TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessบำรุงราษฎร์ พร้อมรับ กระแส Wellness Next Normal ธุรกิจการแพทย์และพยาบาล

บำรุงราษฎร์ พร้อมรับ กระแส Wellness Next Normal ธุรกิจการแพทย์และพยาบาล

ไม่อาจปฎิเสธได้ว่า การระบาดของไวรัสโควิด -19 ตลอดทั้งปี 2020 ที่ผ่านมา ได้จุดประกายให้สังคมโลกตระหนักและเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเปลี่ยนจากการที่แค่ต้องดูแลรักษายามเจ็บป่วย ไปสู่การสร้างเสริมเตรียมความพร้อมร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงเพียงพอที่จะเผชิญหน้ากับทุกสถานการณ์

ในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพชั้นนำของประเทศไทย ภญ.อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวกับ The Story Thailand ว่า เทคโนโลยี บวกกับกระแส Wellness ในชีวิตประจำวัน จะเป็น Next Normal ของรูปแบบธุรกิจด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาล

โควิด-19 ทำให้ผู้คนพลิกบทบาทจากการตั้งรับ (Reactive) คือ เดินทางไปหาหมอเมื่อป่วย เป็น Proactive ที่ใส่ใจกับการตรวจสุขภาพ ดูแลเอาใจใส่สภาพร่างกายทั้งภายในและภายนอกอย่างละเอียด เพื่อให้มีชีวิตได้อย่างดี มีความสุข เรียกได้ว่า เป็นการเอาใจใส่ดูแล ที่ไม่ใช่เพียงแต่ต้องไม่ให้เจ็บป่วยเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์อย่างมีคุณภาพ

“มุมมองและทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคดังกล่าวจึงส่งผลต่อทิศทางด้านธุรกิจสุขภาพที่ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย และอาจก้าวล้ำหน้าไปไกลกว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับทุกสภาพการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะปัจจัยเสี่ยงต่อธุรกิจและบริการด้านสุขภาพไม่เหมือนกับปัจจัยเสี่ยงในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ไม่มีใครคาดฝันว่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการระบาดของโรคอุบัติใหม่ต่าง ๆ”

ทิศทางของการดูแลสุขภาพจะเปลี่ยนจากแค่เน้นเรื่องการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ (Sickness) ไปสู่การดูแลสุขภาพ (Healthcare and Wellness)

ซึ่งจะเป็นการผนึกกำลังระหว่างการดูแลรักษาที่สามารถ Predictive คือ คาดการณ์ได้ Preventive ป้องกันได้ Pre-Generative เกิดขึ้นสืบต่อได้ และ Treatment ดูแลเยียวยาได้

“สิ่งที่โควิดทำให้รู้ คือ แค่ Medical Healthcare อาจจะยังไม่พอ แต่ต้องมี Wellness เข้ามาร่วมด้วย เพราะการที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโควิด ทำให้ผู้คนตระหนักดีว่าการมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแกร่ง มีภูมิต้านทานที่ดี เป็นสิ่งจำเป็น”

ความคิดที่ว่านี้ ทำให้ผู้คนเริ่มเข้าใจเรื่องของ ​​Wellness มากขึ้น ทั้งนี้ กระแสของ Wellness ที่เกิดขึ้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กระบวนการหลักๆ คือ

1. Diagnosis การวินิจฉัย ที่ไม่ใช่แค่เจาะเลือด แต่ขยายไปถึงการตรวจลึกถึงระดับพันธุกรรม

2. Treatment ครอบคลุมถึงเรื่องการรักษาทางไกล (Telemedicine) มีการผสมผสานร่วมมือกับศาสตร์ของ Vital Life ที่ทำให้โปรแกรมตรวจสุขภาพของคน ๆ หนึ่งเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เป็นการปรับคุณภาพชีวิตเพื่อให้ร่างกายเกิดสมดุลและความแข็งแรง

นอกจากนี้ การทรีทเมนต์ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องของการดูแลในระดับ Supportive Treatment ที่จะช่วยให้คนไข้มีสุขภาพจิตที่ดี เพื่อสุขภาพกายที่ดี เพื่อช่วยยืดอายุให้คนไข้มีชีวิตยาวนานขึ้น เป็นการดูแลอย่างดีในเรื่องของจิตใจและร่างกาย

3. Educative/ Second Opinion เพราะคนเริ่มมีความรู้ มีการศึกษาทำให้เขาเป็นหมอของตนเอง ดังนั้น โรงพยาบาลจึงต้องจัดทำชุดข้อมูลเพื่อให้คนสามารถเข้าไปสืบค้นได้บนโลกออนไลน์ และข้อมูลที่ได้รับจะทำให้ผู้คนปฎิบัติตามคำแนะนำของหมอหรือผู้เชี่ยวชาญโดยไม่ต้องสั่งหรือบังคับให้ทำเหมือนในอดีต

ตัวอย่างเช่น โครงการ “รักษ” (อ่านว่า รัก-ษะ)  ที่บางกระเจ้า ซึ่งถือเป็น New Paradigm ของการทำธุรกิจ Medical Retreat ของทางบำรุงราษฎร์ในการร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่นให้บริการด้านการดูแลรักษาแก่ลูกค้า โดยเริ่มต้นด้วยการให้ลูกค้าต้องพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่าอะไร คือ พื้นฐานของการดูแลสุขภาพ

“ที่โครงการมีบริการเพื่อสุขภาพต่าง ๆ เช่น เมดิคัล ยิม การนวด ฝังเข็ม ที่พักและอาหาร ที่เกี่ยวข้องกับ Healthcare and Wellness อย่างแท้จริง”

4. Delivery คือ การส่งยาและบริการการรักษาถึงบ้าน (Home Services) ภายใต้หลักการ Patience Safety หรือความปลอดภัยของคนไข้สำคัญที่สุด โดยประวัติของผู้ป่วย คุณหมอเจ้าของคนไข้ การฉีดวัคซีน ทุกอย่างจะต้อง Deliver จาก Healthcare Professional เหมือนกับที่ผู้ป่วยเดินทางมาโรงพยาบาล

“เพราะฉะนั้น เทรนด์ในเรื่อง Healthcare จะเปลี่ยนไป ต่อไปโรงพยาบาลจะย้ายไปอยู่ที่บ้านผู้ป่วย และ Telemedicine จะทำให้อาการเจ็บป่วยง่าย ๆ ไม่รุนแรงที่คนไข้ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล เป็นเรื่องง่ายขึ้น ทำให้การเข้าถึงการรักษาง่ายขึ้น ดีขึ้น”

เทคโนโลยี เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย

ความต้องการด้าน Wellness ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจโรงพยาบาลและบริการด้านสุขภาพเดินหน้าไปต่อได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น

ดังนั้น เทคโนโลยีและนวัตกรรมจึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย เป็นโอกาสที่จะทำให้โรงพยาบาลมีความทันสมัยล้ำหน้า มีเครื่องมืออุปกรณ์ ศาสตร์และองค์ความรู้ที่จะตอบโจทย์ความต้องการด้าน Wellness ของผู้คนในสังคม

ทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลและหน่วยงานภายใต้เครือบำรุงราษฎร์ทั้งหมดต้องพร้อมยืดหยุ่น เรียนรู้ เปิดรับ และปรับตัว (Resilience and Adaptability) ให้เข้ากับเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่เกิด Disruptive ในด้านเทคโนโลยี

“เทคโนโลยีจะไม่มีวันรุ่งเรืองถ้าไม่สามารถผลักดันให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้งานได้ หุ่นยนต์ผ่าตัดที่ลงทุนไปจะไม่มีความหมายเลย ถ้าคุณหมอบอกว่า ไม่ต้อง ไม่ใช้ กลายเป็นว่าคุณหมอไม่ได้นำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่คนไข้”

ยกตัวอย่างเช่น การจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างธุรกิจโรงแรมกับโรงพยาบบำรุงราษฎร์เพื่อรองรับ Medical Tourism หรือ Alternative Wellness Suarantine หรือการนำฐานข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลไปบรรจุไว้ใน Wearable Devices ที่จะคอยตรวจบันทึกข้อมูลสุขภาพร่างกายของคน ๆ หนึ่งอย่างสม่ำเสมอ หรือการตรวจในระดับพันธุกรรมเพื่อค้นหาความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง หัวใจ ความดัน เบาหวาน หรืออาการแพ้ยา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด การเตรียมพร้อมอยู่เสมอตั้งแต่ระดับของผู้บริหารไปจนถึงมีแพทย์และเจ้าหน้าที่ระดับปฎิบัติการก็เป็นหัวใจสำคัญสูงสุดในการดำเนินกิจการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ที่ต้องการเป็นโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในประเทศไทยในการบำรุงรักษาประชาชน

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ