TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewไทยเบิ้งแห่งโคกสลุง โมเดล “อนุรักษ์และพัฒนา” จากความเข้มแข็งของชุมชนสู่ความยั่งยืนของวิถีท้องถิ่น

ไทยเบิ้งแห่งโคกสลุง โมเดล “อนุรักษ์และพัฒนา” จากความเข้มแข็งของชุมชนสู่ความยั่งยืนของวิถีท้องถิ่น

ความเจริญก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงที่หลั่งไหลถาโถมทำให้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่สืบทอดกันมายาวนานของ “ชาวไทยเบิ้ง” แห่งบ้านโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ค่อย ๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา ส่งผลให้ ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งในเวลานั้นลุกขึ้นมารวมตัวกันเพื่อหาทางอนุรักษ์ไม่ให้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ซึ่งเรียบง่ายและเปี่ยมด้วยภูมิปัญญาต้องสูญหายไปจากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ

-พันธกิจ สร้างสรรค์เรื่องเล่า “นวนุรักษ์” ณ ชุมชนไทยเบิ้ง ที่โคกสลุง

ด้วยกำลังที่มีอยู่เพียงน้อยนิด ขยับขยายจนกลายเป็นเครือข่ายใหญ่ที่แข็งแกร่งมั่นคง กระทั่งได้รับเลือกให้เป็น “โมเดล” หรือ “ต้นแบบ” ของ Social Lab ห้องแล็บทางสังคม ที่สะท้อนแนวคิดแนวทางของการอนุรักษ์ฟื้นฟู สืบสานและพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้วยพลังริเริ่มจากคนในชุมชน และทำให้ชุมชนยืนหยัดได้อย่างเข้มแข็งบนลำแข้งของตนเอง

รู้จักไทยเบิ้งแห่งโคกสลุง

“ประทีป อ่อนสลุง” หรือที่คนในชุมชนเรียกว่า “พี่มืด” ประธานกลุ่มชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง กล่าวว่า โคกสลุง เป็นชุมชนที่ตั้งรกรากมาอย่างยาวนาน มีหลักฐานที่พบบริเวณหนองใหญ่อยู่ด้านทิศเหนือของชุมชนมีลักษณะเป็นเศษแร่เหล็ก(ขี้แร่)สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ถลุงแร่ของชาวบ้านในสมัยก่อน โดยชื่อของโคกสลุง เพี้ยนมาจาก โคกถลุง และสมัยที่เมืองศรีเทพเจริญรุ่งเรือง หมู่บ้านโคกสลุงก็เป็นเส้นทางการค้าขายที่สำคัญระหว่างเมืองอยุธยากับเมืองศรีเทพ

ในส่วนของชาวไทยเบิ้ง พี่มืดอธิบายว่าไม่ได้หมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์ใด ๆ แต่คำเรียกขานนี้สื่อถึง กลุ่มที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยกลุ่มไทยเบิ้งจะครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา บางส่วนของสระบุรี ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ และใน 5 อำเภอของลพบุรี ซึ่งหมู่บ้านโคกสลุง เป็น 1 ใน 4 ชุมชนของอำเภอพัฒนานิคมที่เป็นชาวไทยเบิ้ง และเป็นชุมชนไทยเบิ้งที่ใหญ่ที่สุดที่ยังมีการอนุรักษ์สืบทอดภูมิปัญญาดั้งเดิมไปยังคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน

ไทยเบิ้งแห่งโคกสลุง โมเดล “อนุรักษ์และพัฒนา” จากความเข้มแข็งของชุมชนสู่ความยั่งยืนของวิถีท้องถิ่น

ทั้งนี้ สิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยเบิ้ง ก็คือ สำเนียงภาษา โดยภาษาของชาวไทยเบิ้ง ที่มักจะลงท้ายด้วยคำว่า “เบิ้ง” ซึ่งหมายถึง “บ้าง” ในภาษากลาง เช่น ขอเบิ้ง (ขอบ้าง) ไปเบิ้ง (ไปบ้าง) เป็นต้น ส่วนในประโยคปฎิเสธก็จะมีคำลงท้ายว่า “ด็อก” เช่น ไม่ให้ด็อก ไม่ไปด็อก หรือถ้าประโยคแสดงความสงสัยก็จะลงท้ายด้วย “เหว่ย” หรือ “หว่า” เช่น อะไรเหว่ย อะไรหว่า เป็นต้น และประโยคบอกลาก็จะต่อท้ายด้วยคำว่า “เด้อ” เช่น ไปแล้วเด้อ

นอกจากนี้ ชาวไทยเบิ้งก็จะมีคำศัพท์เฉพาะที่เรียกกันในชุมชน เช่น น้ำมันก๊าด เป็น น้ำมันแก็ป  ฟ้าแลบ เป็น ฟ้าแขยบ เป็นต้น โดยพี่มืดเล่าว่า เป็นศัพท์พื้นบ้านเฉพาะที่สามารถรวบรวมเป็นพจนานุกรมพื้นบ้านของไทยเบิ้งแห่งโคกสลุงขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์จากศิลปากรเข้ามาช่วยโดยใช้โปรแกรมมาเทียบเสียงวรรณยุกต์อย่างเป็นระบบและกิจลักษณะ

สำหรับอัตลักษณ์ของไทยเบิ้งแห่งโคกสลุงนอกจากภาษา ก็คือ การแต่งกาย ผู้หญิงไทยเบิ้งจะนุ่งโจงกระเบน ใส่เสื้ออีหิ้ว (คอกระเช้า) มีผ้าขาว(ผ้าขาวม้า)สะพายเฉียง และนิยมสะพายย่าม ไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม ส่วนผู้ชายก็นุ่งผ้าม่วงเป็นหลัก ไม่นิยมใส่เสื้อ แต่จะมีผ้าขาวมาคล้องคอ และผ้าขาวม้าคาดเอว ต่อมาก็นิยมใส่กางเกงขาก๊วย ซึ่งปัจจุบันการแต่งกายก็เป็นไปตามยุคสมัย แต่การแต่งกายแบบดั้งเดิมที่ว่านี้ก็ยังมีให้เห็นในชาวโคกสลุงสูงวัยที่อายุ 80 ปีขึ้นไป โดยมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน สิ่งที่บ่งบอกความเป็น โคกสลุง ก็คือ นามสกุล ที่ถ้าไม่ขึ้นต้นด้วย “สลุง” ก็จะลงท้ายด้วย “สลุง” เช่น อ่อนสลุง สลุงใหญ่ เอื้อสลุง ยอดสลุง สลุงใจดี เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังมีภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เช่น วิถีการกินและการรับประทานอาหารที่จะปรุงอย่างเรียบง่ายและกินตามฤดูกาล ไม่นิยมผัดทอด ปรุงแบบต้ม แกง น้ำพริก เป็นหลัก โดยมีอาหารคู่กายที่ต้องติดตัวเสมอยามเดินทางไปต่างถิ่นหรือเข้าป่าก็คือพริกตะเกลือ (พริกกับเกลือ)

ยังไม่นับรวมภูมิปัญญาพื้นบ้านอย่างการละเล่น และการร้องเพลงพื้นบ้านต่าง ๆ เช่น เพลงหอมดอกมะไพ ที่มีเฉพาะชาวไทยเบิ้งแห่งโคกสลุงเท่านั้น รวมไปถึงภูมิปัญญาในการทำเครื่องมือในการดำรงชีวิต งานจักสาน งานหัตถกรรม และของเล่น

การอนุรักษ์พัฒนาชุมชนไทยเบิ้งแห่งโคกสลุงจุดเริ่มต้นจากจุดจบ

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เมื่อพื้นที่ทำกินกว่า 20,000 ไร่ของชุมชนโคกสลุงอยู่ในโครงการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ชาวบ้านได้รับเงินชดเชยเป็นจำนวนมากพอที่จะเป็นทุนสร้างอาชีพสร้างรายได้ต่อไปได้ ขณะเดียวกัน ก็กลายเป็นโอกาสให้อีกหลายครอบครัวใช้เงินก้อนที่ได้มาในขณะนั้นไปกับการเปลี่ยนแปลงตนเองให้เข้ากับความเจริญของวิถีชีวิตสมัยใหม่ อย่างการรื้อบ้านไม้สร้างบ้านปูน และเปิดรับวัฒนธรรมค่านิยมใหม่ ๆ จากภายนอกเข้ามา

ไทยเบิ้งแห่งโคกสลุง โมเดล “อนุรักษ์และพัฒนา” จากความเข้มแข็งของชุมชนสู่ความยั่งยืนของวิถีท้องถิ่น

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้พี่มืดและชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งมองเห็นและตระหนักว่า วิถีและตัวตนอันเป็นอัตลักษณ์ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษของชาวไทยเบิ้งแห่งโคกสลุงกำลังถูกกลืนไป จึงได้ชวนชาวบ้านในหมู่บ้านมานั่งหารือพูดคุยกันอย่างเป็นกิจลักษณะ แบบที่เรียกว่าเป็นการเปิดเวทีประชาคมมาคุยกัน แล้วพบว่า ทุนทางวัฒนธรรมคือของดีที่เรามีอยู่

“ตอนนั้นโชคดีว่า พวกเราไม่ได้เลือกที่จะไปทำงานเพื่อแก้ปัญหา แต่เราเลือกที่จะใช้ทุนที่เป็นทุนดีของเรามาเป็นเครื่องมือในการรวมพล แล้วเกิดเป็นโครงการที่ทำงานร่วมกันจากหลาย ๆ คน” พี่มืด กล่าว

ความร่วมมือในครั้งนั้นทำให้เกิดการขับเคลื่อนโครงการใน 3 กิจกรรม โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคมในตอนนั้น ประมาณ 1 ล้านกว่าบาท โดยกิจกรรมทั้ง 3 กิจกรรมในโครงการก็คือ 1) พัฒนาเครือข่ายกลุ่มทอผ้าตำบลโคกสลุง รวมตัวได้ 5 หมู่บ้านจาก 11 หมู่บ้าน และเป็นโครงการที่ยังอยู่จนถึงทุกวันนี้ 2) ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ด้วยการจำลองที่อยู่อาศัยในอดีตของชาวไทยเบิ้ง โดยตั้งเป้าให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่คนจะได้มารวมตัวกัน ไม่ใช่สถานที่ที่เอาไว้เก็บของเก่า แต่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เคลื่อนไหว และมีกิจกรรมให้คนมีส่วนร่วมได้ และ 3)สร้างและพัฒนาผู้นำหรือแกนนำของชุมชน เพราะเชื่อว่า “คน” คือกำลังสำคัญ ที่จะใช้เครื่องมือและความรู้ภูมิปัญญาที่มีให้เกิดประโยชน์และการเปลี่ยนแปลงของชุมชนไปในแนวทางที่ดีได้

เป้าหมาย คือ ความสุขร่วมกันของคนในชุมชนบนวิถีวัฒนธรรมไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง

สำหรับเป้าหมายของการลงมือทำโครงการทั้งหมดของชุมชนโคกสลุงในขณะนั้น พี่มืดยอมรับว่า ความต้องการแรกเริ่มจริง ๆ ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย เพียงแค่ต้องการให้คนทุกคนในชุมชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขร่วมกันบนวิถีที่เป็นรากวัฒนธรรมไทยเบิ้งบ้านโคกสลุงของตนเอง

“เราก็เลยมาทำงานตรงนี้ 4 เรื่อง คือ การอนุรักษ์ การฟื้นฟู การสืบสานหรือสืบทอดส่งต่อภูมิปัญญาวิถีวัฒนธรรมของเราไปสู่ผู้นำแถวสอง หรือว่าคนรุ่นใหม่ และการพัฒนา ซึ่งการพัฒนายังแบ่งย่อยไปอีก 2-3 เรื่อง นั่นคือการพัฒนาคนและตัวกระบวนการ” พี่มืด อธิบาย

สำหรับการพัฒนาคนนี้ หมายถึง การสร้างผู้นำในทุกระดับตั้งแต่เด็กและเยาวชนไปจนถึงผู้สูงวัย เรียกว่าเป็นการพัฒนาคนทุกช่วงวัยในชุมชน ส่วนการพัฒนากระบวนการ ก็คือ การเติมความรู้และเครื่องมือต่าง ๆ ให้กับชุมชน เพราะเชื่อมั่นว่า เมื่อกระบวนการดี ผลลัพธ์ย่อมดีเสมอ โดยหากมุ่งแต่ผลลัพธ์ แต่กระบวนการไม่ดี แม้จะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ แต่การเรียนรู้การเติบโตของคนในชุมชนก็อาจจะไม่มีไม่เกิดขึ้น

ไทยเบิ้งแห่งโคกสลุง โมเดล “อนุรักษ์และพัฒนา” จากความเข้มแข็งของชุมชนสู่ความยั่งยืนของวิถีท้องถิ่น

“ดังนั้น เราจึงมีเครื่องมือใหม่ มีความรู้ที่เป็นสากลเข้ามาใช้” พี่มืด กล่าวพร้อมยกตัวอย่างถึงสุนทรียสนทนา( Dialogue) ที่กลายเป็นเครื่องสำคัญให้คนในชุมชนมาเปิดใจรับฟังกันได้ทุกช่วงวัยโดยไม่มีการตัดสินว่าใครผิดใครถูก หรือการประชุมหลักการปฎิบัติ AAR (After Action Review) เป็นการเรียนรู้จากงานที่ทำ หมายความว่า เมื่อทำงานเสร็จแล้ว ก็มานั่งคุยกัน โดยใช้หลักการของ AAR ทำให้ประเมินงานที่ตนเองทำว่าดีหรือไม่ ตรงตามเป้าหมายวัตถุประสงค์หรือเปล่า ต้องปรับแก้ไขตรงไหน โดยเป็นการมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงวิธีการทำงาน แทนที่จะมัวแต่ไปนั่งจับผิดว่าใครทำดีไม่ดีอย่างไร ให้ข้อมูลและผลการทำงานเป็นตัวชี้วัดทั้งหมดแทน

เรียกได้ว่านอกจากจะมีเครื่องมือที่ช่วยลดความผิดพลาดในการทำงานของชุมชนแล้ว ก็ยังจะได้รู้ว่า การทำงานได้สำเร็จลุล่วงต้องอาศัยปัจจัยอะไรบ้าง กลายเป็นชุดความรู้ และกระบวนการทำงานที่ชุมชนได้เรียนรู้

นอกจากนี้ การพัฒนาของชุมชนโคกสลุงยังมีในส่วนที่เรียกว่าการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาของชาวไทยเบิ้งแห่งบ้านโคกสลุง เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าทอชุมชน นอกเหนือไปจากผ้าขาวม้ากับย่าม เช่น ออกแบบผ้าขาวม้าให้เป็นชุดที่ทันสมัยแต่ยังสอดแทรกเอกลักษณ์ของเสื้ออีหิ้วของชาวไทยเบิ้งลงไปด้วย ภายใต้ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความรู้ ให้ทุนสนับสนุน หรือให้ช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชนออกไป

ขณะเดียวกัน การพัฒนาต่อยอดดังกล่าว ยังหมายรวมถึงการพัฒนาเพื่อการฟื้นฟูวิถีและภูมิปัญญาดั้งเดิม เช่น การย้อมผ้าฝ้ายด้วยสีธรรมชาติ หรือผ้าฝ้ายย้อมคราม แล้วต่อยอดมาเป็นสินค้าชุมชนอีกชิ้นหนึ่ง รวมถึงการนำเรื่องราววิถีของชุมชนมาสร้างเป็นเรื่องราว และทำเป็นการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อสร้างโอกาสสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่ง

“คนที่มาเที่ยวบ้านเรา เราเลือกได้ว่าเราอยากให้ใครมาเที่ยว เป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ คือมาเที่ยวแล้วเราอยากให้เห็นคุณค่าของชุมชนมากกว่ามาเที่ยวแล้ว มาถ่ายรูป มีความสุขแล้วก็ไป แต่ทิ้งอะไรบางอย่างไว้กับชุมชน คือเราอยากให้คนที่มา มาเที่ยวโดยเห็นคุณค่าของชุมชน ซึ่งผลจากตรงนี้จะนำไปสู่การเห็นคุณค่าร่วมของคนในชุมชน” พี่มืด กล่าว

การท่องเที่ยว คือ เครื่องมือ

พี่มืด ยืนยันว่า การเป็นไทยเบิ้งแห่งบ้านโคกสลุง ไม่ได้มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างเป็นชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว แต่การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่จะทำให้ไทยเบิ้งแห่งบ้านโคกสลุงสามารถยืนหยัดอยู่บนลำแข้งของตนเอง มีหนทางและแนวทางในการพึ่งพาตนเองต่อไปได้

ไทยเบิ้งแห่งโคกสลุง โมเดล “อนุรักษ์และพัฒนา” จากความเข้มแข็งของชุมชนสู่ความยั่งยืนของวิถีท้องถิ่น

ทั้งนี้ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา กระแสสังคมโลกที่เกิดขึ้น ทำให้พี่มืดมองเห็นว่า “วัฒนธรรม” รวมถึงวิถีชีวิต คือ ส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวในเชิงลึก ดังนั้น จึงได้แนวคิดในการใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการทำให้วิถีวัฒนธรรมของชาวไทยเบิ้งนั้นคงอยู่ ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวก็เป็นเครื่องมือในการหารายได้ให้กับคนที่ทำงานด้านวัฒนธรรมตรงนี้ ให้มีกินมีใช้ได้

“สิ่งสำคัญ คือ (การท่องเที่ยว) ตัวนี้ จะเป็นเครื่องมือในการพาเด็กรุ่นใหม่กลับบ้าน คือกลับบ้านอย่างไร มาแล้วไม่ให้เขาไม่มีรายได้ ดังนั้นการทำเรื่องการท่องเที่ยว สินค้าชุมชน ที่มันมีภูมิปัญญา มีเรื่องราวของเราที่มันมีคุณค่า โดยที่เด็กรุ่นใหม่ก็มีทักษะใหม่ๆ มีเครื่องมือใหม่ๆ ที่เข้ามาเสริม กลายเป็นช่องทางให้เขาสร้างรายได้ต่อไป” พี่มืด กล่าว

สร้างพื้นฐาน ต่อยอดสู่ความยั่งยืน

ในส่วนของก้าวต่อไปของชุมชนไทยเบิ้งแห่งโคกสลุง คือ การต่อยอดไปสู่การเป็นสถาบันที่มีสถานะเป็นองค์กรนิติบุคคล ซึ่งขณะนี้ ทางชุมชนได้เตรียมความพร้อมในเรื่องของพื้นที่หรือสถานที่ คือ พิพิธภัณฑ์ เป็นสัญลักษณ์สะท้อนให้เห็นพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงและการทำงานของชุมชนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความร่วมมือของชาวบ้านในชุมชนทุกช่วงวัย รวมถึงแสดงถึงความพร้อมของชุมชนในการต้อนรับนักท่องเที่ยว

นอกจากสถานที่ ทางชุมชนก็ยังเตรียมเครื่องมือที่เรียกว่าความรู้ โดยได้สร้างเป็นหลักสูตรอย่างเป็นกิจลักษณะเพื่อมุ่งพัฒนาคนของชุมชน ตั้งแต่เด็กและเยาวชนไปจนถึงผู้ใหญ่ที่จะเข้ามาทำงานเป็นแกนนำในชุมชน

“ของเราก็จะมีโมเดล มีค่ายพัฒนาอยู่ โดยตอนนี้เด็กรุ่นใหม่ที่กลับมาบ้าน  เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วก็เริ่มสามารถที่จะจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับน้อง ๆ ได้ ไม่ต้องไปจ้างวิทยากรข้างนอกให้วุ่นวาย คือเราไม่มีเงินเราก็ทำได้ ส่วนอันที่สองคือเรามีหลักสูตรที่พัฒนาผู้นำ ที่เรียกว่า เป็นผู้นำหลัก” พี่มืด ชี้แจงก่อนอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมของหลักสูตรการพัฒนาผู้นำหลักที่จะเป็นแกนนำชุมชนว่า เป็นการเสริมทักษะของผู้นำในการที่จะสามารถมองภาพกว้าง ภาพรวม สามารถคิดวิเคราะห์ในเชิงยุทธศาสตร์ได้ ซึ่งหลักสูตรในส่วนนี้จะมีชุดความรู้ที่สำคัญที่ผู้นำชุมชนในศตวรรษที่ 21 จำเป็นต้องมี

ทักษะที่ว่านี้ ไล่เรียงตั้งแต่ความสามารถในการสื่อสารหารือ (Dialogue) ความสามารถในการมองภาพรวมแล้วนำมาใช้กับการพัฒนาชุมชน (System Thinking) การสร้างเครือข่าย (Networking) ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น เพราะชุมชนไม่สามารถทำงานหรือขับเคลื่อนเพียงลำพังได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ เอกชน และวิชาการ  ตลอดจนการทำแผนยุทธศาสตร์ เพื่อให้รู้ว่า เป้าหมายที่มีร่วมกันคืออะไร แล้วจะทำอย่างไรถึงจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ต้องใช้เครื่องมืออะไรบ้าง

ขณะเดียวกัน การทุ่มเททำงานเพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและคงความเป็นไทยเบิ้งแห่งโคกสสุงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงจะทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังสามารถต่อยอดนำสิ่งที่ทำมาถอดบทเรียนเป็นหลักสูตรการเรียนรู้ชุมชน (Community Learning) เพื่อสอนคนในชุมชนเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องมีต้องทำเพื่อเรียนรู้พัฒนาชุมชนให้คงอยู่ต่อไปอย่างเข้มแข็ง

ขณะที่อีกหนึ่งหลักสูตรที่หมู่บ้านไทยเบิ้งแห่งโคกสลุงถอดบทเรียนออกมาได้ก็คือ หลักสูตรการออกแบบการต้อนรับนักท่องเที่ยว (Tourism Design) อันเป็นการต้อนรับในแบบฉบับของชาวไทยเบิ้งแห่งโคกสลุงภายใต้โจทย์ที่ว่า จะต้อนรับด้วยความเป็นไทยเบิ้งอย่างไรให้ผู้มาเยือนมีความสุข ความพอใจ

“เป็นกระบวนการที่เรานำมาพัฒนาคนของเรา อย่าง โฮมสเตย์จะดูแลคนอย่างไร กลุ่มเด็กและเยาวชนมีหน้าที่อะไร แล้วคนที่จะเข้ามาถ่ายทอดภูมิปัญญาให้นักท่องเที่ยวรับฟังต้องทำอย่างไร จะจัดสถานที่ จัดองค์ประกอบของแหล่งเรียนรู้ต้องทำอย่างไร” พี่มืด กล่าว พร้อมย้ำเพิ่มเติมว่า หลักสูตรทั้งหมด นอกจากสร้างความสุขให้กับผู้มาเยือนแล้ว ยังต้องทำให้ชาวบ้านในฐานะเจ้าบ้านมีความสุขด้วยเช่นกัน 

ส่วนอีกหนึ่งหลักสูตรที่เป็นหลักสูตรสำคัญ และเป็นหัวใจหลักของชาวไทยเบิ้งแห่งโคกสลุงก็คือหลักสูตรกระบวนกรชุมชน (Facilitator)หรือการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนในชุมชน ไม่ใช่การสร้างวิทยากรมาสอนคนอื่น แต่เป็นคนที่คอยอำนวยความสะดวกและดึงศักยภาพของคนในชุมชนออกมา ทำให้ทุกคนในชุมชนรู้สึกว่าทุกคนเป็นเจ้าของ

ประธานกลุ่มชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยเบิ้งบ้านโคกสลุงกล่าวว่า ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็คือการเตรียมความรู้และเครื่องมือ ให้เด็กรุ่นหลังที่เข้ามาได้เรียนรู้กระบวนการตรงนี้ และกลายเป็นผู้นำที่สมบูรณ์ในการดูแลชุมชนต่อไป เป็นความรู้ที่เป็นศาสตร์สากล

นอกจากนี้ พี่มืดยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีการเตรียมกลไกเชื่อมประสานระหว่างภายในกับภายนอก ก็คือ “สถาบันไทยเบิ้งโคกสลุงเพื่อการพัฒนา” ที่ทางกลุ่มตั้งใจจะจดทะเบียนตั้งขึ้นเป็นองค์กรที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล อาจจะยกระดับจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมไม่แสวงหาผลกำไร

ไทยเบิ้งแห่งโคกสลุง โมเดล “อนุรักษ์และพัฒนา” จากความเข้มแข็งของชุมชนสู่ความยั่งยืนของวิถีท้องถิ่น

เรียกได้ว่า เป็นการสร้างพื้นฐานพร้อมด้วยกลไก ความรู้ และสถานที่ที่จะให้คนรุ่นต่อไปที่เข้ามาสานต่อสามารถทำงานต่อไปได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ส่งผลให้ชุมชนสามารถยืนหยัดอยู่บนลำแข้งของตัวเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป

“คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาจะต้องไม่มามือเปล่าแบบรุ่นเรา ต้องมีทุน ซึ่งตอนนี้เราก็เตรียมทุนไว้ เป็นการเก็บเล็กผสมน้อย จากรายได้ เช่นการขายสินค้า ขายอาหาร จากการพักโฮมสเตย์ ซึ่งมีการหัก 5% มาเข้าเป็นกองกลาง มีกองกลางของชุมชน กองกลางของโฮมสเตย์ และกองกลางของเด็ก ๆ ซึ่งเด็ก ๆ ก็จะเป็นกลุ่มเมล็ดข้าวเปลือกไทยเบิ้ง ที่มีมาทั้งหมด 6 รุ่นแล้ว”

พี่มืดกล่าวอีกว่า สิ่งที่คาดหวังจากการตั้งองก์กรวิสาหกิจเพื่อสังคมนี้ คือ เป็นองค์กรที่มีกฎหมายรองรับ ตรวจสอบได้ สร้างความเชื่อมั่นนำไปสู่การระดมทุนชุมชน และเป็นช่องทางให้กับภาคเอกชนที่ต้องจัดทำโครงการตอบแทนคืนสู่สังคม (CSR) มาลงทุนในชุมชนต่อไป ควบคู่ไปกับการระดมทุนภายในชุมชนที่มีช่องทางการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว การผลิตสินค้าท้องถิ่นของชุมชน เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการ เป็นระบบที่จะทำให้ชุมชนดำรงอยู่ต่อไปได้จนชั่วลูกชั่วหลาน

“วันหนึ่งเราจะต้องตาย เรามีเวลาอีกเท่าไรที่จะทำงานอยู่ตรงนี้ แล้วถ้าเด็กรุ่นใหม่ไม่มีเครื่องมือ ไม่มีความรู้ตรงนี้ วันหนึ่งเขาจะลุกขึ้นมาทำงานแบบเรา ย่อมทำไม่ได้ ดังนั้น เราจึงมีกระบวนการบ่มเพาะเด็ก โดยมีความรู้ มีรูปแบบการพัฒนาเด็ก ๆ แล้วก็มีเครื่องมือที่จะเติมความรู้เติมอะไรให้ เราเตรียมกลไกการทำงานให้ ซึ่งตอนนี้เราไม่ได้เตรียมอย่างเดียวแล้ว มีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันแล้ว แล้วเตรียมทุน เตรียมเครือข่าย ตอนนี้ก็เหมือนกับว่าเด็กที่ทำงานกับเราก็เริ่มรู้จักเครือข่าย เป็นการสร้างการยอมรับงานที่ทำ วันหนึ่งเมื่อเราไม่อยู่ เราก็เชื่อว่า ถ้าเราสามารถมีกระบวนการแบบนี้ มันก็จะนำไปสู่การทำงานต่อของคนรุ่นใหม่ หรือผู้นำแถวสอง” พี่มืด กล่าว

แม้จะยังไม่แน่ใจว่า สิ่งที่คิด ทำ และวางแผนไว้นี้คือคำตอบของความยั่งยืนของชุมชนไทยเบิ้งแห่งโคกสลุงหรือไม่ แต่หากสามารถส่งไม้ต่อจากรุ่นของตน ไปสู่อีกหนึ่งรุ่นสองรุ่นได้ มีกระบวนการพัฒนาคนแบบนี้ต่อเนื่อง ภายใต้หน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุน มาทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานควบคู่กับการคิดแผนยุทธศาสตร์ของชุมชนอย่างเป็นระบบ เพื่อบอกเป้าหมายและแสดงจุดยืนของชุมชนต่อหน่วยงานภายนอกให้ชัดเจนว่า ได้ทำอะไรไปบ้าง และกำลังจะทำอะไรต่อไป ทำให้ทุกหน่วยงานที่เข้ามาทำงานกับชุมชนยอมรับและทำให้ความร่วมมือเป็นไปได้อย่างราบรื่น

“ไม่ใช่เอาความเป็นตัวตนของเราไปบอกเขา แต่บอกเขาว่า ตอนนี้ทิศทางการพัฒนาของชุมชนกำลังมุ่งไปในทิศทางไหน” พี่มืดกล่าว ก่อนแสดงความเชื่อมั่นว่า ถ้าร่วมมือกันได้ภายใต้แนวคิดดังกล่าว ทุกฝ่ายก็จะได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง โดยที่ชุมชนก็สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างเข้มแข็งและมีศักดิ์ศรี ขณะที่หน่วยงานก็เข้ามาพัฒนาชุมชนให้ยืนหยัดขึ้นได้ ส่วนภารธุรกิจก็ได้ประโยชน์ในแง่ของการที่มีผู้บริโภคในตลาดที่แข็งแกร่ง “แต่ทั้งหมดทั้งมวล ชุมชนต้องบอกความเป็นตัวตนของตนเองได้ บอกเครื่องไม้เครื่องมือ บอกอนาคต บอกทิศทางของตนเองได้” พี่มืด ย้ำ

3 ศาสตร์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ พี่มืด สรุปว่า กระบวนการ เครื่องมือ และความรู้เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานและพัฒนาอัตลักษณ์ อันเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยเบิ้งแห่งบ้านโคกสลุงประกอบด้วย 3 ศาสตร์หลัก ๆ คือ 1) ศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมกันมาหลายชั่วอายุคน 2) ศาสตร์สากล องค์ความรู้สมัยใหม่ที่ต้องรับมาและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม  และ 3) คือศาสตร์พระราชา ซึ่งคอยกำกับย้ำเตือนไม่ให้การอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานและพัฒนาของไทยเบิ้งแห่งบ้านโคกสลุงเดินหลงทิศ หรือลำพองใจ

รวมถึงแนวคิดสำคัญของศาสตร์พระราชาที่ดำรัสไว้ว่า “การพัฒนาต้องเป็นการพัฒนาอย่างสมดุลใน 4 ด้านคือ สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากทำให้ปัจจัยทั้ง 4 นี้สมดุลได้ย่อมตอบโจทย์ความมั่นคงยั่งยืนของชุมชน

“การรักษาวัฒนธรรม ก็คือ การรักษาชาติ ถ้าชุมชนเราไม่รักษารากของเราไว้ เราจะบอกได้อย่างไรว่าเราเป็นไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง ถ้าประเทศไทยเหมือนกับในยุโรป ในอเมริกา หรือเหมือนกับในเกาหลี ในญี่ปุ่น เราก็จะไม่ใช่คนไทย เราไปญี่ปุ่น เราก็ไปดูวัฒนธรรมซามูไรของญี่ปุ่น เราไปเกาหลี เขาก็ขายวัฒนธรรมของเขา หลายที่ที่เราไป เราไม่ได้ไปดูความเจริญ เราไปดูวัฒนธรรมเขา แต่เราอาจจะเข้าใจอะไรบางอย่างไม่ตรงกัน ของเราถ้าเราจะไปแข่งขันเรื่องเทคโนโลยี เรื่องของความทันสมัย เขาไม่มา โดยเฉพาะในชุมชนเราถ้าอยากมาดูความทันสมัย เขาไม่มา ในกรุงเทพฯ มีทุกอย่าง ในเมืองใหญ่มีทุกอย่าง แต่ถ้าจะมาดูเรื่องราวของไทยเบิ้งโคกสลุง ก็มีที่นี่ที่เดียว” พี่มืด สรุป

เทคโนโลยี คือโอกาส เด็กรุ่นใหม่ คือ ทรัพยากร

ทั้งนี้ ความพยายามทุ่มเทเพื่อรักษาเอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นมานานมากกว่า 20 ปี กำลังยกระดับไปอีกขั้นเมื่อทางศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทคมาจับมือเป็นพันธมิตรกับชุมชนไทยเบิ้งแห่งโคกสลุง ด้วยการนำความรู้และภูมิปัญญาของชุมชนมาบันทึกลงบนโลกดิจิทัล เพื่อเก็บรักษาไว้และทำให้ความรู้เข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและกว้างขวาง ตลอดจนพัฒนาสร้างช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์ รวมถึงผลิตเนื้อหา (Content)

“ทำให้คนข้างนอกรู้จัก และนำไปสู่โอกาสในการสร้างมูลค่าให้กับชุมชนเรา เป็นช่องทางที่มันจะได้เก็บข้อมูลของชุมชนเราเป็นฐานข้อมูลชาติ แพลตฟอร์มนวนุรักษ์ของเนคเทคช่วยชุมชนได้มากถึงมากที่สุด เพราะชุมชนไม่รู้ว่าจะต้องเก็บข้อมูลอย่างไรในยุคที่เทคโนโลยีเจริญแบบขีดสุดเช่นนี้” พี่มืด กล่าว


ก่อนเกริ่นถึงแนวทางการยกระดับการพัฒนาชุมชนไปอีกขั้น ก็คือ “Social Lab” ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อไปถึงระบบการศึกษา ที่ว่าเด็กต้องมีการเรียนรู้ที่เกี่ยวกับชุมชน ตั้งแต่ระดับประถมไปจนถึงอุดมศึกษา  โดยถ้าสามารถลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับทางมหาวิทยาลัยได้ ชุมชนไทยเบิ้งก็จะได้นักท่องเที่ยวคุณภาพที่เข้ามาเรียนรู้คุณค่าทางวัฒนธรรมของชุมชนได้

โดยทั้งหมดที่กล่าวมา การร่วมมือกับเนคเทคทำให้เกิดช่องทางที่จะนำพาให้คนเข้ามารู้จักชุมชนไทยเบิ้งแห่งโคกสลุงในอีกมุมหนึ่ง รวมถึงเพิ่มช่องทางให้คนนอกเข้ามา ทั้งท่องเที่ยว เรียนรู้และหาซื้อสินค้าในชุมชน

NAVANURAK Story Creator Challenge 2020

ขณะเดียวกัน การจัดโครงการประกวดให้เด็กและเยาวชนได้ผลิตสื่อสร้างสรรค์ถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนในฐานะ Content Creator ทำให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้วิถีชีวิตท้องถิ่น ที่เด็กอาจไม่เคยมีวันได้เรียนรู้หากไม่ก้าวออกมาจากโลกที่พวกเขาคุ้นเคย

“ช่วง 2-3 วันที่เขามาอยู่ ผมเชื่อว่าถ้าเขาได้มาสัมผัส เขาจะเปลี่ยนมุมมองวิธีคิด อันนี้ผมเชื่อ แล้วเด็กชุดนี้อาจจะเป็นกำลังหลักในการเผยแพร่ หรือถ้าวันหนึ่งเขาต้องไปทำสื่อ เขาจะเป็นสื่อที่มีคุณภาพ และเป็นสื่อที่นำเรื่องของคุณค่าไปบาลานซ์กับเรื่องของมูลค่า สิ่งนี้ผมว่าสำคัญและคิดว่าเด็กชุดนี้จะได้เรียนรู้ประสบการณ์ มองว่าเป็นโอกาสของทั้งชุมชน และของเด็กที่จะได้เรียนรู้ว่า บ้านเรา ประเทศไทย ยังมีเรื่องราวดี ๆ อีกมากมาย แม้แต่ตัวที่บ้านของเด็ก ๆ เอง ถ้าเด็กสามารถนำสิ่งที่ได้จากบ้านโคกสลุงกลับไปทำที่บ้านเขา หรือเพียงแค่เขาเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำ ผมก็ถือว่าวิเศษแล้วกับกิจกรรมที่เราทำกับเนคเทคผมคิดว่าเป็นคุณูปการเลย”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ