TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewTikTok สั้นแต่ไม่ง่าย สร้างสรรค์เป็นอาชีพได้

TikTok สั้นแต่ไม่ง่าย สร้างสรรค์เป็นอาชีพได้

TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้น ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย มีเป้าหมายสร้างความแตกต่างของเนื้อหาให้หลากหลาย รวมถึงเพิ่มเนื้อหาเชิงให้ความรู้ อย่างการทำแคมเปญ #TikTokUni ได้ 1 ในครีเอเตอร์อย่าง “อากิ ยามากูชิ” เข้ามาทำคลิปสอนภาษาญี่ปุ่น โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์และสอดแทรกสิ่งที่ต้องการสอนให้ผู้ติดตามได้ความรู้พร้อมความบันเทิงภายในเวลา 15 วินาที 30 วินาที หรือ 60 วินาที

ลักศมี จง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาคอนเทนต์ TikTok ประเทศไทย กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ครีเอเตอร์ TikTok ทั่วโลกมีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ ความคิดสร้างสรรค์ ที่จะต้องทำคอนเทนต์ให้จบใน 1 นาที แต่คนไทยจะมีความแตกต่าง คือ ความตลก และเป็นกันเองมากกว่า ด้านการโฆษณาสินค้าผ่าน TikTok ครีเอเตอร์จะทำคอนเทนต์ออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ และไม่เป็นการยัดเยียดขายสินค้า

ซึ่งความท้าทาย คือ การทำคลิปให้น่าสนใจใน 1 นาที เพราะปกติคนจะชินกับการทำคลิปยาว ๆ แต่ TikTok ให้คนแปลงและเปลี่ยนคอนเทนต์เหล่านั้นเป็นวิดีโอสั้นที่ได้ใจความและน่าดู ภายใน 1 นาที

ลักศมี จง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาคอนเทนต์ TikTok ประเทศไทย
ลักศมี จง ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาคอนเทนต์ TikTok ประเทศไทย

“หลายคนจะคิดว่า 1 นาทีคงทำอะไรไม่ได้มาก แต่การเสพข่าว 1 นาที เราก็พอจะทราบแต่ว่ามันเกิดอะไรขึ้น หรือการเรียนภาษาอังกฤษถ้าเรียนแค่ 1 คำ ใน 1 นาทีก็ยังรู้สึกว่านาน เช่นเดียวกับการทำโฆษณา ใจความสำคัญ (Key Message) ของผลิตภัณฑ์ไม่ควรจะยาว เพราะฉะนั้น 1 นาทีก็เพียงพอที่จะสื่อถึงสิ่งที่ต้องการขายได้” ลักศมี กล่าว

ทำวิดีโอสั้นให้ดี ไม่ง่าย

อากิ ยามากูชิ ครีเอเตอร์ TikTok ที่ผ่านการเป็นพนักงานบริษัท วงการบันเทิงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง งานพิธีกร เล่นโซเชียลมีเดียมามากมาย ก่อนจะเข้าสู่การเป็นครีเอเตอร์ TikTok ปัจจุบันมีคนติดตาม 650,000 คน

อากิ กล่าวว่า ที่สมัคร TikTok เพราะในประเทศญี่ปุ่นนิยมกันมากแต่ก็ยังไม่ได้คิดอะไรมาก จนมารู้จัก “คุณลักศมี” และได้แนะนำให้ลองทำคอนเทนต์สอนภาษา แต่การที่เป็นวิดีโอสั้น ต้องจบให้เร็ว บริโภคง่าย ทำให้คนเข้ามาติดตามกันมากขึ้น เมื่อลองทำออกมา พบว่ามีคนสนใจมากกว่าที่คิด จึงเป็นเหตุผลที่เข้ามาเล่น TikTok จริงจัง

“ใน 1 วันอย่างน้อยจะต้องมี 1 วิดีโอและขึ้นก่อนเที่ยง เหตุผลที่ขึ้นก่อนเที่ยง คือ ทำให้คนดูคอนเทนต์ได้ทั้งวัน” อากิ กล่าว

อากิ เริ่มเข้ามาทำคลิปสอนภาษาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2019 ด้วยเหตุผลที่อยากวัดว่าหลังจากมาทำแล้วจะมีคนติดตามมากขึ้นหรือไม่

ในช่วงแรกทำคลิปสอนแบบธรรมดาคล้ายสอนภาษาญี่ปุ่นวันละคำ หลังจากนั้นเริ่มประยุกต์โดยนำวลีเด็ดจากการ์ตูนหรือละครมาใช้ มีการเปรียบเทียบระหว่างการพูดของคนไทย ฝรั่ง และญี่ปุ่น ว่าแต่ละชาติพูดต่างกันอย่างไร ที่น่าสนใจคือคนชอบฟังเรื่องผี ตอนนี้จึงเล่าเรื่องผีญี่ปุ่นเยอะมาก และสอดแทรกคำศัพท์เข้าไปในนั้น

“การทำวิดีโอลง TikTok เรื่องเวลาคือความท้าทาย เราจะสรุปข้อมูลอย่างไรให้สนุกภายใน 15 30 และ 60 วิ เพราะการทำคลิปยาวเราสามารถอธิบายไปเรื่อย ๆ ได้ แต่การทำคลิปสั้นต้องเตรียมการเยอะมาก ใส่ความคิดเข้าไปมาก” อากิ กล่าว

ครีเอเตอร์เป็นอาชีพได้

อากิ กล่าวว่า ครีเอเตอร์สามารถทำเป็นอาชีพได้ แต่อยู่ที่ความคิด ว่ามีความตั้งใจขนาดไหน ต้องมีความพยายามและความสม่ำเสมอ รวมถึงต้องวางแผน มีวินัย และมีเป้าหมาย ต้องยอมรับว่าไม่มีอาชีพไหนสบาย

“เชื่อว่าไม่มีครีเอเตอร์คนไหนที่ทำไปเรื่อย ๆ และประสบความสำเร็จ แต่เราจะต้องจับให้ได้ว่าตัวเองชอบอะไร มีเป้าหมายการทำคอนเทนต์ และหวังว่าคนดูจะได้อะไรกลับไป” อากิ กล่าว

อากิ ยามากูชิ ครีเอเตอร์ TikTok
อากิ ยามากูชิ ครีเอเตอร์ TikTok

ซึ่ง TikTok เข้ามาช่วยเยอะมาก โดยเฉพาะ “คุณลักศมี” ช่วยตั้งแต่ไอเดียการสอนภาษาญี่ปุ่น แนะนำเทรนด์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งก็จะศึกษาและนำมาประยุกต์ให้เป็นสไตล์ของตัวเอง

ลักศมี กล่าวเสริมว่า สิ่งสำคัญอย่างแรก คือ การหาตัวตน ครีเอเตอร์บางคนจะกังวลว่าจะสามารถทำคลิปทุกวันได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องหาจุดที่สมดุลกับแต่ละคนโดยไม่ให้เหนื่อยเกินไป อีกส่วน คือ มองให้เป็นธุรกิจเพื่อรองรับโฆษณาที่จะเข้ามา โดยปรับคอนเทนต์ให้ตรงกับกลุ่มลูกค้า

สุดท้าย คือ สิ่งสำคัญไม่ใช่ยอดคนติดตาม เพราะถ้าคิดมากก็จะทำให้ทำคอนเทนต์ออกมาได้ไม่ดี การปรับอะไรใหม่ ๆ จะต้องลองทำดูสักระยะหนึ่งเพื่อดูผลตอบรับ อย่าล้มเลิกไว

“ปัจจุบันการทำคอนเทนต์กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ เมื่อออกไปนอกบ้านก็จะเจอคนตั้งกล้องชวนเพื่อนมาเต้น หรือถ่ายคลิปเล่นกันที่บ้าน ทำเป็นชีวิตประจำวัน” ลักศมี กล่าว

สร้างระบบนิเวศครีเอเตอร์

ลักศมี กล่าวว่า ผู้ใช้ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น กลุ่มใหญ่ที่ใช้แพลตฟอร์มอยู่ที่อายุ 18-24 ปี รองลงมาจะเป็นกลุ่มนักเรียนมัธยม และเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ ขณะที่คอนเทนต์เชิงสาระกำลังค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

ถ้ามองครีเอเตอร์เป็นจุดศูนย์กลาง ฝั่งหนึ่งจะมีแพลตฟอร์ม คือ TikTok ที่คอยสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยี คอนเทนต์ และโอกาสต่าง ๆ ที่จะเชื่อมกับแบรนด์หรือสื่อต่าง ๆ ส่วนอีกฝั่งนึงคือ ผู้ลงโฆษณา ที่อยากจะร่วมงานกับครีเอเตอร์ ซึ่งสุดท้ายแล้วเป็นการทำงานร่วมมือทั้ง 3 ฝ่าย ไม่ว่าจะผ่านทางครีเอเตอร์ หรือผ่านทาง TikTok

รายได้ของครีเอเตอร์จะมาจากสปอนเซอร์ เช่น การจ้างรีวิว โดย TikTok มีหน้าที่เข้ามาช่วยติดตามและแนะนำ มีแพลตฟอร์ม TikTok Creator Marketplace (TCM) เป็นตลาดให้ครีเอเตอร์ ที่ทำคอนเทนต์น่าสนใจ และมีจำนวนผู้ติดตามอย่างน้อย 1 หมื่นคน จะสามารถเชื่อมต่อกับแบรนด์ได้โดยตรง โดยไม่ต้องแบ่งส่วนแบ่งให้กับ TikTok ซึ่งปัจจุบันมีครีเอเตอร์ที่ทำงานร่วมกับ TikTok มากกว่า 1,000 คน

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-Nabsolute จากงานวิจัย สู่สตาร์ตอัพ Beauty/Health Tech
-NECTEC ดัน IDA ยก อุตสาหกรรม 4.0
-NIA ปรับบทบาท รีโฟกัสนวัตกรรม ฟื้นประเทศหลังโควิด
-QueQ ชูกลยุทธ์ Social Distancing Enabler ลุยตลาดใหม่
-ไมโครซอฟท์ พร้อมช่วยธุรกิจไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ