TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“วานร” เอฟเฟค ถึง “ดราม่ากะทิไทย”

“วานร” เอฟเฟค ถึง “ดราม่ากะทิไทย”

โกโซบิ๊กไปกันใหญ่จะกลายเป็นไฟลามทุ่งหรือไม่ต้องจับตาดูต่อไป สำหรับกรณี “ลิงเก็บมะพร้าว” จนนำไปสู่ “ดรามากะทิไทย” ในเวลานี้

เรื่องเกิดจาก เว็บไซต์ PETA หรือ “องค์กรพิทักษ์สัตว์” รายงานมาว่า มีห้างสรรพสินค้าร้านค้าปลีก ทั้งในสหรัฐฯ อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ร่วม “คว่ำบาตร” กะทิกล่องและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากมะพร้าว ที่นำเข้าจากไทย เช่น Cost Plus World Market ห้าง Walgreens Boots Alliance, Duane Reade ร้าน Boots ทั้งในอังกฤษและไทย รวมทั้งร้าน Albert Heijn ในเนเธอร์แลนด์และไทย รวมกว่าหมื่นสาขาเลยทีเดียว 

การคว่ำบาตรเกิดหลังจากที่ PETA รายงานว่า ในอุตสาหกรรมการแปรรูปมะพร้าวส่งออกจากไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าวเขาบอกว่าเป็นการทรมานสัตว์ โดยอ้างว่ามีสวนมะพร้าว 50 สวนจากนับพันสวนบังคับให้ลิงปีนขึ้นต้นมะพร้าว เก็บมะพร้าว และในเวลาที่ไม่ได้เก็บก็ถูกเลี้ยงในสภาพถูกล่าม ทั้งโดนล่ามโซ่ผูกไว้กับยางรถเก่า ๆ หรือถูกขังอยู่ในกรงที่มีขนาดไม่ได้ใหญ่กว่าตัวจึงทำให้ลิงเครียด   

หัวขบวนต่อต้านเริ่มจาก “กลุ่มวีแกน” ในอังกฤษเป็นพวกกินผักไม่กินเนื้อ เคารพในสิทธิสัตว์มีสมาชิกราว 3-4 แสนคน  ต้องเข้าใจว่าในอังกฤษเรื่อง “สวัสดิภาพสัตว์” เป็นกระแสมาแรง คนที่ต่อต้านจึงมีคนทั่วไปและกลุ่มไฮโซเข้าร่วม อย่างเมียนายกฯ บอริส จอห์นสัน หรือรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม กลุ่มนี้เคยต่อต้านอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียมาแล้ว ส่งผลให้กลุ่มประเทศตะวันตกพากันคว่ำบาตรน้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม ในกรณีอินโดฯ กับของไทยต่างกันราวหนังคนละม้วน กรณีอินโดฯ เกิดจากถูกนายทุนรุกรานที่อยู่อุรังอุตัง แต่ของไทยโดนกล่าวหาว่าทรมานสัตว์ ซึ่งในมุมมองคนไทยถือเป็นเรื่องวัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิตที่ทำมาหากินร่วมกันของคนปักษ์ใต้กับลิงมาเป็นร้อย ๆ ปี แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจจะมีส่วนน้อยที่ทรมานสัตว์จนกลายเป็นชนวนใหญ่โต 

การคว่ำบาตรครั้งนี้เป็นแรงกดดันจาก “พลังผู้บริโภค” ที่มีมุมมองเรื่องนี้ต่างจากเรา ไม่ใช่นโยบายรัฐบาล

คงจำได้เมื่อ 6 ปีที่แล้วที่อียูคว่ำบาตรสินค้าอาหารทะเลของเรา ปรากฏว่าอาหารทะเลของไทยที่วางขายในตลาดขายไม่ได้เลยเพราะ “ผู้บริโภคแอนตี้”​ เราก็ต้องมาแก้ที่ต้นตอปัญหา เขากล่าวหาว่าอย่างไร ก็มาแก้ตรงนั้น สถานการณ์จึงจะคลี่คลาย

อันที่จริงเขาไม่ได้จงใจเฉพาะสินค้าไทย ในอดีตมีเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่งถูกผู้บริโภคต่อต้านเพราะใช้สัตว์ทดลอง แม้แต่เรื่องกินตับห่านก็โดนต่อต้านจนคนรุ่นใหม่ ๆ เลิกกินไปก็เยอะ ทางออก เราจะต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นว่า สิ่งที่เข้าใจนั้นไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันเราคงต้องไปดูต้นตอว่าเราทรมานสัตว์จริงไหม มีชาวสวนรายใดบ้างที่ทรมานลิงตามที่ถูกกล่าวหา หากมีก็ต้องรีบจัดการแก้ปัญหา และต้องเร่งยกระดับปรับปรุงการเลี้ยงดูแลลิงให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น 

รวมทั้งต้องเร่งทำความเข้าใจว่า การเก็บมะพร้าวบ้านเราทุกวันนี้ใช้แรงงานลิงเป็นส่วนน้อยมีในบางพื้นที่เท่านั้น ส่วนใหญ่ใช้แรงงานคน ซึ่งมะพร้าวพันธุ์ใหม่ ๆ ถูกพัฒนาให้ต้นเตี้ยลงเพื่อให้คนเก็บได้ง่าย ๆ

กระทรวงพาณิชย์อาจจะ “ติดสติกเกอร์” เป็นสัญญาลักษณ์ว่ายี่ห้อไหนที่ไม่ใช้แรงงานลิง หรือตรวจสอบแล้วไม่ทรมานสัตว์ 

ถ้าไม่รีบแก้ปัญหาให้ตรงจุด การต่อต้านสินค้าไทยอาจจะลามไปเยอรมัน ฝรั่งเศส แคนาดา และประเทศอื่น ๆ ในยุโป ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิภาพของสัตว์ 

ก่อนที่เราจะตีโพยตีพายด้วยความสะใจ ลองมาดูข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ผลผลิตมะพร้าวของไทยในปี 2562 มีปริมาณ 7.8 แสนตัน แบ่งออกเป็นผลิตภัณฑ์กะทิอยู่ที่ 1.1 แสนตัน ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากมะพร้าวที่ไทยส่งออกไปต่างประเทศมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ กะทิและมะพร้าวอ่อน ส่งออกประมาณ 30 % ในปีที่แล้วส่งไปตลาดยุโรปมูลค่าทั้งสิ้น 1.2 หมื่นล้านบาท 

เห็นตัวเลขรายได้เข้าประเทศอย่างนี้แล้วเราจะตีโพยตีพายเพื่อความสะใจคงไม่มีประโยชน์นอกจากจะต้องรีบแก้ปัญหาให้เร็วก่อนที่จะเป็นไฟลามทุ่งเสียหายมากกว่านี้  

ทวี มีเงิน

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-“ขรก.เกียร์ว่าง” แผนกระตุ้นศก.ชะงัก
-นับถอยหลัง “ตุลาฯ มหาวิกฤติ”
-“เศรษฐกิจเวียดนาม” … จะแซงไทยจริงหรือ
-อย่าเสียเวลา “ตามล่าเลข 0” จน ศก.เจ๊ง
-จับสัญญาณ “แบงก์ชาติ” วิกฤติ ศก. “หนักกว่าที่คิด”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ