TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainability'termnaam - Sex-O-Phone – Khiri Farm' เผยเคล็ดลับพิชิตรางวัลกิจการเพื่อสังคมของบ้านปู

‘termnaam – Sex-O-Phone – Khiri Farm’ เผยเคล็ดลับพิชิตรางวัลกิจการเพื่อสังคมของบ้านปู

‘บ้านปู’ ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายระดับนานาชาติ ได้ดำเนินโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม (Banpu Champions for Change: BC4C) ต่อเนื่องมา 12 ปี สนับสนุนกิจการเพื่อสังคมมาประมาณ 130 กิจการให้มีโอกาสทดลองดำเนินธุรกิจตามแนวคิด และความสนใจของแต่ละกิจการเอง ก่อให้เกิดการสร้างประโยชน์แก่คนกว่า 2.5 ล้านคน

ปีนี้ ยังคงจัดโครงการประกวดต่อเนื่อง 2 โปรแกรม คือ Incubation Program และ Acceleration Program มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการในทั้ง 2 โปรแกรม รวมทั้งสิ้น 74 กิจการ ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่กระบวนการจำนวน 21 กิจการ ได้กิจการที่ชนะเลิศ 3 กิจการ ได้แก่ 1. termnaam (เติมน้ำ) ผู้สร้างธุรกิจผงล้างจาน 2. Sex-O-Phone พื้นที่ปลอดภัยเรื่องเพศในวัยรุ่น และ 3. KhiriFarm (คีรีฟาร์ม) จากฟางข้าวสู่แพลตฟอร์มการเรียนรู้

ผงล้างจานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทีมเติมน้ำ ประกอบด้วย มณธิดา วรนารถ (ดา) brand and product ธัญดา ฤทธินำพร (แก้ม) marketing and partnership ศุภาพิชญ์ จูฑะมงคล (เกรซ) business development และสตีเฟน ไรเดอร์ business consultant

Term-Naam-Banpu-Champions-for-Change

มณธิดา เล่าถึงธุรกิจของเติมน้ำว่า มีผลิตภัณฑ์แรกคือ ทำความสะอาดรูปแบบผง ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ ทางทีมใช้เวลาเกือบ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563 พัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด

จุดเริ่มต้นจากการเห็นชีวิตประจำวันของแต่ละคนที่พกพาภาชนะต่างๆ เช่น กล่องข้าว แก้ว ขวด ไปที่ทำงาน โรงเรียน ท่องเที่ยวเดินป่าเดินเขา เมื่อใช้งานเสร็จก็ต้องการล้างภาชนะทั้งหลายทันที ไม่ต้องการเก็บหมักหมมกลับบ้าน แต่ต้องพกน้ำยาล้างจานไปด้วยจะไม่สะดวก เพราะเสี่ยงต่อการหกเลอะเทอะ สร้างภาระลำบากให้อีก จึงคิดค้นน้ำยาชนิดเติมน้ำที่น้ำหนักเบา ส่วนผสมเข้มข้น ทำให้คราบมันหลุดออกง่าย จะใช้งานที่บ้าน หรือพกติดตัวเดินทางก็สะดวกเช่นกัน

นอกจากนี้ ผงล้างจานยังสกัดจากมะพร้าว ปลอดภัยจากสารอันตราย เป็นมิตรต่อคนและโลกมากขึ้น ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก ลดขยะที่เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีวิธีใช้ง่าย ๆ ด้วยการโรยผงล้างจานลงบนฟองน้ำ หรือภาชนะที่ต้องการล้างโดยตรงก็ได้เพียง 1 เคาะ เมื่อโดนน้ำจะเกิดฟองแล้วล้างต่อปกติ ก็ทำความสะอาดได้ ขจัดสิ่งสกปรก คราบมันออกง่าย ประหยัดเวลา ไร้กลิ่นอาหารตกค้าง ช่วยเปลี่ยนทุกการล้างจานให้เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น

การนำน้ำออกจากผลิตภัณฑ์ทำให้ได้น้ำหนักเบา มีลักษณะเป็นผง ความเข้มข้นของสารทำความสะอาด 1 ขวด 25 กรัม เทียบเท่ากับน้ำยาปริมาณ 500 มิลลิลิตร ทำให้ช่วยลด carbon emission จากการขนส่งและลดปริมาณน้ำในกระบวนการผลิต การนำน้ำออกจากผลิตภัณฑ์ยังช่วยโลกที่แม้จะปกคลุมไปด้วยน้ำ 70% แต่เกิน 50% เป็นน้ำเค็มที่ไม่สามารถนำมาใช้บริโภคได้ ส่วนน้ำจืดที่นำมาบริโภคได้มีน้อยกว่า 1% หรือประมาณ 0.5% แต่ประชากรโลกประมาณ 2,000 ล้านคน ต่างขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาด

ผงล้างจานเติมน้ำ ราคาขวดละ 129 บาท ใช้หมดแล้วส่งขวดกลับไปรีฟิล ด้วยราคา 79 บาท

พื้นที่ปลอดภัยเรื่องเพศในวัยรุ่น

ทีม Sex-O-Phone พื้นที่ปลอดภัยเรื่องเพศในวัยรุ่น ประกอบด้วย พญ.ศิศีมาส สุวรรณวิจิตร กุมารแพทย์ CEO & Co-Founder นพ.พีรวัส สรรค์ธีรภาพ ประสาทศัลยแพทย์ กนกกร ชูประภาวรรณ Co-Founder ดูแลด้านการตลาด (Marketing) และพรนภสอน หงวนศิริ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น

พญ.ศิศีมาส เล่าถึงที่มาของแพลตฟอร์มให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาและความสงสัยของวัยรุ่นในเรื่องเพศ และลดภาวะท้องไม่พร้อมในวัยเรียนว่า จากภาระของวัยรุ่นไทยที่นอกจากการเรียนแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมของเพศสภาพ ความเชื่อในเรื่องเพศ ความเชื่อผิด ๆ ที่ต่างกระจายอยู่ตามโซเชี่ยล มีเดีย และผู้ปกครองไม่สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัย หรือที่ปรึกษาปัญหาให้ได้ และช่องทางให้คำปรึกษาแก่วัยรุ่นยังมีจำนวนน้อย อันส่งผลกระทบเป็นวงกว้างของสังคมไทยในอนาคต แม้มีความพยายายามจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะแก้ปัญหา หากการกระจายตัวของปัญหายังมีอยู่ทั่วไป

ทางทีมจึงต้องการเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่เป็นที่พึ่งให้ความรู้ รับฟัง และเป็นที่ปรึกษาให้แก่วัยรุ่น โดยเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงกลุ่มวัยรุ่น ผู้ปกครอง และคุณครูที่ต้องเผชิญกับปัญหาของวัยรุ่นอยู่ทุกวัน ร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ แพทย์ กุมารแพทย์ นักจิตวิทยาสังคมเด็กที่เชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้ โดยให้บริการคำแนะนำปรึกษาในรูปแบบแชต และวอยซ์ ควบคู่การให้ความรู้ โดยบริการให้คำแนะนำปรึกษาทำควบคู่กับระบบเอไอ ในการดักจับ Emergency Case ทำให้ได้รับคำปรึกษาอย่างทันท่วงที ผ่านเว็บแอปพลิเคชัน Sex-O-Phone เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการต้นปี 2567

ก่อนหน้านี้ ได้ทดลองใช้งานมา 3-4 เดือนช่วงเข้าร่วมโครงการกับบ้านปู ซึ่งเห็นว่า มีโอกาสต่อยอดโครงการให้ครอบคลุมปัญหาที่มากขึ้นของวัยรุ่น และผู้ปกครอง ทำให้วัยรุ่นมีที่ปรึกษาปัญหา และรับฟังมากกว่าเดิม รวมทั้งเพิ่มความเข้าใจของผู้ปกครองที่มีต่อวัยรุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ และสุขภาวะ เพื่อสร้างเกราะและภูมิคุ้มกันแก่วัยรุ่นทั้งกายและใจ

ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการต่อยอดคือ โครงการสบายใจ ที่ร่วมมือกับนักจิตวิทยาเด็ก เพื่อคลายกังวลแก่พฤติกรรม และปัญหาของวัยรุ่นที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน

ทั้งนี้ การรับฟังปัญหาของวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นการให้บริการฟรี ส่วนที่เป็นธุรกิจคือ การให้คำแนะนำปรึกษา การดูแลวัยรุ่น ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ผู้ปกครอง และสถาบันการศึกษาต่างๆ กำหนดจะเริ่มประมาณภาคการศึกษาหน้า

แพลตฟอร์มการเรียนรู้จากฟางข้าว

ทีม Khiri Farm มีเจ้าของกิจการร่วมคือ ดนพล ชูช้าง (ข้าวฟ่าง) และวิไลลักษณ์ ชูช้าง (ปิง) ผู้ละทิ้งชีวิตคนทำงานในเมืองกรุงสู่วิถีเกษตรกร ณ คีรีฟาร์ม ฟาร์มเกษตรของคนรุ่นใหม่ บนพื้นที่ 8 ไร่ ที่อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

วิไลลักษณ์ เล่าถึงความตั้งใจทำฟาร์มว่า มุ่งคิดค้น และพัฒนาฟาร์ม เพื่อสร้างให้คนในชุมชนมีอยู่ มีกิน มีรายได้ บนพื้นฐานของวัตถุดิบในชุมชนที่มีมากมาย แต่ที่ผ่านมาคนในชุมชนอาจจะยังนำมาใช้ได้ไม่คุ้มค่า เพื่อนำมาสร้างรายได้ และนำมาเชื่อมโยงกับธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งบริเวณชุมชนยังมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ คือ แหล่งไดโนเสาร์กินพืชที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย ที่ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว

การเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ เป็นการนำฟางข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยวมาปลูกเห็ด และต่อยอดสู่แพลตฟอร์มการเรียนรู้เห็ดก้อน ซึ่งสร้างรายได้แก่ธุรกิจ ชุมชน และกิจกรรมแก่ผู้สูงวัย ที่ฟาร์มได้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เมื่อลงมือทำจริง เกิดรายได้จริง และเข้าไปช่วยเหลือชุมชนจริง

นอกจากเงินรางวัลแล้ว คุณค่าของการเข้าร่วมโครงการทำให้ได้เรียนรู้ และอบรมที่บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และสถาบัน ChangeFusion องค์กรไม่แสวงผลกำไรภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการออกตลาด การทดสอบตลาด ทดสอบผลิตภัณฑ์จากเห็ด การทดลองวางขาย แบบไหนขายได้ ไม่ได้ และเรียนรู้ว่า ลูกค้าหลักคือใคร ไม่ใช่ผลิตออกมาตามความเชื่อมั่นว่า เป็นอาหารแล้วต้องมีคนกิน

รับ 2.5 แสน ต่อยอดธุรกิจ

รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า กิจการเพื่อสังคมระยะเริ่มต้น ทั้ง 3 ทีม ได้รับรางวัลชนะเลิศและทุนสนับสนุนเพื่อต่อยอดธุรกิจทีมละ 250,000 บาท โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะจากโมเดลธุรกิจที่มีแนวทางการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ มีตัวชี้วัดการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดลอมได้อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับเงินรางวัลที่ได้รับ ทางบ้านปูได้กำหนดแนวทางการใช้เงินสนับสนุน โดยมีทีมที่ปรึกษา (ChangeFusion) เข้าไปร่วมวางแผนการพัฒนาธุรกิจ จัดลำดับความสำคัญในการดำเนินงาน และกำหนด KPI ทั้งในมุมของการพัฒนาธุรกิจและสร้างผลทางสังคมในระยะสิ้นปีนี้ และติดตามผลต่อเนื่องจนถึงปีหน้า โดยมีเป้าหมายหลักๆ ที่จะทำให้แต่ละทีมมีความพร้อมในการไปต่อกับการสนับสนุนอื่นๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น พร้อมที่จะจดทะเบียนนิติบุคคล มีรายได้มากพอให้เป็นไปตามเกณฑ์ มีการดำเนินงานที่น่าเชื่อถือ เป็นต้น

“โครงการดำเนินการต่อเนื่องมาตลอด กิจกรรมปีนี้หมดลงแล้ว แต่ต้นปีหน้า 2567 จะเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการปีที่ 13”

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

THE WISDOM Investment Forum ชี้โลกเข้าสู่ยุค “AI First” สร้างโอกาสการลงทุนแบบก้าวกระโดด

SHARGE เปลี่ยนชื่อเป็น RÊVERSHARGER ลุยขยายสถานีชาร์จความเร็วสูงเพิ่มอีก 370 แห่งทั่วประเทศ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ