TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistวิกฤติครั้งนี้หนักกว่า "ต้มยำกุ้ง"

วิกฤติครั้งนี้หนักกว่า “ต้มยำกุ้ง”

ในวงสนทนามักจะมีคนตั้งปุจฉาว่า วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 เทียบกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ในปี 40 ครั้งไหนหนักกว่า คงจำกันได้ วิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ประเทศไทยเกือบจะล้มละลายกันทั้งประเทศ โดยเริ่มก่อตัวตั้งแต่ ปี 37 ตอนนั้นจีดีพี.เติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นแม่เหล็กดูดนักลงทุนต่างประเทศพาเหรดเข้ามาลงทุน ยิ่งทำให้เศรษฐกิจดี มีเงินสะพัด แบงก์พาณิชย์กู้เงินจากต่างประเทศดอกเบี้ยถูกๆมาปล่อยกู้ดอกเบี้ยแพง ๆ เจ้าของธุรกิจบางรายก็ไปกู้เองโดยตรง

-สายการบิน “แห่งชาติ” ไม่สำคัญเท่า…
-Facebook และ PayPal ร่วมลงทุนใน Gojek ตั้งเป้าขยายธุรกิจเพย์เมนต์

พอปี 40 ฟองสบู่แตกจากการโจมตีค่าเงินบาทแบงก์ชาติสู้ไม่ไหวในวันที่ 2 กรกฎาคม 40 รัฐบาลได้ประกาศ”ลอยตัวค่าเงินบาท” เงินบาทอ่อนค่าลงจาก 25 บาทต่อดอลลาร์ ลงมาเรื่อย ๆ กระทั่งต่ำสุดที่ระดับ 56 บาทต่อดอลลาร์ สถาบันการเงินที่มีปัญหาสภาพคล่องต้องปิดกิจการไป 56 แห่ง ธนาคารยังต้องให้รัฐเข้ามาช่วยอุ้ม ธุรกิจเอกชนโรงงานอุตสาหกรรมลดคนลง คนงานถูกลอยแพส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ ประเทศไทยจึงเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุด จีดีพี.ไหลรูดลงมาสู่จุดต่ำสุดจากร้อยละ 2.6 ในปี 40 เป็นร้อยละ -2.2 ในปี 41

หากวิกฤติต้มยำกุ้งเป็น “วิกฤติการเงิน” วิกฤติโควิด-19 ก็เป็น “วิกฤติสุขภาพ” ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง รัฐบาลจึงต้องตัดวงจรการแพร่เชื้อด้วยการ “ล็อคดาวน์” ทั้งประเทศ เศรษฐกิจเดินเข้าสู่ไอซียู ธุรกิจเป็น “อัมพาต” แบงก์ชาติคาดการณ์ว่า ปี 63 จีดีพี.ของไทย-5.3 น้อยกว่าไอเอ็มเอฟ. ที่คาดว่า-6.7% แต่มีบางสำนักฟันธงว่า -10% เลยทีเดียว

ธุรกิจท่องเที่ยวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตลอดหลายปีมีสัดส่วน12% ของจีดีพี เพราะพิษโควิด-19 เครื่องยนต์ตัวนี้ต้องดับสนิทในช่วงเดือนเมษาที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเมืองไทยจำนวนเป็น0 เท่ากับลดลง 100% โรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร แหล่งบันเทิงต่าง ๆต้องปิดพนักงานถูกลอยแพราว 15-17 ล้านคนต้องตกงาน

โรงงานอุตสาหกรรมพากันปิดตัวชั่วคราว หนีการแพร่ระบาด อีกทั้งประสบปัญหาวัตถุดิบจากจีนส่งไม่ได้ ออร์เดอร์จากลูกค้าไม่มี โรงงานหลายแห่งต้องปิดกิจการ วิกฤติครั้งนี้ยังลามไปถึงอาชีพอิสระ หาบเร่แผงลอย สะท้อนจากประชาชนที่เดือดร้อนยื่นขอเยียวยาจากรัฐบาลถึง 26 ล้านคน ราว 1 ใน 3 ของประเทศ

คราวเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ภาคเกษตร ภาคชนบทของไทยยังเข้มแข็งสามารถรองรับแรงงานตกงานจากกรุงเทพได้แต่ในวิกฤติ โควิด-19 ภาคเกษตรอ่อนแอในชนบทก็มีแต่คนแก่ที่ลูกหลานต้องทำงานส่งเงินกลับมาเลี้ยงดู แถม เจอปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จึงอยู่ในสภาพอ่อนแอไม่สามารถรองรับแรงงานคืนถิ่นได้เหมือนเดิม

ที่สำคัญ วิกฤติต้มยำกุ้ง จำกัดวงอยู่แค่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้เท่านั้นเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังไปได้ดี ยิ่งเมื่อเงินบาทอ่อนค่าจึงเป็นผลดีต่อภาคส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเกษตรทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ธุรกิจท่องเที่ยวก็คึกคักนำรายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำ

แต่คราวนี้ทั่วโลกต่างก็เจอวิกฤติพอ ๆ กันดังที่ “โรเบิร์ต ซิลลิค” อดีตประธานธนาคารโลกบอกว่า “นี่คือภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ หนักยิ่งกว่าครั้งไหน ๆ การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างเชื่องช้าขึ้น ๆ ลง ๆ และด้วยต้นทุนที่สูง” ดังนั้นทุกประเทศจึงหันมาใช้นโยบายพึ่งตัวเองค้าขายกันเองและท่องเที่ยวในประเทศ คาดว่าปีนี้นักท่องเที่ยวต่างประเทศมาเที่ยวเมืองไทยไม่เกิน 10 ล้านคนจาก 40 ล้าน คนส่งผลรายได้ลดฮวบ

ถ้าบอกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือ คนรวยที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีสถาบันการเงินกว่า 50 แห่งต้องปิดตัวก็คงไม่ผิด แต่กลุ่มแม่ค้าทั่วไปยังทำมาค้าขายได้ แต่ช่วง โควิด-19 ทุกคนได้รับผลกระทบทั้งหมด ทั้งคนจน คนชั้นกลาง คนรวย ไม่เว้นประเทศร่ำรวย ประเทศมหาอำนาจเดือดร้อนเหมือนกันหมด ที่สำคัญยังไม่รู้ว่าวิกฤติจะจบลงเมื่อใด

แต่อย่าลืมว่า บ้านเรายังมี “ปัจจัยลบ” อื่น ๆ ที่คอยซ้ำเติม การเมืองแตกแยก เศรษฐกิจอ่อนแอก่อนหน้านี้ พายุดิสรัปชั่นที่กวักมือเรียก วิกฤติ โควิด-19 จึงหนักหนาสาหัสกว่า วิกฤติต้มยำกุ้งหลายเท่า…พร้อมรับมือกันหรือยัง

ทวี มีเงิน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ