TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistทุบ “สกาลา” ปิดฉากยุคโรงหนังสแตนด์อโลน

ทุบ “สกาลา” ปิดฉากยุคโรงหนังสแตนด์อโลน

เรื่องราวของโรงภาพยนตร์สกาลาที่เพิ่งถูกทุบทำลายกลายเป็นอดีตไปแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นประเด็นถูกกล่าวถึงอย่างเผ็ดร้อนอีกครั้ง แม้ที่ผ่านมาหลายปีจะรับรู้กันว่าตำนานที่มีชีวิตแห่งนี้จะต้องถึงวันสิ้นสุดในไม่ช้า

“สกาลา” เป็นหนึ่งในสามโรงภาพยนตร์ในตำนานแห่งสยามสแควร์ ซึ่งประกอบด้วย โรงภาพยนตร์สยาม โรงภาพยนตร์ลิโด และโรงภาพยนตร์สกาลา ในการบริหารของเครือเอเพ็กซ์ที่ทำหน้าที่เป็นแม่เหล็กสำคัญอย่างหนึ่งของศูนย์การค้าสยามสแควร์มายาวนานกว่า 50 ปี

ในปี พ.ศ.2507 เมื่อเกิดการพัฒนาศูนย์การค้าแห่งใหม่บนที่ดิน 63 ไร่ ใกล้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ชื่อว่า “สยามสแควร์” บริษัท เซาท์อีสต์เอเชียก่อสร้าง จำกัด (ซีคอน) ผู้รับเหมาออกแบบและก่อสร้างอาคารในโครงการนี้ได้เสนอให้ พิสิฐ ตันสัจจา เจ้าของโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยที่กำลังโด่งดังและประสบความสำเร็จอย่างมากในยุคนั้นมาลงทุนเปิดโรงภาพยนตร์ภายในสยามสแควร์

เริ่มจากปี พ.ศ.2509 เปิดโรงภาพยนตร์สยาม ที่มีความจุ 800 ที่นั่ง เป็นแห่งแรกในย่านนี้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 เปิดโรงภาพยนตร์ลิโด ความจุ 1,000 ที่นั่ง ทั้งสองโรงตั้งอยู่ด้านหน้าศูนย์การค้าริมถนนพระรามที่ 1 

ในปีพ.ศ.2512 เปิดแห่งที่สามชื่อ “สกาลา” ตามชื่อโรงอุปรากร Teatro alla Scala แห่งเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ซึ่งคำว่า Scala ในภาษาอิตาเลียนมีความหมายว่า “บันได” มีความจุ 1,000 ที่นั่ง ตั้งอยู่ภายในซอยสยามสแควร์ 3 ห่างจากถนนพระรามที่ 1 เพียงไม่กี่เมตร

โรงหนังทั้งสามประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักอย่างมากควบคู่ไปกับความรุ่งเรืองของศูนย์การค้าสยามสแควร์ในฐานะศูนย์กลางความบันเทิงและไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัยแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร หลังสิ้นยุคของย่านวังบูรพาที่มีโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงเป็นหน้าเป็นตา

นอกจากนี้ยังเป็นยุคเฟื่องฟูของโรงภาพยนตร์แบบโรงเดี่ยว หรือ สแตนด์อโลน (stand-alone cinema) ที่เริ่มขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยนิยมสร้างขนาดใหญ่มีความจุที่นั่งตั้งแต่ 800 -1500 คน เพื่อการชมภาพยนตร์โดยเฉพาะ และมีบทบาทเป็นศูนย์กลางความบันเทิงและความทันสมัยของย่านชุมชนนั้นๆ จนต่อมามีโรงหนังสแตนด์อโลนกระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 700 โรง

แต่ความรุ่งเรืองของโรงหนังสแตนด์อโลนค่อยๆ ลดน้อยถอยลงจากหลายปัจจัย เริ่มตั้งแต่เกิดความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมการชมภาพยนตร์เมื่อมีสื่อภาพยนตร์แบบใหม่ที่เรียกว่าเทปวิดีโอ (Video) ขึ้นนับแต่ช่วงปี พ.ศ.2520 จนมีธุรกิจร้านเช่าเทปภาพยนตร์เกิดขึ้นเป็นดอกเห็น ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อจำนวนผู้เข้าชมในโรงภาพยนตร์

จนกระทั่งนับจากปี พ.ศ.2532 ที่มีการขยายตัวของห้างสรรพสินค้าจำนวนมาก จนถึงช่วงปี พ.ศ. 2537 เกิดรูปแบบธุรกิจโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์ ที่มีขนาดเล็กลง แต่มีหลายโรงอยู่ในสถานที่เดียวกัน ทำให้สามารถฉายภาพยนตร์ครั้งละหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน และเข้ารวมตัวอยู่ภายในศูนย์การค้า เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ใหม่ที่ผู้คนเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น และมีความต้องการทำหลายกิจกรรมในโอกาสเดียวกัน ส่งผลให้โรงภาพยนตร์แบบเดี่ยวจำนวนมากไม่สามารถปรับตัวอยู่รอดได้จนกระทั่งล้มหายไปจำนวนมาก

หลังปี พ.ศ.2560 ประเทศไทยมีโรงภาพยนตร์กว่า 200 แห่ง แต่มีจอฉายภาพยนตร์รวมกันกว่า 1,000 จอ เกือบทั้งหมดเป็นระบบมัลติเพล็กซ์ และส่วนใหญ่เป็นโรงภาพยนตร์ในเครือยักษ์ใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์การค้า หรือ คอมมูนิตี้มอล เหลือที่เป็นรูปแบบสแตนด์อโลนเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ซึ่งสกาลาเป็นหนึ่งในจำนวนที่เหลืออยู่ โดยถูกระบุว่าเป็นโรงหนังแบบเดี่ยวเพียงหนึ่งเดียวในกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ แม้โรงภาพยนตร์ในตำนานแห่งสยามสแควร์ทั้ง 3 แห่ง จะยืนหยัดท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงมาได้ยาวนาน แต่ก็ประสบปัญหาหลายด้าน แม้จะประคับประคองธุรกิจด้วยการปรับปรุงคุณภาพด้านต่างๆ และเปิดพื้นที่ใต้ถุนโรงภาพยนตร์ โดยแบ่งเป็นห้องเล็ก ๆ ให้ผู้ประกอบการรายย่อยเช่าเปิดเป็นร้านค้า แต่ในที่สุดก็ดำเนินต่อไปไม่ไหว

ปี พ.ศ.2553 โรงภาพยนตร์สยามถูกวางเพลิงในระหว่างเหตุการณ์ทหารสลายการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม นปช. จนกระทั่งอาคารพังถล่มลงมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สัญญาเช่าที่ดินได้สิ้นสุดลงพอดี เครือเอเพ็กซ์จึงไม่ดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์สยามต่อ ส่วนโรงภาพยนตร์ลิโด ซึ่งในปี พ.ศ.2537 ปรับปรุงใหม่เป็นโรงภาพยนตร์แบบมัลติเพล็กซ์จำนวน 3 โรง หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ จนถึงปี พ.ศ.2561 ต้องปิดตัวลงหลังจากหมดสัญญาเช่าพื้นที่

เหลือเพียงโรงภาพยนตร์สกาลาที่ยังคงดำเนินในรูปแบบสแตนด์อโลน จนในที่สุดตัดสินใจปิดตัวลงเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ปี พ.ศ.2563 หลังจากการระบาดของโควิด-19 ก่อนสัญญาเช่าพื้นที่จะสิ้นสุดในปี พ.ศ.2564 เพราะไม่อาจแบกรับภาระต้นทุนต่อไปได้ โดยได้จัดอำลาด้วยการฉายหนังเรื่อง Cinema Paradiso เป็นการประกาศปิดม่านตำนานโรงหนังสแตนด์อโลนแห่งสยามสแคว์โดยสมบูรณ์

แต่เรื่องราวของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ยังไม่จบลงง่ายๆ เมื่อมีนิสิตจุฬาฯ บางส่วน และชุมชนคนดูหนัง ตลอดจนนักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมมีความเห็นว่าสถานที่แห่งนี้ควรได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในฐานะของโรงหนังสแตนด์อโลนที่หรูหราสวยงามที่สุดของเมืองไทย และมีคุณค่าในเชิงสถาปัตยกรรมยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด

ทั้งนี้ โรงภาพยนตร์สกาลาออกแบบโดยพันเอกจิระ ศิลป์กนก ในศิลปะแบบอาร์ตเดโค (Art Deco) ที่มีความทันสมัยและหรูหรามาก ตั้งแต่บันไดทางขึ้นด้านหน้าอาคารที่ยกขึ้นสูงสู่โถงชั้นสองที่มีเสาคอนกรีตโค้ง เพดานคอนกรีตเสริมเหล็กประดับลายดาวเหล็กพับสีทองสวยงาม ตรงกลางโถงบันไดมีโคมฟ้าระย้าทรงหยดนํ้าค้างแข็ง 5 ชั้นขนาดยักษ์ที่สั่งตรงจากอิตาลีแขวนไว้โดดเด่น 

ส่วนผนังทางเข้าประดับด้วยไม้แกะสลักออกแบบสไตล์  Art Deco และภาพปูนปั้นที่สะท้อนวัฒนธรรมความบันเทิงของไทยและชาติเอเชียอื่น จนได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี 2555 

ซึ่งอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เห็นว่ามีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในฐานะโรงหนังสแตนด์อโลนที่ออกแบบอย่างสวยงามที่สุดในประเทศไทย เพราะเป็นงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ช่วงปลาย (Late Modern Architecture):ซึ่งผสมผสานกับการตกแต่งภายในแบบ movie palace ที่เน้นความอลังการหรูหรา แถมยังผสมศิลปะจากหลากหลายยุคเพื่อเน้นสร้างความแปลกตา

นอกจากนี้ ยังมีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์เพราะการเฟื่องฟูขึ้นของธุรกิจภาพยนตร์และการสร้างโรงหนังสแตนด์อโลนจำนวนมากในประเทศไทยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเกี่ยวข้องกับบริบททางเศรษฐกิจและการเมืองในช่วงสงครามเย็นอย่างแยกกันไม่ได้เลย

ดังนั้นโรงภาพยนตร์สกาล่าจึงถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สังคมสำคัญชิ้นหนึ่งของไทยที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์สงครามเย็นผ่านโรงภาพยนตร์

เขาจึงเสนอให้อนุรักษ์ไว้ภายใต้แนวทาง Adaptive Reuse โดยการเก็บรักษาอาคารเก่าส่วนที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญให้คงลักษณะเดิมเอาไว้ ได้แก่บริเวณโถงทางเข้าอาคารกับพื้นที่ดูภาพยนตร์ และปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนของอาคารให้ใช้งานเพื่อผลตอบแทนทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆ เช่น co-working space ร้านกาแฟ ร้านอาหาร หรือช้อบปิ้งมอลล์ขนาดเล็ก เป็นต้น

ด้าน ฟิลลิป จาบลอน (Philip Jablon) หนุ่มชาวอเมริกัน ผู้หลงใหลในโรงหนังสแตนด์อโลนของไทย จนได้ตระเวนสำรวจและถ่ายภาพโรงหนังทั่วประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนกว่า 300 แห่ง จัดทำเป็นหนังสือชื่อว่า Thailand’s Movie Theatres ยืนยันจากประสบการณ์ตนเองว่า สกาลาเป็นโรงหนังสแตนอโลนที่สวยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็น movie palace ที่หาได้ยากในกลุ่มประเทศอาเซียน

เขาเสนอว่าการอนุรักษ์ทำได้หลายรูปแบบ นอกจากรักษาไว้เป็นโรงภาพยนตร์แบบเดิมเหมือนบางแห่งในสหรัฐอเมริกา อาจเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ไปเป็นอย่างอื่นโดยรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมไว้ ซึ่งในประเทศไทยมีตัวอย่างที่เห็นได้จากโรงภาพยนตร์ปรินซ์รามา ย่านบางรัก ที่เปลี่ยนเป็นโรงแรมโดยรักษาตัวสถาปัตยกรรมและบรรยากาศของสมัยก่อนไว้

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ปรากฏข่าวว่า บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ผู้ได้รับสิทธิเช่าที่ดิน 30 ปี ในการพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์ บล็อกเอ บริเวณหัวมุมแยกปทุมวัน ที่รวมพื้นที่โรงภาพยนตร์สกาลาด้วย แสดงท่าทีว่าจะพยายามรักษาโครงสร้างเก่าของสกาลาไว้ให้มากที่สุด แต่เมื่อเกิดการทุบทำลายอาคารโรงภาพยนตร์สกาลาทั้งหลังเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ทำให้มีกระแสความรู้สึกผิดหวังต่อการตัดสินใจแบบนี้อย่างมาก

จนวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 มติชนออนไลน์ได้เสนอข่าวว่าแหล่งข่าวจาก บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา เปิดเผยว่า 

ก่อนทุบอาคารดังกล่าวทางบริษัทได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลรายละเอียดสถาปัตยกรรมไว้ทั้งหมดด้วยภาพสแกน 3 มิติ ซึ่งสามารถสร้างกลับมาได้เหมือนเดิมแบบไม่ผิดเพี้ยน 

ประหนึ่งว่าจะชุบชีวิตโรงภาพยนตร์ในตำนานแห่งนี้ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากปิดฉากไปแล้วนั่นเอง

สมชัย อักษรารักษ์ … อดีตบรรณาธิการ ผู้มีประสบการณ์ 20 ปี ในวงการงานข่าวการตลาด-ไอที แต่มีความสนใจในประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ จนได้ใช้ทำงานสารคดีนาน 10 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ