TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewA-MED มุ่งเชื่อมโยงงานวิจัยสู่อุตสาหกรรม ปูทางไทยสู่ความมั่นคงด้านสาธารณสุข

A-MED มุ่งเชื่อมโยงงานวิจัยสู่อุตสาหกรรม ปูทางไทยสู่ความมั่นคงด้านสาธารณสุข

ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) ภายใต้สังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตั้งเป้าสร้างเทคโนโลอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการและผู้สูงวัยในสังคมไทย ชูจุดเด่นการเป็นศูนย์รวมนักวิจัยมือฉมังที่จับมือกับภาคเอกชน ถอดงานวิจัยสู่อุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยวางรากฐานให้กับประเทศไทยลดการพึ่งพาการนำเข้าเครื่องมือเทคโนโลยีทางการแพทย์ เกิดความมั่นคงยั่งยืนทางด้านสาธารณสุข

วันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) กล่าวกับ The Story Thailand ว่า เครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ของระบบสาธารณสุข เพราะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้การดูแลรักษาพยาบาลคนในสังคมเป็นไปได้อย่างสะดวกสบายและราบรื่นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้สูงวัยและผู้พิการทุพพลภาพ ที่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันด้วยการพึ่งพาตนเองได้อย่างเต็มที่

กระนั้นเป็นที่น่าเสียดายว่า อุปกรณ์เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ส่วนใหญ่ของไทย ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาก็มีการเรียกร้องผลักดันจากกลุ่มทำงานของอาจารย์วันทนีย์มาโดยตลอด จนท้ายที่สุดก็กลายเป็นที่มาของ A-MED หรือ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ ในที่สุด

ขณะเดียวกัน การระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตระหนักและเห็นถึงความจำเป็นของการที่ไทยจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ขึ้นมาให้ได้ 

จุดเด่นของ A-MED อยู่ที่การมุ่งเน้นให้นักวิจัยกว่า 100 ชีวิตในสังกัดคิดค้นงานวิจัยที่จะตอบโจทย์กระแสความต้องการของคนวงกว้างในสังคมเป็นหลัก โดยที่ผลลัพธ์ของงานวิจัยนั้นสามารถต่อยอดไปจนสิ้นสุดที่ปลายน้ำ คือไปถึงมือภาคอุตสาหกรรม จนสามารถผลิตออกมาใช้งานและสร้างรายได้ตอบแทนคืนสู่นักลงทุน ผู้ประกอบการ และผู้คิดค้นพัฒนา ควบคู่ไปกับการเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของผู้คนในสังคม 

“งานหลัก ๆ ของ A-MED จะเน้นไปที่ภาพใหญ่ หาพันธมิตรนักลงทุน จับมือกันดำเนินการ จนกระทั่งถึงปลายทางสุดท้าย สิ่งที่เรามุ่งหวังและต้องการจะทำ คือ การเปลี่ยนให้เอกชนที่อยู่ในสถานะซื้อมาขายไปในวงการเครื่องมือแพทย์ไปเป็นการเป็นเจ้าของผู้ครอบครองหรือมีเทคโนโลยีของตนเอง”

5 ปี งานวิจัย 5 แขนง สร้าง 3 เทคโนโลยีโรดแม็ป 

วันทนีย์ กล่าวว่า A-MED ได้แบ่งทีมวิจัย 5 ทีม เพื่อมุ่งทำวิจัยใน 

  1. เครื่องมือแพทย์ฝังใน ทำงานเกี่ยวกับพวกวัสดุฝังใน เช่น ทันตกรรม หลอดเลือดหัวใจ และกระดูก 
  2. เทคโนโลยีระบบสร้างภาพทางการแพทย์ (Image Processing)  ที่ในช่วง 3 ปีแรกจะเน้นไปที่ Dental CT Scan และ Digital X-Ray 
  3. นวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพรองรับสังคมผู้สูงอายุ 
  4. Bio Medical Signal Processing คือการทำงานเกี่ยวกับพวกสัญญาณชีพต่าง ๆ เครื่องวัดสัญญาณชีพต่างๆ เช่น ความดัน หรือ PKG และ 
  5. กลุ่มคนพิการทุพพลภาพ โดยมุ่งเน้น 2 เทคโนโลยีหลัก ก็คือ accessibility devices และ assistive technology ซึ่งถือเป็นงานวิจัยที่ทำภาพใหญ่ของประเทศ 

ผู้อำนวยการ A-MED กล่าวว่า งานวิจัยของกลุ่มผู้พิการที่ทำไปแล้ว ได้แก่ ศูนย์ Call Center ของผู้พิการทางการได้ยิน โดยการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงให้คนหูหนวกและหูดีสามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ และ Real Time Caption ให้กับทางศูนย์อำนวยการโควิด ในการทำคำบรรยายแบบเรียลไทม์ออกอาการทางสถานีโทรทัศน์เพื่อสื่อสารกับผู้พิการในสังคม 

นอกจากนี้ งานของทีมวิจัยเพื่อผู้พิการยังครอบคลุมถึง การพัฒนาซอฟต์แวร์การเรียนรู้ของเด็กพิการ ซึ่งจะมีทีมงานฝ่ายสนับสนุนในการติดต่อกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์หรือติดต่อหาแหล่งทุน

“เราตั้งเป้าว่า ภายใน 5 ปีจะสามารถลดการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ให้ได้ 40,000 ล้านบาท และส่งเสริมให้โรงพยาบาลรัฐของไทยซื้อเครื่องมือแพทย์ผ่านกลไกบัญชีนวัตกรรมที่รัฐบาลให้การสนับสนุน”

ปัญหา คือ เงินทุน

ในฐานะของผู้ที่ทำงานเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการมาอย่างยาวนานมากกว่า 3 ทศวรรษ ผอ.วันทนีย์กล่าวว่า อุปสรรคท้าทายของไทยไม่ใช่การขาดแคลนบุคลากร แต่เป็นการขาดแคลนแหล่งทุนที่จะสนับสนุนมากกว่า 

“เรามีนักวิจัยและผู้ชำนาญการมากมาย มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศต่างมีทีมงาน มีองค์ความรู้ มีเครือข่ายของตนเอง แต่ขาดเงินทุนสนับสนุน เทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ถือเป็นงานยากที่ต้องการเงินลงทุนจำนวนมหาศาลอย่างต่ำก็ 10-20 ล้านบาท”

นอกจากนี้ ความยากอีกประการของการพัฒนาเครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์อีกประการก็คือ การที่เทคโนโลยีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับชีวิตของคน ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีแต่ละตัวจึงต้องมีหลักจรรยาบรรณ จริยธรรมและศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ จนถึงขณะนี้ ทางศูนย์ A-MED ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือทางแพทย์ออกมาแล้วส่วนหนึ่ง อาทิ 1) ดิจิทัลแพล็ตฟอร์มด้านทันตกรรม ทำครอบฟัน ฟันปลอมและ ซีที สแกนแบบเคลื่อนที่สำหรับศัลยกรรมโรคปากแหว่งเพดานโหว่ 2) ทำวัสดุทดแทนกระดูก ทั้งฟันและกระดูก 3) ทำคอลลาเจนสำหรับปิดแผล และ 4) วัสดุแทนกระดูกที่จะทำให้กระดูกโตขึ้นได้ 

ขณะเดียวกัน ทางศูนย์ A-MED ยังต่อยอดพัฒนาความร่วมมือกับทีมวิจัยในต่างประเทศ เพื่อเกิดการถ่ายทอดและเปลี่ยนเทคโนโลยี เช่น การร่วมมือกับทีมนักวิจัยชาวญี่ปุ่นในการพัฒนากระดูกข้อต่อที่เหมาะกับสรีระโครงสร้างทางกายภาพของคนในภูมิภาคเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เหนื่อย ใหญ่ ยาก แต่ไม่เคยท้อ 

นอกจากนี้ ความยากอีกประการหนึ่งของการสร้างและพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกในมุมมองของ ผอ.วันทนีย์ ก็คือ การสร้างความเชื่อมั่นในหมู่เจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล และผู้ใช้งานชาวไทยว่า เทคโนโลยีของไทยคือเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ เชื่อมั่นเชื่อถือได้ 

โดยผู้อำนวยการศูนย์ A-MED กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา แต่ด้วยกระบวนการผลิต กระบวนการทำทั้งหมดที่มีหลักเกณฑ์ ระเบียบ และมาตรฐานตามขั้นตอนแบบเที่ยงตรง แม่นยำ ไม่ผิดเพี้ยน ที่ทางศูนย์ให้ความสำคัญอย่างมาก ก็เชื่อแน่ว่า จะเรียกความเชื่อมั่นได้ในที่สุด

แม้จะเผชิญงานยากและท้าทาย แต่ผอ.วันทนีย์กลับไม่เคยหยุดคิดการณ์ใหญ่ หรือย่อท้อถอดใจเลยสักครั้ง พิสูจน์ได้จากการเดินหน้ามุ่งมั่นทำงานเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมือแพทย์มาอย่างต่อเนื่องจวบจนกระทั่งล่วงเลยวัยเกษียณมาเกือบ 5 ปีแล้วก็ตาม 

ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้ผอ.วันทนีย์ ยังคงมุ่งมั่น ก็คือ ความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำงานในสิ่งที่ตนถนัดเพื่อให้สามารถตอบแทนประเทศชาติได้อย่างชัด ๆ และเห็นผลได้เร็ว 

“ส่วนตัวอาจารย์คิดว่าไม่ว่าจะเป็นงานเครื่องมือแพทย์หรืองานด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกผลประโยชน์ตกอยู่ที่ผู้ใช้งานบ้านเราเป็นหน่วยงานที่ยังซื้อของใช้จากต่างประเทศอยู่อาจารย์ก็อยากให้หันมามองว่าถ้าเราสามารถช่วยประเทศชาติสามารถลดการนำเข้ารักษาเงินตราเข้าไว้ในประเทศได้ตรงนี้ก็คือความมั่นคงของสาธารณสุขของบ้านเรา”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ