TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessWHA เชื่อปี 67 พิชิตเป้าเทค คัมปานี สู่ความเติบโตยั่งยืน หลังทุบสถิตินิวไฮ 2 ปีซ้อน

WHA เชื่อปี 67 พิชิตเป้าเทค คัมปานี สู่ความเติบโตยั่งยืน หลังทุบสถิตินิวไฮ 2 ปีซ้อน

ดับบลิวเอชเอ ต่อยอดพันธกิจ “We Shape the Future” สร้างสังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน จัดสรรงบลงทุนภายใน 5 ปี 78,700 ล้านบาท ดันรายได้สู่ระดับ 1 แสนล้านบาท เสริมศักยภาพ 4 กลุ่มธุรกิจแข็งแกร่งครบวงจร หลังผลประกอบการปี 2566 ทุบสถิตินิวไฮต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประกาศบนเวที ‘2024: WHA: Shape the future for Sustainable Growth’ ว่า ปี 2567 ยังคงเดินหน้าพัฒนาโซลูชันทางธุรกิจและอุตสาหกรรม เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ และร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้ประเทศไทย

ภารกิจสำคัญของปี 2567 คือการบรรลุเป้าหมายที่จะเป็น Technology Company อย่างเต็มตัว ด้วยกลยุทธ์ AI Transformation มุ่งสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล ยกระดับการดำเนินงานด้วยข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ เพื่อคงความเป็นผู้นำในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต่อยอดโครงการ Digital Transformation ที่มีอยู่กว่า 38 โครงการ

4 กลยุทธ์สำคัญของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในปี 2567 ประกอบด้วย Extend Leadership เร่งขยายธุรกิจต่อเนื่องทั้งในประเทศและตลาดภูมิภาค Embrace Innovation and Technology นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็น New S-curveให้กับองค์กร Enhance the Prominence on Green and Sustainability เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในปี 2593 (Net-Zero 2050) และ Build High-Performance Organization ด้วยการพัฒนายกระดับด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นองค์กรสมรรถนะสูง

การตั้งเป้าที่จะดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2593 (100% Circularity by 2050) ของบริษัท จะผ่านการดำเนินงานภายใต้ 3 หลักการ ได้แก่ Design & Resource, Green Products และ Operation Excellence โดยปี 2566 ทุกกลุ่มธุรกิจได้นำเสนอโครงการเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 40 โครงการ

5 ปี ลงทุน 78,700 ล้านบาท

บริษัทวางแผนการลงทุน 5 ปี (2567-2571) รวม 78,700 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจโลจิสติกส์ 21,000 ล้านบาท ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม 33,000 ล้านบาท ธุรกิจสาธารณูปโภค 21,200 ล้านบาท และธุรกิจดิจิทัล 3,500 ล้านบาท

ขณะที่ รายได้ปี 2571 จะพุ่งสู่ 27,900 ล้านบาท จากปี 2566 ที่มีรายได้ 17,200 ล้านบาท และรวมรายได้ตลอด 5 ปีเป็นระดับ 1 แสนล้านบาทด้วยการเติบโตอย่างยั่งยืน

ครึ่งแรกของเดือนแรกลูกค้าพุ่ง

“ปี 2566 เป็นปีที่ All time high (ทำจุดสูงสุดใหม่) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจล้วนเติบโตหมด นิคมอุตสาหกรรมจะไปได้ดีอีกหลายปีทั้งในไทยและเวียดนาม เพียงครึ่งแรกของเดือนมกราคม 2567 ก็มี New Economy เข้ามามากกว่าที่คิดไว้เป็นพันๆ ไร่ และที่มา 500-600 ไร่ถือเป็นเรื่องปกติ”

ปี 2567  มีโครงการพัฒนานิคมฯ ใหม่ และขยายนิคมฯ ในประเทศไทยรวม 7 โครงการ บนพื้นที่รวมเกือบ 10,000 ไร่ ใน 4 ปีข้างหน้า ส่งผลให้มีพื้นที่นิคมฯ รวมกว่า 52,000 ไร่ ในปี 2570 

บริษัทยังมุ่งพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) อย่างต่อเนื่อง โดยขยายขีดความสามารถให้ครอบคลุม 6 องค์ประกอบสำคัญคือ Smart Services, Smart Mobility, Smart Communication, Smart Power, Smart Water และ Smart Security ภายใต้การบริหารจัดการโดยศูนย์ควบคุมกลาง (Unified Operation Center)

อีกทั้งต่อยอดการเป็น Total Solutions Partner ให้ลูกค้าด้วยการให้บริการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น บริการด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โทรคมนาคม

ในประเทศเวียดนาม นอกจากเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 – เหงะอาน ซึ่งเฟส 1 ที่มีผู้เช่าไปแล้วกว่า 77% และกำลังพัฒนาเฟส 2 บริษัท ยังมีแผนขยายเขตอุตสาหกรรมอีก 3 โครงการ บนที่ดินรวมกว่า 22,813 ไร่

“ลูกค้านิคมฯ ที่เข้ามา เป็นสัญญาณจากความไม่เชื่อมั่นในสถานการณ์โลก ทั้งการเลือกตั้งใหม่ของสหรัฐ และไต้หวัน ลูกค้าใหม่ที่เข้ามากลุ่มหลักๆ นอกจากยานยนต์ที่ดึงเข้ามาได้แล้ว เช่น ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย หนึ่งในกลุ่มยานยนต์ชั้นนำ 4 กลุ่มของจีน จำนวน 250 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรม ดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4”

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มซัพพลาย เชน และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่ลงนามในสัญญาเช่าที่ดินในเวียดนามกับฟู่ วิง อินเตอร์คอนเนค เทคโนโลยี (เหงะอาน) ในเครือฟ็อกซ์คอนน์ อินเตอร์คอนเนค เทคโนโลยี ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก จำนวน 300 ไร่

ยอดขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรม ปี 2566 เดิมตั้งเป้าไว้ 1,750 ไร่ แต่กลางปีปรับเป็น 2,750 ไร่ และปิดปลายปีที่ 2,767 ไร่ แบ่งเป็นไทย 1,986 ไร่ เวียดนาม 781 ไร่ ปี 2567 ตั้งเป้ารวมไว้ 2,275 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะต้องมีปรับเป้าเพิ่มขึ้นอีกเช่นเดิม ทั้งนี้ จากการที่อยู่กับลูกค้าล่วงหน้าประมาณ 3 ปี จึงประมาณการณ์ตัวเลขไม่ค่อยพลาด

โลจิสติกส์โตไม่ยั้ง

ส่วนกลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจโลจิสติกส์ยังมุ่งเน้นการขยายธุรกิจการพัฒนาโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน/คลังสินค้าทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ การเสริมศักยภาพด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และการส่งเสริมแนวปฏิบัติเพื่อความยั่งยืน ซึ่งปีที่แล้วได้เข้าซื้อหุ้น 50% มูลค่า 2,640 ล้านบาทของบริษัท จีซี โลจิสติกส์ โซลูชันส์ จำกัด (GCL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC)

ทั้งยังมีโครงการ Green Logistics ที่พัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนและเร่งการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาคขนส่งของประเทศ ซึ่งกลุ่มบริษัทจะให้บริการยานยนต์ไฟฟ้า สถานีชาร์จ และพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงแบตเตอรี่ โดยปี 2566 มีลูกค้าเซ็นสัญญาเช่าซื้อยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 25 คัน และตั้งเป้าหมายที่จะเซ็นสัญญาเพิ่มอีก 1,000 คัน ในปี 2567

ปี 2567 บริษัทยังวางเป้าหมายส่งมอบโครงการและสัญญาใหม่เพิ่มขึ้น 200,000 ตร.ม. จากประเทศไทย 165,000 ตร.ม. เวียดนาม 35,000 ตร.ม. คาดว่าสินทรัพย์รวมภายใต้กรรมสิทธิ์และการบริหารจะเพิ่มถึงระดับ 3,145,000 ตร.ม.

นอกจากนี้ ยังมีแผนการขายสิทธิการเช่าทรัพย์สินให้แก่กองทรัสต์ WHART และ WHAIR รวมทั้งสิ้นประมาณ 213,000 ตร.ม. คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,290 ล้านบาท

จากปี 2566 ได้ลงนามสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน/คลังสินค้าเพิ่มเติมรวม 242,000 ตร.ม. สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้มีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารทั้งหมด 2,945,000 ตร.ม. และยังขายสิทธิการเช่า ทรัพย์สินให้แก่กองทรัสต์ WHART จำนวน 142,900 ตร.ม. คิดเป็นมูลค่ารวม 3,566 ล้านบาท

พัฒนานวัตกรรมบริการน้ำ-ไฟ

ส่วนธุรกิจสาธารณูปโภค ทั้งน้ำ และไฟฟ้าล้วนเติบโตขึ้น ซึ่งปี 2567 ตั้งเป้ายอดการจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำรวมไว้ 178 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นภายในประเทศ 142 ล้านลูกบาศก์เมตร และเวียดนาม 36 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเติบโตกว่า 14% จากการขยายการให้บริการน้ำทุกประเภทในโครงการนิคมฯ ใหม่ ๆ ของ WHA และนอกนิคมฯ รวมถึงความต้องการน้ำของลูกค้าในเวียดนามที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

“บริษัทยังมุ่งเน้นธุรกิจผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงเดินหน้าพัฒนา Smart Water Platform และมองหาโอกาสขยายธุรกิจใหม่ๆ อาทิ โซลูชันสิ่งแวดล้อม และสาธารณูปโภคสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ”

ปีที่ผ่านมา มีปริมาณยอดขายน้ำและบำบัดน้ำเสียในประเทศไทยรวม 121 ล้านลูกบาศก์เมตร เติบโต 4% ปริมาณยอดขายน้ำดิบ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร และปริมาณจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม 6 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนปริมาณยอดขายและบริหารน้ำในเวียดนาม 34 ล้านลูกบาศก์เมตร เติบโตขึ้น 18%

ด้านธุรกิจไฟฟ้า ปี 2567 บริษัทจะพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันพลังงาน ได้แก่ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า  แพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานไฟฟ้า การซื้อขายใบรับรองเครดิต การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (I-REC) รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในธุรกิจ New S-Curve เช่น ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) และเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) เป็นต้น

บริษัทตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าสะสมที่ลงนามแล้วเป็น 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมาจากพลังงานหมุนเวียน 453 เมกะวัตต์ โดยเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 283 เมกะวัตต์ จากปี 2566 บริษัทได้เซ็นสัญญาโครงการโซลาร์รูฟท็อปเพิ่ม 42 สัญญา (50 เมกะวัตต์) และได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้สิทธิ์เป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) เฟส 1 จำนวน 5 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 125.4 เมกะวัตต์

Mission To The Sun

ส่วนธุรกิจดิจิทัล ที่ต้องการยกระดับองค์กรในทุกมิติเพื่อบรรลุเป้าหมายการก้าวสู่ Technology Company ในปี 2567  ภายใต้ภารกิจ “Mission To The Sun” ตั้งแต่โครงการทรานสฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัลต่างๆ การสร้างผลิตภัณฑ์ และมูลค่าเพิ่มใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า เสริมศักยภาพของระบบนิเวศทางธุรกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ให้ครบวงจรยิ่งขึ้น

รวมทั้ง มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับโครงการ Green Logistics โดยกำลังพัฒนาแอปพลิเคชันที่รวมบริการต่างๆ (Super Driver App) สำหรับลูกค้ายานยนต์ไฟฟ้าภาคธุรกิจ เช่น การบริหารยานพาหนะ การวางแผนเส้นทาง และการเชื่อมโยงโครงข่ายสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ครม. ไฟเขียวยกเว้น VAT สำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

กรุงเทพประกันชีวิต เผย 3 กลยุทธ์ สร้างการเติบโต 2 เท่าใน 5 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ