TH | EN
TH | EN
spot_imgspot_imgspot_img
หน้าแรกColumnistวิกฤติซ้อนวิกฤติ ระยองถึง “ทำเนียบ”

วิกฤติซ้อนวิกฤติ ระยองถึง “ทำเนียบ”

ห้วงเวลาห่างกันแค่ 3 วัน วิกฤติใหญ่เกิดขึ้นถึงสองวิกฤติซ้อนทับกัน ซี่งมีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลและเศรษฐกิจของประเทศ วิกฤติแรก เกิดที่ระยอง และกรุงเทพฯ พร้อม ๆ กัน

กรณีระยองที่ทหารอียิปต์ป่วยโควิด-19 แวะพักในโรงแรมกลางเมืองและไม่ยอมกักตัว มิหนำซ้ำยังออกไปเที่ยวเพ่นพ่านในห้างฯ และกรณีเด็ก 9 ขวบในคณะฑูตซูดานที่ใช้เอกสิทธิ์ขอกักตัวในคอนโดมิเนี่ยมแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพฯ

วิกฤติระยองกลายเป็นระลอกคลื่นส่งผลสะเทือนไปเกือบทั่วประเทศ คล้าย ๆ กรณีสนามมวยลุมพินี ธุรกิจในระยองเสียหายอย่างหนัก โรงแรม รีสอร์ตทั้งในระยอง จันทบุรี และตราด เดิมลูกค้าจองไว้จนถึงช่วงวันหยุดยาวปลายเดือนนี้ โดนยกเลิกกว่า 90%

พนักงานในห้างฯ ร้าน ต่างวิตกกังวลว่าอาจจะต้องปิดเมืองระยองอีกรอบ โรงเรียนกว่า 270 แห่งในระยองและอีกหลายจังหวัดต้องปิดชั่วคราว

วันก่อนแวะตัดผมแถว ๆ ชานเมือง ช่างตัดผมเล่าให้ฟังว่าหลังรัฐบาลให้เปิดบริการได้ลูกค้าเริ่มทยอยมาเรื่อย ๆ จนเกือบจะปกติ แต่พอมีข่าวที่ระยองลูกค้าหายหมด เช่นเดียวกับแม่ค้าล็อตเตอรี่ ก็บ่นอุบ กำลังขายได้ตอนนี้ลูกค้าเงียบกริบ ของเหลือเต็มแผง ไม่น่าเชื่อว่าเหตุเกิดที่ระยองแต่สร้างความตื่นกลัวไปทั่ว กลายเป็น “กระต่ายตื่นตูม” ส่งผลกระทบเศรษฐกิจระดับล่างอย่างไม่น่าเชื่อ

อีก 2 วันต่อมาก็เกิดวิกฤติใหญ่ใน “ทำเนียบรัฐบาล” เมื่อ กลุ่ม 4 กุมาร ประกอบด้วย ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีคลัง สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีพลังงาน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษาฯ และดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขานายกฯ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง นั่นเท่ากับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ รัฐมนตรีหัวเรือใหญ่ ต้องลาออกโดยปริยาย

การลาออกอย่างกระทันหันของ 4 กุมาร จึงเกิดห้วง “สูญญาญากาศ” เก้าอี้รัฐมนตรีว่างลงพร้อมกัน 3 ตำแหน่ง ข้าราชการเคยเกียร์ว่างมาตลอด เมื่อมีข่าวลาออก ทุกอย่างต้องชะงักงัน รอดูนโยบายใหม่จะเป็นอย่างไร ทิศทางลมการเมืองจะไปทางไหน

จนกว่าจะมีทีมเศรษฐกิจชุดใหม่เข้ามา ทุกอย่างจะลงตัวคงราวสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคม เรียกว่า ห้วงเวลาที่เป็นสูญญากาศเกือบ ๆ หนึ่งเดือน

แต่ที่น่าห่วง คือ ผลพวงตามมาหลังจากเกิดวิกฤติที่จะเป็น “มรสุมลูกใหญ่” นั่นคือ “นโยบายพักชำระหนี้ 3 เดือน ถึง 6 เดือน จะทยอยครบเดือนกันยายน ซึ่งมีลูกหนี้เข้ารับความช่วยเหลือ 16.3 ล้านราย ยอดหนี้รวม 6.8 ล้านล้านบาทจะสิ้นสุดเดือนกันยายน น่าเป็นห่วงว่าในเดือนตุลาคม จะมีลูกหนี้กลับมาเป็นปกติได้สักเท่าไหร่

ที่สำคัญต้องจับตาดูวิกฤติที่เกิดจากนโยบายรัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้ประชาชนเดือนละ 5,000 บาทกว่า 15 ล้านคน ครบกำหนดสิ้นเดือนกรฏาคม หลังจากนี้ รัฐบาลจะดูแลคนจนเหล่านี้อย่างไร และจะมีเม็ดเงินจากไหนที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจระดับล่าง มิหนำซ้ำเกษตรกรกว่า 7 ล้านครัวเรือนที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล เดือนละ 5,000 บาท 3 เดือน ผ่าน ธ.ก.ส. รวมทั้งกลุ่มคนเปราะบางอีก 6.7 ล้านคน ประกอบด้วย เด็กผู้สูงอายุ คนพิการ ที่ได้รับเงินช่วยเหลือเดือนละ 1,000 บาท 3 เดือน ก็จะได้รับเงินเดือนกรฏาคมเป็นเดือนสุดท้ายเช่นกันคนจน 29 ล้านคนนี้และเกษตรกรกรจะทำมาหากินและมีชีวิตอยู่อย่างไร

เหนือสิ่งใด วิกฤติครั้งนี้ อยู่ในช่วงที่ “กำลังซื้อทั้งโลก” ที่กำลังประสบปัญหาทุกประเทศอยู่ในสภาพ “ถังแตก” เพราะนำเงินไปทุ่มกับการแก้ปัญหาโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย ที่เป็นรายได้หลัก รวมกันเกือบ 80% ของจีดีพี ผสมโรงด้วยเศรษฐกิจในประเทศเองก็เข้าสู่ภาวะซบเซาลากยาวมานานจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ธุรกิจทยอยปิดกิจการ คนงานที่เป็นกำลังซื้อสำคัญต้องตกงานจำนวนมาก ปัญหาทั้งหมดนี้ ล้วนแต่หนักหนาสาหัสทั้งสิ้น

การปรับครม.เที่ยวนี้ จึงเป็นการชี้อนาคตชี้เป็นชี้ตายของรัฐบาลและบ้านเมืองเลยทีเดียว คนที่จะมาคุมเศรษฐกิจรอบนี้ จะต้องมีบารมี เรียกศรัทธาและความเชื่อมั่นจากประชาชนได้ รวมทั้งมีประสบการณ์การทำงานที่หลากหลายไม่ใช่วิชาการที่ไม่รู้จริง

หลังจากวิกฤติซ้อนวิกฤติรอบนี้จะมี ผู้คนที่กําลังเจ็บปวดและต้องการความช่วยเหลือรออยู่อย่างมากมาย

ทวี มีเงิน

ภาพประกอบจาก thaigov.go.th

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-“ป๋าเปรมโมเดล – รัฐบาลแห่งชาติ” ไพ่ใบสุดท้ายกู้วิกฤติศก.
-“วานร” เอฟเฟค ถึง “ดราม่ากะทิไทย”
-“ขรก.เกียร์ว่าง” แผนกระตุ้นศก.ชะงัก
-นับถอยหลัง “ตุลาฯ มหาวิกฤติ”
-“เศรษฐกิจเวียดนาม” … จะแซงไทยจริงหรือ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ