TH | EN
TH | EN
หน้าแรกStartupmu Space บริษัทคนไทย ปักธงในธุรกิจอวกาศ

mu Space บริษัทคนไทย ปักธงในธุรกิจอวกาศ

จากภาพเดิมของเทคโนโลยีอวกาศ ที่เมื่อพูดถึงอวกาศ เราจะนึกไปถึงองค์การยักษ์ใหญ่อย่าง NASA หรือนึกไปถึงยานอวกาศลำแรกที่ไปดวงจันทร์ คือ Apollo ในปัจจุบัน เทคโนโลยีอวกาศรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว นอกจากจะไปดาวดวงอื่นได้ไกลขึ้น ยังโคจรเข้าใกล้ชีวิตประจำวันของมนุษย์โลกมากขึ้น ไม่ว่าเป็นเรื่อง Satellite Internet ดาวเทียมเพื่อความมั่นคงทางทหาร และการศึกษาวิจัยค้นหาทรัพยากรทั้งในโลก และทรัพยากรหายากจากดาวดวงอื่น ไปจนถึงจินตนาการที่ใกล้จะเป็นจริงของการเดินทางข้ามทวีปด้วยจรวด หรือ Space craft

วรายุทธ เย็นบำรุง CEO & CTO บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนด้านการบินและอวกาศ และให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ได้ให้ภาพเส้นทางของ mu Space ในอุตสาหกรรมอวกาศ จากวันที่เริ่มก่อตั้งในปี 2560 ด้วยพันธกิจในการไปดวงจันทร์ เพื่อค้นหาทรัพยากรทดแทน ทรัพยากรบนโลกที่กำลังร่อยหรอลงทุกที จนถึงจุดที่ทุกภาคส่วนของโลกต้องหันมามองอย่างจริงจังในเรื่องความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และยังมีเป้าหมายในการวางรากฐานด้านการค้นคว้า วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอวกาศ เพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่ที่จะมารับไม้ต่อในอนาคต

mu Space ได้ position ตัวเอง เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมอวกาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวลา 5 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้แนวคิด take pain, learn that pain, and get better get stronger คือ ต้องพยายามทำทุกอย่างด้วยตัวเองก่อน เพื่อให้สามารถทำ product ที่ดีออกมา

mu Space จึงทำเองทั้งหมด ตั้งแต่ raw materials มาจน final product ตั้งแต่การดีลกับ supplier เพื่อพัฒนาตั้งแต่วัสดุอย่างเช่น composite ceramic, stainless steel หรือ steel alloy ต่าง ๆ การออกแบบ การสร้างต้นแบบจนมาถึงขั้นตอนการผลิตทั้งหมด ที่เกิดขึ้นในห้องแลปในโรงงาน ซึ่งขณะนี้ มีโรงงาน 3 แห่ง และกำลังจะมี Mega Factory 4 ในอนาคตอันใกล้เพื่อขยายขีดความสามารถในการผลิต

10-year plan of building a Space Supply Chain

mu Space เริ่มต้นจากพนักงาน 5 คน ค่อย ๆ ระดมทุน ค่อย ๆ จ้างวิศวกร ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงทีม ค่อย ๆ สร้าง core member แล้ว scale ทีมขึ้นมา ค่อย ๆ พัฒนา supplier relationship ต่าง ๆ ซึ่งในการทำเรื่องใหม่ ๆ ปริมาณไม่เยอะ ทำให้ไม่สามารถหา supplier ได้ เพราะฉะนั้น การเติบโตของ mu Space และอุตสาหกรรมอวกาศของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน 10 ปีต่อจากนี้ จึงมีความจำเป็นในการสร้าง space supply chain เพื่อรองรับ โดยทาง mu Space มีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติม ด้วยการระดมทุนรอบปัจจุบันที่คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2565 นี้ และผลักดันเรื่อง capital expenditure เรื่องการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น และเปิดโอกาสให้บริษัทใหม่ ๆ สามารถมาร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ร่วมกัน

5 ปีต่อจากนี้ mu Space จะก้าวสู่ช่วงที่เรียกว่า production phase สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ก่อนจะเข้าสู่ growth phase คือ ช่วงเวลาที่ตลาดเติบโตและมีการแข่งขัน โดย mu Space ได้วาง production roadmap ไว้สองด้านด้วยกัน ได้แก่ satellite production โดยมีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถการผลิตให้ได้ 1000 units ในช่วง 5 ปีข้างหน้า อีกด้านหนึ่งได้แก่ battery production เป็นหัวใจของ ระบบ electricalpower system มีเป้าหมายการผลิตที่ 1,000,000 cells ต่อปี ในอีก 5 ปีข้าวหน้า ซึ่งจะมีในส่วนของ Mega Factory 4 มารองรับการผลิตในส่วนนี้ภายในสิ้นปี 2565 นี้ หรือประมาณต้นปี 2566

เศรษฐกิจอวกาศโลก

ตัวเลขการเติบโตของ Global Space Economy จากการวิจัยโดย Morgan Stanley ระบุว่า 2017 มีมูลค่าอยู่ที่ 350 พันล้านเหรียญฯ และปัจจุบัน ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 460 พันล้านเหรียญฯ และมีแนวโน้มที่จะมีมูลค่าถึงประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญฯ ในปี 2040 ในจำนวน 1 ล้านล้านเหรียญฯ นี้ประกอบด้วยอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มมีมูลค่าสูงสุด คือ อินเทอร์เน็ต และป็นที่มาที่ mu Space เน้นการสร้างดาวเทียม High Power Satellite เนื่องจาก เมื่อดาวเทียมมีพลังงานสูงก็สามารถทำให้แรงส่งสูง สามารถทำเป็น 2-way Broadband ผ่านดาวเทียมได้

ถัดมาคือ อุตสาหกรรม aerospace and defense หรืออุตสาหกรรมป้องกัน จากแนวโน้มสถานการณ์ความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโลก และยังมีอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ อุตสาหกรรมการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

ในด้านของตลาด Small Satellite หรือดาวเทียมขนาดเล็ก น้ำหนักระหว่าง 200-500 กิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดของดาวเทียมที่ mu Space ทำการผลิต จากตัวเลข 10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นในระดับเกือบเท่าตัวทุกปี

รวมถึงตลาดของ Lithium-ion Battery ซึ่งใช้กับดาวเทียมที่มีระบบพลังงานสูง มีขนาดของตลาดอยู่ที่ 41.1 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2021 และมีแนวโน้มจะเติบโตไปเรื่อย ๆ จนถึง 116.6 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2030 ซึ่ง mu Space มีการวิจัยและพัฒนาโปรแกรม Solid State Battery ซึ่งจะผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ ประมาณปี 2025 โดยตั้งเป้าขยับเข้าสู่ตลาด EV แบบ high performance

5 ปัจจัย ทำไมต้องอุตสาหกรรมอวกาศ

ทำไม Space Economy จึงมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น Morgan Stanley อธิบายถึง 5 ปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

ปัจจัยแรก Launch Cost คือ ราคาต่อกิโลกรัม ในการส่งของขึ้นไปในอวกาศ ปัจจุบันนี้มีต้นทุนลดลงเรื่อย ๆ อวกาศ ปัจจุบัน ดาวเทียมที่ mu Space จะส่งขึ้นไป ต้นทุนอยู่ที่ 500 เหรียญต่อกิโลกรัม และจะลดลงเรื่อย ๆ โดยคาดการณ์ว่าในช่วงสิ้นทศวรรษ 2030 ต้นทุนจะอยู่ที่ 10 เหรียญต่อกิโลกรัม ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถส่งตัวชิ้นส่วนหรือว่าของไปนอกโลกได้ถูกลง ทำให้มนุษย์ไปดาวดวงใหม่ได้ในราคาที่ถูกลง และ Space Economy โตเร็วขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจัยที่ 2 ได้แก่ Satellite Technology ใหม่ ๆ ที่มีการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีอวกาศ มีการนำไปใช้ในเรื่องของ commercial ต่าง ๆ และมีการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ Generation ใหม่ ๆ โดยใช้ innovation ต่าง ๆ

“ซึ่งในจุดนี้ MU Space มีความตั้งใจที่จะทำให้ Supply Chain ของอุตสาหกรรมนี้สั้นที่สุด โดยพยายามทำเองให้ได้มากที่สุด แต่ต้องยอมรับว่า ด้วยความซับซ้อนในการผลิต ที่ต้องอาศัยองค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน MU Space จึงให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับ Player ในอุตสาหกรรมนี้ในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือทางด้านวิศวกรรมกับหน่วยงานรัฐอย่าง GISTDA และบริษัทเอกชนระดับโลกอย่าง AIRBUS ในด้านเทคโนโลยีในการทดสอบและประกอบดาวเทียม และ การรับรองหรือ Certified Raw Materialsที่ใช้ในการผลิต”

ปัจจัยที่ 3 ได้แก่ Demand for Bandwidth ความต้องการในการใช้งาน Internet Bandwidth ซึ่งมี Satellite Internet ผ่านดาวเทียมแบบวงโคจรต่ำ เข้ามา complementary ให้กับ Network 4G 5g เมื่อไม่นานมานี้ก็มีเรื่องของตัว Satellite Through Smartphone Direct ไม่ต้องเปลี่ยนตัวมือถือที่คนใช้อยู่ก็อาจสามารถ access และ connect กับ service ดาวเทียมได้ ในกรณีที่ Satellite หาเรื่องสัญญาณจาก mobile ภาคพื้นดินไม่เจอ ในเขตที่มันค่อนข้างจะไกล ทำให้ทุกคน always connected ในทุกพื้นที่

ปัจจัยที่ 4 ได้แก่ National Security ซึ่งเห็นชัดเจน จากความขัดแย้งในยุโรป ยูเครน รัสเซีย และในไต้หวันกับจีน ทำให้เกิดการ Localization และทำให้เกิดช่องทางด้านธุรกิจเกิดขึ้น เข้าใกล้ลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่ง mu Space เองนอกเหนือจากเรื่อง Battery ยังมีในส่วนของด้านอิเล็กทรอนิกส์ คือ การผลิต Computer Chip พวก Semi-conductor โดยดีไซน์และผลิตออกมาเป็นตัว Final circuit

ปัจจัยที่ 5 Private Investor ซึ่ง mu Space มี Back Private Investor จำนวนมากที่ให้ความสนใจ มีตั้งแต่ angel investor ผู้บริหาร บริษัทอุตสาหกรรม และกองทุนต่าง ๆ

Production Capability … จุดแข็ง mu Space

จากปัจจัย ทั้ง 5 ข้างต้น จะเห็นว่าภาพรวมตลาดเทคโนโลยีอวกาศมีศักยภาพสูงมาก เมื่อหันกลับมามอง mu Space ที่วางตำแหน่งทางธุรกิจว่าเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมอวกาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มีขีดความสามารถในการผลิต หรือ Production Capability มากน้อยเพียงใด

สิ้นปี 2021 ที่ผ่านมา mu Space ได้เปิดตัว MU-B200 ดาวเทียมขนาด 200 กิโลกรัม แบบ High Power and High Performance สามารถ customize ได้ตามความต้องการของลูกค้า โดยเปิดราคา 4 ล้านเหรียญฯ สามารถผลิตและส่งได้ภายใน 12 เดือนหลังจากลงนามสัญญา และคาดว่าจะมีการส่งขึ้นไปในอวกาศ ประมาณต้นปีหน้า

นอกจากนี้ ยังได้มีการพูดคุยกับลูกค้าในเรื่อง การทำ CubeSat คือ ดาวเทียมขนาดเล็ก class ประมาณ 10 กิโลกรัม เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่ม Space Agency กลุ่มสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ เรียกได้ว่าเป็นการปรับเพื่อให้สามารถใช้งานกับตลาดใหม่ ๆ ได้ด้วย

ด้วย Mindset ในการทำงานของทีมงาน mu Space ที่ให้ความสำคัญกับการพยายามทำเองทั้งหมดทุกขั้นตอน ทำให้เกิด service loop ที่เป็น ecosystem ประสบการณ์จากการลงมือทำ ทำจริง ผิดจริง พลาดจริง และเสี่ยงจริง จากการผลิตในระดับ Lab Scale วิศวกรของ สู่ Production Scale ตั้งแต่ Low to mass ทำให้ทีมงานมีความเชียวชาญ สามารถให้บริการด้าน Manufacturing

ในเรื่อง Machinery, Tools, Raw Material จนไปถึง Testing Facilities mu Space มีเป็นของบริษัทเอง และในกรณีที่ทางบริษัทไม่มี facility หรือไม่เชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ ก็สามารถให้คำแนะนำ ไปที่ทาง GISTDA หรือ Airbus หรือว่าบริษัทต่าง ๆ ที่ตอนนี้เริ่มมีการเข้ามาพูดคุยในเรื่อง partnership บ้างแล้ว

ในด้านProduct & Service MU Space ให้บริการผลิต Battery Cells / Battery Packs หรือ High Power Battery Packs และ Reaction Wheels ต่างๆ สามารถสั่งซื้อได้โดย Book capacity ในการผลิตล่วงหน้า และในด้าน Logistic & Distribution ซึ่งมี Factory 2 ที่จะเริ่มมีในส่วนของ Small Warehouse ให้บริการนอกจากนี้ในส่วนบริการหลังการขาย บำรุงรักษาซ่อมแซม ทาง MU Space ก็ยินดีให้บริการเช่นเดียวกัน

อุตสาหกรรมอวกาศเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีการเติบโตสูง เป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งจากการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ทำให้ mu Space ให้ความสำคัญในการอุทิศตัวเองในเรื่องของเทคโนโลยี และพัฒนาคนรุ่นใหม่ ๆ ทั้งการสร้างทีมวิศวกรรุ่นใหม่ และร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกงาน โดยให้ความสำคัญกับทุกมหาวิทยาลัยไม่เพียงแค่มหาวิทยาลัยชั้นนำ และให้ความสำคัญกับ Young Talent ทั้งจากในและนอกระบบการศึกษา และสุดท้ายคือการให้ความสำคัญกับการสร้างงาน หรือ Job Creation นอกจากมีแผนในการรับพนักงานมากขึ้นเป็น 1000 ตำแหน่งงาน ยังเน้นการสร้างงานให้กับชุมชนใกล้เคียง โดยมีความหวังในระยะยาวอยากเห็นชุมชนรอบบริษัทในรัศมี 15 กิโลเมตร มีความเป็นอยู่ที่ดีไปด้วยกัน

ความร่วมมือของภาครัฐไทยในการสร้างห่วงโซ่อุปทานกิจการอวกาศ

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA หน่วยงานรัฐที่ผู้นำในการบริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ และบุกเบิกการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย มากว่า 22 ปี  มีผลงานล่าสุด คือ ดาวเทียม THEOS-2  และ THEOS- 2A ซึ่งทีมวิศวกรไทยของ GISTDA ร่วมสร้างกับวิศวกรของบริษัท AIRBUS และกำลังจะ launch ในปีหน้า และยังมีศูนย์ทดสอบและประกอบดาวเทียม (Assembly Integration Testing Center- AIT) เป็นหนึ่งในศูนย์ไม่กี่แห่งในภูมิภาคเอเชีย ที่มีความพร้อมในการทดสอบและประกอบดาวเทียม Small Sat ขนาดประมาณ 100 กิโลกรัมขึ้นไป 

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ได้ยืนยันความพร้อมของภาครัฐไทยในการผลักดันเศรษฐกิจอวกาศและการสร้างห่วงโซ่อุปทานกิจการอวกาศของประเทศไทย และตอกย้ำถึงปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจอวกาศมีความสำคัญ ได้แก่ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นจาก Digital Transformation และแนวโน้มต้นทุนที่ถูกลง Space Technology จากอดีตที่เป็นเทคโนโลยีของประเทศมหาอำนาจ แต่ปัจจุบัน การเข้าถึง Space Technology ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป และปัจจัยด้านเทคโนโลยีประกอบอื่น ๆ ก็มีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็น 5G หรือ IOT 

เทคโนโลยีอวกาศจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องรีบสร้างและเร่งผลักดัน ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมที่เป็น hard part ที่มีเอกชนไทยอย่าง mu Space ที่เพิ่งเปิดตัวดาวเทียมรุ่นใหม่ มีบริษัทเล็ก ๆ ของไทยที่สามารถสร้างชิ้นส่วนดาวเทียมและชิ้นส่วนรับสัญญาณต่าง ๆ เพื่อเติมเต็ม space supply chain และมีหน่วยงานรัฐชั้นนำอย่าง GISTDA ที่สามารถสนับสนุนด้านองค์ความรู้ และบริการ facilities ในการทดสอบ ประกอบดาวเทียม และ certified product 

นอกจากส่วน hardpart ยังมีส่วนของ service ได้แก่ บริการ launch service เช่น การทำ space port สถานีส่งดาวเทียมหรือจรวดขึ้นสู่อวกาศ หรือแม้แต่เป็นสถานีปล่อย space Craft การเดินทางด้วยจรวดข้ามทวีปที่มีแนวโน้มความเป็นไปได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า และบริการอีกสองด้านที่มีมานานแล้ว ได้แก่ การบริการดาวเทียม (Satellite Operator) และการให้บริการรับสัญญาณดาวเทียมภาคพื้นดิน ซึ่งประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการรับสัญญาญดาวเทียม

Unlock Space Economy พร้อมพุ่งทะยาน

เศรษฐกิจอวกาศของไทยไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความฝันเลื่อนลอยอีกต่อไป เมื่อรัฐบาลพร้อมจะปลดล็อคโดยการให้ความสำคัญทั้งในระดับนโยบาย กฎหมาย และงบประมาณ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการกิจการอวกาศและแผนแม่บทกิจการอวกาศ เพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ โดยตัวแผนแม่บทกิจการอวกาศ เป็นแผน 15 ปี ประกอบไปด้วย แผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว มียุทธศาสตร์เป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศให้มีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาประเทศ 8 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ด้านความมั่นคง ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านเศรษฐกิจ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการพัฒนาคน ด้านนโยบายกฎระเบียบต่าง ๆ และด้านความร่วมมือกับนานาชาติ 

รวมถึงด้านกฎหมายก็กำลังจะมี พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดกิจการอวกาศ ส่งเสริมด้านการศึกษาวิจัย และกำกับให้เกิดความเป็นธรรมในการทำกิจการด้านนี้ ไม่ให้ประเทศไทยถูกรุกล้ำหรือเอารัดเอาเปรียบจากประเทศอื่นๆ ที่สำคัญยังมี กองทุนกิจการอวกาศ ซึ่งจะตอบโจทย์ในด้านงบประมาณ ที่ใช้ส่งเสริมสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน หรือภาครัฐ ที่จะสร้างธุรกิจกิจการอวกาศในอนาคต 

การสร้างเศรษฐกิจอวกาศ ไม่ได้เกิดจากภาครัฐบาลหรือ GISTDA เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นการรวมความร่วมมือกับ Stakeholder ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการสร้างเศรษฐกิจประเทศไทยให้ดีขึ้นด้วย Space Technology และ Space Economy  

ผู้เขียน: น้ำผึ้ง หัสถีธรรม

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

RENTSPREE สตาร์ตอัพไทย คว้าทุนรอบ SERIES B กว่า 600 ลบ. จาก GREEN VISOR CAPITAL

DEZPAX ระดมทุนรอบ SERIES A ต่อยอด โซลูชันบรรจุภัณฑ์อาหาร

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ