TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewKKU Digital Transformation จิ๊กซอว์หลักของการทรานส์ฟอร์ม ม.ขอนแก่น

KKU Digital Transformation จิ๊กซอว์หลักของการทรานส์ฟอร์ม ม.ขอนแก่น

มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการปรับเปลี่ยนองค์กรในหลายเรื่อง เช่น การศึกษา การวิจัย การบริการวิชาการ รวมถึงการปรับเปลี่ยนด้านดิจิทัลเข้ามารวมกับทุกยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และให้บริการที่ดี

ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนามหาวิทยาลัยดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวกับ The Story Thailand ว่า การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นในระบบใหญ่จะมีเรื่องของคน เทคโนโลยี ขั้นตอนการทำงาน รวมถึงการส่งมอบผลิตภัณฑ์ และการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา

มหาวิทยาลัยขอนแก่นพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีมานาน เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีจะเข้ามาเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นใหญ่ทำให้สามารถขยายและต่อยอดได้เร็ว เพราะคนมีความคุ้นเคยกับเครื่องมือ มีระบบนิเวศที่เพียงพอให้ต่อยอดไปใช้พัฒนาเรื่องใหม่ ๆ เช่น สามารถพัฒนาเรื่อง Paperless และ Cashless ในคราวเดียวกัน

ด้านโรงพยาบาล มหาวิทยาลัยจะช่วยในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เรื่องอีเมล พื้นที่จัดเก็บข้อมูล หรือบทเรียนออนไลน์ จะใช้ร่วมกัน แต่ระบบบริหารจัดการคนไข้ทางโรงพยาบาลจะดูแลเอง

“การทำทรานส์ฟอร์เมชั่นภายในองค์กรของภาคการศึกษาไม่ได้แตกต่างกับการทำธุรกิจ ที่ต้องปรับทั้งขั้นตอนการทำงาน หรือนำระบบอัตโนมัติเขามาช่วยทำงานแทนคน”

ดร.เด่นพงษ์ กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยได้สร้างความตระหนัก และตั้งทีมมาคิดเรื่องการทำทรานส์ฟอร์เมชั่นเป็นการเฉพาะ ตั้งแต่ระดับบริหารจนถึงระดับปฏิบัติการ ว่ามหาวิทยาลัยจะถูกเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อเกิดโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการเร่งการเปลี่ยนแปลง แต่โควิด-19 ไม่ได้เข้ามาเร่งเร็วขึ้นในภาพเดิมทั้งหมด บางอย่างที่เคยคิดว่าจะทำมันถูกเปลี่ยนไปโดยโควิด-19 เช่น การเรียนการสอนที่จะต้องให้นักศึกษาไปต่างประเทศเพื่อไปเรียนรู้เครื่องมือดิจิทัล ก็ทำไม่ได้แล้ว

“ส่วนตัวคิดว่าโลกจะยังไม่ถูกเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบ คือ ไม่มีคนเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัย เพราะนักศึกษาอาจจะเรียนออนไลน์ แต่กับเพื่อนก็ยังอยากเจอตัว หรือในบางภาควิชาที่ต้องใช้เครื่องมือทำวิจัยยังไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้”

ปรับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รองรับการศึกษาในอนาคต

ดร.เด่นพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีพื้นที่ที่ขอนแก่นประมาณ 5,000 ไร่ และที่หนองคายประมาณ 500 ไร่ มีนักศึกษา 40,000 คน มีบุคลากรที่ทำงานในมหาวิทยาลัยประมาณ 10,000 คน ในแต่ละวันจะมีคนอยู่ในมหาวิทยาลัยไม่ต่ำกว่า 50,000 คน และมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมหาวิทยาลัยเกือบ 100,000 ตัว เพราะฉะนั้นโครงสร้างพื้นฐานในด้านอินเทอร์เน็ตมีความจำเป็นมาก

มหาวิทยาลัยมี WiFi อยู่ประมาณ 8,000 จุด มีแบนด์วิชท์อินเทอร์เน็ตอยู่ 100 Gbps มีการลากสายไฟเบอร์ออฟติกรวมกันมากกว่า 200 กิโลเมตร ในส่วนของหอพักนักศึกษาก็มีการลากสายไฟเบอร์ออฟติกเข้าไปในแต่ละห้องเลยเพื่อไม่ต้องแย่งกันใช้ WiFi รวมถึงขยายแบนด์วิชท์การใช้อินเทอร์เน็ตรองรับนักศึกษาที่ต้องเรียนออนไลน์มากขึ้น

“ซึ่งหอพักมีอยู่ประมาณ 2-3 พันยูนิต หอพักใหม่มีการลง WiFi ค่อนข้างดี แต่เมื่อปัจจุบันไฟเบอร์ออฟติกถูกลงมาก และการดูแลอุปกรณ์น้อยกว่า หอพักเก่าประมาณ 1,000 ห้อง จึงมีการปรับปรุงใหม่โดยลากสายไฟเบอร์ออฟติกเข้าไปทุกห้อง”

ดร.เด่นพงษ์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ปัจจุบันถูกบังคับให้เรียนแบบไฮบริดจากเดิมที่เรียนแบบพบหน้ากัน แต่ละคณะจะต้องไปออกแบบกันเองว่าจะจัดอย่างไรในแต่ละหลักสูตรซึ่งเป็นความยาก

ส่วนที่ยาก คือ การผลิตสื่อการสอน ปกติอาจารย์สอนในห้องสามารถบรรยายได้ แต่เมื่อต้องบันทึกเป็นวีดีโอ ในวิชาที่ต้องเรียนในห้องปฏิบัติการ (Lab) เจ้าหน้าที่ที่ทำการบันทึกอาจจะไม่ทราบว่าต้องโฟกัสตรงไหน ต้องทำงานร่วมกับอาจารย์ผู้สอนมากขึ้น และอาจจะต้องใช้เทคนิคการถ่ายทำที่สูงขึ้นเพื่อให้เด็กที่เรียนผ่านออนไลน์เห็นภาพได้ชัดเจน

ด้านซอฟต์แวร์ มหาวิทยาลัยใช้คลาวด์มาได้ประมาณ 7 ปี ซึ่งปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนไปมาก มีการสร้างระบบนิเวศของผู้ใช้เป็น Digital ID ทั้งมหาวิทยาลัย เลิกใช้เอกสารที่เป็นกระดาษ และให้บุคลากรใช้ลายเซ็นดิจิทัลทั้ง 10,000 กว่าคนจนกลายเป็นเรื่องปกติ

KKU e-Learning ใช้โปรแกรมโอเพ่นซอร์ส (Open Source) ชื่อ Moodle และพัฒนาโปรแกรมแชทบอทเสริมเข้าไป ซึ่งอาจารย์จะต้องฝึกให้ใช้โปรแกรมนี้ให้เป็น นอกจากนี้ยังใช้ Google classroom สำหรับการเรียนการสอน ใช้ Microsoft 365 และ Zoom สำหรับงานเอกสารและการประชุม

“เรายังต้องพยายามหาเสน่ห์ของตัวเองที่อยู่บนโลกที่เปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ และส่งผ่านโลกดิจิทัลให้มากขึ้น มหาวิทยาลัยจะต้องมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการบริหาร ซึ่งสุดท้ายเป็นการลดต้นทุนให้กับประชาชน เราไม่ได้ขึ้นค่าเทอมมาเป็น 10 ปีในขณะที่ค่าใช้จ่ายเราสูงขึ้นตลอด ขณะเดียวกันเราต้องมีบริการที่ดีสำหรับประชาชน ทั้งนักศึกษา คนไข้ รวมถึงสัตว์เลี้ยงที่มาโรงพยาบาลสัตว์ ซึ่งเป็นเป้าหมายใหญ่ของเรา”

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-โควิด-19 ปัจจัยปฏิรูปภาครัฐ DGA หนุนหน่วยงานรัฐให้บริการดิจิทัล
-TikTok สั้นแต่ไม่ง่าย สร้างสรรค์เป็นอาชีพได้
-Nabsolute จากงานวิจัย สู่สตาร์ตอัพ Beauty/Health Tech
-NECTEC ดัน IDA ยก อุตสาหกรรม 4.0

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ