TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessอาร์เอส สู่ New S-Curve สร้างความหลากหลาย ต่อยอดระบบนิเวศ ภายใต้ Entertainmerce

อาร์เอส สู่ New S-Curve สร้างความหลากหลาย ต่อยอดระบบนิเวศ ภายใต้ Entertainmerce

อาร์เอสเป็นบริษัทที่อยู่กับโอกาส พร้อมจะปรับตัว เติมเต็มชีวิตผู้คน ด้วยบันเทิง มีเดีย สินค้าคุณภาพ อาร์เอสจะเป็นส่วนหนึ่งของผู้คน สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ หรือ เฮียฮ้อ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อาร์เอส (RS) เปิดฉากคุยกับ The Story Thailand 

เป้าหมายรายได้ของอาร์เอสมีรายได้หมื่นล้านภายใน 3-4 ปีนี้ ปี 2563 จะจบใกล้เป้าที่ 4,000 ล้านบาท ซึ่งโตกว่าปีที่แล้ว ปี 2564 จะเป็นปีที่อาร์เอสกลับมาเติบโตสูง 

เฮียฮ้อ กล่าวว่า เวลาตั้งเป้าหมาย จะตั้งเป้าหมายในสิ่งที่จับต้องได้ ในระยะสั้น ๆ จะตั้งเป้าหมายให้ใหญ่ไว้ก่อนเสมอ และพยายามไปให้ถึง ซึ่งเป้าหมายที่ใหญ่ต้องไม่ไกลเกินไป แล้วทำให้ถึง 

“เป้าหมายของอาร์เอสจะเป็นระยะทุก ๆ 3 ปี ภาพเป้าหมายใหญ่มี แต่ไม่ต้องบอกใคร ภาพใหญ่อยู่ในหัวเฮีย เฮียก็ไม่ต้องบอกใคร เพราะธุรกิจปัจจุบันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”

Entertainmerce จะเป็นกลยุทธ์ใหญ่ที่เชื่อว่าอยู่ได้ไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี แต่ในรายละเอียดของกลยุทธ์ย่อยเปลี่ยนตลอด อาทิ กลยุทธ์ “เก้าอี้ 4 ขาของช่อง 8” “แม่น้ำ 3 สายของ Cool” เป็นต้น จะมีกลยุทธ์ใหม่ ๆ 

ภาพใหญ่ คือ Entertainmerce จะอยู่ได้อีกนานหรือถาวร เพราะ Entertainmerce มาจากโครงสร้างที่อาร์เอสมี ตราบใดที่ยังทำบันเทิง เพลง มีเดีย และคอมเมิร์ซ Entertainmerce จะอยู่เสมอ ซึ่งภายในอาร์เอส เรียก Entertainmerce ว่าการเป็นทีมเวิร์ก เป็นวัฒนธรรมองค์กรของอาร์เอส 

สถานการณ์เศรษฐกิจ ปี 2564 ยังลำบากอยู่ บางธุรกิจยังต้องระมัดระวัง ปรับแผนให้เหมาะสมสอดคล้อง สำหรับอาร์เอสปีหน้าบางธุรกิจกลับมาเป็นโอกาสที่เคยโดนกระทบจากโควิด นั่นคือ การจัดอีเวนต์ จัดคอนเสิร์ต ปีหน้าอาร์เอสจะจัดเต็ม เพราะเชื่อว่าคนอั้น คนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ คนที่มีกำลังซื้อ แต่โควิดทำให้เขาไปไม่ได้ คนกลุ่มนี้พร้อมจ่ายเพื่อความบันเทิง ธุรกิจคอมเมิร์ซ ก็ต้องปรับขนาดแพ็กเกจให้เหมาะสมกับกำลังซื้อของผู้บริโภค

ขยาย RS Mall และ Lifestar เดินหน้า M&A 

เฮียฮ้อ กล่าวว่า New S-Curve คือ กลยุทธ์ในการเติบโตจากธุรกิจเดิม ซึ่งวันนี้ได้ทรานส์ฟอร์มสำเร็จแล้ว คือ ธุรกิจคอมเมิร์ซ ที่เป็นธุรกิจใหญ่ของอาร์เอส ที่มีการเติบโตใน 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นแพลตฟอร์ม RS Mall ที่ยังเติบโตได้อีกมากทั้ง Online และ On Air และบริษัท Lifestar ซึ่งเป็นบริษัทที่สร้างสินค้าใหม่ ๆ มีแผนในการเติบโต ทั้ง RS Mall และ Lifestar จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการเติบโตของอาร์เอส ในปี 3 ปีจากนี้

นอกจากนี้ ยังมีแผนการทำ M&A หาพันธมิตรก้าวไปสู่โอกาสใหม่ ๆ การหาพันธมิตรให้เข้ามาอยู่ในระบบนิเวศของอาร์เอสเพื่อให้มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด มองข้ามไปธุรกิจอื่นที่สามารถเข้ามา Synergy ยุทธศาสตร์ Entertainmerce 

“เชื่อว่า 2-3 เรื่องนี้ หากสำเร็จในช่วงเวลาเดียวกัน จะเป็นตัวเร่งให้เกิด New S-Curve ของอาร์เอส เชื่อว่าจะเห็นในปีหน้า”

ทั้งนี้ การเติบโตของ RS Mall ที่คิดว่าจะขยายได้อีกมาก มิติแรก คือ การเพิ่มพื้นที่ของการเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น วันนี้ที่ทำอยู่คือ On Air และ Online ซึ่ง Online แม้จะมีการเติบโตที่ดี แต่คิดว่ามีโอกาสในการเติบโตอีกสูงมาก

สิ่งที่ RS Mall มี และเป็นหัวใจ เป็นขุมทรัพย์ คือ ฐานข้อมูลลูกค้า วันนี้ RS Mall มีข้อมูลฐานลูกค้า 1.5 ล้านคน และเพิ่มลูกค้าใหม่ทุกวัน 

“เรามีการลงทุนนำซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพเข้ามาวิเคราะห์ฐานข้อมูลเพื่อเพิ่มยอดขาย และเพื่อหาโอกาสใหม่ ๆ” 

สำหรับแผนธุรกิจของ Lifestar คือ การออกสินค้าใหม่ ๆ ในหมวดหมู่ใหม่ ๆ ก้าวต่อไปของ Lifestar ในปี 2564 จะไม่จำกัดอยู่แค่ผลิตสินค้าเพื่อขายใน RS Mall เท่านั้น แต่ขายออกไปในทุกช่องทาง ปัจจุบัน Lifestar อยู่ในเฟสที่ 2 แล้ว เฟสแรก คือ พัฒนาและผลิตสินค้าเพื่อขายบน RS Mall ปัจจุบันมียอดขายประมาณ 50% อีก 50% เป็นสินค้าของพันธมิตรที่มาขายบน RS Mall 

“เรากำหนดนโยบายใหม่ให้ Lifestar ที่จะผลิตสินค้าในหมวดหมู่ใหม่ ๆ ซึ่งเราอาจจะไม่เคยทำ แต่เรารู้จักตลาดจากฐานข้อมูลลูกค้า รู้ว่าตลาดมีความน่าสนใจ อาทิ อาหารสุนัข อาหารแมว เครื่องดื่ม Functional Drink เป็นต้น เป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ และเราอยากลงไปเล่น นี่คือการเติบโตที่น่าท้าทาย และน่าจะเป็น S-Curve ใหญ่ของธุรกิจ Commerce ของเรา

ส่วนการทำ M&A เฮียฮ้อ บอกว่า เวลาจะมองหาธุรกิจไม่ได้มองว่าจะไปหาธุรกิจไหน แต่จะมองจากสิ่งที่มี Synergy และธุรกิจนั้นเมื่อเข้ามาแล้วสามารถเอาสิ่งที่อาร์เอส มี ทั้งศิลปินและมีเดียต่อยอดขยายผลได้ ซึ่งจะกว้างมาก ที่สำคัญ ธุรกิจนั้นต้องเป็นธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์ แล้วไม่เจอปัญหาการดิสรัปต์ หรือถ้าเจอการดิสรัปต์ธุรกิจนั้นสู้ได้ นั่นเป็นธุรกิจที่อาร์เอสสนใจ 

“ภายในปีนี้ น่าจะจบสักดีลหนึ่ง ซึ่งไม่ได้กำหนดขนาดของการลงทุนไว้ ผมเอาโอกาสเป็นตัวตั้งต้น ศักยภาพเรื่องของเงินทุนเราพร้อมอยู่แล้ว อาร์เอสไม่ได้มีหนี้มาก เป็นแค่ Working Cap วันนี้ความพร้อมเรามีอยู่แล้วในแง่ของการทำ M&A ตั้งต้นจากสิ่งที่เราเจอ บริษัทนั้น ธุรกิจนั้น น่าสนใจไหม กำลังคุยอยู่หลายธุรกิจ คนนอกอาจจะมองว่าทำไมผมโดดไปธุรกิจนี้อีกแล้วหรอ แต่ถ้าเข้าใจเหตุและผล ผมว่ามันเรื่องธรรมดา ทุกวันนี้คนอาจจะมองลึกกว่านั้น” 

เล่นเกมตั้งรับ ไม่ใช่วิสัยของอาร์เอส

อาร์เอส ชอบจะมองเข้าไปหาโอกาสใหม่ ๆ การนั่งอยู่เฉย ๆ คือ การนั่งรอวิกฤติ เล่นเกมตั้งรับ ซึ่งไม่ใช่วิสัยของอาร์เอส

เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว วันที่อาร์เอสประกาศว่าจะเข้ามาทำธุรกิจ Commerce เจอคำถามเยอะมาก 90% ไม่เชื่อว่าอาร์สเอสที่ทำธุรกิจบันเทิงมาทั้งชีวิตจะมาทำธุรกิจ Commerce หรือ  e-commerce ได้ วันนี้พิสูจน์แล้วจริง ๆ ว่าอาร์เอสทำได้สำเร็จ 

โลกยุคนี้ คู่แข่งข้ามธุรกิจกันง่ายมาก ไม่ใช่แค่อาร์เอสเป็นตัวอย่าง ธุรกิจข้ามอุตสาหกรรมกันได้ง่าย ๆ ซึ่งเป็นทั้งโอกาส และวิกฤติ

“โอกาส คือ ถ้าเราแข็งแรงเราทำอะไรก็ได้ถ้าเราคิดว่าเรามีความพร้อม ขณะเดียวกัน ถ้าเป็นวิกฤติ คือ ถ้าคุณอยู่ในอุตสาหกรรมใด คุณคิดว่านั่นเป็นของ ๆ คุณ มองคู่แข่งเฉพาะในอุตสาหกรรมเดียวกัน ไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว คุณไม่สามารถรู้ได้เลยว่าคู่แข่งจะมาจากที่ไหน ตัวอย่างมากมาย จริง ๆ ทั้งทั่วโลกและในประเทศก็เริ่มเห็นแล้ว”

เฮียฮ้อ กล่าวว่า ทำธุรกิจวันนี้ อย่าเรียกว่ากังวล เรียกว่า ไม่ประมาทดีกว่า ไม่ว่าจะแข็งแรงอย่างไร ก็อย่าประมาท โลกหมุนเร็วว่าที่คิด คลื่นความเปลี่ยนแปลง คลื่น คือ คำนวณไม่ได้ ไม่รู้ล่วงหน้า สิ่งที่ดีที่สุด คือ เตรียมตัวเองให้พร้อม แล้วไม่ต้องกังวลอะไร ทุกย่างก้าวเดินด้วยความมั่นใจ เชื่อมั่นและอย่าประมาท ปัญหามีไว้ให้แก้ 

เฮียฮ้อ ย้ำว่า Synergy เรื่อง Entertainmerce มีนัยสำคัญมาก หากมองธุรกิจของอาร์เอสเป็นแนวราบ ธุรกิจเพลง ธุรกิจมีเดีย (วิทยุและทีวี) ธุรกิจคอมเมิร์ซ (มีทั้ง RS Mall ที่ทำตัวเป็นแพลตฟอร์ม และ Lifestar เป็นบริษัทผลิตสินค้า) ถ้ามองระบบนิเวศ (Ecosystem) จะเห็นว่าเชื่อมโยงกันหมด ทุกธุรกิจได้ประโยชน์หมด นี่คือสิ่งที่เฮียฮ้อกำหนดและอยากให้เกิดได้มากที่สุด 

Mindset ผู้บริหารแต่ละธุรกิจเข้าใจเรื่องนี้มาก ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจไหน เมื่อมาจับมือกัน มีเป้าหมายเดียวกัน ที่นี่จะไม่มีการไม่ร่วมมือกัน ทำให้เกิดการ Synergy ที่แท้จริงภายใต้ยุทธศาสตร์ Entertainmerce 

การเตรียมตัวให้พร้อม คือ พร้อมจะปรับตัว ปรับตัวให้เร็ว ทัศนคติเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเชื่อว่าการปรับตัวเป็นเรื่องสนุก เป็นเรื่องที่ต้องทำ จะคิดอีกแบบหนึ่งทันที จะมีคนอีกประเภทหนึ่ง ที่รับไม่ได้ ปรับยาก ปรับไม่ได้ มีเสมอ คุณจะเป็นคนส่วนไหน 

“วันนี้ดิสรัปต์หนักมาก คนส่วนใหญ่ลำบาก ธุรกิจส่วนใหญ่ลำบาก ก็เพราะตั้งรับ แต่บนคลื่นดิจิทัลที่ถาโถม ก็มีคนขี่คลื่น เมื่อขี่คลื่นได้ ก็ไปได้เร็วและสนุก สนุกกับการปรับตัว เริ่มจากตัวเราและทำให้ทั้งองค์กรคิดแบบนั้น”

โควิด-19 อาร์เอสโดนกระทบบ้าง ธุรกิจอีเวนต์ถูกกระทบ ที่วางแผนไว้หยุดหมด ธุรกิจมีเดียถูกกระทบ ธุรกิจถูกชัตดาวน์ สิ่งแรกที่ตัด คือ งบโฆษณา

อย่าไปมองทุกอย่างเป็นวิกฤติหมด โควิด-19 ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับทุกบริษัท บางอุตสาหกรรมดี บางอุตสาหกรรมลำบาก เพียงแต่ส่วนใหญ่อาจจะลำบาก สำหรับอาร์เอส โควิด-19 ไม่ได้เลวร้ายเกินไป อย่างกลยุทธ์ “เก้าอี้ 4 ขา” ของช่อง 8 เกิดเพราะโควิด-19 

“พอโควิดกระทบช่อง 8 เราเปลี่ยนแผนทันที ช่อง 8 ต้องหาขาใหม่มาเสริมขาที่หายไป คือมีเดีย รีบทำทันที ทำแบบเร็วที่สุด เอาคอนเทนต์ที่มี หาพันธมิตรขาย ขายในราคาที่คุยกันทุกเรื่อง ขายไว้ก่อน เอาเงินเข้ามาก่อน มันก็สำเร็จ นี่คือตัวอย่าง ว่าต้องปรับตัวให้เร็ว” 

Digital Transformation สู่การรีแบรนด์

อาร์เอสทำ Digital Transformation มาตลอดทั้งชีวิต ตั้งแต่คำนี้ยังไม่ฮิต ธุรกิจเพลง คือ ธุรกิจแรกของโลกที่โดนดิสรัปต์ อาร์เอสถูกกดดัน ถูกบีบ และต้องหนีตายมาตลอดชีวิต 

“วันที่เกิดการดิสรัปต์ จึงไม่รู้สึกว่าแตกต่างจากชีวิตที่ดำเนินธุรกิจมา ซึ่งเป็นข้อดี เพราะเจอมาตลอด ตั้งแต่เทปคลาสเซ็ต มาซีดี มา MP3 ช่วงนี้หนักมาก การดิสรัปต์แต่ละช่วงในยุคอะนาล็อกมันยาว เทปอยู่ได้ 10 ปี ซีดีอยู่ได้ 8 ปี หลังจากนั้น ปีสองปีเลย เราทำ Digital Transformation มาตลอดเวลา ด้วยสภาพธุรกิจต้นน้ำของอาร์เอส คือ เพลง พอมาทำทีวี ก็เจออีก เราเจอตลอด เป็นเรื่องที่อาร์เอสคุ้นเคย”

เฮียฮ้อ กล่าวว่า วันนี้อาร์เอสย้ายมาจดทะเบียนในหมวดพาณิชย์ตั้ง 2 ปีแล้ว ไม่ได้อยู่หมวดมีเดียแล้ว แต่คนยังมองอาร์เอสอยู่ในกลุ่มมีเดียและบันเทิง ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำ คือ รีแบรนด์ ทำให้คนรู้จักอาร์เอสในมุมที่ครบถ้วนกว่านี้ เข้าถึงและเข้าใจมากกว่านี้

มองอาร์เอสได้จากหลายมุม อยู่ที่ว่าคนนั้นเกี่ยวข้องกับอาร์เอสมิติไหน บางคนอาจจะมองอาร์เอสเป็นเพลงก็ไม่ผิด แต่ไม่ใช่เพลงทั้งหมด บางคนมองอาร์เอสเป็นบันเทิง มีเดีย เริ่มมีคนมองว่าอาร์เอสเป็นคอมเมิร์ซมากขึ้นหลังจากที่รีแบรนด์

เปลี่ยน “คนดู” เป็น “ลูกค้า” ด้วย “ข้อมูล” 

การมีฐานข้อมูล อาร์เอสไม่จำเป็นต้องขายแต่สินค้า ขายบริการก็ทำได้ RS Mall มีลูกค้า 1.5 ล้านคน แต่ความเป็นจริงอาร์เอสมีลูกค้ากมากกว่านั้น ช่อง 8 และคูลฟาเรนไฮต์ เจอลูกค้า 10 กว่าล้านคนทุกวัน 

อาร์เอสยังเปลี่ยน “คนดู”​ มาเป็น “ลูกค้า”​ ได้บางส่วนเท่านั้น ยังมีคนดูบางส่วนที่อาจจะต้องการอย่างอื่นมากกว่าสินค้า นี่คือสิ่งที่อาร์เอสมอง และจะไปเติมเต็มความต้องการ 

“เรารู้วามีคนดูช่อง 8 เท่าไร เป็นใคร ถ้าเรามองคนเหล่านี้เป็น ‘คนดู’ เราก็จะเอาข้อมูลเหล่านี้ไปขายโฆษณาให้เอเจนซี่ ซึ่งสิ่งนี้เราทำอยู่ แต่ถ้าเราเอาข้อมูลนี้มาวิเคราะห์ให้ละเอียดมากขึ้น อยู่ที่เราขยันและสนใจเข้าไปรู้จัก ‘คนดู’ และ ‘ลูกค้า’ มากพอหรือยัง เราต้องคิดให้ละเอียด หาให้เจอว่าเดือน ๆ หนึ่งเขาใช้จ่ายอะไรอย่างไร แล้วคิดว่าอะไรบ้างที่เราน่าจะเข้าไป ‘ล้วงกระเป๋า’ ลูกค้ามากขึ้น คือ เอาของที่ดีกว่า บริการที่ดีกว่า ไปเสนอลูกค้า” 

การมีฐานข้อมูลลูกค้า 1.5 ล้านรายแล้วสามารถทำให้ลูกค้าเหล่านั้นกลับมาซื้อเป็นประจำได้คือความฝัน ต้องทำให้คนที่เป็นลูกค้าอยู่แล้วกลับมาซื้อซ้ำให้มากที่สุด ที่ผ่านมาทำได้ดีอยู่แล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ ปัจจุบันรายได้ของคอมเมิร์ซทั้งหมดของอาร์เอส ครึ่งหนึ่งมาจากลูกค้าเก่าซื้อ โดยใช้อัลกิรึธึมที่สร้างจากความรู้จักลูกค้าแต่ละคนมาสร้างเป็นเครื่องมือในการช่วยขายทำให้พนักงานขายสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ระบบนิเวศของอาร์เอส ครบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ RS Mall เป็นหน้าร้าน ส่วน Lifestar เป็นผู้ผลิตสินค้า RS Mall เป็นแกนหลักเพราะเป็นด่านแรกที่เข้าถึงลูกค้า ช่องทางแรก คือ ทีวีช่อง 8 ที่เจอลูกค้า (ช่อง 8 มองเป็น คนดู แต่ RS Mall มองเป็นลูกค้า) วันละ 10 ล้านคน การไปอยู่กับพันธมิตร ทั้งอมรินทร์ทีวี ไทยรัฐทีวี เวิร์คพอยท์ ทีวี เป็นเรื่องเดียวกัน

วัน ๆ หนึ่งโอกาสที่ RS Mall จะไปเจอลูกค้าก็ 10-20 ล้านคน ซึ่งเป็นโอกาส ต้องใช้ข้อมูลและวิธีการที่จะเปลี่ยนจาก “คนดู” เป็น “ลูกค้า” ให้ได้

มุมวิทยุ มีคนฟัง คูลฟาเรนไฮต์ 93 วันละ 2-3 ล้านคน ผ่านแอปของคูลฟาเรนไฮต์ มีคนฟังหน้าแน่น สิ่งที่ทำ คือ เปลี่ยนคนฟังมาเป็นลูกค้า

เพลง ไม่เคยหายไป

“หลายคนคิดว่าเฮียเลิกทำเพลงแล้ว ไม่ใช่” เฮียฮ้อ กล่าวย้ำ

เพลงไม่เคยหายไปจากอาร์เอส เพลง คือ ธุรกิจที่อยู่กับอาร์เอสมาโดยตลอด 40 ปี ธุรกิจเพลงไม่เคยขาดทุนเลย กำไรมาตลอด

แม้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่อาร์เอสลดบทบาทธุรกิจเพลงลงไป อาร์เอสยังทำธุรกิจเพลงอยู่ แต่จากสภาพอุตสาหกรรมเป็นแบบนั้น อาร์เอสก็อยู่แบบที่เหมาะสม ธุรกิจเพลงมีรายได้ไม่มาก ประมาณ 7% ของอาร์เอส กลายเป็นส่วนน้อยของอาร์เอส แต่เป็นธุรกิจที่มีมาร์จินสูงที่สุด

“วันนี้ที่เรากลับมาทำเพลง เพราะคิดว่าเรามีความแตกต่างจากสิ่งที่คนอื่นไม่มี เรามีคอมเมิร์ซมาเชื่อมต่อได้ การกลับมาทำเพลงอีกครั้งหนึ่งของเราในวันนี้ นอกจากจะทำให้ตัวธุรกิจเพลงเองมีการเติบโต จะมีตัวเชื่อม ซึ่งดีกับธุรกิจเพลงเองและดีกับธุรกิจคอมเมิร์ซ ถ้าสามารถสร้างดารา/นักร้องให้เป็น Super Influencer นั่นคือ เป้าหมายเรา เราไม่ได้มองนักร้องเป็นซูเปอร์สตาร์แบบที่เคยทำ แผนของเราจะสำเร็จหรือไม่ เพียงปีเดียวเราก็จะมองออกแล้วว่านักร้อง 9 คนที่เพิ่งเปิดตัวไป ใครมีแววไปต่อ ใครต้องปรับอย่างไร” 

ไม่มีเหตุผลเลยที่อาร์เอสจะเลิกธุรกิจเพลง ช่วงที่ธุรกิจเพลงไม่มีรายได้จากการงทุนทำศิลปิน ค่ายเพลงทั่วโลกลำบากหมด ค่ายที่อยู่ได้ คือ ค่ายที่มี Back Catalog ถ้ามองไปต่างประเทศ ค่าย EMI ไม่สร้างนักร้องใหม่ Warners ไม่สร้างนักร้องใหม่ แต่เขามี Back Catalog บริหารลิขสิทธิ์ 

นั่นเป็นเรื่องที่อาร์เอสทำ 10 ปีที่ผ่านมา รายได้ใหญ่ของธุรกิจเพลง คือ รายได้จาก Back Catalog ที่อาร์เอสมี การสร้างศิลปินใหม่ไม่ได้สร้างรายได้มาก อาร์เอสจึงทำพอประมาณ คือ อาร์สยามแค่ค่ายเดียว 

ปัจจุบัน โซเชียลกับผู้บริโภคกลายเป็นเรื่องเดียวกันแล้ว และสตรีมมิ่งในการฟังเพลง ไม่ใช่เรื่องใหม่ อาร์เอสเคยทำเมื่อ 10 ปีที่แล้วแต่ไม่สำเร็จ วันนั้น คนไทยยังไม่รับ ไม่ยอมจ่ายเงินเพื่อฟังสตรีมมิ่ง และอินเทอร์เน็ตยังไม่พร้อม แต่วันนี้มี 5G การเข้าถึงเพลงได้ตลอดเวลาทั้งการดูการฟัง ประกอบกับทัศนคติของลูกค้าส่วนใหญ่ยอมจ่ายเงินเพื่อฟังเพลง ซึ่งเป็นโอกาสของอาร์เอส

และบนโมเดลธุรกิจเพลง อาร์เอสให้ศิลปินเป็นคนลงทุน ถ้ามองมุมธุรกิจ ก็เป็นธุรกิจที่น่าสนใจ เป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นสูง โอกาสในการหารายได้ดี เป็นธุรกิจที่ไม่ต้องทำการตลาด ทำเพลงให้ดี ตัวเพลงเองคือมาร์เก็ตติ้ง คอนเทนต์ที่ดีคือมาร์เก็ตติ้งที่ดีที่สุด พอไปวางในโซเชียล กลายเป็นว่าทุก ๆ การโปรโมทจะได้เงิน ไม่ไช่การเสียเงิน 

“เป็นเวลาที่ถูกต้องของธุรกิจเพลง บวกกับอาร์เอสมีคอมเมิร์ซ ปลายทางของศิลปินคนหนึ่งที่อาร์เอสจะสร้างไปได้ไกลกว่าเมื่อก่อน ถ้าศิลปินกลายเป็น Super Influencer แล้วมาเชื่อมกับคอมเมิร์ซของอาร์เอส คงมีประสิทธิภาพน่าดู ดีทั้งกับเราและกับตัวศิลปินที่สามารถเป็นพันธมิตรธุรกิจกับอาร์เอสได้ในอนาคต”

หลากหลาย แข็งแกร่ง กระจายความเสี่ยง

อาร์เอส เชื่อว่า การมีธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อไม่ให้พึ่งพาธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเกินไป จำเป็นต้องทำ อาร์เอสถูกวางโครงสร้างไว้แล้ว รายได้ถูกกระจัดกระจาย ทั้งคอมเมิร์ซ มีเดีย และเพลง เป็นต้น

และในแต่ละหน่วยธุรกิจก็กระจายอีก อาทิ ช่อง 8 รายได้จากมีเดีย ขายโฆษณา รายได้จากคอมเมิร์ซ ขายสินค้า และรายได้จากการลิขสิทธิ์ ขายคอนเทนต์ให้ต่างประเทศ กับ OTT และรายได้จากการทำอีเวนต์ เป็นต้น

ทั้งหมดเป็นการสร้างความแข็งแกร่ง และกระจายความเสี่ยงไปพร้อม ๆ กัน รวมถึงสร้างความยืดหยุ่นให้ธุรกิจ

“วันนี้การที่องค์กร ๆ หนึ่งจะอยู่ในเวทีแข่งขันในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งอย่างเดียวยาก Single Skill อยู่ยาก ทั้งระดับองค์กรและระดับปัจเจก ต้องมีความหลากหลาย หลายมิติ เวลามีโอกาสก็โตได้มาก เวลามีปัญหาก็ไม่โดนกระทบทั้งหมด” 

การมีความหลากหลายนำมาซึ่งความท้าทายก็ใช่ส่วนหนึ่ง แต่การทำธุรกิจอย่างเดียวก็ท้าทายเหมือนกัน ธุรกิจเดียวพอเจอธุรกิจ ไม่มีตัวสู้ ก็เป็นความท้าทาย เหมือนการเล่นหมากรุก ถ้ามีตัวเดินหลายตัว มีเบี้ยหลายตัว ตัวนี้เดินไม่ได้มันติด ก็เดินตัวอื่นแทน พอเดินไปสักพักแล้วอาจจะปลดให้อีกตัวเดินได้ แล้วกิน ถ้ามีธุรกิจเดียว เดินไม่ได้คือเดินไม่ได้ แล้วรอเขากิน  

เฮียฮ้อ บอกว่า ที่ผ่านมาก็ทำอะไรล้มเหลวมาตลอด คนชอบมองแต่ความสำเร็จ ในทุกความสำเร็จมีความล้มเหลวอยู่แล้วเป็นธรรมดา การทำธุรกิจ ผิดบ้างถูกบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่ว่า ผิดให้น้อยหน่อย ผิดแล้วเรียนรู้ไม่ให้ผิดซ้ำ

“คิดเร็ว ทำเร็ว ไม่ใช่ก็แก้ให้เร็ว แก้แล้วไม่ดีก็เลิกให้เร็ว เคยผิดพลาดไหม เคยผิด ผิดแล้วก็แก้ มีบ่อยครั้งที่แก้เร็วแล้วก็ดีขึ้น แก้แล้วไม่ดี ถึงจุดหนึ่งก็เลิก อย่าไปยึดติดกับมัน มีหลายครั้งที่เลิกแล้วไม่ได้หมายความว่าเราแพ้ บางทีเราทำไม่สำเร็จ เก็บไว้ก่อน สู้ไม่ได้จริง ๆ เก็บไว้ก่อน อีกสัก 1-2 ปี เอากลับมาทำใหม่ บางทีเป็นเรื่องเวลา เวลาของเราหรือเวลาของตลาด”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ