TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistส่งออกไทย... ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี

ส่งออกไทย… ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี

ถ้าเปรียบประเทศนี้เป็นครอบครัว ลอง “กางบัญชีประเทศ” ออกมาดูแล้วจะตกใจ พบว่ามีแต่ “รายจ่าย” แถมมีหนี้สินเกือบชนเพดาน ล่าสุดกู้อีก 1 ล้านล้านบาทมาเยียวยาคนในครอบครัวที่บอบช้ำจากพิษ โควิด-19 แถมหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะก็ก่อไว้เกือบเต็มเพดาน

-ครม.บิ๊กตู่ 2/2 เสี่ยง “ต่างชาติไม่เชื่อมั่น”
-“ขุมทรัพย์พลังงาน” ใคร ๆ ก็อยากคุม

หันมามาดูทางด้าน “รายได้” กลับสวนทาง รายได้หลักจาก เครื่องยนต์ใหญ่ คือ “การส่งออก” ปั๊มรายได้เกือบ 70% ของจีดีพี ในช่วงหลาย ๆ ปีมานี้ เครื่องยนต์มีสภาพสามวันดีสี่วันไข้ เครื่องยนต์ตัวเล็กลงมาหน่อย “การท่องเที่ยว” ระยะหลังทำงานหนักทดแทนรายได้ที่หายไปกับการส่งออก ทำรายได้เข้าประเทศ ราว ๆ 12% ต่อจีดีพี วันนี้เครื่องยนต์สองเครื่องเกือบจะอยู่ในอาการโคม่า สตาร์ตไม่ติด

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขการส่งออกเดือนมิถุนายน 2563 ปรากฏว่า “ติดลบ” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มีมูลค่าการส่งออก 16,444 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลง 23.17% น่าตกใจตรงที่การส่งออกเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำสถิติลดลงมากที่สุดในรอบ 131 เดือนหรือ 11 ปี นับจากกรกฎาคม 2552 เป็นต้นมา

เหตุผลก็อย่างที่รู้ ๆ ยังคงเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กดดันการค้าโลก และกระทบต่อการส่งออกของหลาย ๆ ประเทศ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และจีนกับอินเดีย ที่ส่งผลต่อนโยบายการค้าและเศรษฐกิจโลกผสมโรง

ครั้นคลี่ดูรายละเอียด ตลาดหลักที่เป็นบวกมีเพียงสหรัฐฯ และจีน โดยตลาดสหรัฐฯ กลับมาขยายตัว 14.5% สินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนตลาดจีนขยายตัว 12.0% มีผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก

ขณะที่ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรส่งออก มีมูลค่า 2,912 ล้านดอลลาร์ ลดลง 9.9% อย่างไรก็ตาม อาหารยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์เลี้ยง ผักและผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เป็นต้น

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมยังอยู่หายใจผงาบ ๆ ในไอซียู มีมูลค่า 13,085 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วลดลงถึง 25.1% แต่ยังมีสินค้าบางตัวที่ขยายตัวสูง ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวกับวอร์คฟอร์มโฮม เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และสินค้าป้องกันการติดเชื้อ เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ถุงมือยาง

ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหลักเช่น รถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ยังคงหดตัวต่อเนื่อง เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีกำลังซื้อลดลง

อันที่จริงการส่งออกของไทยหมดยุครุ่งโรจน์ที่เคยโตด้วยตัวเลข 2 หลักมาตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ยิ่งในช่วง 10 ปี หลังมีขยายตัวเพิ่มขึ้นบ้างลดลงบ้างสลับกันไป เป็นผลมาจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้ง “ค่าเงินบาทที่แข็งค่า” ทำให้สินค้าไทยแพงกว่าคู่แข่ง

เหนือสิ่งใด โครงสร้างอุตสาหกรรมโดยรวมไม่เคยได้รับการพัฒนา สินค้าไทยยังอยู่ในเกรด ไทยแลนด์ 0.2 เป็นสินค้าอุตสาหกรรมพื้นฐาน ไม่ใช่สินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ผ่านมาอาศัยแรงงานราคาถูก แต่ตอนหลังเวียดนามมาแย่งตลาดนี้ไป ถ้าเรายังไม่ยกระดับศักยภาพให้สูงขึ้น การส่งออกไทยก็ยังจะอยู่สภาพนี้ต่อไป

แต่ที่ต้องจับตามองไม่กระพริบ นั่นคือ ยอดการนำเข้าก็ลดลงด้วย โดยมีมูลค่า 14,833 ล้านเดอลลาร์ ลดลง 18.05% เกินดุลการค้า 1,610 ล้านดอลลาร์ ตลอดระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่ มกราคมถึงมิถุนายน การนำเข้ามีมูลค่า 103,642 ล้านดอลลาร์ ลดลง 12.62% เกินดุลการค้า 10,701 ล้านดอลลาร์

นั่นหมายความว่ากำลังการผลิตในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง ใช้กำลังผลิตต่ำกว่าที่มีอยู่เนื่องจากไม่มีออร์เดอร์สินค้าเข้ามา ปัญหาที่จะตามมา คือ โรงงานต่าง ๆ ที่สายป่านไม่ยาวพออาจจะทนไม่ไหวต้องปิดโรงงานลง จะมีคนตกงานอีกจำนวนมาก และจะกลายเป็นปัญหาสังคมตามมา

ถ้าการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเหมือนเดิมในเร็วัน ส่งออกยังอยู่ในอาการโคม่า เครื่องยนต์สองเครื่องของเศรษฐกิจไทย ยังวิ่งไม่เต็มสูบ คำถามคือ เรายังต้องอยู่ในสภาพคนป่วยต่อไปอีกนานแค่ไหน

ทวี มีเงิน

ภาพประกอบจาก lcp.port.co.th

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-KKU Digital Transformation จิ๊กซอว์หลักของการทรานส์ฟอร์ม ม.ขอนแก่น
-กสิกรไทย เปิดตัว MAKE by KBank โมบายแบงกิ้งของคนรุ่นใหม่
-เอไอเอส เปิดบริการ 5G Fixed Wireless Access รายแรกและรายเดียวในไทย
-เทศบาลนครระยอง พัฒนาเสาอัจฉริยะ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ