TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessKBank Private Banking ส่งมอบความสุขจากความมั่งคั่งที่สมบูรณ์และยั่งยืน

KBank Private Banking ส่งมอบความสุขจากความมั่งคั่งที่สมบูรณ์และยั่งยืน

จะด้วยความผันผวนทางเศรษฐกิจ วิกฤติโรคระบาดใหม่ ความขัดแย้งและสงคราม ภัยพิบัติทางธรรมชาติจากภาวะโลกร้อน การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือการเปลี่ยนผ่านอื่นใดโดยเฉพาะในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต ธุรกิจ และมูลค่าเงินในกระเป๋าของทุกคน จึงเป็นความท้าทายสำหรับการวางแผนกลยุทธ์การเงินการลงทุนเพื่อชีวิตที่มั่นคงและมั่งคั่ง ให้พร้อมรับแรงเสียดทานต่อทุกสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างยั่งยืน

ความมั่งคั่งที่สมบูรณ์แบบ

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย (KBank) บอกเล่าถึงพันธกิจสำคัญในการส่งมอบ “ความมั่งคั่งที่สมบูรณ์แบบ หรือ Perfect Wealth” ให้กับลูกค้า ด้วยวิสัยทัศน์ที่ไกลกว่าการสะสมเงินทอง แต่เป็น “ความมั่งคั่งที่ประกอบด้วยความสุข”  

“เราคิดกันเยอะมากว่าจะส่งมอบอะไรให้ลูกค้า ถ้าเป็นความรวยก็ดูจะตื้นเขินเกินไป ความสุขก็นามธรรมเกินไป แต่หากเอาความสุขไปประกอบความมั่งคั่งจะได้ไหม เพราะลูกค้าหลายรายที่เราเจอ มั่งคั่งแล้วทุกข์ เพราะสะสมมากก็ทุกข์ว่าจะสูญเสีย สะสมแล้วก็อยากให้ทรัพย์สินเพิ่มขึ้น และสามารถส่งต่อทรัพย์สินเหล่านั้นไปให้คนที่รัก”

“เก็บรักษา สร้างความเติบโต และส่งต่อ”  จึงเป็นการตกผลึกวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจจากความเข้าใจใน ความกังวล ของลูกค้าซึ่งนำไปสู่การออกแบบบริการที่ตอบทุกโจทย์ ที่เรียกว่า International Comprehensive Wealth Management Services โดยมี 2 คำสำคัญที่เป็นหัวใจ คือ “Comprehensive” บริการที่ครอบคลุมครบถ้วนทั้งการเก็บรักษา สร้างความเติบโต และส่งต่อ และ “International” ความเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งกลายมาเป็นรากฐานของการออกแบบกลยุทธ์ นโยบาย และรวมถึงบริการจัดการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ

“เรากลับไปหาหลักการตลาดพื้นฐานในเรื่อง Customer Oriented และ Market Oriented โดยมองหา pain point ที่เกิดกับลูกค้าและตลาด พัฒนาเป็นบริการที่ตอบโจทย์ หากทำไม่ได้ก็หาพาร์ทเนอร์ที่มีศักยภาพ โชคดีที่ได้ ลอมบาร์ด โอเดียร์ (Lombard Odier) คอยสนับสนุนเราในการเพิ่มเติมองค์ความรู้ ต่อยอดสู่การพัฒนาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการทำงานร่วมกันตลอด 8-9 ปี สามารถสร้างประโยชน์ที่มอบให้กับลูกค้าได้อย่างมากมาย”  

Wealth Planning Services ต้นเรื่องของการสร้างความมั่งคั่งที่สมบูรณ์แบบ ที่เริ่มจากการวางแผนการเก็บว่า จะเก็บอย่างไร เก็บรูปแบบไหน รวมถึงบริหารจัดการภาระที่เกิดระหว่างทาง เช่น ภาษีต่างๆ  เมื่อเก็บแล้วส่งต่อด้วยต้นทุนที่น้อยที่สุด มีความเหมาะสมและยั่งยืนในการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ระหว่างกระบวนการส่งต่อก็ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง รวมถึงผู้รับมีศักยภาพในการรับต่อ 

“ในอดีตการเก็บทรัพย์สินไม่ได้มีภาระมาก ทุกคนที่ทำงานด้านไพรเวทแบงก์ก็จะเน้นการลงทุนอย่างเดียว ซึ่งตอบโจทย์แค่การเติบโต แต่เรามองว่าไม่สมบูรณ์และไม่ยั่งยืนพอ เพราะหากวางแผนได้ไม่ดี ส่งต่อไปแค่ 3 รุ่นก็อวสาน แต่ถ้าวางแผนดีสามารถส่งต่อไปได้ถึง 8-9 รุ่นเลยทีเดียว”

4 เสาหลักสู่ความมั่งคั่ง

4 เสาหลักของโซลูชันการบริหารความมั่งคั่งครบวงจร ของ KBank Private Banking ประกอบด้วย

  • การลงทุนที่ยึดหลักการ Risk-based Asset Allocation ออกแบบมาเพื่อรับมือในยามเศรษฐกิจขาลง เกิดความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนทำให้ “ผลตอบแทนที่ได้มากหรือน้อยไม่สำคัญเท่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น” เข้าตำราขาดทุนน้อยฟื้นง่าย ขาดทุนมากฟื้นยาก การจัดการลงทุนจึงยก “ความเสี่ยงเป็นที่ตั้ง” ด้วยการพยายามป้องกันหรือควบคุมความเสี่ยง การจัดสมดุลความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนชนิดไม่ให้เดินหมากผิดหนึ่งตาเสียทั้งกระดาน และไม่ว่าสถานการณ์หรือความเสี่ยงจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร พอร์ตการลงทุนจะต้องมีความเสี่ยงคงที่ สามารถปรับ-ลด หรือแก้ปัญหาได้ทันท่วงทีเมื่อเข้าใกล้จุดสูงสุดของปัญหา 
  • การลงทุนทางเลือก (Alternative Investment) เป็นการสร้างโอกาสจากการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตต่อไปได้แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก อาทิ การลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ได้ขึ้นกับทิศทางเศรษฐกิจ เช่น น้ำมันและทองคำที่ถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด (Private Assets) ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดและให้ผลตอบแทนตามผลการดำเนินงานที่แท้จริง เป็นต้น  
  • การลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Investment) โดยการลงทุนในบริษัทที่มีแนวทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โลกอยู่ได้ พอร์ตอยู่ได้
  • การบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัว (Wealth Planning Service) ที่ถึงแม้จะมีการออกแบบบริการไว้รองรับ แต่ลูกค้ายังมีความเข้าใจน้อย ต้องพยายามสร้างความตระหนักให้ลูกค้าใช้บริการนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้สินทรัพย์ทั้งหลายได้รับการจัดการวางแผนอย่างครอบคลุมครบถ้วน

คุณจิรวัฒน์ กล่าวว่า วัฏจักรเศรษฐกิจในอนาคตจะไม่เหมือนเดิม เมื่อก่อนวัฏจักรเศรษฐกิจที่เคยมีคนทำวิจัยไว้ หากเป็นระยะสั้น 5 ปี มีวิกฤติเกิดขึ้นสักปีจากนั้นจะฟื้นตัว ระยะกลาง ๆ ประมาณ 7-8 ปี วิกฤติจะเกิด 2 ปี จากนั้นจะฟื้นตัว หากเป็นระยะยาวคือ 10 ปี วิกฤติจะอยู่ราว 3 ปี จะเห็นว่าวิกฤติในอดีตมีช่วงฟื้นตัวที่ยาวกว่า ถึงแม้ว่าธุรกิจจะไม่มีแผนจัดการความเสี่ยง แต่หากยืนระยะอยู่ได้ก็จะเจอปีที่ดีมากกว่าปีที่แย่ แต่พอเกิดวิกฤติโควิดและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลชี้ให้เห็นว่าวัฎจักรเศรษฐกิจน่าจะมีช่วงตกต่ำและผันผวนยาวขึ้น ช่วงเวลาฟื้นตัวและเป็นปีที่ดีสั้นลง จึงมีการพูดคุยถึงการออกแบบ 4 เสาหลักมาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วเพื่อรับมือทิศทางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

การบริหารจัดการความเสี่ยงที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความสามารถในการหาผลตอบแทน ซึ่งควรเรียงลำดับการจัดการความเสี่ยงแล้วจึงไปหาทางเลือกการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีท่ามกลางความผันผวนนั้น 

ส่วนความยั่งยืนเป็นการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส เพราะเรารู้ว่าโลกอยู่บนความไม่ยั่งยืนและมีคนส่วนใหญ่พยายามสู้กับสิ่งนี้ ลอมบาร์ด โอเดียร์ เคยทำตัวเลขไว้ว่า ใน 10 ปีข้างหน้า จะมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 150 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือในปีหน้าจะมีเงินลงทุนอย่างน้อย 5.5 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสู้กับความไม่ยั่งยืน เกิดการลงทุนเพื่อปรับปรุงการอยู่ การกิน การค้าขายและบริการเพื่อรักษาโลกใบนี้ ซึ่งเม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้าไปนี้จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมหรือให้โอกาสสร้างผลตอบแทนตรงไหนได้บ้าง 

“บริการหลักของเราคือการเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน ส่วนบริการอื่น ๆ เป็นตัวสร้างรายได้ทางอ้อม เช่น การให้บริการคำปรึกษาเรื่องอสังหาริมทรัพย์ที่ช่วยให้ลูกค้าบริหารจัดการภาษี ซึ่งส่งผลกลับมาเป็น AUM (Asset under Management) ให้ธุรกิจของเรา บริการด้านการวางแผนทรัพย์สินครอบครัวเช่นเดียวกัน หากการส่งต่อไม่ราบรื่น เกิดการสะดุดและย้อนกลับมาสร้างความเสียหายให้กับพอร์ตหรือทรัพย์สินของลูกค้า เราก็ขาดรายได้ไปด้วย”

ย้อนเส้นทางการเติบโต

ในช่วง 2 ปีหลังที่เศรษฐกิจขาลง เกิดความเสียหายกับตลาดทุนชนิดไม่สามารถให้ผลตอบแทนเป็นบวก แต่เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้งก็ช่วยบรรเทาการขาดทุนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดถึง 3 เท่า เช่น ในปี 2565 พอร์ตการลงทุนแบบผสมผสานขาดทุน 15% แต่เคแบงก์ขาดทุนเพียง 5% ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระความเสียหายของลูกค้าได้พอสมควร และในยามที่ตลาดเริ่มฟื้นตัว ก็พยายามบริหารจัดการให้ดีขึ้นมาได้ราว 1-2%

“เราพยายามพิสูจน์ตัวเองว่า ในช่วงเศรษฐกิจดีเราทำได้ดีกว่าเงินฝาก 2-3% ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี เราก็แย่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึง 3 เท่า และกำลังฟื้นตัว”

จนมาถึงยุคที่คำนึงถึงมิติของความครบถ้วนสมบูรณ์ด้านการบริการวางแผนเพื่อความมั่งคั่งทั้งเก็บรักษาและส่งต่อ เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้งมีการพัฒนาทีมงานที่สามารถให้บริการที่ครอบคลุมตั้งแต่ทีมให้คำปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน ทีมที่ปรึกษาด้านภาษี ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง การลงทุนในต่างประเทศ และมิติของการเพิ่มหลากหลายของผลิตภัณฑ์บริการที่มากกว่าการลงทุนแบบเดิม ๆ  เช่น การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก การลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด เป็นต้น  

คุณจิรวัฒน์กล่าวว่า ความคิดการลงทุนแบบดั้งเดิมที่เป็น Traditional Asset หรือ Traditional Concept ซึ่งเชื่อว่า หากระบบเศรษฐกิจโดยรวมพัง เราจะดีได้อย่างไร เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่เราจะรู้จักการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก 

การลงทุนในลักษณะ Uncorrelated Investment หมายถึงการลงทุนที่ไม่มีสหสัมพันธ์หรือความเกี่ยวข้องใด ๆ ซึ่งฟังดูแปลก ๆ แต่ในโลกความจริงมีอยู่ เช่น เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คนจะรู้สึกทองคำเป็นพระเจ้า เชื่อว่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นค่าเงินที่พังช้าสุด หรือไปไกลถึงสินทรัพย์ที่นึกไม่ถึง เช่น การทำความผันผวนให้ป็นอินเด็กซ์ขึ้นมาสักตัวหนึ่ง เรียกว่า Volatility Index เพื่อให้คนมาลงทุนและสร้างผลตอบแทนจากความผันผวน เป็นการลงทุนแบบมุมกลับ ซึ่งสามารถทำกำไรในช่วงเศรษฐกิจขาลงได้จากสินทรัพย์เดิม เช่น ขายหุ้นตอนแพงและย้อนกลับไปช้อนซื้อตอนถูกเพื่อทำกำไรส่วนต่าง เพราะสินทรัพย์บางตัวที่ดีตอนเศรษฐกิจไม่ดี ก็ขายก่อนค่อยซื้อ จะไปซื้อก่อนขายทำไม 

“หากมองอย่างผิวเผิน การทำธุรกิจไพรเวทแบงก์กิ้งแต่ละธนาคารอาจดูเหมือน ๆ กัน แต่น้อยรายที่จะมีการตกผลึกและนำเอาการจัดการความเสี่ยงในการลงทุนมาเป็นที่ตั้ง อย่างเคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้งเองถ้าไม่มีพาร์ทเนอร์แบบลอมบาร์ด โอเดียร์ ผมก็พูดอย่างนี้ไม่ได้ อย่างกองทุนจัดการความเสี่ยงที่เราขาย เราทำจริงจังมากชนิดผลักดันให้เป็นกองทุนเรือธง (Flagship Fund) หรือกองทุนทางเลือกที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนักแต่เคแบงก์พูดแล้วทำให้เห็นเป็นผลงานชัดเจน”

เช่น การเป็นผู้นำด้านการจัดการสินทรัพย์นอกตลาดด้วยท่าที่ยากกว่าคนอื่นซึ่งนิยมใช้วิธีเอาเงินออกนอกประเทศเพื่อไปซื้อกองทุนต่างประเทศ ไม่ได้นำกองทุนนั้นมาจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศ แต่เคแบงก์ ไพรเวท แบงก์กิ้งเป็นรายแรกที่นำกองทุนต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนให้เป็นกองทุนในประเทศ ทำให้ลูกค้าสามารถลงทุนในกองทุนนอกตลาดได้โดยไม่ต้องเสียภาษีจากการลงทุนในต่างประเทศตามกฎหมายใหม่ของกรมสรรพากร เป็นต้น

“อีกทั้งเมื่อก่อนพอพูดถึงการบริหารจัดการความมั่งคั่ง (Wealth Management บทบาทจะตกอยู่กับการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนเสียส่วนใหญ่ และอยู่ในส่วนเดียวในเรื่องการสร้างการเติบโต แต่สิ่งที่เราพยายามสื่อ คือ เรามาแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดเก็บและส่งต่อด้วย และเราเป็นคนแรกที่ทำ ถ้าใครมาเป็นลูกค้าของเราจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้อย่างเต็มที่”

เท่าทันการแข่งขัน

“ผมไม่ปฏิเสธว่า ลูกค้าบางรายอยู่กับเราไม่นาน เช่น ลงทุนกับเราไม่นานเกิดโควิด ตลาดตก กลายเป็นความเสียหาย บางคนอยากได้การลงทุนที่ได้กำไรจากการเทรดหุ้นเยอะ ๆ ทำให้บริการใช่ว่าจะตรงใจทุกคน แต่สิ่งที่มักบอกกับลูกค้าเสมอ คือ เราเน้นการลงทุนระยะยาวบวกกับการจัดการความเสี่ยง การเทรดเข้า-ออก ซื้อขายคราวละมาก ๆ อาจจะทำได้แต่ก็จะยากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ใช่กลยุทธ์ที่ยั่งยืน”

หากสิ่งที่เป็นความภูมิใจ คือ การทำในสิ่งที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที การติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ตลาดเงินตลาดทุนของโลก ตลอดจนร่วมมือกับพาร์ทเนอร์และทีมในการนำเสนอโซลูชันที่ตรงกับ ความต้องการ ของลูกค้าในแต่ละช่วงเวลา 

“บริการทั้ง 4 เสาหลัก เราเดินมาถูกทาง เพียงแต่ทำให้ลูกค้าได้ประโยชน์มากพอแล้วหรือยัง เป็นความท้าทายในปีหน้าว่า จะสามารถส่งมอบบริการให้เกิดประโยชน์กับลูกค้ามากที่สุดได้อย่างไร เราจะต้องขับเคลื่อนการสื่อสารให้เกิดประสิทธิภาพในการอธิบายถ่ายทอดความรู้สู่ลูกค้าในวงกว้าง เพื่อเปลี่ยนผ่านชุดความคิดและวิธีการลงทุนเดิมไปเป็นการลงทุนที่คำนึงถึงการจัดการความเสี่ยง และจูงใจให้เดินไปในทิศทางการลงทุนเหล่านี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน”

สำหรับพัฒนาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้น คุณจิรวัฒน์ให้มุมมองว่าการมาของเทคโนโลยีส่งผลกระทบใน 2 มิติ คือ มิติแรกกระทบต่อ “การมองเป้าหมายธุรกิจที่ไปลงทุน” หากธุรกิจใดที่ยังค้าขายแบบอนาล็อก ไม่มีแพลตฟอร์มดิจิทัลให้ไปต่อได้ ก็ยากที่คนจะไปลงทุนในธุรกิจที่มีโอกาสแพ้และทำให้เสียหายไปด้วย เพราะการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลที่ผ่านมาได้ส่งกระทบต่อรายชื่อบริษัทชั้นดีแต่ไม่สามารถปรับตัวได้กับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ปรับได้ช้า หรือถูกดิสรัปโดยผู้มาใหม่ และต้องกลายเป็นผู้แพ้ ขณะเดียวกัน ต้องพึงระวังว่าผู้มาใหม่นั้นเป็นโอกาสใหม่จริงหรือไม่ หรือเป็นแค่โอกาสระยะสั้นที่อยู่ไม่นาน ซึ่งในมุมของการจัดการลงทุนต้องหมั่นติดตามสิ่งเหล่านี้ 

มิติที่สองส่งผลกระทบเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการลงทุน เพราะเทคโนโลยีทำให้มี “กลยุทธ์และเครื่องมือในการลงทุน” การจัดการหรือควบคุมความเสี่ยงโดยเฉพาะกับพอร์ตที่มีพลวัตสูง ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีอย่างแมชชีน เลิร์นนิ่ง และเอไอ รวมถึงคนที่มีความสามารถเชิงเทคโนโลยีสูงจะสามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนที่ดีขึ้น เช่น กองทุนที่เคแบงก์ทำร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์เอเชียพลัส โดยกองทุนหลักเป็นชื่อบริษัท เรเนซองซ์ เทคโนโลยี  (Renaissance Technology) เจ้าของคือ เจมส์ ไซมอนส์ (James Simons) เจ้าพ่อเฮดจ์ฟันด์คนหนึ่งของโลก ซึ่งใช้เอไอและข้อมูลระดับโลกในการจัดการและการตัดสินใจลงทุน หากไม่มีเทคโนโลยีจะไม่มีเครื่องมือในการกลั่นกรองบริบทเหล่านี้ได้

รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ

“ผมมองว่า เราเป็นทีมที่มีส่วนผสมที่ดีและมีพลวัตอยู่ตั้งแต่ต้น ทุกคนมี Growth Mindset ที่อยากเติบโตบนโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เราเพียงดึงส่วนประกอบนั้นออกมาแล้ว ซึ่งรางวัลที่ได้รับถือเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นเตือนให้เราไม่หยุดนิ่ง เพราะถ้าหยุดนิ่งเมื่อไหร่คือแพ้” 

ไม่ว่าจะเป็นรางวัล “Best Private Bank in Thailand” ในฐานะไพรเวทแบงก์อันดับหนึ่งในประเทศไทย รางวัลที่ได้รับจากสถาบันต่าง ๆ ล้วนเป็นรางวัลที่มีคุณค่า และเป็นเสียงสะท้อนให้เห็นถึงพลวัตในการขับเคลื่อนกลยุทธ์และโซลูชันที่แตกต่างเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง 

“แต่ทั้งหมดอาจทำให้เราไม่สามารถภูมิใจได้เท่ากับรางวัลที่ลูกค้ามอบให้ สิ่งที่ต้องทำ คือ การสื่อสารและส่งมอบแนวทางการจัดการความมั่งคั่งที่มีความสุขและยั่งยืนให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงกับลูกค้า ซึ่งเป็นรางวัลที่เราจะมุ่งมั่นทำเพื่อให้ได้มาในปีหน้า” จิรวัฒน์ กล่าวในที่สุด

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

2023 ปีของ ChatGPT และผู้ชายใช้ AI มากกว่าผู้หญิง

KXVC แห่ง KBTG กับภารกิจ Gateway of ASEAN

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ