TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“ขุมทรัพย์พลังงาน” ใคร ๆ ก็อยากคุม

“ขุมทรัพย์พลังงาน” ใคร ๆ ก็อยากคุม

ทันทีที่ 4 กุมารพ้นจากเก้าอี้รัฐมนตรี “กระทรวงพลังงาน” กลายเป็นที่จับจองของหลาย ๆ คนทุกยุคทุกสมัย แต่เที่ยวนี้ดูเหมือนการแย่งเก้าอี้ตัวนี้ เปิดหน้าเล่นกันเปิดเผยแบบไม่ต้องเกรงอกเกรงใจใคร

อันที่จริงเที่ยวนี้ ก็ติดพันมาตั้งแต่ตั้งรัฐบาล “ลุงตู่1” ตอนนั้นลุงตู่ต้องหาทางออกโดยโยน ให้ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” จัดการ กลายเป็นว่าส้มหล่นใส่ “สนธิรัตน์ สนธิจรวงษ์” จนตีนบวม เที่ยวนี้คนที่ประกาศจะยึดเก้าอี้ตัวนี้ให้ได้ก็เป็นคนหน้าเดิมอย่าง “สุริยะ จึงรุงเรืองกิจ” แกนนำกลุ่มสองมิตรกับ “ณัฐพล ทีปสุวรรณ์” แกนนำกปปส. 

วงในว่ากันว่า คราวนั้นมีมือที่มองไม่เห็นเป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่สนิทผู้ใหญ่ในพรรคเข้ามาสกัดคนบางคนที่เป็นแคนดิเดตต้องหลุดจากวงโคจร แต่เที่ยวนี้กลับมาทวงใหม่อีกครั้งเพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป

ทำไมกระทรวงเล็ก ๆ งบประมาณแค่ 2 พันล้าน แต่ใคร ๆ ก็อยากมานั่งคุม ยอมสละเก้าอี้ใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่ม ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมงบประมาณกว่า 5 พันล้าน และกระทรวงศึกษางบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท

คำตอบมิได้อยู่ในสายลม แต่เป็นเพราะมี “เค้กก้อนใหญ่” ที่อยู่ “นอกงบประมาณ” ที่ไม่ว่านักการเมือง รวมถึงข้าราชการระดับบิ๊ก ๆ ก็อยากเข้ามาดูแล 

เค้กก้อนแรก คงหนีไม่พ้น นโยบายเปิดรับซื้อไฟฟ้าจาก “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน” เข้ามาในระบบเป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2563–2567 รวม 1,933 เมกกะวัตต์ ในรูปแบบโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ นำร่อง 100 ชุมชน ราว 700 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ  “โครงการ Quick Win” กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2563 และ “โครงการทั่วไป” ที่เปิดโอกาสให้ผู้มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการเป็นการทั่วไป อนุญาตให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เป็นต้นไป

ทั้ง 2 รูปแบบมีเงื่อนไขดังนี้ คือ กลุ่มผู้เสนอโครงการ (ภาคเอกชนอาจร่วมกับองค์กรของรัฐ) ถือหุ้นในสัดส่วน 60–90% และต้องมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมถือหุ้นด้วย 10-40 % โครงการนี้ว่ากันว่าจะนำไปสู่การลงทุนในระดับชุมชนไม่น้อยกว่า 70,000 ล้านบาทเลยทีเดียว  

ที่ผ่านมาก็มีข่าวว่า ทั้งนักธุรกิจโรงไฟฟ้า นักธูรกิจทั่วไป เอ็นจีโอบางกลุ่ม นักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองระดับบิ๊ก ต่างจ้องตาเป็นมัน มิหนำซ้ำมีบางคนยังแอบอ้างว่าสามารถวิ่งเต้นขอใบอนุญาติให้ได้ ด้วยสนนราคาค่าบริการ 1.5 – 2 ล้านบาทต่อเมกกะวัตต์  คงต้องดูว่าเมื่อเจ้าของนโยบายอย่างสนธิรัตน์ ไม่อยู่แล้ว คนใหม่จะดำเนินการต่อหรือไม่ หากเดินเครื่องต่อจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร 

แต่เค้กก้อนใหญ่สุดน่าจะป็น “การเปิดเสรีการนำเข้าก๊าซ LNG” เรื่องนี้ถูกวิพากษ์วิจารย์กันทั้งวงการว่า “ไม่เสรีอย่างแท้จริง” เนื่องจากใครที่ต้องการนำเข้า จะต้องมี “ใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ” เสียก่อน

ตรงนี้แหละที่ “เปิดช่อง” ให้มีการทำมาหากิน เรื่องอย่างนี้ใครก็มองออก 

ที่สำคัญ ใคร ๆ ก็อยากเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายก๊าซ LNG ให้กับโรงไฟฟ้าในระบบกันทั้งนั้น ขนาดรัฐบาลสหรัฐฯ เองสนใจถึงขั้นทำหนังสือถึงลุงตู่ เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยระบุอย่างชัดเจนว่า สหรัฐฯ ต้องการโอกาสในการเปิดเสรีเข้าร่วมธุรกิจการนำเข้า LNG โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด เห็นไหมว่าเค้กก้อนนี้รสชาติหอมหวานขนาดไหน 

เค้กก้อนสุดท้ายน่าจับตามองที่สุด นั่นคือ “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” กองทุนนี้มีรายได้จากเงินนำส่งจากผู้ผลิต/ผู้นำเข้าน้ำมัน ล่าสุด เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีเงินคงเหลืออยู่ 2.3 หมื่นล้านบาท มากกว่างบประมาณกระทรวงกว่า 10 เท่า มีผู้เสนอโครงการเข้ามาขอใช้เงินกองทุนถึงกว่า 5 พันโครงการ วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท สูงเกินกว่างบฯ ที่ตั้งไว้แค่ปีละ 5,600 ล้านบาทถึง 11 เท่า

ในอดีต กองทุนนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใส มีการซิกแซกนำไปใช้ในการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ตามแผนอนุรักษ์พลังงานเป็นส่วนใหญ่ แบบมีเงื่อนงำ ตรวจสอบไม่ได้ กลายเป็น “บ่อน้ำมัน” ให้นักการเมือง บิ๊กข้าราชการ บริษัทเอเจนซี่ พีอาร์ เข้ามารุมทึ้งจนพุงกาง ว่ากันว่ารัฐมนตรีคนดีคนดังหลายคนยังส่งนอมินีเข้ามาคุมเป็นที่โจษขานกันทั้งกระทรวง ที่สำคัญ เงินกองทุนไม่มีวันหมดสิ้น ตราบใดที่เรายังใช้น้ำมัน

กระทรวงพลังงานจึงกลายเป็นขุมทรัพย์เป็นบ่อน้ำมันที่ใคร ๆ ก็อยากเข้ามาดูแลด้วยประการฉะนี้ 

ทวี มีเงิน

ภาพประกอบจาก facebook.com/ministryofenergy

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-วิกฤติซ้อนวิกฤติ ระยองถึง “ทำเนียบ”
-“ป๋าเปรมโมเดล – รัฐบาลแห่งชาติ” ไพ่ใบสุดท้ายกู้วิกฤติศก.
-“วานร” เอฟเฟค ถึง “ดราม่ากะทิไทย”
-“ขรก.เกียร์ว่าง” แผนกระตุ้นศก.ชะงัก
-นับถอยหลัง “ตุลาฯ มหาวิกฤติ”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ