TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistถอดสลัก หนี้ครัวเรือน เศรษฐกิจต้องฟื้น

ถอดสลัก หนี้ครัวเรือน เศรษฐกิจต้องฟื้น

หนี้ครัวเรือนถูกกล่าวถึงในเชิงกังวลอย่างอื้ออึง หลังหนี้ครัวเรือนหรือหนี้ที่ชาวบ้านกู้จากแบงก์หรือสถาบันการเงินประเภทต่าง ๆ  เพิ่มพรวดราว 30% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่าวยิ่งในช่วงวิกฤติโควิด หนี้ครัวเรือนของไทยพุ่งขึ้นอย่างมัยสำคัญ จาก 13.49 ล้านล้านบาท หรือ 80% ของจีดีพี ณ สิ้นปี 2562 มาเป็น 14.04 ล้านล้านบาท 89.7% ของจีดีพีในสิ้นปี 2563 ก่อนขยับขึ้นไปถึง 14.58 ล้านล้านบาท ทะลุขึ้นไปถึง 90.1% ต่อจีดีพี ในปี 2564 หรืออยู่ในอันดับ 12 ของโลกหากวัดจากสัดส่วนหนี้กับขนาดเศรษฐกิจ ตามข้อมูลของ สภาพัฒน์ฯ

การแถลงข่าวที่มีขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการ (ผอ.) อาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวเชิงวิเคราะห์ต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยว่า นับจากปลายปี 2562 (ก่อนโควิดมาเยือน) ถึงปี 2563 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นราว 10% ชั่วเวลา 1 ปี เธอระบุสาเหตุแยกย่อยลึกลงไปอีกว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในช่วงดังกล่าว (2562 – 2563)  2 ใน 3  (ของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น) มาจากจีดีพีที่ลดลงมากกว่า 7% และ 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น มาจากการพักหนี้เก่าและขอสินเชื่อเพื่อรักษาสภาพคล่อง 

ผู้บริหารแบงก์ชาติรายนี้ ยังระบุสาเหตุที่มาของปัญหาหนี้ครัวเรือน (ไทย) ว่า เกิดจาก 1 ใน 4 ของครัวเรือนมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ใช้จ่ายเกินตัว โดนหลอก สถาบันการเงินกระตุ้นก่อหนี้ และ 4 ใน 5 ของปัญหามาจากการเสนอขายผลิตภัณฑ์สินเชื่อ รวมถึงเป็นหนี้แล้วปิดไม่ได้ ลูกหนี้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดชำระหนี้แต่ขั้นต่ำ ที่สำคัญเป็นหนี้แล้วไม่มีทางแก้ไข 1 ใน 3 ของลูกหนี้ในคดียึดทรัพย์ ไม่สามารถปิดหนี้ได้

แม้หนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้นแบบก้าวกระโดดแต่บางมุม นักวิชาการมองว่าปัญหายังไม่ถึงขึ้นกับขนหัวลุก เนื่องจากโครงสร้างหนี้ครัวเรือนไทยต่างจากประเทศอื่น ๆ พรชัย ฐีระเวช ผอ. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เคยพูดถึงมุมนี้ไว้ครั้งหนึ่งว่า การก่อหนี้ครัวเรือนของคนไทยส่วนใหญ่นำมาประกอบอาชีพและก่อให้เกิดรายได้ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 65% ของหนี้ครัวเรือนรวม  

เขาแจกแจงต่อว่า หนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้น เป็นหนี้ครัวเรือนที่ทำให้เกิดความมั่งคั่ง โดยนำไปซื้อสินทรัพย์ และประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ กรณีนำไปซื้อสินทรัพย์มีสัดส่วน 34.5% นำไปซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ซึ่งประเมินว่าการซื้อรถยนต์ และจักรยานยนต์นี้เพื่อนำไปประกอบอาชีพ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 12.4% นำไปประกอบอาชีพ 20% ฉะนั้น คิดรวม ๆ แล้ว หนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นนำไปประกอบอาชีพมากกว่า 65%

แต่ถึงกระนั้นหลายฝ่าย หรืออันที่จริงเกือบทุกฝ่ายมองว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือน หากปล่อยให้กลไกธรรมชาติจัดการจะสร้างปัญหาให้ครัวเรือนทั้งด้านปากท้อง และสังคม ซึ่งจะโยงไปถึงสังคมใหญ่ในที่สุด สะท้อนจากรัฐบาลออกประกาศ (อย่างขึงขัง) ให้ปีนี้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน และตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ “หนี้” ทั้งหลายต่างพาเหรดกันออกมาขับเคลื่อนกิจกรรม “แก้หนี้” กันอย่างคึกคัก ล่าสุด กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติจับมือเปิดตัวมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน 

ตามไทม์ไลน์ของมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ฯ จะเริ่มจากมหกรรมออนไลน์ เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย.- 30 พ.ย. 65 ครอบคลุมสินเชื่อ บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล เช่าซื้อรถยนต์ จำนำทะเบียนรถ และทุกสินเชื่อของธนาคารของรัฐ รวมเจ้าหนี้ 56 แห่ง และช่วงที่ 2 จะมีมหกรรมสัญจร ตั้งแต่เดือน พ.ย.65 – ม.ค.66 แก้หนี้ลูกหนี้ธนาคารของรัฐทั่วประเทศ เช่น แก้หนี้เดิม เสริมทักษะทางการเงิน และเติมเงินใหม่หากจำเป็น

พรชัย ผอ.สศค. ในฐานะโฆษก กระทรวงการคลัง ให้รายละเอียดมหกรรมแก้หนี้รอบนี้ว่า แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 เริ่มจากการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิม โดยลดภาระให้สอดคล้องกับรายได้ แก้ไขหนี้เจาะจงกลุ่มเป้าหมาย เช่น ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ลูกหนี้สถาบันการเงิน ลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้ข้าราชการ ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล รวมทั้งผู้ที่เจอปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ขั้นตอนที่ 2 สร้างรายได้เพื่อลดปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาว เช่น ผู้ประกอบการอาชีพอิสระมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รี-โอเพ่น  ธุรกิจโรงแรมและซัปพลาย เชนโรงแรม ให้สินเชื่อปรับปรุงธุรกิจดอกเบี้ย 1.99% ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 7 ปี หรือ โครงการสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย ให้สินเชื่อกับเอสเอ็มอีในธุรกิจท่องเที่ยวดอกเบี้ย 3.99% ระยะเวลากู้ 7 ปี 

ส่วนประชาชนทั่วไป โครงการสร้างอาชีพ ผู้ที่ตกงานเข้าอบรมอาชีพและให้สินเชื่อดอกเบี้ย 3.99% ระยะเวลา 5 ปี สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ และกลุ่มเกษตรกรและผู้ผลิตสินค้าชุมชน มีโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยให้สินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตพัฒนา การตลาด ดอกเบี้ย 0.01% ระยะเวลากู้ 3 ปี

ขณะที่ขั้นตอนที่ 3 สร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยการสร้างทักษาะทางการเงิน โดยปลูกฝังความรู้ทางการเงินตั้งแต่เด็กและเรียนรู้ไปตลอดชีวิต ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัยตั้งแต่กลุ่มเด็กและเยาวชนจนถึงผู้สูงอายุ แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินปี 65-70 ให้ธนาคารของรัฐส่งเสริมความรู้ทางการเงินและทักษะการประกอบอาชีพให้แก่ลูกค้าของตนเอง และผู้กู้ยืมกองทุน กยศ.กำหนดให้ผ่านหลักสูตรพัฒนาทักษะทางการเงินภาคบังคับ

เรียกว่ามหกรรมแก้หนี้รอบนี้ ทำแบบครบวงจนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เติมเงินใหม่เพื่อสร้างรายได้ และให้ความรู้เพื่อจัดการด้านการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยหลักการต้องนับว่าดี แต่กุญแจดอกสำคัญที่จะถอดสลัก หนี้ครัวเรือน ที่ถูกเปรียบว่า เหมือนระเบิดเวลาให้ กลับมาอยู่ในจุดที่ไม่น่ากังวลคือการเพิ่มรายได้ เหมือนที่ ดร. เศรฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ พูดไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องแก้ด้วยรายได้ควบคู่ไปกับการดำเนินการแก้หนี้  แต่ถ้ารายได้ไม่มาก็ไปไม่รอด ดูองค์รวมการแก้หนี้ ต้องให้เศรษฐกิจฟื้น ต้องให้รายได้กลับมา

สรุปวนซ้ำอีกครั้ง การแก้หนี้ครัวเรือนต้องให้เศรษฐกิจฟื้น

ผู้เขียน: “ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

กระตุ้น “ท่องเที่ยว” ดันเศรษฐกิจโค้งสุดท้าย

ระลึก 25 ปี “วิกฤติต้มยำกุ้ง”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ