TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistบรูซ แกสตัน ผู้พาดนตรีไทยข้ามกาลเวลา

บรูซ แกสตัน ผู้พาดนตรีไทยข้ามกาลเวลา

ปี พ.ศ.2522 เมื่อภาพยนตร์เรื่อง “ไผ่แดง” ผลงานของ เพิ่มพล เชยอรุณ ผู้กำกับดาวรุ่งของวงการหนังไทยในเวลานั้นออกฉาย มีประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีดนตรีประกอบนำเครื่องดนตรีไทยมาบรรเลงผสมเครื่องดนตรีตะวันตก แม้ในแวดวงคนทำหนังจะเห็นว่าเป็นมิติใหม่ของภาพยนตร์ไทย แต่สำหรับคนในวงการดนตรีไทยบางส่วนกลับเห็นเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นการแหกกรอบจารีตที่ยึดถือกันมายาวนาน

ในปี พ.ศ.2523 ตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปีแรก ผู้เขียนมีโอกาสได้ชมการบรรเลงเปียโนสดประกอบการฉายภาพยนตร์เงียบที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้สึกประทับใจในความสามารถของนักดนตรีท่านนั้นเป็นอย่างมากเพราะเสียงเปียโนนั้นช่วยสร้างอารมณ์และความรู้สึกให้ภาพเคลื่อนไหวที่ไร้เสียงมีชีวิตชีวาขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์

ภายหลังจึงรู้ว่านักเปียโนมากฝีมือผู้นั้นเป็นอาจารย์สอนวิชาดนตรีการละครชาวอเมริกัน ชื่อ “บรูซ แกสตัน” (Bruce Gaston) ซึ่งมีผลงานเพลงประกอบละครของคณะอักษรศาสตร์หลายเรื่องด้วยกัน เรื่องที่ได้รับการกล่าวถึงมาก เช่น พรายน้ำ คนดีที่เสฉวน อีดีปุสจอมราชันย์ เป็นต้น ทั้งยังเป็นผู้ที่ทำดนตรีไทยประยุกต์ประกอบภาพยนตร์เรื่อง “ไผ่แดง” นั่นเอง

บรูซ แกสตัน เป็นบัณฑิตสาขาวิชาทฤษฎีดนตรี การประพันธ์เพลง และปรัชญา จากมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย เขาจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้วยวัยเพียง 22 ปี มีความสามารถในการเล่นเครื่องดนตรีตะวันตกหลายชนิด โดยเฉพาะมีทักษะการเล่นเปียโนและออร์แกนที่ดีเยี่ยมเนื่องจากถูกปลูกฝังมาตั้งแต่อายุเพียง 3 ขวบ

เวลานั้นเป็นยุคสงครามเย็นซึ่งเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างโลกเสรีนิยมกับคอมมิวนิสต์ รัฐบาลอเมริกันรณรงค์ให้คนหนุ่มเข้าร่วมทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศเวียดนาม แต่เขาเลือกมาเป็นครูอาสาสมัครที่ประเทศไทยแทนการเป็นทหารตามที่รัฐเปิดโอกาสเพราะต้องการใช้ความรู้ที่เล่าเรียนมาช่วยพัฒนาคนมากกว่าการทำร้ายใคร

ในปี พ.ศ.2512 บัณฑิตหนุ่มชาวอเมริกันเดินทางมาเป็นครูสอนดนตรีที่โรงเรียนผดุงราษฎร์ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นโรงเรียนในความดูแลของคริสตจักร เป็นระยะเวลา 6 เดือน

ที่เมืองโบราณแห่งนี้ ทุกเช้าก่อนเข้าโรงเรียนเขาจะไปนั่งในอุโบสถวัดมหาธาตุที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระปฏิมาที่นับถือกันว่างดงามเป็นหนึ่งในแผ่นดิน และมักจะพบหญิงชราชาวบ้านนั่งเล่นระนาดอยู่หน้าประคูทางเข้า พอตกเย็นเกือบทุกวันจะได้ยินเสียงบรรเลงดนตรีไทยที่ดังมาจากงานเผาศพบริเวณป่าช้าใกล้บ้านพัก ซึ่งทำให้เขารู้สึกว่าดนตรีไทยไม่ธรรมดา

เสียงดนตรีที่ได้ยินนั้นเป็นปี่พาทย์นางหงส์ที่บรรเลงโดยคณะเยาวชนอายุเพียง 12-15 ปี ความที่เป็นนักดนตรีเล่นเพลงคลาสสิก เขารับรู้ได้ด้วยประสบการณ์ว่ามันเป็นเพลงชั้นสูงที่มีความละเอียดซับซ้อน มากด้วยความคิดลึกซึ้ง ทำให้เขาเกิดความประทับใจและอยากเรียนรู้จนเป็นจุดเริ่มต้นของประสบการณ์ครั้งแรกกับการหัดเล่นดนตรีไทย

หลังจากนั้นเขาย้ายไปสอนดนตรีที่วิทยาลัยพายัพ ในความดูแลของคริสตจักรที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเขาเป็นอาจารย์สอนดนตรีที่บุกเบิกหลักสูตรดนตรีระดับปริญญาตรีขึ้นครั้งแรกของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ทั้งมีโอกาสได้ศึกษาดนตรีพื้นบ้านล้านนา และดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ด้วยความสนใจอย่างยิ่ง

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2514 กรมศิลปากรเปิดโรงเรียนนาฏศิลป์เชียงใหม่ เป็นโรงเรียนนาฏศิลป์ส่วนภูมิภาคแห่งแรกขึ้นมา อาจารย์ฝรั่งผู้สนใจดนตรีไทยจึงได้หัดระนาดเอกกับครูสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ครูดนตรีไทยที่ส่วนกลางส่งมาประจำเชียงใหม่ และหัดปี่พาทย์รอบวงจากครูโสภณ ซื่อต่อชาติ อดีตศิษย์เอกครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ซึ่งพำนักอยู่ที่เชียงใหม่

ประสบการณ์การเรียนดนตรีหลากหลายทั้งจากโลกตะวันตกและตะวันออกก่อให้เกิดแนวคิดการนำดนตรีสากลกับดนตรีไทยมาผสมผสานกันในงานการเรียนการสอนที่วิทยาลัยพายัพ จนมีโอกาสได้ทดลองประยุกต์ออกมาเป็นผลงานจริงเมื่อมีการทำอุปรากรเรื่อง “ชูชก” จากวรรณคดีชาดกทศชาติ ตอนพระเวสสันดร 

งานนี้เป็นการนำความรู้ในการประพันธ์เพลงที่เล่าเรียนมา ทำเพลงประกอบโดยใช้วิธีขับร้องประสานเสียงร่วมกับวงดนตรีปี่พาทย์ กังสดาล ซึ่งสร้างชื่อเสียงแก่เขาหลังจากการแสดงผลงานในประเทศไทย และโดยเฉพาะการแสดงที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ทว่าก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยด้วยเช่นกัน

เหตุการณ์สำคัญที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานดนตรีไทยร่วมสมัยในเวลาต่อมาเกิดขึ้นเมื่อเขาได้ฟังเพลงชื่อ “ชเวดากอง” ในงานมหกรรมดนตรีไทยอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีทำนองเพลงและจังหวะดนตรีที่แตกต่างไปจากเพลงไทยเดิมที่เขาเคยได้ฟัง จึงเกิดความประทับใจจนอยากรู้ที่มาของเพลงนี้ 

เขาได้รับคำแนะนำจากครูมนตรี ตราโมท บรมครูดนตรีไทยในสมัยนั้น (ซึ่งประกอบพิธีไหว้ครู-ครอบครู ให้ที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ.2519) ว่าเป็นผลงานของครูบุญยงค์ เกตุคง ทั้งชี้ช่องให้เขาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์กับนักระนาดชั้นแนวหน้าของเมืองไทยท่านนี้ ณ สำนักดนตรีไทย เทศบาลกรุงเทพฯ

อาจารย์บรูซในวัยหนุ่มบากบั่นเดินทางขึ้นล่องจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ ทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เพื่อหัดดนตรีไทยกับครูนักระนาดฝีมือเยี่ยมเป็นเวลานานกว่า 1 ปี จนครูเห็นถึงความตั้งใจแน่วแน่และเอาจริงเอาจังของศิษย์จึงได้ยอมถ่ายทอดวิชาความรู้ให้อย่างเต็มที่

การได้ใกล้ชิดกับครูบุญยงค์ เกตุคง ซึ่งเป็นนักดนตรีไทยที่ได้เรียนรู้จากยอดครูดนตรีไทยหลายท่าน ทั้งเป็นนักระนาดที่เคยได้รับการยกย่องจากอดีตนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล ด้วยการเปรียบเสียงเดี่ยวระนาดฝีมือของท่านว่ามีความไพเราะดุจไข่มุกหล่นบนจานหยก ทำให้นักดนตรีหนุ่มต่างชาติมีความสามารถในเชิงดนตรีปี่พาทย์ไม่น้อยหน้าใครในเวลาต่อมา

ความสัมพันธ์ระหว่างครูดนตรีไทยและศิษย์ชาวอเมริกันมิได้เป็นเพียงแค่ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้และอีกฝ่ายเป็นผู้รับเท่านั้น หากแต่เป็นความสัมพันธ์ที่ก่อเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน 

ในส่วนดนตรีสมัยใหม่นั้นอาจารย์บรูซถือได้ว่ามีความรู้ไม่น้อย ในฐานะศิษย์ของจอห์น เคจ (John Cage) คีตกวี นักเปียโน และนักปรัชญาทางดนตรีชาวอเมริกัน ที่มีบทบาทสำคัญในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองของอเมริกา และมีอิทธิพลอย่างสูงต่อแนวคิดที่สำคัญทางดนตรีในศตวรรษที่ 20 

การสร้างสรรค์งานดนตรีไทยให้ก้าวออกจากกรอบจารีตเดิมค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นในความคิดของครูและศิษย์ เมื่อมีโอกาสได้รับงานแต่งเพลงประเภทจิงเกิ้ลให้กับวงดนตรีบัตเตอร์ฟลายที่ทำเพลงประกอบโฆษณา ด้วยการผสมผสานดนตรีไทยเข้าดนตรีตะวันตก จนมีการพัฒนาประสบการณ์ก่อเกิดเป็นแนวคิดการทำวงดนตรีไทยร่วมสมัยขึ้นในปี พ.ศ.2522

ต่อมา บรูซ แกสตัน ซึ่งเวลานั้นเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัดสินใจลาออกเพื่อเป็นศิลปินเต็มตัว และเป็นกำลังสำคัญร่วมกับครูบุญยงค์ เกตุคง และนักดนตรีมากฝีมืออีกหลายคน รวมทั้ง จิรพรรณ อังศวานนท์ นักกีต้าร์ชื่อดังจากบัตเตอร์ฟลาย ก่อตั้งวงดนตรีไทยร่วมสมัยที่มีชื่อว่า “วงฟองน้ำ” โดยการนำเครื่องดนตรีไทยผสมวงกับเครื่องดนตรีสากล เช่น เปียโน กีต้าร์ เป็นต้น ซึ่งเปิดมิติใหม่ให้กับดนตรีไทยแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

ความโดดเด่นของดนตรีไทยร่วมสมัยวงฟองน้ำอยู่ที่การนำดนตรีไทยเดิมมาผสมผสานกับดนตรีตะวันตก โดยใช้เทคนิคการประพันธ์ดนตรีในแบบศตวรรษที่ 20 กลายเป็นตำนานบทใหม่ของวงการดนตรีไทยที่ไร้ขอบเขตจำกัด แต่หยั่งลึกถึงรากเหง้าของเดิม 

บรูซ แกสตัน เคยกล่าวว่า วงฟองน้ำเป็นสะพานเชื่อมระหว่างนักดนตรีไทยเดิมและนักดนตรีสากลในเมืองไทย มุ่งหมายให้เป็นการเริ่มเกิดการประยุกต์ดนตรีไทยให้มีความร่วมสมัย

แม้ในระยะแรกจะถูกวิพากษ์วิจารย์จากผู้ที่เคร่งครัดกับขนมของดนตรีไทยเดิม แต่อาจารย์บรูซก็พิสูจน์ด้วยการกระทำให้เห็นว่าท่านมีความเคารพในมรดกของไทยและมีความกตัญญูต่อครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประศาสน์วิชาดนตรีไทยให้ท่าน ทำให้คำวิจารณ์ต่าง ๆ เบาลงไป โดยเฉพาะเมื่อครูมนตรี ตราโมท เป็นแรงหนุนสำคัญให้เดินหน้าต่อไปเพราะเห็นว่าวงฟองน้ำมีบทบาทการนำเพลงโบราณมาเผยแพร่ให้คนรุ่นใหม่รู้จัก

ผลงานดนตรีของวงฟองน้ำถูกนำไปใช้ในหลายรูปแบบและในหลายโอกาส มีทั้งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ ประกอบละคร กระทั่งสามารถออกไปร่วมแสดงยังต่างประเทศกับศิลปินระดับโลกได้ด้วย ทำให้ดนตรีไทยก้าวข้ามข้อจำกัดเดิม กลายเป็นดนตรีสำเนียงใหม่ของกลุ่ม world music ที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง

ตลอดช่วงเวลากว่า 40 ปีของวงฟองน้ำ มีเหตุการณ์สำคัญที่ต้องบันทึกไว้คือ การแสดงคอนเสิร์ต “เจ้าพระยาคอนแชร์โต” ในวาระฉลองกรุงเทพมหานครอายุครบ 200 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2525 เป็นการแสดงดนตรีมิติใหม่เต็มรูปแบบครั้งแรกที่มีการนำดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีไทย ดนตรีไฟฟ้า และเครื่องดนตรีประยุกต์จากน้ำมาแสดงร่วมกัน โดยมีบทเพลง “เจ้าพระยาคอนแชร์โต” เป็นผลงานประพันธ์ที่สำคัญ

ในปี พ.ศ. 2530 วงฟองน้ำได้เข้าร่วมเทศกาลมหกรรมดนตรีราชสำนัก ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งครั้งนั้นมีครูดนตรีไทยอาวุโสหลายท่านได้ร่วมเดินทางไปแสดงดนตรีไทยในแบบราชสำนักที่มีพัฒนาการมาหลายร้อยปีด้วย

และปีเดียวกันนั้น วงฟองน้ำยังได้ประพันธ์เพลง Thailand the golden Paradise ขึ้นมาในโอกาสเฉลิมฉลองปีท่องเที่ยวไทย จนต่อมากลายเป็นเพลงที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยไปทั่วโลก

สำหรับผลงานเพลง “อาหนู” ซึ่งเป็นเพลงไทยโบราณที่บรรเลงในท่วงทำนองแบบจีน ถูกนำมาประยุกต์เป็นเสียงเปียโนดัดแปลง (Prepared Piano) บรรเลงกับระนาดทุ้ม และเครื่องดนตรีไฟฟ้า ซึ่งได้นำไปแสดงในงานรำลึกครูดนตรี “จอห์น เคจ” ที่เมืองนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐเมริกาในปี พ.ศ. 2525 ถือเป็นผลงานสำคัญในตำนานเพลงไทยประยุกต์ของเขา ในฐานะผู้ที่นำพาดนตรีไทยข้ามกาลเวลาจากอดีตสู่ปัจจุบัน โดยเขาเคยฝากความหวังว่าจะเป็นแบบอย่างให้นักดนตรีไทยรุ่นหลังแตกกิ่งต่อยอดดนตรีไทยไปในทิศทางใหม่ๆ ในอนาคต

ผลงานมากมายที่มีคุณค่าต่อวงการดนตรีไทยตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ทำให้อาจารย์บรูซ แกสตัน เป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ได้รับรางวัลศิลปาธรกิตติคุณ สาขาคีตศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2552

เครดิตข้อมูลและภาพจาก: เพจ Fong Naam – วงดนตรีฟองน้ำ และหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน

คอลัมน์ “ที่มา-ที่ไป” … สารพัดเรื่องราวที่เราอยากให้คุณรู้

สมชัย อักษรารักษ์ … อดีตบรรณาธิการ ผู้มีประสบการณ์ 20 ปี ในวงการงานข่าวการตลาด-ไอที แต่มีความสนใจในประวัติศาสตร์เป็นพิเศษ จนได้ใช้ทำงานสารคดีนาน 10 ปี

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ