TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistอุปสรรคของคนไทย มีเงินให้กู้แต่....ไม่ได้

อุปสรรคของคนไทย มีเงินให้กู้แต่….ไม่ได้

ข่าวการปรับแผนธุรกิจของธนาคารพาณิชย์อย่างน้อย 6 แห่งที่ประกาศจะปล่อยกู้กลุ่มลูกค้า “เปราะบาง” หรือลูกค้ารายเล็ก เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย อาทิ ธนาคารกสิกรไทย ให้กู้ขั้นต่ำ 1,500 โดยมองว่ากลุ่มลูกค้ามีจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ (จากฐานลูกค้าของธนาคารที่ 19 ล้านคน พบว่ามีเข้าถึงสินเชื่อเพียง 10 ล้านคนเท่านั้น )โดยนำเสนอรูปแบบของ “Buy now pay later” หรือ Xpress Loan ไม่ต้องมีเอกสารทางการเงิน ตั้งเป้าคุม NPL กลุ่มนี้ไม่เกิน 4-6%

ธนาคารกรุงไทย เผยว่ายุทธศาสตร์ 3 ปี จะสนับสนุนให้เข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น โดยการใช้ดาต้าเข้ามาวิเคราะห์, ธนาคารไทยพาณิชย์ ถือว่าเป็นตลาดที่สำคัญและเอสซีบี เอ็กซ์ จะเข้าไปให้บริการทางการเงินมากขึ้น โดยทำผ่าน SCB Abacus และ MONIX หรือ ทิสโก้ไฟแนนซ์กรุ๊ป ได้ทำผ่าน “สมหวัง เงินสั่งได้” โดยเจาะกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า วินมอเตอร์ไซด์

และก็บังเอิญเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งเสนอกลยุทธ์ภาพใหญ่ 3 แกนหลัก เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งหนึ่งในสามคือการให้ธนาคารพาณิชย์หาหนทางให้ประชาชน 30 ล้านคน เข้าถึงระบบธนาคารในการขอเงินกู้

ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ โดยเฉพาะในกลุ่มรายย่อย หรือกลุ่มเปราะบาง เป็นปัญหาใหญ่และเป็นปัญหาที่สะสมมานาน ก่อให้เกิดปัญหาเงินกู้นอกระบบ ปัญหาขาดแหล่งเงินทุนการประกอบอาชีพ ซึ่งปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ สามารถแยกแยะได้ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ฝั่งผู้ให้กู้ มักจะมอง กลุ่มเปราะบางว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีรายได้ต่ำ หรือมีรายได้ไม่แน่นอน ขาดหลักประกันและขาดฐานข้อมูล อาทิ ข้อมูลด้านภาษี ข้อมูลฐานการเงิน ทำให้ไม่สามารถให้บริการได้ มีต้นทุนในการดำเนินการที่สูงเนื่องจากเป็นรายย่อย หรือ ฝั่งผู้กู้ มักจะเป็นกลุ่มที่มีปัญหารายได้ เนื่องจากไม่มีทุนในการดำเนินการ หรือทุนหมุนเวียน แต่มีความต้องการสูง

ปัญหาหนี้สินก็เป็นปัญหาใหญ่อีกข้อหนึ่งที่ทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ทำได้ยาก ล่าสุด สำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2564 อยู่ที่ 90.1% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน โดย

  • ครัวเรือนไทยมีสัดส่วนหนี้เพิ่มเป็น 51.5%  เพิ่มขึ้นจาก 45.2% ในปี 2562
  • รายได้ครัวเรือน ยังมีขยายตัวในอัตราต่ำ
  • หนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 205,679 บาท เพิ่มขึ้น 25.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่ 164,005 บาท
  • เงินฝากลดต่ำ และมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ

ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังเป็นชนักสำคัญที่หากไม่สามารถแก้ไข สำทับด้วยเครดิตบูโร ได้ออกมาเผยแพร่ข้อมูลว่า มีลูกหนี้ในรหัส21 (ลูกหนี้ ที่เริ่มมีปัญหาในการชำระจากปัญหาโควิด) ถึง 2.1 ล้านคน มูลค่า 2 แสนล้านบาท และทำท่าจะเป็น NPL ไปเสียแล้ว

ในขณะที่รัฐเอง หลายหน่วยงานได้พยายามออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น

  • การปรับโครงสร้างหนี้ อาทิ การยืดหรือขยายเวลาการชำระหนี้ และลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งพบว่าที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วกับลูกหนี้รายย่อยแล้ว 4.2 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้ 1.55 ล้านบาท
  • คลินิกแก้หนี้  เป็นการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันของลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้ค้างชำระอยู่กับเจ้าหนี้ให้สามารถแก้ไขเบ็ดเสร็จครบวงจรในที่เดียว โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ SAM เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีการช่วยเหลือแล้ว 8 หมื่นบัญชี (เมื่อเดือนมีนาคม 2565)
  • ทางด่วนแก้หนี้ เป็นการเชื่อมให้เจ้าหนี้กับลูกหนี้สามารถเจรจาเพื่อแก้ปัญหาหนี้ร่วมกัน โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้รับการแก้ไขปัญหาไปแล้ว 2.6 แสนบัญชี
  • มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับกระทรวงยุติธรรม(โดยกรมบังคับคดี)  ซึ่งดำเนินการในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ไปแล้ว 2.3 แสนบัญชี

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ผลลัพธ์ที่ได้คงต้องใช้ระยะเวลาอีกนานพอสมควร เนื่องจากปัญหาหนี้ มีองค์ประกอบของแต่ละรายที่แตกต่างกัน ความสามารถในการชำระหนี้ก็มีความแตกต่างหลากหลายเช่นกัน  ประการสำคัญความพยายามในการแก้ปัญหาหนี้ ได้จำนวนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนของผู้ที่เป็นหนี้

การสร้างโอกาสให้กลุ่มเปราะบาง กลุ่มรายย่อยมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงิน ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐหรือความตั้งใจของธนาคารพาณิชย์ จะไม่เป็นความฝันหากสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ควบคู่กันไป เพื่อไม่ให้เป็นระเบิดเวลาที่สร้างปัญหามายาวนานระเบิดในช่วงเวลาอันใกล้นี้ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ยังมีความผันผวนสูงทั้งจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ และปัจจัยภายในทั้งจากปัญหาราคาพลังงานและราคาสินค้าและราคาวัตถุดิบ ส่งผลให้การเพิ่มรายได้ยังกระทำได้ไม่เต็มที่ ปัญหาหนี้จึงยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้การเข้าถึงสินเชื่อยังไม่สามารถทำได้สะดวก

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ