร้างสรรค์เป็นอาชีพได้
-Nabsolute จากงานวิจัย สู่สตาร์ตอัพ Beauty/Health Tech

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ