TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLife"ปิง คีรีฟาร์ม" จากพนักงานบริษัท สู่ เกษตรกรรุ่นใหม่ รายได้หลักแสน

“ปิง คีรีฟาร์ม” จากพนักงานบริษัท สู่ เกษตรกรรุ่นใหม่ รายได้หลักแสน

เรื่องราวและจุดเปลี่ยนในชีวิต ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการหล่อหลอม “ให้เราเป็นเราในวันนี้” บางคนอาจได้รับบทเรียนที่สอนให้เติบโตและเข้มแข็ง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิต การได้พบเจอโลกกว้าง และบางคนอาจพบว่าการกลับบ้านเกิดโดยมาใช้ชีวิตที่เหลือกับครอบครัว คนในชุมชน เป็นสิ่งที่สามารถเยียวยาจิตใจได้

คุณปิง” หรือ “วิไลลักษณ์ ชูช้าง” ผู้ก่อตั้ง ‘คีรีฟาร์ม ธุรกิจเลี้ยงไส้เดือน และเพาะเลี้ยงเห็ดเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษตร ที่อดีตเป็นพนักงานบริษัท แต่ปัจจุบันผันตัวมาเอาดีทางเกษตร สูตรสำเร็จคือการกล้าตัดสินใจ ไม่มองปัญหาเป็นสิ่งที่จะสิ้นสุดชีวิต แต่มองเป็นโอกาส พร้อมเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความสำเร็จให้กับตนเองได้ในที่สุด

สู่เส้นทางเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer)

วิไลลักษณ์ พื้นเพเป็นคนตำบลโนนน้ำเกลี้ยง อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ชีวิตช่วงวัยเรียนเหมือนเด็กทั่วไป เริ่มต้นจากชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนปลายศึกษาที่โรงเรียนบางกะปิ และจบปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในช่วงนั้นไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะประกอบอาชีพอะไรหลังจบการศึกษา เพียงแค่เรียนไปตามระบบ มุ่งเน้นไปที่การจบการศึกษาตามหลักสูตร หลังจากเรียนจบได้ทำงานต่อที่กรุงเทพฯ เป็นพนักงานบริษัทกฎหมายและทำงานพิเศษที่โรงเรียนสอนพิเศษเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างรอสอบใบอนุญาตเป็นทนายความ 

วิกฤตินำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อปี 2554 เป็นจุดเริ่มต้นที่กระตุกเตือนใจให้วิไลลักษณ์ได้เห็นว่าชีวิตในเมืองกรุงนั้นไม่ได้มั่นคงอย่างที่คิด เหมือนเป็นจุดที่ทำให้ตัดสินใจได้อีกขั้น เพราะก่อนหน้านี้ยังมีความลังเลใจเหมือนกันว่า หากกลับต่างจังหวัดจะสามารถดำรงชีวิตได้จริงหรือ เมื่อทำงานไปได้ระดับหนึ่งสุขภาพจิตเริ่มย่ำแย่ เผชิญภาวะซึมเศร้าอ่อน ๆ เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ก่อนตัดสินใจลาออก ด้วยการประหยัดเงินเดือนและโบนัสก้อนสุดท้ายกลับมาทำเกษตรที่บ้านของตนเอง โดยอาศัยพื้นที่ของครอบครัวประมาณ 20 ไร่ บนเทือกเขาภูพาน และให้ชื่อว่า ‘คีรีฟาร์ม

จุดเริ่มต้น “คีรีฟาร์ม” ไส้เดือนและไก่

เดิมพ่อแม่ทำเกษตรเกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจอยู่แล้ว อย่างข้าว-มัน-อ้อย วิไลลักษณ์ จึงพยายามศึกษาสิ่งที่แตกต่างออกไป ช่วงที่อยู่กรุงเทพสนใจเกี่ยวกับการเลี้ยงไส้เดือน เริ่มศึกษาหาข้อมูลและเข้าอบรมด้วยตนเองมาโดยตลอด เมื่อถึงเวลาตัดสินใจกลับไปเลี้ยงชีพด้วยเกษตร จึงนำความรู้ที่มีอยู่คือ “การเลี้ยงไส้เดือน” กลับมาต่อยอดที่บ้านเกิดในปี พ.ศ. 2562 สิ่งที่ทำรายได้ได้เป็นการขายมูลไส้เดือน และขายพ่อแม่พันธุ์ไส้เดือน เมื่อประสบความสำเร็จ จึงมีการแชร์ความรู้ให้กับชาวบ้านที่สนใจ หรือกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ให้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศอยู่เป็นประจำ 

เมื่อมีคอร์สอบรมที่จัดขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพเกี่ยวกับผู้ประกอบการเกษตร อย่างหลักสูตรการแปรรูป วิไลลักษณ์ ชูช้าง จะสมัครเข้าไปร่วมเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งสามารถนำเอาความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาต่อยอดภายในระบบคีรีฟาร์ม ยกตัวอย่างเช่น หลักสูตรพัฒนาผลิตภัณฑ์และหลักสูตรพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพราะถึงแม้จะมีฐานลูกค้าอยู่เป็นจำนวนหนึ่ง แต่สินค้ายังไม่ถูกเจาะกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจนเธอจึงต้องหมั้นเติมองค์ความรู้อยู่เสมอ

เมื่อไม่หยุดเรียนรู้ และนำความรู้ที่ได้จากการเรียนมาต่อยอดเพิ่มเติมผลิตภัณฑ์ของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทำใหรายได้เกี่ยวกับ “ไส้เดือน” ก็เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

  • ปุยมวลไส้เดือน ราคาส่งตันละ 9,000 บาท รายได้ต่อเดือนประมาณ 3 – 4 ตันต่อโรงเรือน
  • ดินปลูกไส้เดือน ราคาส่งเริ่มต้นตันละ 1,000 บาท รายได้ต่อเดือนประมาณ 10 – 20 ตันต่อโรงเรือน
  • พ่อแม่พันธุ์ไส้เดือน ราคาส่งเริ่มต้นกิโลกรัมละ 400 บาท รายได้ต่อเดือนประมาณ 10 – 15 กิโลกรัม

ต่อมา ปี พ.ศ. 2563 เริ่มขยายธุรกิจจากสิ่งรอบตัว “การเลี้ยงไก่” ที่เดิมพ่อแม่ของเธอมีการเลี้ยงไก่อยู่แล้ว แต่เลี้ยงแบบระบบเปิด เธอมองเห็นถึง Pain Point ประเด็นที่หนึ่งไม่มีไก่ขายอย่างต่อเนื่อง เพราะไก่โตไม่ทันที่พ่อค้าต้องการ และสอง ไม่มีไก่ขาย ณ ตอนที่มีคนมาซ์้อ เพื่อการเลี้ยงแบบระบบเปิดทำให้จับไก่ได้ยาก เธอจึงพลาดโอกาสในการขายไปหลายครั้ง เธอสนใจนำปัญหานี้มาต่อยอดและพัฒนาโดยเลี้ยงผ่านรูปแบบระบบปิด ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมผ่านระบบฟาร์มอื่น ๆ ที่เลี้ยงไก่เนื้อเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับคีรีฟาร์ม แต่ก็ไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้ 100% เนื่องจากนิสัยของไก่เนื้อกับนิสัยของไก่บ้านจะแตกต่างกัน อย่างไก่บ้านหากไม่ได้ทำการคุ้ยดิน หรือไม่ได้ใช้ชีวิตที่เป็นธรรมชาติส่งผลให้ไม่ค่อยเจริญเติบโต และหากเลี้ยงขังในคอกโดยให้หัวอาหารมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง 

เมื่อเริ่มทำฟาร์มไก่มาระยะหนึ่ง เธอก็พบปัญหาอีก นั่นคือไก่ที่ได้นั้นไม่แข็งแรง เธอจึงศึกษาและค้นพบว่า ต้องเริ่มจากพ่อแม่พันธ์ุ เธอจึงได้มีการศึกษาหาองค์ความรู้เกี่ยวกับการเพาะพันธุ์ลูกไก่ด้วยตัวเอง โดยศึกษาที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ซึ่งมีตู้ฟักไข่ให้เรียนรู้ เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ การทำรอบพ่อแม่พันธุ์ การดูแลรอบฟักไข่ภายใน 21 วัน รวมถึงการฟักไข่ออกมาเป็นตัว จากจุดนั่นทำให้เกิดธุรกิจใหม่ นั่นคือ การเลี้ยงสายพันธุ์ลูกไก่ในระบบของคีรีฟาร์ม และยังมีการขยายไปสู่การทำผลิตภัณฑ์อาหารไก่ซึ่งเป็นอาหารสัตว์ปีกเพื่อลดต้นทุนและยังสามารถจำหน่ายได้อีกด้วย

ฟาร์มไก่ปัจจุบันเน้นการเพาะพันธุ์ลูกไก่ขายมากกว่าการขายไก่รุ่น โดยมีพ่อแม่พันธุ์ไก่ประมาณ 200 ตัว ตู้ฟัก 2 เครื่อง ในตู้มีไข่ประมาณ 700 กว่าฟอง ซึ่งธุรกิจฟาร์มไก่ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแต่ยังไม่สิ้นสุด เพราะอนุบาลลูกไก่ยังรอดไม่ถึง 50% เนื่องจากต้องไปศึกษาหาองค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมอุณหภูมิความร้อนในการฟักไข่ต่อไปในอนาคต 

ผลประกอบการด้านรายได้เกี่ยวกับ “ไก่”

  • ลูกไก่ ราคาส่งตัวละ 25 บาท รายได้ต่อสัปดาห์ประมาณ 3,750 บาท
  • พ่อแม่พันธุ์ไก่ จำนวนส่งต่อเดือนเฉลี่ยประมาณ 50 – 100 ตัว

พ.ศ. 2562 – 2564 จุดเริ่มต้น “คีรีฟาร์ม” คือไส้เดือนและไก่ ผลประกอบการธุรกิจ 2 อย่างนี้ ขายได้แต่กำไรน้อย เนื่องจากการจัดการยังไม่เพียงพอ แต่สามารถหมุนเงินและใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องกลับไปทำงานที่กรุงเทพ ด้วยไอเดียที่ฉุกคิดขึ้นมาว่า จะต้องหาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าตัวอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากนี้เพื่อสร้างรายได้ จึงนำมาสู่การทำ “ฟาร์มเห็ด” ในลำดับถัดไป

ฟาร์มเห็ดจากฟาง

ความคิดนี้เริ่มจากสิ่งรอบตัวเช่นกัน ช่วงแรกที่เลี้ยงไส้เดือนแฟนหนุ่มของคุณปิงทำฟาร์มเห็ดอยู่แล้ว จึงได้มีการนำก้อนเห็ดเก่ามาเลี้ยงไส้เดือน จุดสังเกตเริ่มจากการเห็นกระบวนการ “การทำฟาร์มเห็ดที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร” โดยปกติเห็ดที่เลี้ยงจะมาจากขี้เลื่อย แต่แฟนหนุ่มของเธอนำฟางข้าวมาใช้แทน ซึ่งออกดอกสวยงามเช่นเดียวกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจฟาร์มเห็ดภายใต้คีรีฟาร์มร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาหาองค์ความรู้เพิ่มเติมจากเวิร์คช็อป การอ่านหนังสือ การอ่านงานวิจัย การหาความรู้ด้านเชื้อรา ต้นทุนวัตถุดิบที่จะสามารถลดค่าใช้ได้ภายในฟาร์มเพื่อพัฒนาศักยภาพมากขึ้น

ต่อมาเข้าสู่กระบวนการลงมือทำ เริ่มแรกนำฟางเฉพาะที่นาของตนเอง ผ่านมาระยะหนึ่งฟางเริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงมีโปรเจกต์เกิดขึ้น เป็นการนำฟางมาแลกเห็ดผ่านชุมชนทุกครัวเรือน ผลตอบรับชาวบ้านให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก สู่การบอกต่อ หากบางปีไม่เพียงพอจริง ๆ จะมีการซื้อขายฟางนากับชาวบ้านไร่ละ 200 บาท เพื่อนำมาสต็อกทำก้อนเห็ดทั้งปี ปัจจุบันมีฟาร์มเห็ด 3 โรงเรือน ขนาด 33 X 3 X 8 เมตร จำนวน 3 โรงเรือน ๆ ละประมาณ 2,000 กว่าก้อน

“ผลิตภัณฑ์เห็ดแปรรูป” สร้างรายได้หลักแสน

เมื่อเริ่มต้นธุรกิจฟาร์มเห็ดสดมาระยะหนึ่งกลับเจอปัญหา บริเวณละแวกบ้านเดียวกันจะมีช่วงเวลาที่เห็ดชนิดอื่นออกเต็มพื้นที่ เช่น เห็ดป่า ส่งผลให้ผู้คนรับประทานเห็ดนางฟ้ากับเห็ดนางรมน้อยลง แต่เธอไม่ได้ลดจำนวนเห็ดในฟาร์มลง แต่กลับมีไอเดียการนำเห็ดสดไปแปรรูปเป็นข้าวเกรียบเห็ดหอม เธอเล่าว่าแนวคิดนี้เกิดจากการไปศึกษาข้าวเกรียบอื่น ๆ เช่น ข้าวเกรียบฟักทอง และนำมาปรับรสชาติให้ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด ต่อมาเป็นเส้นก๋วยจั๊บเห็ด แนวคิดนี้เกิดจากการไปศึกษาเส้นก๋วยจั๊บอุบลประยุกต์ใช้กับเห็ดและข้าวไรซ์เบอร์รี่ดัดแปลงตามวัตถุดิบที่มี โดยเริ่มนำสินค้าไปออกบูธงานแสดงสินค้า เพื่อขยายฐานลูกค้าและเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่เพิ่มมากขึ้น

ผลประกอบการด้านรายได้เกี่ยวกับ “เห็ด” 

  • จำหน่ายเห็ดสด 3 โรงเรือน ราคาส่งกิโลกรัมละ 80 บาท รายได้ต่อวัน วันละ 1,200-1,500 บาท
  • จำหน่ายเห็ดก้อน แต่ละรอบไม่ได้มียอดเงินคงที่ ปัจจุบันสามารถจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง
  • จำหน่ายสินค้าแปรรูป “ข้าวเกรียบเห็ดหอม” ซึ่งเป็นสินค้าขายดีที่สุด ราคาส่งกิโลกรัมละ 160-200 บาท รายได้ต่อสัปดาห์ สัปดาห์ละประมาณ 120-150 กิโลกรัม 
  • จำหน่ายสินค้าแปรรูป “เส้นก๋วยจั๊บเส้นก๋วยจั๊บเห็ด” ยังอยู่ในขั้นตอนสร้างการรับรู้ (Awareness)

โดยสรุปภายในระยะเวลา 3 ปี คีรีฟาร์มประกอบธุรกิจทั้งไส้เดือน ไก่ และเห็ด ฟาร์มทั้งหมดมีจำนวน 8 ไร่ รายได้ส่วนใหญ่มุ่งไปที่เห็ดโดยเฉพาะ เพราะเห็ดมีผลผลิตทุกวันส่งผลให้สร้างรายได้มากกว่าธุรกิจอื่น รองลงมา คือ ไก่และเห็ด

วิไลลักษณ์ กล่าวว่า ทุกอย่างเกิดจากปัญหา (Pain Point) สิ่งไหนสามารถต่อยอดได้ กล้าลงมือทำทันที ด้วยวลีที่ว่า “ไปไม่ได้ก็ปรับไม่ก็เปลี่ยน” เมื่อเจอปัญหาต้องแก้ไขทันที ผ่านการศึกษาหาความรู้ ความเข้าใจ การหาผู้รู้หรือแหล่งเรียนรู้หน้างานจริง อย่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานราชการ แม้กระทั่งการเข้าอบรมต่าง ๆ ว่าตัวตนเองขาดความรู้ด้านไหนเพื่อสามารถต่อเติมได้ รวมถึงการแชร์ความรู้จากกลุ่มเกษตรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ผ่านกรมส่งเสริมการเกษตร ปัจจุบันมี 76 จังหวัด ซึ่งที่จังหวัดกาฬสินธุ์มีประมาณ 30-40 คนต่อ 18 อำเภอ 

ไส้เดือน ไก่ และเห็ด 3 สิ่งนี้ สามารถเลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน ผู้ก่อนคั้งคีรีฟาร์มจึงอยากส่งต่อองค์ความรู้ของการทำเกษตรให้กับผู้ที่สนใจ โดยสร้างศูนย์อบรมการเรียนรู้ที่เกษตรนวนคร ความร่วมมือเกิดจากแฟนและเครือข่าย Young Smart Farmer ที่ร่วมเป็นวิทยากร ศูนย์การเรียนรู้นี้เปิดให้อบรวมฟรี จากการสังเกตกลุ่มที่เข้ามาอบรมจะมี 2 แบบ แบบแรกเข้ามาเพื่อศึกษาหาความรู้ใหม่ แบบที่สองเข้ามาเพื่อนำความรู้ไปพัฒนาต่อกับธุรกิจตนเองอย่างจริงจัง เช่น การสร้างโรงไส้เดือนเป็นแหล่งให้ผู้คนมาศึกษาดูงาน ปัจจุบันในชุมชนทำฟาร์มเห็ด 20 ราย อนาคตอยากส่งต่อให้ทั่วจังหวัด เธอรู้สึกดีทุกครั้งเมื่อผู้คนสามารถนำความรู้จากตรงนี้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจของตนเองได้

จากที่วิไลลักษณ์เล่ามา เธอรู้สึกภูมิใจและมีความสุขกับสิ่งที่สร้างขึ้นมาจากความพยายาม อดทน และความคิดสร้างสรรค์ เงินที่มีอยู่ ณตอนนี้เปรียบเสมือนผลตอบแทนจากสิ่งที่ทุ่มเท เขารู้สึกมั่นใจในตัวเองมากกว่าตอนที่อยู่กรุงเทพฯ สังคมที่อยู่ตอนนี้ ยอมรับและชื่นชมในสิ่งที่เขาเป็น และรู้สึกเหมือนเป็นคนที่มีคุณค่า สิ่งเหล่านี้ทำให้กระตือรือร้น มีไอเดียใหม่ ๆ อยากจะพัฒนาตนเองและธุรกิจให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเต็มความสามารถ

แม้ว่าปัจจุบัน คีรีฟาร์ม จะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้วแต่วิไลลักษณ์ก็ไม่หยุดคิดที่จะพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เธอบอกว่า สิ่งที่จะทำต่อไปในอนาคตคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาข้าวเกรียบเห็ดหอมให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นจากจังหวัดกาฬสินธุ์ และการสนับสนุนชุมชน ให้สร้างรายได้ สร้างธุรกิจจากสิ่งที่มีในชุมชน และเธอยินดีให้คำปรึกษาและสนับสนุนชุมชนที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง สามารถส่งวัตถุดิบมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่คีรีฟาร์มได้ เนื่องจากฟาร์มมีเครื่องมือและเทคนิคการผลิตที่พร้อมใช้งาน แต่จะเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อชดเชยค่าเสื่อมสภาพของอุปกรณ์เล็กน้อย

“ปัจจุบันเป็นชีวิตเกษตรกรที่มีความสุข ตัดสินใจถูกมาก ที่วันนั้นเลือกกลับบ้านเกิด” เธอเล่าด้วยรอยยิ้มเปี่ยมสุข

จากในอดีตที่รายได้ต่อเดือนไม่สามารถจ้างพนักงานประจำได้ ปัจจุบัน “คีรีฟาร์ม” มีสมาชิกกว่า 20 คน 14 คนเป็นพนักงานประจำที่ได้รับเงินเดือน เพิ่มรายได้ธุรกิจจาก “หลักพัน” เป็น “หลักแสนต่อเดือน” เปลี่ยนเครือข่าย “ชั่วคราว” เป็นเครือข่ายที่ “เข้มแข็ง” ครอบคลุมทุกอำเภอในจังหวัดกาฬสินธุ์ สมาชิกหลายคนเป็นเด็กที่เสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการศึกษาเนื่องจากความยากจน ที่นี่จึงเป็นเหมือน “แหล่งสร้างงานสร้างอาชีพและลดปัญหาสังคม” อีกทั้งยังช่วยให้ผู้สูงอายุมีงานทำ พึ่งพาตนเองได้ จนกลายเป็นพื้นที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาเหล่านั้นมากกว่าเงินทอง

แม้นี่จะยังไม่ใช่เขาลูกสุดท้ายที่ต้องปีน แต่ปิงก็มีความสุขที่ได้เห็นคีรีฟาร์มเติบโต ภูเขาลูกต่อไปของเธอและทุกคนในคีรีฟาร์ม คือการขยายโมเดลธุรกิจออกไปยังอำเภอใกล้เคียงให้ครอบคลุมภาคอีสาน มอบความรู้ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เติมเต็มความสุขด้วยงานที่ยกระดับวิถีชีวิตและเพิ่มมูลค่าให้กับชุมชน

บางกอกแลนด์ เดินหน้าโครงการ “อิมแพ็ค ฟาร์ม” ปี 2 พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มช่องทางเดลิเวอรี่ สร้างรายได้แก่เกษตรกร

ตัวอย่างความสำเร็จ 10 เกษตรกรดีเด่น “เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ