TH | EN
TH | EN
spot_imgspot_imgspot_img
หน้าแรกColumnist“ดีทรอยต์แห่งเอเซีย” สะเทือน

“ดีทรอยต์แห่งเอเซีย” สะเทือน

ย้อนอดีตเมื่อ 40 ปีก่อน ด้วยอานิสงส์ “เงินเยนแข็งค่า” ทำให้อุตสาหกรรมในญี่ปุ่น รวมถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ไม่สามารถแบกค่าแรงงานที่แพงได้ ต้องย้ายฐานการลงทุนเพื่อมาหาค่าแรงราคาถูก ประเทศไทยคือเป้าหมายหลัก บริษัทรถยนต์แทบทุกค่ายย้ายฐานการผลิตทั้งหมดมาไทย

แต่ถ้าจะนับเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยจริง ๆ ก็น่าจะอยู่ในยุค 1990 มีสิ่งจูงใจนอกจากแรงงานราคาถูก ยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี มีระบบสาธารณูปโภคในโครงการอิสเทิร์นซีบอร์ดพร้อมรองรับทำให้ไทยฝันหวานจะเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเซีย” เหมือนดีทรอยต์ที่เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของอเมริกา

ผลพวงตามมาคนไทยจะมีงานทำนับแสนตำแหน่ง อุตสาหกรรมชิ้นส่วนนับหมื่น ๆ โรงของไทยพลอยได้อานิสงส์

กระทั่งในปี 2011 เริ่มมีสัญาณไม่สู้ดีเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นเริ่มวางแผนกระจายความเสี่ยงเตรียมแผนย้ายการผลิตรถบางรุ่นไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพราะไม่มั่นใจแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลไทยในตอนนั้น แม้ว่าบริษัทรถยนต์จะได้รับการชดเชยจากโครงการรถยนต์คันแรกก็ตาม กลับกลายเป็น “ดาบสองคม” เพราะทำให้ตลาดรถในประเทศถึงจุดอิ่มตัว ตลาดไม่โตไปกว่านี้

ภาพลักษณ์ ดีทรอยต์แห่งเอเซีย เริ่มสั่นสะเทือน ยิ่งในยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาลง จีดีพีส่วนใหญ่ไม่เกิน 3% มีความขัดแย้งทางการเมือง รัฐบาลไร้เสถียรภาพ ตลาดในประเทศก็เริ่มอิ่มตัว ไทยส่งออกรถยนต์ได้น้อยลง และเริ่มเสียตลาดให้คู่แข่ง

กระทั่งในปี 2018 ค่ายรถยนต์จากอินเดียประกาศหยุดผลิตในเมืองไทย และเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำตลาดใหม่ แต่ที่ฮือฮา กรณีค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของอเมริกา จีเอ็ม.มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์ เชฟโรเล็ต ขายศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทย ใน จ.ระยอง ให้กับบริษัทเกรท วอล มอเตอร์ส ของจีน ในปี 2020 การเลิกกิจการของค่าย จีเอ็ม. สร้างผลสะเทือนทำให้ความฝันของไทยที่จะเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียดูริบหรี่ลง

นับวันอุตสาหกรรมรถยนต์ดูจะซบเซาลงเรื่อย ๆ ยิ่งต้องมาโดนพิษ Covid-19 แพร่ระบาด ยิ่งซ้ำเติมอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยต้องทรุดหนัก เศรษฐกิจในประเทศในช่วง 10 ปีมานี้ถดถอย โตแค่ 1.9 โดยเฉลี่ยกำลังซื้อในประเทษลดลง

ประกอบกับไม่กี่ปีมานี้ จีนพลิกเกมปั้น”รถยนต์ไฟฟ้า” มาเขย่าตลาดรถยนต์สันดาปของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นในไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากนโยบายรัฐบาลในเรื่องภาษีจูงใจให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและราคาพลังงานที่ผันผวน ทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากจีน ต่ำกว่ามาตีตลาดรถยนต์ญี่ปุ่นที่ผลิตในไทยที่เป็นฐานใหญ่ของดีทรอยต์แห่งเอเซีย

ในที่สุด ค่ายรถยนต์ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นบริษัทขนาดกลางที่มีโรงงานผลิตในไทย ต้องประกาศหยุดผลิตปิดโรงงานถึง 2 รายในเวลาไล่เรี่ยกัน เริ่มจากเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2024 ค่ายซูบารุ ได้ประกาศยุติสายการผลิตรถยนต์ซูบารุทุกรุ่นในโรงงานลาดกระบัง หลังวันที่ 30 ธ.ค.2024 ซึ่งโรงงานยังไม่ยืนยันว่าจะขายให้ค่ายรถยนต์อื่นหรือไม่และเป็นเพียงหยุดผลิตเท่านั้น แต่ยังคงวางจำหน่ายในไทย แต่จะนำเข้ามาจากญี่ปุ่นแบบทั้งคันแทน

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2567 ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ออกแถลงการณ์ว่า ซูซูกิที่เริ่มการผลิตมาตั้งแต่ปี 2012 เป็นการผลิตและส่งออกได้ 60,000 คันต่อปี ยุติการดำเนินการ ภายในช่วงสิ้นปี 2025 แม้จะยุติโรงงานในไทย แต่ยังดำเนินจำหน่ายในไทยโดยเป็นการนำเข้ารถยนต์จากโรงงานในอาเซียน ญี่ปุ่นและอินเดีย

แม้ทั้งสองรายจะเป็นค่ายรถยนต์ขนาดกลาง แต่ก็ทำให้ภาพลักษณ์ดีทรอยต์แห่งเอเซีย สั่นคลอนไม่น้อยและอาจจะมีค่ายอื่นๆประกาศหยุดผลิตรถยนต์ในเมืองไทยตามมา

แม้จะมีค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีนเข้ามาแต่ไม่อาจจะทดแทนความเป็นดีทรอยต์แห่งเอเซียที่มีค่ายรถจากญี่ปุ่นเป็นฐานผลิตสำคัญ เนื่องจากคู่แข่งสำคัญอย่างอินโดนีเซียที่จะชิงความเป็นเจ้าแห่งอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า มีความได้เปรียบไทยหลายด้าน ทั้งในเรื่องตลาดที่ใหญ่กว่า ด้วยประชากร 270 ล้านคนและเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น การเมืองมีความมั่นคง รัฐบาลมีเสถียรภาพ จุดแข็งที่สุดของอินโดนีเซียคือ การมีแหล่งแร่ที่สำคัญอย่างนิกเกิลซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า การลงทุนในเหมืองนิกเกิลซึ่งคาดว่าใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

รายงานของบริษัทวิจัย MarkLines ระบุว่า การผลิตรถยนต์ของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งขณะนั้นอยู่ในจุดพีคที่ผลิตได้ถึง 2.45 ล้านคัน แต่เมื่อปี 2022 กลับผลิตได้เพียง 1.88 ล้านคัน หรือลดลงถึง 23% การลดลงนี้เกิดจากการเคลื่อนไหวเพื่อย้ายการผลิตออกจากประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากน้ำท่วมใหญ่ในปี 2011

ขณะที่การผลิตของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% มาแตะที่ 1.47 ล้านคันในปี 2022 คิดเป็นเกือบ 80% ของตัวเลขของไทยในปีเดียวกัน หากมองเฉพาะรถยนต์นั่งอินโดนีเซียแซงหน้าไทยในปี 2014 และผลิตได้มากกว่าไทยถึง 2 เท่าเมื่อเร็ว ๆ นี้

น่าเสียดายดีทรอยต์แห่งเอเซีย เพิ่งจะเริ่มตั้งไข่ไม่ทันไรส่อเค้าว่าจะไปไม่รอดเสียแล้ว

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

“คนไทยไร้ทักษะ”​ วิกฤติใหญ่ของชาติ

จุดยืนไทย.. ในสมรภูมิ CAR WAR

“CASINOMIC” เครื่องปั๊มเศรษฐกิจตัวใหม่ ?

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ