TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessภารกิจของ Axel Winter ในฐานะ CTO Central Retail และ Mission ของ Central Tech

ภารกิจของ Axel Winter ในฐานะ CTO Central Retail และ Mission ของ Central Tech

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เซ็นทรัลกรุ๊ป คิดจะลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในคอนเซ็ปต์แบบใหม่ ต้องการคนที่มีความสามารถ และทักษะที่หลากหลาย เพื่อสร้างทีมขึ้นมาดูแลในเรื่องนี้ จึงได้ทาบทาม Axel Winter มา โดยภารกิจ คือ การสร้างทีม Central Tech ขึ้นมา พัฒนาศักยภาพของทีม เน้นไปในด้าน E-Commerce, OMNI channel, CRM, Data Analytics และ AR มีการนำเสนอผลงาน เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ หลั่งไหลเข้ามายังทีม Central Tech มากมาย ทั้งจากสตาร์ตอัพ และจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

Axel Winter, Chief Technology Officer, Central Retail กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ความยาก คือ “I don’t know, what I don’t know” ไม่รู้ในสิ่งที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ไม่รู้ว่ามันเป็นมาอย่างไรมาก่อน ถึงแม้ว่าจะเห็นว่ามีเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นมาแล้ว แต่การที่จะเอามาผสมผสาน จับมารวมเข้าด้วยกันมันเป็นเรื่องที่ใหม่ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ บางทีก็มาผลักดันการทำงานของพนักงาน สร้างการมีส่วนร่วม สร้างความภักดีต่อแบรนด์ หรือสร้างรายได้

สิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางที่บริษัทใหญ่ทำ บริษัทเหล่านี้ร่วมมือกับสตาร์ตอัพ สำหรับ Central Tech ไม่ใช่ในเรื่องของการตลาด แต่เป็นการทำงานร่วมกับชุมชนสตาร์ตอัพ และมหาวิทยาลัย อย่างโครงการ Central Tech Retail Lab มาร่วมกันสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ผลักดันให้เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ราว 4-6 สัปดาห์ ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ ในแง่ของเทคโนโลยี ในแง่ธุรกิจ ก็นำมาปรับใช้ต่อยอด ทำให้เป็นโปรแกรมใหญ่

“ในระหว่างทางเราก็เรียนรู้ ทดลอง อาจจะปรับเปลี่ยนได้ เราอยากจะนำสิ่งที่ได้ทำนี้มาใช้กับลูกค้า หรือกับพนักงานได้”

Axel กล่าวต่อว่า เพื่อจะให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ Central Tech ต้องมีพาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี อย่าง AWS เข้ามาช่วยทีม รวมถึงทีมของ Central Tech ทั้งที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เข้ามาช่วยเพื่อถึงศักยภาพของบริษัทสตาร์ตอัพที่จะผุดไอเดียสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ออกมา จะมาจัดในรูปของโรดโชว์ หรือ Demo Day จัดขึ้นเดือนละครั้ง หรือปีละครั้ง เพื่อนำเสนอไอเดีย

ทั้งนี้ Central Group เป็นองค์กรที่มีความหลายหลาย มีคนที่มีความสามารถมาก และขยายไปยังหลาย ๆ ประเทศ ทั้งไทย และเวียดนาม ส่วนธุรกิจโรงแรมมีในตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น และยังมีธุรกิจค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มีธุรกิจค้าปลีกในยุโรป ทั้งที่อิตาลี เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และเดนมาร์ก

“โครงการ Central Tech Retail Lab ที่เรากำลังทำนี้ ไม่ได้เพียงเพื่อสำหรับบริษัทสตาร์ตอัพในประเทศไทย ยังรวมไปถึงสตาร์ตอัพจากประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย”

ร่วมมือสตาร์ตอัพพัฒนานวัตกรรม

Axel กล่าวว่า ในเบื้องต้น บริษัทสตาร์ตอัพอยากมีลูกค้าด้วยกันทั้งนั้น เพราะหมายถึงรายได้ ส่วนตัวมองว่าถ้าบริษัทสตาร์ตอัพเหล่านี้จะเข้ามาเป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านไอที (IT Vendor) หรือจะเป็นมากกว่านั้นก็ได้ ไม่ว่าจะใช้กับผู้จำหน่าย หรือ สตาร์ตอัพ ก็แตกต่างกันไป ให้มั่นใจได้ว่าบริษัทเหล่านี้จะมีเงินหมุน เพื่อใช้ในการพัฒนานวัตกรรม และช่วยในเรื่องของจัดทำโมเดลธุรกิจ หรือบางครั้งอาจจะเข้าไปถือหุ้น

“อย่างที่สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ ผมเคยเป็น Chief Architect ดูแลทั่วโลกมาก่อน ที่นั่นมีศูนย์นวัตกรรม ซึ่งจะมีงบประมาณสำหรับเทคโนโลยีของบริษัทประมาณ 6-7 หมื่นล้าน ในการที่จะพัฒนานวัตกรรม”

“เป็นแนวทางที่ดีที่อาจจะเป็นพาร์ทเนอร์กับสตาร์ตอัพ เป็นผู้ผลิตไอที หรือขายไอเดีย ก็ทำได้หลายแนวทาง”

พร้อมทดลองเทคโนโลยีใหม่

Axel กล่าวว่า เทคโนโลยี คือ “I don’t know what I don’t know” คือ ถ้ามีเทคโนโลยีมานำเสนอ จะนำมาทดลอง มีบางโปรเจกต์ที่ได้ทำไปและเพิ่มมูลค่าได้ อย่างการใช้กล้องตรวจสอบชั้นวางสินค้าในร้านค้าปลีก เพื่อจะเพิ่มสินค้าภายในร้าน สามารถตรวจสอบปริมาณลูกค้าในร้านได้ รวมถึงทราบได้ว่าลูกค้าชอบหรือไม่ชอบสินค้าใด โดยดูได้จากพฤติกรรมของลูกค้า และยังได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชน มาใช้เพื่อให้รางวัลกับลูกค้า ซึ่งสามารถใช้แลกสินค้าในร้าน หรือใช้กับร้านกาแฟ

ซึ่งการทำงานร่วมกับ ผู้เชี่ยวชาญของทาง AWS ทำให้ได้นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ ล่าสุดพัฒนา “ร้านไร้พนักงาน” และแพลตฟอร์มสำหรับตรวจสอบรายละเอียดสินค้า เมื่อลูกค้ามาซื้อของ จะทราบได้เลยว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีที่มาจากไหน ซึ่งก็คงจะได้เห็นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้

รวมไปถึงการนำหุ่นยนต์มาใช้งาน ที่ได้นำมาใช้บ้างแล้ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องพลังงานสะอาดที่จะมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้น มีบริษัทหนึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ไทย-อิตาลี นำไฮโดรเจนมาเป็นพลังงานทดแทน และบรรจุในแบตเตอรี่ ซึ่งน่าสนใจมาก หรืออย่าง Smart Mirror ที่สามารถให้ลูกค้าลองชุด เปลี่ยนสีของชุดได้ หรือเทคโนโลยี Seamless Shopping Experience เมื่อลูกค้าเดินเข้า-ออกจากร้าน จะมีระบบจดจำลูกค้า “ในกรณีที่ลูกค้ายินยอมให้เก็บข้อมูลได้” และสามารถจ่ายเงินแบบอัตโนมัติได้

พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนหลังโควิด-19

Axel กล่าวว่า จากที่ได้คุยกับเพื่อนใน CPN หรือ ในส่วนตัวที่อยู่ไทยมาพักใหญ่แล้วก็เห็นความเปลี่ยนแปลง คนสั่งอาหารกันมากขึ้น ซื้อของออนไลน์ ไม่อยากจะไปห้างหรือร้านอาหาร เนื่องจากผู้คนมากและยังเสี่ยงอีกด้วย นอกจากนี้ก็ยังเห็นว่าเพื่อนบ้านในหมู่บ้าน ก็จัดบ้าน ปรับโฉมบ้านกันยกใหญ่ และทิ้งของเก่า ๆ

“เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าผู้คนเปลี่ยนไปแล้ว ที่จริงความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาตลอด แต่นี่เป็นครั้งแรกในรอบสัก 50 ปี ที่มีผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งผู้คนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าไม่เปลี่ยน ก็ไม่ใช่เรื่องที่ปกติ เพราะการเปลี่ยนแปลงคือเรื่องปกติ”

โควิด-19 เปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง บางเรื่องก็ดีขึ้น แต่บางเรื่องก็แย่มาก ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่ผู้คนไม่ได้ตระหนักถึงสักเท่าไหร่

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการปรับและยอมรับสิ่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะบริการที่เป็นดิจิทัลถูกนำมาใช้มากขึ้น เป็นการผสมผสานกันหรือที่เรียกว่า OMNI channel เช่น เวลาไปห้างแต่ไม่อยากจะเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือ ร้านอาหาร ก็อาจจะกดสั่งจากโทรศัพท์มือถือ และแวะไปรับ ก็เป็นการเชื่อมโยงในแต่ละกระบวนการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเห็นได้ในธุรกิจธนาคาร โทรคมนาคม จะมีการพัฒนาโมบายแอปพลิเคชัน มากขึ้น เพื่อจะสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าในการใช้บริการแบบเชื่อมโยงกันไปหมด

ไม่เพียงเท่านี้ ทางผู้ผลิต ผู้ประกอบการค้าขาย ทุก ๆ คน จะมีเครื่องมือเหล่านี้มาผสมผสานรวมกัน โดยนำสิ่งที่มีในตอนนี้กับอดีตมารวมกัน เพื่อสร้างสิ่งที่ดีขึ้น เช่น พัฒนาแพลตฟอร์ม E-Commerce พัฒนาโมบายแบงกิ้ง ให้ดีขึ้น หรือมีที่ปรึกษาทางการเงิน

“ที่ผ่านมายังไม่ได้ผสานกันแบบสมบูรณ์ แต่นับจากนี้จะเปลี่ยนไปแน่นอน ซึ่งก็จะเป็นการผนึกกำลังกันของ Online/Offline”

Axel กล่าวต่อว่า ผลการวิจัยของบริษัท Adcent ของเยอรมนี ในจีน ได้เปรียบเทียบซิลิคอลวัลเลย์ กับ เทนเซ็นต์ ไว้ โดยบอกว่า ซิลิคอนวัลเลย์นั้นทำธุรกิจที่เน้นไปที่ดิจิทัลเป็นหลัก ในขณะที่นวัตกรรมของเทนเซ็นต์ จะผสมผสามดิจิทัลกับฟิสิคัล (กายภาพ) เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งต่างกันมาก โดยควรที่จะศึกษากรณีของเทนเซ็นต์ไว้ ถ้าจะผสม 2 สิ่งนี้เข้าด้วยกัน นี่ก็คือลักษณะของการปรับตัวทางเศรษฐกิจ

“เชื่อว่าเราจะเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น มีการผสานรวมตัว และก็มีความซับซ้อนมากขึ้น อย่าง LINE จะเห็นว่ามีการขยายการให้บริการมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการสะดวกสบายมากขึ้น”

การซื้อสินค้าในอนาคตจะไร้รอยต่อ

Axel กล่าวว่า การซื้อสินค้าในอนาคตอาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบ OMNI Channel แต่เมื่อซื้อของออนไลน์จากที่ไหนก็ได้ และสามารถไปรับสินค้าใกล้ ๆ บ้าน

แพลตฟอร์มต่าง ๆ เหล่านี้ต้องนำเสนอการให้บริการแบบไร้รอยต่อ (Seamless) คือให้ทุกขั้นตอนของการขายไม่มีสะดุด เช่น เห็นสินค้าที่น่าสนใจ สั่งซื้อ และสามารถไปส่งที่บ้านได้เลย หรือใช้แอป Chat and Shop หาของขวัญ แต่ไม่รู้จะซื้ออะไร และมีคนให้คำปรึกษา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี คิดว่าในอนาคตอันใกล้ก็คงจะเป็นแบบนี้

“ซึ่งผมคิดว่าเป็นความแตกต่างสำคัญของการมีทางเลือก อย่างการสั่งซื้อออนไลน์ และมีการจดจำว่าได้ซื้ออะไรไปบ้าง หรืออยากจะซื้อของและมีคนให้คำปรึกษา ซึ่งผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ผู้คนต้องการ”

พัฒนานวัตกรรมตอบโจทย์ลูกค้าในอนาคต

Axel กล่าวว่า ยอดขายที่เติบโตอย่างรวดเร็วจะมาเป็นตัวขับเคลื่อนโครงการพัฒนานวัตกรรม ตอนนี้มันยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ต้องผ่านการทดลองเพื่อผลักดันอนาคตของดิจิทัล คือ การพัฒนาดิจิทัล ทั้งออนไลน์ และในร้านค้าปลีก หรือสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างร้านค้าและออนไลน์ ให้เข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิต หรือ เพิ่มรายได้ของบริษัท นอกจากนี้ยังต้องเกิดประโยชน์กับลูกค้า พนักงาน หรือพันธมิตรธุรกิจ

“การจะเดินไปถึงจุดนั้น ต้องมีจุดเริ่มต้น เหมือนกับตอนคิดโครงการ Chat and Shop ก็มีความคิดหลากหลายเข้ามา ซึ่งคนก็ชอบนะ ลูกค้าชอบ ซึ่งใครจะรู้ว่าลูกค้าชอบ เมื่อเราทดลองแล้ว และพบว่ามันดี ก็แค่เรียนรู้เพื่อช่วยทำให้เราเติบโตได้ดีขึ้น และถ้ามีไอเดียใหม่ ๆ ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ ก็เป็นสิ่งที่ดีมาก”

Axel กล่าวต่อว่า กลับมาที่เรื่อง OMNI Channel เป็นที่ชัดเจนว่าลูกค้าต้องการบริการที่เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน ลูกค้าไม่ได้มองว่าเป็น 2 เรื่องที่แยกจากกัน แต่มองว่าเป็นเรื่องเดียวกัน และอาจจะมีความสำคัญเป็นอันดับแรกในการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล ในอีก 2-3 ปี

VR Shopping เป็นโปรเจกต์ที่จะนำมาทดลองพัฒนา และดูว่าลูกค้าจะตอบรับยังไง ซึ่งตอนที่ VR กำลังนิยมมาก ๆ ได้มีโอกาสไปที่ญี่ปุ่น และเห็นคนประมาณ 50 คน ใส่ VR เล่นเกมที่สวนสาธารณะ ทำให้ผมคิดถึงเทคโนโลยี VR ในอนาคต ที่จะสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากขึ้น แล้วคาดว่าจะมีการนำ AR มาใช้ในเวลาอันใกล้ ๆ นี้ด้วย

“แต่ส่วนตัวผมไม่คิดว่าลูกค้าจะชอบนะ ถ้าต้องสวม VR อันใหญ่ ๆ ไว้ที่หน้า ไม่แน่ใจว่าลูกค้าจะชอบไหมนะ อันนี้ความเห็นของผมเอง อาจจะไม่ถูกต้องก็ได้”

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ