TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessเศรษฐกิจไทย บนบ่าของ "คนชั้นกลาง"

เศรษฐกิจไทย บนบ่าของ “คนชั้นกลาง”

จนถึงวันนี้ โศกนาฏกรรมที่เกิดจากโควิด-19 ได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกกว่า 4 แสนคน ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 100 ปี ทุกประเทศต้องอัดเงินงบประมาณมหาศาลเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ในส่วนประเทศไทย สภาฯ เพิ่งผ่าน พรก. 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินกู้จริง ๆ 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 6 แสนล้านบาท เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แจกเงินคนละ 5 พันบาทเป็นเวลา 3 เดือน และเยียวยาเกษตรกรอีกรายละ 15,000 บาท ส่วนอีก 4 แสนล้าน ใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เหนือสิ่งใดหนี้ที่เกิดจากเงินกู้เหล่านี้ เมื่อถึงเวลาชดใช้ก็ตกเป็นภาระของเงินภาษีประชาชน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานกินเงินเดือน คนที่ทำธุรกิจเล็กขนาดกลางกลุ่มนี้คือ ”คนชั้นกลาง” ที่เป็นฐานภาษีใหญ่ที่สุด

นอกจากนี้ คนชั้นกลางไทยขึ้นชื่อว่า ”ช้อปง่าย จ่ายแหลก แดกด่วน” ตั้งแต่ อาหารการกิน เสื้อผ้า มือถือ คอมพิวเตอร์ ทีวี ตู้เย็น คอนโดฯ ทาวเฮาส์ รถยนต์ มอเตอร์ไซด์ และท่องเที่ยว คนชั้นกลางจึงเป็นกลุ่มที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% มากที่สุดเช่นกัน และเป็นผู้บริโภคหลักที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจในประเทศให้เกิดการขยายตัว

ไม่นานมานี้ Facebook รายงานว่าไทยมีคนชั้นกลาง 49 ล้านคน หรือ 73% ของคนทั้งประเทศและบอกว่า คนชั้นกลางจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชั้นกลางในต่างจังหวัดเพราะพวกเขาเข้าถึงเศรษฐกิจผ่านการเชื่อมต่อสมาร์ตโฟน ธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ และโลจิสติกส์ได้ง่ายขึ้น

จะเห็นว่าภาระของประเทศนี้ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากภาษี การตุ้นการบริโภค ล้วนแต่ ”ตกอยู่บนบ่า” ที่คนชั้นกลางแบกรับไว้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย ”ประชานิยม” ที่รัฐบาลต่าง ๆ ใช้เป็น ”อาวุธลับ” หาเสียงกับประชาชนระดับรากหญ้าจนแทบสำลัก

แต่ถ้าคนรวย คนทำธุรกิจที่มีการลงทุน แบงก์ชาติ ก็จะอุ้มผ่านการ ”ลดดอกเบี้ยนโยบาย“ เพื่อช่วยให้คนรวย ธุรกิจเอกชนมีต้นทุนที่ต่ำ ล่าสุดก็ออกพรก.มาเยียวยาให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 4 แสนล้านบาท

ทุกครั้งที่ ”ลดดอกเบี้ย” คือ ความเจ็บปวดของมนุษย์เงินเดือน คนชั้นกลางที่ อุตส่าห์เจียดเงินเดือนส่วนหนึ่งฝากไว้สำหรับอนาคตข้างหน้า เฉพาะอย่างยิ่งคนเกษียณได้เงินมาก้อนหนึ่งหวังอาศัยเงินฝากเล็ก ๆ น้อยไว้ดำรงชีวิตในบั้นปลาย แต่เมื่อมีนโยบายดอกเบี้ยต่ำทำให้รายได้ของคนกลุ่มนี้ลดลง กลายเป็นว่าการทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำเท่ากับผลักภาระให้คนชั้นกลาง ต้องมาอุ้มพวกคนรวย แต่คนชั้นกลางต้องช่วยตนเอง ไม่สามารถจะหวังพึ่งการฝากเงินกับธนาคารได้

ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลจะเอาใจคนแค่ 2 กลุ่ม คือ คนรวยสุดกับจนสุด คนรวยสุดมีธุรกิจใหญ่โต กลุ่มนี้แค่ 1% แต่ครอบครองทรัพย์สินเกือบ ๆ 70% ของประเทศ แต่ได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐบาลมากที่สุด อาจจะเพราะมีความเชื่อว่าคนรวยและบริษัทขนาดใหญ่ มีส่วนสำคัญในการผลักดัน GDP เมื่อ GDP โต เศรษฐกิจก็จะดี และคนในภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคม จะได้อานิสงส์ตามไปด้วย

อีกกลุ่มที่ถูกเอาอกเอาใจมากที่สุด คือ กลุ่ม คนระดับรากหญ้า ทั้งในชนบทและในเมือง กลุ่มเกษตรกร คนกลุ่มนี้รัฐบาลก็ต้องช่วยเหลือเพราะถือว่าเป็นกลุ่มด้อยโอกาสในสังคม รัฐจะต้องดูแลและเป็นฐานเสียงสำคัญ

สำหรับคนชั้นกลางกลับถูกทอดทิ้ง ทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่เสียภาษีหลักให้กับประเทศ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยต้องเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคลที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะถูกหักคอ ณ ที่จ่ายทุกเดือน ระดับอัตราสูงสุดถึง 35% สูงกว่าอัตราภาษีของนิติบุคคลที่เสียแค่ 20% เท่านั้น

นี่คือภาระที่ต้องแบกของคนชั้นกลางที่ไม่เคยได้ประโยชน์อะไรจากนโยบายรัฐ กลายเป็นคนที่ถูกลืม ไม่มีปากมีเสียง แม้แต่ครั้งนี้ มีเสียงเรียกร้องว่า คนชั้นกลางควรจะได้รับเงินเยียวยาที่มาจากภาษีของเขาด้วย แต่ก็เงียบหายไปกับสายลมไม่ได้รับการเหลียวแลแต่อย่างใด

ทวี มีเงิน

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

-วิกฤติครั้งนี้หนักกว่า “ต้มยำกุ้ง”
-สายการบิน “แห่งชาติ” ไม่สำคัญเท่า…
-โรงแรมเมียนมา 1 ใน 3 เปิดรับนทท. อีกครั้ง
-องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล-อินโดนีเซีย ใช้ AWS ช่วยลิงอุรังอุตัง
-5G นวัตกรรมที่จะมาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และสมาร์ทโฟนในมือ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ