TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeพันธกิจ สร้างสรรค์เรื่องเล่า “นวนุรักษ์” ณ ชุมชนไทยเบิ้ง ที่โคกสลุง

พันธกิจ สร้างสรรค์เรื่องเล่า “นวนุรักษ์” ณ ชุมชนไทยเบิ้ง ที่โคกสลุง

เวลา 6.00 . เช้าวันพฤหัสฯ ที่ 17 ธันวาคม 2563 ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง นักศึกษาจากหลากหลายมหาวิทยาลัยกว่า 40 ชีวิต มารวมตัวกันเพื่อเตรียมเดินทางสู่ สถานีโคกสลุง .โคกสลุง  .พัฒนานิคม .ลพบุรี เพื่อร่วมกันพิชิตโครงการประกวดเรื่องเล่า “NAVANURAK Story Creator Challenge 2020” ในรอบสุดท้าย

พันธกิจ สร้างสรรค์เรื่องเล่า “นวนุรักษ์” ณ ชุมชนไทยเบิ้ง ที่โคกสลุง

ก่อนจะถึงเวลาออกเดินทาง เด็ก ๆ แต่ละกลุ่มต่างเก็บภาพบรรยากาศภายในสถานีรถไฟหัวลำโพง เจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้พาเด็ก ๆ ไปสักการะ “จุดตอกหมุดไม้” รัชกาลที่ 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่การรถไฟฯ เคารพนับถือ ก่อนจะพามาเก็บบรรยากาศบริเวณอนุสาวรีย์ “ช้างสามเศียร” หน้าหัวลำโพง

พันธกิจ สร้างสรรค์เรื่องเล่า “นวนุรักษ์” ณ ชุมชนไทยเบิ้ง ที่โคกสลุง

8.00 น. กลุ่มผู้เดินทางเตรียมตัวรอขึ้นรถไฟขบวนที่ 75 ชานชาลาที่ 11 มุ่งหน้าสู่โคกสลุง เส้นทางรถไฟที่มีความสวยงาม โดยเฉพาะช่วงระหว่างเส้นทางบริเวณเขื่อนป่าศักดิ์ชลสิทธิ์ ที่ถูกกล่าวขานว่าเป็น “รถไฟลอยน้ำ” และปลายทางของเด็ก ๆ คือ สถานีรถไฟโคกสลุง เพื่อมุ่งสู่ “ชุมชนไทยเบิ้ง” แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เลื่องชื่อของลพบุรี

พันธกิจ สร้างสรรค์เรื่องเล่า “นวนุรักษ์” ณ ชุมชนไทยเบิ้ง ที่โคกสลุง
พันธกิจ สร้างสรรค์เรื่องเล่า “นวนุรักษ์” ณ ชุมชนไทยเบิ้ง ที่โคกสลุง

เมื่อถึงลงจากขบวนรถไฟที่ สถานีโคกสลุง เด็ก ๆ ก็พบกับฝูงรถอีแลนแตนมารอรับไปสู่ ชุมชนวัฒนธรรม “ไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง” เพื่อเข้าสู่พิธีเปิดการแข่งขัน โครงการ ประกวดเรื่องเล่า “NAVANURAK Story Creator Challenge 2020” โดยโครงนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอเรื่องราว เรื่องเล่าความประทับใจใน ความงดงามของศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาชีพ ภูมิปัญญา และแหล่งท่องเที่ยวในมุมมองใหม่ ๆ เพื่อสะท้อนความรู้สึก ที่มีผ่านคลิปวิดีโอแนวสร้างสรรค์

พันธกิจ สร้างสรรค์เรื่องเล่า “นวนุรักษ์” ณ ชุมชนไทยเบิ้ง ที่โคกสลุง
พันธกิจ สร้างสรรค์เรื่องเล่า “นวนุรักษ์” ณ ชุมชนไทยเบิ้ง ที่โคกสลุง

ไทยเบิ้ง โคกสลุง กับ NAVANURAK Story Creator Challenge 2020

โดยในพิธีเปิดงานโครงการประกวดเรื่องเล่า “NAVANURAK Story Creator Challenge 2020” ในรอบสุดท้ายที่จัดที่ชุมชนไทยเบิ้งที่โคกสลุง “ประทีป อ่อนสลุง” หรือที่คนในชุมชนเรียกว่า “พี่มืด” ผู้แทนชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยเบิ้งบ้านโคกสลุ กล่าวเปิดงานต้อนรับเด็ก ๆ ที่เข้ามาแข่งขันในรอบสุดท้าย ในช่วงหนึ่งของการเปิดงาน พี่มืด กล่าวว่า “วันนี้ชุมชนเรามาทำทริปที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโคกสลุง ชุมชนไทยเบิ้ง เรายินดีต้อนรับทุกท่านที่ให้เกียรติที่ให้ชุมชนเราเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมไปด้วยกัน”

พันธกิจ สร้างสรรค์เรื่องเล่า “นวนุรักษ์” ณ ชุมชนไทยเบิ้ง ที่โคกสลุง
ประทีป อ่อนสลุง” หรือ “พี่มืด” ผู้แทนชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยเบิ้งบ้านโคกสลุ

“เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่เราได้ตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น เรามีแนวคิดว่าพิพิธภัณฑ์นี้จะไม่ได้มีหน้าที่แค่เก็บของเก่า แต่จะต้องเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต และสร้างเป็นพื้นที่เรียนรู้ได้ในอนาคต ซึ่งในยุคนั้นไม่มีใครได้เรียนเรื่องพัฒนาชุมชนเรื่องวัฒนธรรม แต่สิ่งที่มีเหมือนกันทุกคน คือ เราอยากเห็นบ้านเกิดเมืองนอนของเราอยู่กันอย่างมีความสุขบนวัฒนธรรมของเรา 20 ปีผ่านไปเราสามารถทำให้ชุมชนงอกงามขึ้นมาได้ ผู้คนสร้างโอกาส และเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของชุมชน” พี่มืด กล่าวเสริม

ในส่วนของวัฒนธรรมไทยเบิ้ง โคกสลุง จะมีอัตลักษณ์อยู่ 3 อย่าง คือ

  1. ภาษาพูด สำเนียงเหน่อ มีคำลงท้ายด้วย “เบิ้ง” ถ้าเป็นประโยคปฏิเสธ จะลงท้ายด้วย “ด๊อก” ถ้าประโยคสงสัยจะลงท้ายด้วย “เหว่ย” ส่วนประโยคบอกลาก็จะมีลงท้ายด้วย “เด้อ” ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนภาษาวัฒนธรรมกับกระทรวงวัฒนธรรมไปแล้ว
  2. การแต่งกาย ผู้หญิงจะนุ่งโจงกระเบน ส่วนผ้าขาวม้า ที่นี่เรียกว่าผ้าขาว ผู้ชายจะนุ่งผ้าโจม มีผ้าขาวคาดเอว และชุมชนไทยเบิ้งจะสะพายย่าม ถึงแม้ว่าปัจจุบันการแต่งกายก็เป็นไปในยุคสมัยใหม่ แต่ถ้าได้ไปใส่บาตรที่วัดตอนเช้าก็จะเห็นผู้สูงอายุใส่ชุดแบบไทยเบิ้งในสมัยก่อน
  3. นามสกุล คือ จะขึ้นต้นหรือลงท้ายด้วยคำว่า “สลุง”

พี่มืด กล่าวต่อว่า อยากจะให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้กันว่า บางทีเงินอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของความสุข ถ้าได้อยู่ร่วมกันกับครอบครัวกับชุมชนบนวิถีไทยเบิ้ง มีงานทำ มีการกินที่ปลอดภัย ซึ่งมีเงินเท่าไหร่ก็ซื้อไม่ได้

ซึ่งน้อง ๆ ที่มาก็จะได้ไปสัมผัสวิถีกับวัฒนธรรม ที่เรียกว่าเป็นห้องเรียนภูมิปัญญา มีทั้งในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ และบ้านภูมิปัญญา ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นส่วนสำคัญในการจัดการท่องเที่ยวชุมชน และเป็นเครื่องมือในการพานักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้ชุมชนอย่างมีคุณค่า ที่มากกว่าการถ่ายรูปและกลับไป แต่จะได้มาสัมผัสวิถีชีวิต มาทานอาหาร ลงมือทำด้วยกันกับภูมิปัญญาต่าง ๆ

ด้าน ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) หน่วยงานภายใต้สังกัด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการว่า โลกปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เด็กในยุคนี้จะต้องเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาการท่องเที่ยว และการสร้างความแตกต่างจะต้องมีเครื่องมือ

พันธกิจ สร้างสรรค์เรื่องเล่า “นวนุรักษ์” ณ ชุมชนไทยเบิ้ง ที่โคกสลุง
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.)

การท่องเที่ยว คือ รายได้หลักของประเทศไทย จึงไม่น่าแปลกใจเพราะประเทศไทยติดอันดับ 4 ของโลกที่มีคนเดินทางเข้ามาเที่ยว แต่ปริมาณการใช้จ่ายเงินกลับเป็นอันดับ 10 ของโลก หมายความว่ายังมีนักท่องเที่ยวอีกจำนวนมากที่มาเที่ยวและไม่ได้ใช้จ่ายเงินมากมาย

“เราอยากจะให้ใช้โคกสลุงในการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ๆ ที่จะทำให้ได้หลายชุมชนที่ทำเรื่อง Digital Tourism ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่าของชุมชนแล้วอยู่กับมันอย่างยั่งยืน” ดร.ชัย กล่าว

เนคเทค-สวทช. ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม นวนุรักษ์ มาประมาณ 1-2 ปี และมีแต่คอนเทนต์ที่ให้ข้อมูลสถานที่เพียงเท่านั้น ซึ่งการจัดโครงการ “NAVANURAK Story Creator Challenge 2020” จะเข้ามาเสริมการทำคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอผ่านการเล่าเรื่อง (Story Telling) เพื่อให้เข้าถึงเด็กรุ่นใหม่ ได้มีโอกาสที่จะเข้ามาชมคอนเทนต์ และนำไปสร้างมูลค่าต่อได้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม

“ในฐานะตัวแทนของเนคเทค-สวทช.ที่พัฒนาแพลตฟอร์มนวนุรักษ์ การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ ผลลัพธ์ที่จะได้จากคลิปวิดีโอจะเป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมทแพลตฟอร์ม แต่สิ่งที่จะได้มากกว่า คือ นวัตกรที่จะต่อยอด นำความรู้ที่ได้มาสัมผัสจริงขยายผลความรู้ไปยังชุมชนได้โดยตรง ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่สุดดร.ชัย กล่าว

นอกจากนี้ ว่าที่ร้อยตรี ทรงพล แป้นแก้ว นายอำเภอพัฒนานิคม ได้กล่าวในพิธีเปิดงานว่า ต้องยอมรับว่าในวันนี้คนอยู่ในโลกของความเป็นจริงคู่ขนานกับโลกออนไลน์ การที่เนคเทค-สวทช.เข้ามาช่วยเสริมในโลกออนไลน์ ถือเป็นโอกาสของชุมชนไทยเบิ้งที่โคกสลุง ที่มีจุดขายและจุดเด่นได้ถูกเผยแพร่ให้กับโลกได้รับรู้วัฒนธรรมดั้งเดิมที่ถูกรักษาอนุรักษ์สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

พันธกิจ สร้างสรรค์เรื่องเล่า “นวนุรักษ์” ณ ชุมชนไทยเบิ้ง ที่โคกสลุง
ว่าที่ร้อยตรี ทรงพล แป้นแก้ว นายอำเภอพัฒนานิคม

“อาจารย์ประทีป หรือพี่มืด เป็นบุคคลที่มีความสำคัญ เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งในหมู่บ้าน ที่มีโอกาสไปเรียนและมีความสนใจอยากจะถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชน ให้คงอยู่ไว้ และให้ผู้อื่นได้รู้จัก รวมถึงต้องขอบคุณทางเนคเทคและน้อง ๆ ที่สมัครเข้ามา ขอบคุณที่เลือกชุมชนนี้เป็นสถานที่ที่จะเล่าเรื่องราวออกไปสู่สังคม ก็จะทำให้คนเข้ามาเยี่ยมเยียนที่นี่ได้มากขึ้น” ว่าที่ร้อยตรี ทรงพล กล่าว

“ถึงแม้ที่นี่ โคกสลุง จะได้ชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง แต่ผมเชื่อว่าที่นี่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองที่ไม่เป็นรองใครเพราะว่าความมีคุณค่าของชุมชนที่นี่” ว่าที่ร้อยตรี ทรงพล กล่าวสรุป

จิรารัตน์ มีงาม ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลพบุรี กล่าวว่า ที่โคกสลุง นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเข้ามาดูแหล่งท่องเที่ยวที่คนไทยนำมาขาย ทั้งเรื่องวัฒนธรรม โบราณสถาน และธรรมชาติ ทั้งเรื่องของอาหารการกินและเกษตร รวมถึงชุมชน

พันธกิจ สร้างสรรค์เรื่องเล่า “นวนุรักษ์” ณ ชุมชนไทยเบิ้ง ที่โคกสลุง
จิรารัตน์ มีงาม ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลพบุรี

“ถึงแม้เราจะเป็นเมืองรอง แต่เรามีความเข้มแข็งในด้านของชุมชนทั้งสิ้น เราภูมิใจกับชุมชนไทยเบิ้ง ที่เป็นกลุ่มชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ และสามารถนำรายได้เข้ามาสู่จังหวัดลพบุรีได้” จิรารัตน์ กล่าว

“ขอบคุณทีมงาน ที่ช่วยทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีอะไรไปขาย อย่างน้อย 8 เรื่อง และน้อง ๆ ที่เข้ามาร่วมก็จะเป็นตัวจักรสำคัญในอนาคต ที่จะช่วยสร้างภาพให้การท่องเที่ยว และชุมชนได้อย่างมาก ทำให้ลพบุรีเป็นที่รู้จักมากขึ้น” จิรารัตน์ กล่าวปิดท้าย

นวนุรักษ์แพลตฟอร์มข้อมูลวัฒนธรรม

ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) กล่าวอธิบายว่า นวนุรักษ์เป็นแพลตฟอร์มสำหรับบริหารจัดการข้อมูลทางวัฒนธรรม จะเห็นว่าสิ่งที่มีความนิยมสูงขึ้นคือ พิพิธภัณฑ์ที่เป็นวัฒนธรรมชุมชน แต่การบริหารจัดการอาจจะทำได้ไม่เท่ากับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ที่มีงบประมาณเข้ามารองรับอยู่

เนคเทค-สวทช. มองว่า จะนำแพลตฟอร์มเข้ามาช่วยเพื่อให้ชุมชนมีความสามารถที่จะดูแลตัวเองได้ โจทย์ใหญ่ คือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเรื่องการอนุรักษ์ จึงพยายามออกแบบแพลตฟอร์มเพื่อให้เก็บรวบรวมข้อมูล โดยเบื้องต้นจะเป็นข้อมูลทางด้านวัฒนธรรมเพื่อให้ชุมชนสามารถรวบรวมข้อมูลได้ด้วยตนเอง โดยมีคอนเซ็ปต์ว่าชุมชนจะต้องเรียนรู้และสามารถดูแลตัวเองได้

“สิ่งสำคัญ คือ เราอยากจะทำให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อ และเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้มาเป็นระบบดิจิทัลมากขึ้น” ดร.เทพชัย กล่าว

8 ทีม ลุย 8 ฐานเรียนรู้

หลังจบพิธีเปิดก็ได้ปล่อยให้เด็ก ๆ ทั้ง 8 ทีมที่เข้ามาแข่งขันในรอบสุดท้ายนี้ แต่ละทีมจะได้รับโจทย์ให้ทำคอนเทนต์วิดีโอในเนื้อเรื่องที่แตกต่างกันออกไป โดย

  • ทีม Wonder ได้ฐานวัดโคกสำราญ
  • ทีม Arch Travel ได้ฐานทอเสื่อ
  • ทีม Victory ได้ฐานพริกตะเกลือ
  • ทีม Digital Local ได้ฐานทอผ้า
  • ทีม Black Light ได้ฐานขนมเบื้องไทยเบิ้ง
  • ทีม ขบวน 921 ได้ฐานทำพวงมะโหตร
  • ทีม Charlotte ได้ฐานของเล่นจากใบตาล
  • ทีม Baby Group ได้ฐานสถานีรถไฟ
พันธกิจ สร้างสรรค์เรื่องเล่า “นวนุรักษ์” ณ ชุมชนไทยเบิ้ง ที่โคกสลุง
พันธกิจ สร้างสรรค์เรื่องเล่า “นวนุรักษ์” ณ ชุมชนไทยเบิ้ง ที่โคกสลุง
พันธกิจ สร้างสรรค์เรื่องเล่า “นวนุรักษ์” ณ ชุมชนไทยเบิ้ง ที่โคกสลุง

ซึ่งในแต่ละทีม จะต้องทำวิดีโอเล่าเรื่อง 2 เรื่อง คือ เล่าตามโจทย์ที่ได้รับ และทำอีก 1 เรื่องที่สนใจอยากจะทำ โดยหลังจากแต่ละทีมได้เข้าไปเรียนรู้ตามฐานต่าง ๆ แล้ว The Story Thailand ได้พูดคุยกับเด็ก ๆ บางกลุ่ม

พันธกิจ สร้างสรรค์เรื่องเล่า “นวนุรักษ์” ณ ชุมชนไทยเบิ้ง ที่โคกสลุง
ทีม ขบวน 921

ทีม ขบวน 921 ที่ได้โจทย์ทำพวงมะโหตร กล่าวกับ The Story Thailand ว่า “ก่อนหน้านี้เคยมาทำกิจกรรม ศึกษา วัฒนธรรม และมาใช้ชีวิตกับคนพื้นที่ที่โคกสลุงแล้วครั้งหนึ่งพร้อมกับอาจารย์ ซึ่งอาจารย์เห็นว่าทีมน่าจะมีประสบการณ์มากกว่าทีมอื่นจึงให้มาลองดู”

“วัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ สามารถมาปรับใช้กับการเรียนได้ ซึ่งการมาครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ภูมิปัญญาของคนที่นี่เพราะมีเอกลักษณ์อะไรที่มากกว่าที่อื่น ๆ บ้าง ส่วนตัวประทับใจความเป็นกันเองของคนที่นี่ ใจดีและแนะนำทุกๆอย่าง ซึ่งใครมาก็น่าจะประทับใจ” ทีมขบวน 921 กล่าว

พันธกิจ สร้างสรรค์เรื่องเล่า “นวนุรักษ์” ณ ชุมชนไทยเบิ้ง ที่โคกสลุง
ทีม Black Light

ด้านทีม Black Light ที่ได้ฐานขนมเบื้องไทยเบิ้ง กล่าวว่า “พวกเราเรียนสายวัฒนธรรมศึกษาโดยตรงอยู่แล้ว พอดีมีพี่ที่รู้จักส่งโปสเตอร์ของโปรเจกต์นี้มาให้ดู พวกเราชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอยู่แล้ว จึงชวนเพื่อน ๆ เข้ามาร่วมกัน เป็นทีมเฉพาะกิจ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่น่าสนใจ เพราะปกติเวลามาที่ลพบุรีเราก็จะได้เที่ยวกันแค่พระปรางค์สามยอด หรือมาดูลิง แต่เมื่อรู้ว่าที่โคกสลุง เป็นชุมชนเชิงวัฒนธรรม เราจึงตัดสินใจร่วมทีมและส่งโครงการนี้ทันที”

“โคกสลุงเป็นชุมชนที่แข็งแรงมากในเรื่องของการท่องเที่ยว คนในชุมชนให้ความร่วมมือกับนักท่องเที่ยว และต้อนรับพวกเราอยากอบอุ่นเหมือนเป็นลูกหลานซึ่งเราประทับใจมาก และการร่วมงานในครั้งนี้มากกว่าการได้เงินรางวัลเพราะเราได้เข้ามาเรียนรู้การใช้ชีวิตของคนที่นี่ เราตั้งใจจะทำผลงานออกมาให้โดดเด่นและน่าสนใจ” ทีม Black Light กล่าว

พันธกิจ สร้างสรรค์เรื่องเล่า “นวนุรักษ์” ณ ชุมชนไทยเบิ้ง ที่โคกสลุง
อารีรัตน์ มั่นสลุง “มิ้นท์”

ขณะที่ อารีรัตน์ มั่นสลุง “มิ้นท์” เป็นหนึ่งคนที่จบการศึกษาและกลับมาทำงานที่พิพิธภัณฑ์ในเรื่องของการพัฒนากลุ่มเด็กและเยาวชนภายในชุมชน และในโครงการนี้รับหน้าที่ไกด์ประจำกลุ่มให้กับทีม Baby Group กล่าวว่า ที่โคกสลุง มีวัฒนธรรมต่างจากที่อื่น ซึ่งที่นี่ยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ รักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมอยู่ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้แต่งตัวย้อนยุคมาในสมัยก่อน แต่ก็ยังมีการสะพายย่ามและใช้ผ้าขาว อัตลักษณ์ของชุมชน รวมถึงอาหารการกินที่ยังคงเป็นแบบดั้งเดิม

“เราก็อยากให้คนที่มาเที่ยวที่นี่ได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิม” มิ้นท์ กล่าวเสริม

หน้าที่หลักของ มิ้นท์ คือการดูแลฐานต่าง ๆ เช่น การทำขนมเบื้อง ทำพริกตะเกลือ ทำของเล่นจากใบตาล ทำพวงมะโหตร นอกจากนี้ยังมีการเรียนรู้ในแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เช่น การทอผ้า ทอเสื่อ สถานีรถไฟ และวัดโคกสำราญ ที่เป็นโบราณสถานและสถานที่สำคัญมาก ๆ

ส่วนหน้าที่ในโครงการนวนุรักษ์ มิ้นท์ จะรับหน้าที่เป็นไกด์พี่เลี้ยงน้อง ๆ คอยช่วยประสานงานและคอยบอกน้อง ๆ ว่าที่นี่มีอะไรบ้าง เพื่อให้น้อง ๆ มีข้อมูลในการไปคิดว่าจะต้องทำวิดีโอออกมาอย่างไร นอกจากนี้ยังต้องเตรียมอาหารและสถานที่

“โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ที่จะช่วยให้คนภายนอกเข้าถึงคุณค่าของชุมชนเรามากขึ้นผ่านทางโลกออนไลน์ ซึ่งการที่ให้เด็กเข้ามาทำโครงการในพื้นที่ ที่ว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ให้น้อง ๆ เข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เคยมาก่อนหน้านี้มาเห็นวัฒนธรรมที่นี่ก็อยากจะกลับไปทำที่บ้านตัวเอง เป็นไอเดียที่ไปจุดประกายในใจ นำไปพัฒนาชุมชนของตนเองต่อไปในอนาคต” มิ้นท์ กล่าว

ทั้งนี้หลังจากเด็ก ๆ ทั้ง 8 ทีมลงพื้นที่โคกสลุง เป็นเวลา 3 วัน (18-20 ธ.ค.) แล้ว จะมีเวลานำงานที่ถ่ายทำทั้งหมดไปตัดต่อเป็นวิดีโอ และจะต้องส่งผลงานในวันที่ 11 มกราคม 2564 ก่อนจะประกาศรางวัลผู้ชนะต่อไป

รางวัลการประกวด

  • รางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท
  • รางวัลชมเชย 10,000 บาท จำนวน 3 รางวัล

โครงการประกวดเรื่องเล่า “NAVANURAK Story Creator Challenge 2020” คาดหวังเรื่องราวของชาวโคกสลุงชุมชนวัฒนธรรมที่เปิดรับการท่องเที่ยวแบบอยู่ร่วมกันระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่อย่างสมดุลที่สร้างสรรค์โดยคนรุ่นใหม่ มากกว่านั้น คือ การได้ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งการเรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้านให้กับคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์เรื่องเล่าของชุมชนวัฒนธรรมที่อื่น ของประเทศไทยต่อไป

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
ทรงกลด แซ่โง้ว – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ