TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewโควิด-19 ปัจจัยปฏิรูปภาครัฐ DGA หนุนหน่วยงานรัฐให้บริการดิจิทัล

โควิด-19 ปัจจัยปฏิรูปภาครัฐ DGA หนุนหน่วยงานรัฐให้บริการดิจิทัล

วิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะทำให้ภาครัฐยังให้บริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นจะต้องมีการขับเคลื่อนในเรื่องหลัก ๆ อยู่หลายเรื่อง สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการปฏิรูปภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA กล่าวกับ The Story Thailand ว่า วิกฤติที่ผ่านมาจะเห็นว่าภาครัฐไม่สามารถทำงานได้ราบรื่น 100% สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ยังไม่มีระบบดิจิทัลเข้ามาใช้งานได้อย่างเต็มที่ เช่น เรื่องเอกสาร DGA มีการคุยกับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เพื่อออกหลักเกณฑ์ให้ใช้อีเมลเข้ามารองรับการใช้งานระบบสารบรรณของภาครัฐ

อีกส่วนหนึ่ง คือ กระบวนการที่ยังต้องพึ่งพิงการใช้คนและกระดาษทำงานอยู่มาก เมื่อเกิดการล็อกดาวน์ทำให้เอกสารต่าง ๆ ยังอยู่ในสำนักงานทำให้ไม่สามารถทำงานได้ 100% เจ้าหน้าที่บางส่วนจึงยังต้องเดินทางมาทำงานที่หน่วยงานเพื่อบริการประชาชน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งทำงานอยู่ที่บ้านได้

โควิด-19 ปัจจัยปฏิรูปภาครัฐ

ดร.สุพจน์ กล่าวว่า วิกฤติครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดี ยกตัวอย่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สามารถทำงานผ่านออนไลน์ได้ 100% ทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่สามารถเปลี่ยนความคิดได้ อะไรที่เคยทำไม่ได้ก็สามารถทำได้หมด

ทักษะดิจิทัลเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จะเห็นว่าคนใช้ระบบประชุมออนไลน์ได้ทุกแพลตฟอร์ม ขณะเดียวกันผู้บริหารหน่วยงาน ก็จะเห็นความสำคัญของการทำหน่วยงานให้เป็นดิจิทัล ซึ่ง DGA ได้ให้นโยบายกับเจ้าหน้าที่ทั้งหมดว่าการประชุมต่าง ๆ จะต้องมีลิงก์ออนไลน์ไปด้วยเสมอ

อีกเรื่อง คือ เข้าไปแก้ไขระเบียบของหน่วยงานรัฐทำให้การประชุมไม่จำเป็นต้องมีคนเข้ามา 1 ใน 3 อยู่ในที่เดียวกันอีกต่อไป

และเรื่องสุดท้าย คือ เห็นความสำคัญของการมีเทคโนโลยีเป็นของคนไทย เช่น การประชุมลับจะต้องใช้ระบบที่อยู่ภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้พัฒนาเทคโนโลยีของคนไทยให้ภาครัฐจัดการประชุมออนไลน์ได้

บทบาทของ DGA เกี่ยวข้อง คือ การวางแพลตฟอร์มของภาครัฐ จะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมาถ้าภาครัฐมีระบบดูแลเรื่องอัตลักษณ์บุคคลแบบดิจิทัล (Digital ID) จะทำให้ยืนยันตัวบุคคลได้สะดวกไม่จำเป็นต้องมาพบซึ่งหน้า ส่งผลให้ภาครัฐสามารถให้บริการผ่านออนไลน์ได้

ส่วนเรื่องระเบียบหรือกระบวนการจะมีการหารือตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับเปลี่ยนให้มีความสะดวกกับการทำธุรกรรมทางออนไลน์มากขึ้น และสุดท้าย คือ การพัฒนาทักษะบุคคล

“สิ่งที่เราจะทำต่อ คือ Learning Platform Online เพื่อให้คนเหล่านี้ได้เรียนรู้กับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ เช่น การกำกับดูแลข้อมูล หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)”

ดร.สุพจน์ กล่าวต่อว่า จากเหตุการณ์ครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่าภาครัฐยังไม่มีความพร้อมในหลาย ๆ เรื่อง เช่น การประชุมออนไลน์ยังมีปัญหาเรื่องสัญญาณขาดไปบ้าง ที่ผ่านมาได้มีการขยายแบนด์วิชท์ (Bandwidth) โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอย่าง TOT และ CAT เพื่อให้รองรับการให้บริการได้ดีขึ้น

การใช้ระบบอัตโนมัติในกระบวนการพิจารณาของหน่วยงานภาครัฐ Rapid Process Automation (RPA) เข้ามาช่วยหน่วยงานพิจารณางานบริการของภาครัฐทำได้สะดวกขึ้น รวมถึงการนำแชทบอทมาใช้

การแก้กฎระเบียบ การทำกระบวนการหน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นดิจิทัล เช่น การเปิดเผยข้อมูลหรือการเชื่อมโยงข้อมูล จะพบว่าแต่ละหน่วยงานมีกฎหมายเฉพาะที่มีข้อจำกัด ทำให้ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ จะต้องหาทางแก้ไข

“สิ่งที่ประชาชนคาดหวังมากที่สุด คือ การให้บริการ เราพบว่าบริการภาครัฐเป็นดิจิทัลแล้วแค่ประมาณ 10% จากประมาณ 3,000 บริการ อย่างไรก็ตามการทำให้เป็นดิจิทัลทั้งหมด 100% จะต้องใช้เวลานาน ซึ่งเรามีโร้ดแมป ที่จะเข้ามาดำเนินการใน 3 ปี เพื่อทำให้บริการที่มี การทำธุรกรรมจำนวนมากเป็นดิจิทัล”

ดึงเอกชน ทำงานร่วมภาครัฐ

ดร.สุพจน์ กล่าวว่า นอกจากการสนับสนุนภาครัฐแล้ว DGA ยังมีโครงการที่ช่วยเหลือภาคเอกชนอยู่ 3 โครงการ คือ

1.ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ทำโครงการพัฒนาจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ 6 เดือน – 1 ปี เข้ามาช่วยหน่วยงานรัฐแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัล (Data Digitization) เพื่อนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ ซึ่งโครงการนี้อยู่ระหว่างการของบประมาณและทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ที่มีความต้องการ

2.การทำ Digital Government Technology and Innovation Center (DGTI) เป็นโครงการที่ DGA พัฒนา โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบูรพา จับคู่ระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่มีความต้องการใช้เทคโนโลยี กับ สตาร์ตอัพ หรือ SMEs ที่ทำด้านไอทีหรือเทคโนโลยีเพื่อหาโซลูชั่น เข้ามาตอบโจทย์ภาครัฐ และมีแผนขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ อีสาน และใต้ ต่อไป

3.Online Learning Platform พัฒนามาให้หน่วยงานภาครัฐใช้ เป็นการนำเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลมาให้บุคลากรภาครัฐเรียนรู้ โดยร่วมงานกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ นำคอนเทนต์มาให้บุคลากรเรียนรู้ได้ผ่านออนไลน์ ซึ่งภาคเอกชนที่มีแพลตฟอร์มหรือโซลูชั่นเกี่ยวกับการเรียนรู้ออนไลน์ก็สามารถเข้ามาทำงานร่วมกันได้

“เราเป็นผู้วางบทบาทช่วยขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล สนับสนุนให้หน่วยงานรัฐเปลี่ยนบริการเป็นดิจิทัลให้ได้ ทั้งการให้คำปรึกษา รวมถึงการช่วยบริหารจัดการโครงการ หน่วยงานที่มีความพร้อมอยู่แล้วอาจจะไม่ต้องเข้าไปช่วยอะไรมาก แต่จะเข้ามาช่วยเรื่องการกำหนดมาตรฐานเพื่อให้มีการเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ ส่วนหน่วยงานที่มีความต้องการให้ช่วยเหลือ ก็จะเข้าไปประกบ กำหนดเป้าหมายว่าสิ่งที่อยากจะปรับเปลี่ยนมีเรื่องอะไรบ้าง โดยให้คำแนะนำและเข้าไปทำงานร่วมกัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการก่อร่างสร้างบ้านเพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่ Thailand 4.0”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
ทรงกลด แซ่โง้ว – เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-TikTok สั้นแต่ไม่ง่าย สร้างสรรค์เป็นอาชีพได้
-Nabsolute จากงานวิจัย สู่สตาร์ตอัพ Beauty/Health Tech
-NECTEC ดัน IDA ยก อุตสาหกรรม 4.0
-NIA ปรับบทบาท รีโฟกัสนวัตกรรม ฟื้นประเทศหลังโควิด
-QueQ ชูกลยุทธ์ Social Distancing Enabler ลุยตลาดใหม่

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ