TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistจุดยืนไทย.. ในสมรภูมิ Car War

จุดยืนไทย.. ในสมรภูมิ Car War

คนที่ไปงานมอเตอร์โชว์ที่กำลังจัดแสดงอยู่ตอนนี้ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า บรรยากาศในบูทของค่ายรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ของจีน คึกคักเป็นพิเศษ มีคนไปสอบถามข้อมูลจำนวนมาก บางส่วนก็ทำสัญญาซื้อขายเต็มทุกบูท ต้องยอมรับว่า ชั่วโมงนี้กระแสความนิยมรถ EV จากจีนมาแรงจริง ๆ

กระแสความนิยมรถ EV ได้เอฟเฟ็กต์ไปถึงค่ายรถยนต์ประเภทสันดาปจากญี่ปุ่นและเกาหลี ต้องปรับตัวกันจ้าละหวั่นวิ่งไล่ทุบราคาขายตกคันละ 1.5-3 แสนบาท พร้อมทั้งคลอดแคมเปญต่าง ๆ เพื่อจูงใจ บางค่ายใช้กลยุทธ์ ลากยาวผ่อนเกือบ 100 เดือน บางค่ายก็เริ่มต้นแค่ 3 พันบาทปล่อยรถไปขับได้ การเข้ามาของรถยนต์ EV จากจีนทำตลาดรถยนต์ในไทยสั่นสะเทือนอย่างไม่เคยมีปรากฏการณ์อย่างนี้มาก่อน

อุตสาหกรรมรถยนต์สันดาป ที่มีค่ายญี่ปุ่นเป็นหลักกำลังถูกรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนท้าทายอย่างหนัก โดยข้อมูลยอดจองรถในงาน “MOTOR EXPO 2023” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว ระบุว่า รถยนต์จากค่ายจีนอย่าง ค่าย “บีวายดี” BYD ไล่เบียดขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ตามหลังเพียง “โตโยต้า” (Toyota) เท่านั้น เมื่อย้อนกลับไปดูตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดปี 2565 สัดส่วนรถใช้เครื่องยนต์สันดาป มีส่วนแบ่ง 84% ของตลาดรถยนต์โดยรวม แต่มาในปี 2566 สัดส่วนลดลงเหลือ 75%

ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แม้แต่ตลาดต่างประเทศ รถยนต์ EV จากจีนก็หายใจรรดต้นคอค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นเช่นกัน เรียกว่างาน “ค่ายรถจีน” ใกล้จะโค่นบัลลังก์ “รถญี่ปุ่น” สำเร็จ หลังใช้ความพยายามกว่า 40 ปี เรียกว่า จีนพลิกเกมเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์โลกมาอยู่ในกำมือได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งที่ญี่ปุ่นครองเจ้าตลาดมานานหลายสิบปี

สำหรับประเทศไทย หลังจากการแข่งขันระหว่างค่ายรถญี่ปุ่นและจีนรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ ค่ายรถญี่ปุ่นเริ่มรู้สึกกังวลว่ากำลังจะสูญเสียฐานธุรกิจในประเทศไทยอีกไม่ช้า

สัญญาณเริ่มจาก ”เกรท วอลล์ มอเตอร์” (GWM) เข้ามาตั้งโรงงานใน จ. ระยองตั้งแต่ปี 2563 โดยปี 2565 ครองส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยได้มากถึง 45% ขณะที่ ค่าย BYD เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานการผลิตในไทย เมื่อต้นปี 2566 และล่าสุด “ฉางอาน” (CHANGAN) ค่ายรถจีนที่เพิ่งปิดดีลกับ “WHA” ไปหมาด ๆ เพื่อสร้างฐานการผลิตในพื้นที่ จ.ระยอง นี่คือสัญญาณจากจีนรุกคืบเข้ามาตั้งโรงงานโดยใช้ไทยเป็นฐานผลิตของอาเซียน

มีหลายปัจจัยที่ทำให้ไทยเป็นที่สนใจลงทุนของบริษัทรถยนต์จากจีน ปัจจัยแรก กระแสสิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษ กระแสโลกร้อน และความผันผวนราคาน้ำมันทำให้คนหันมานิยมรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

ปัจจัยต่อมา อาจเป็นเพราะค่ายรถจากจีน ต้องการหลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางการค้าระหว่างสหรัฐ ทำให้บรรดาผู้ประกอบการจีนเร่งขยายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอื่น โดยมีประเทศไทยเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ

ปัจจัยสุดท้าย  เนื่องจากมีห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอย่างดีเป็นจุดแข็งของไทยที่ดึงดูดให้ ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนล้วนต้องการใช้ซัพพลายเออร์ไทย ทั้งชิ้นส่วนโลหะ ที่นั่ง ระบบภายใน โดยอาจเป็นซัพพลายเออร์รายเดียวกับที่ญี่ปุ่นใช้

แม้ว่าปัจจุบันจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังไม่สามารถเทียบชั้นรถยนต์สันดาปได้ แต่การเข้ามาเจาะตลาดของค่ายรถจีน รวมทั้งความนิยมในรุ่นรถที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ที่ผ่านมาบรรดาค่ายรถที่มองเห็นโอกาสรีบเข้ามาปักธงแบบไม่รอช้า 

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากรถ EV ใช้ชิ้นส่วนน้อยมาก ๆ เรียกว่าเกือบไม่ได้ใช้ชิ้นส่วนจากผลิตของไทยเลย เพราะค่ายรถ EV จากจีนที่มาตั้งโรงงาน ขนเอาเครือข่ายที่ผลิตชิ้นส่วนจากจีนเข้ามาทั้งหมด ไม่ซื้อกับบริษัทคนไทย ต่างกับบริษัทญี่ปุ่นที่ยังแบ่งให้บริษัทคนไทยบ้าง แต่ว่าจีนไม่แบ่งเลยใช้วิธีการกินรวบ

ยิ่งตอนนี้รัฐบาลไทยลดอัตราอากร และยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาทั้งคัน และชิ้นส่วนไปอีก 1 ปี (สิ้นสุด 31 ธ.ค. 68) เท่ากับช่วงนี้รถไฟฟ้ายี่ห้อต่าง ๆ ที่นำเข้ามาขายในประเทศไทยได้เท่าไหร่ ก็จะไปกินส่วนแบ่งตลาดของรถสันดาปค่ายญี่ปุ่นเท่านั้น

นั่นย่อมกระทบถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนรถสันดาปของคนไทยอย่างมิอาจปฏิเสธได้ เพราตอนนี้ค่ายรถญี่ปุ่นมีการปรับแผนลดการผลิตลง อันเนื่องมาจากจำนวนจำหน่ายรถยนต์ลดลง นั่นเอง กลายเป็นว่าการเข้ามาของรถยนต์ EV จากจีนได้สร้างผลสะเทือนให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์แบบดั้งเดิม อย่างมหาศาล  

อันที่จริง บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีฐานผลิตอยู่ในไทยมาหลายสิบปีจนไทยได้ชื่อว่า ”ดีทรอยต์ ออฟเอเซีย” กำลังโดนมรสุมกระหน่ำอย่างหนัก จากรถ EV ของจีนที่ต้นทุนที่ต่ำกว่า และสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลไทยใส่พานให้ หากบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นต้องย้ายฐานเพราะสู้ไม่ไหว บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยย่อมโดนหางเลขไปด้วยคนไทยที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์จะเดือดร้อนหนักแน่ ๆ

ส่วนคุณูปการของรถไฟฟ้าจากจีนนั้น นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคใช้รถยนต์ราคาถูกลง (ที่อาจจะเพิ่มปัญหาจราจร) หรือช่วยลดมลพิษแล้ว คงต้องตั้งคำถามว่าประเทศไทยได้อะไรจากบ้าง ตรงนี้ ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบละชอบธรรม ต้องชั่งน้ำหนักหักกลบลบกันว่าได้คุ้มเสียหรือไม่

รัฐบาลไทยต้องแสดงจุดยืนจะให้ความเป็นธรรมทั้งสองค่าย ไม่ใช่เห่อตามกระแส ได้ใหม่ลืมเก่าทั้งที่เคยสร้างคุณูปการมากมายในอดีต

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

จับตา พรรคเพื่อไทย พลิกเกม นโยบายดิจิทัลวอลเลต

โครงการแลนด์บริดจ์ ฝันได้ … ไปไม่ถึง

SOFT (NO) POWER

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ