TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeดีแทค ลุยสร้างมาตรฐานปลอดภัยบนโลกออนไลน์ ชวนรัฐ-เยาวรุ่นไทยร่วมยุติ "ไซเบอร์บูลลี่"

ดีแทค ลุยสร้างมาตรฐานปลอดภัยบนโลกออนไลน์ ชวนรัฐ-เยาวรุ่นไทยร่วมยุติ “ไซเบอร์บูลลี่”

ดีแทค ออกโรงเป็นแกนนำหลักในการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ หวังให้แวดวงอินเทอร์เน็ตไทยเป็นพื้นที่สีขาวสำหรับผู้ใช้งานทุกคน โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ชูประเด็นจัดการกับ “ไซเบอร์ บูลลี” เรียกร้องทุกฝ่ายร่วมใจยุติการกลั่นแกล้งรังแกบนโลกออนไลน์ ตั้งเป้าให้จบที่รุ่น “เรา” ไม่ส่งต่อความเกลียดชังและความรุนแรง

แม้คำว่า ไซเบอร์บูลลี (Cyberbully) จะไม่ใช่ศัพท์ใหม่ที่ไม่เคยคุ้นในสังคมไทย แต่ในมุมมองของ อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กลับเห็นว่า ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีของการดำเนินงานในโครงการความปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เน็ต หรือ อินเทอร์เน็ตสีขาว คนไทยส่วนใหญ่มีความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งรังแกบนโลกออนไลน์หรือไซเบอร์ บูลลี อย่างผิวเผินเท่านั้น ต่อให้ที่ผ่านมาจะมีหลายภาคส่วนออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสร้างการรับรู้ต่อปัญหา และผลักดันสื่อสารเป็นนโยบายเพื่อหาโซลูชั่นในการยุติไซเบอร์ บูลลี่

ดังนั้น ในฐานะที่ดีแทคให้ความสำคัญกับประเด็นด้านไซเบอร์บูลลี่เพราะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของการสร้างโลกออนไลน์สีขาว ประกอบกับการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลเชิงสังคมขนานใหญ่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีค่านิยมทางสังคมแตกต่างจากคนรุ่นก่อน โดยให้น้ำหนักกับการเคารพในความแตกต่างหลากหลายและสิทธิของผู้อื่น งานนี้ ดีแทคจึงได้จัดทำโครงการ “สัญญาใจ ให้ไซเบอร์ บูลลี่ จบที่รุ่นเรา” ขึ้น เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ทางสังคม ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่มุ่งพัฒนาทางเศรษฐกิจจนละเลยมิติปัญหาทางสังคมไป

สำหรับโครงการสัญญาใจดังกล่าว เป็นต่อยอดมาจากการเปิดแพลตฟอร์มระดมความเห็นในรูปแบบ “Jam Ideation #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา” ระหว่างวันที่ 25-27 มิถุนายน 2564 รวม 72 ชั่วโมง ซึ่งพบว่า แพลตฟอร์มได้รับไอเดียเกี่ยวกับการหยุดไซเบอร์บูลลี่ทั้งหมด 782 ไอเดีย จากกลุ่มเป้าหมายกว่า 1.44 ล้านคน และมีจำนวนผู้เข้าร่วมแคมเปญทั้งสิ้น 34,500 ครั้ง

ด้าน ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีส่วนร่วมในการเสนอแนวคิดการเปิดแพลตฟอร์มข้างต้น กล่าวว่า “การศึกษาและหาแนวทางแก้ไขการไซเบอร์บูลลี่ที่่ผ่านมาจะมาจากผู้ใหญ่ผู้หวังดีในสังคมเป็นหลัก ดังนั้น หลายครั้ง แนวทางที่ได้จึงไม่อาจจัดการไซเบอร์บูลลี่ได้โดยตรง ดังนั้นการเปิดแพลตฟอร์มก็เหมือนกับการสร้างพื้นฐานให้เด็กรุ่นใหม่ที่ต้องอยู่และเผชิญกับปัญหาไซเบอร์บูลลี่โดยตรงได้ออกมาพูดถึงปัญหา กำหนดปัญหา และเสนอแนวทางจัดการด้วยตนเองโดยตรง” 

“ปัญหาหลักของไซเบอร์ บูลลี่ในสังคมไทยในปัจจุบันคือ แม้คนไทยส่วนใหญ่จะยอมรับว่า ไซเบอร์บูลลี่ส่งผลต่อการสร้างความรุนแรงมากขึ้น แต่กลับมองว่าการกลั่นแกล้งรังแกกันเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องตลกขบขัน ทั้ง ๆ ที่ พฤติกรรมดังกล่าว ทำให้คนโดนกระทำรู้สึกเศร้า เสียใจ โกรธ ไม่พอใจ และไม่มีความสุข อีกทั้งมีคนจำนวนมากมองว่าการพูดล้อเลียน เสียดสี บนโลกออนไลน์ ไม่น่าจะรุนแรงเท่ากับการลงไม้ลงมือ คือมองว่าเป็นเรื่องพูดกันขำ ๆ ทั้ง ๆ ที่ความจริงคนที่โดนล้อเลียนไม่ได้ขำด้วยแม้แต่น้อย” ผศ.ดร. ธานีกล่าว 

ทั้งนี้ การเปิดแพลตฟอร์มดังกล่าว พบว่า 3 ประเด็นหลักที่เด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจและมองว่าเป็นการไซเบอร์บูลลี่ที่ยอมรับไม่ได้มากที่สุดคือ 1) Body Shaming การล้อเลียนรูปร่าง หน้าตา สีผิว ทรงผม โดยมีสัดส่วนสูงถึง 56% 2) Sexual Harassment หรือการคุกคามทางเพศ ทั้งทางคำพูดและการกระทำ ที่ 23% และ 3) Gender Equality ความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งครอบคลุมถึงความหลากหลายทางเพศและรสนิยมทางเพศที่ 21% 

“เด็กรุ่นใหม่มองว่า สังคมในโรงเรียนให้ความสำคัญกับคนหน้าตาดี เมินเฉยต่อคนหน้าตาธรรมดา และล้อเลียนคนหน้าตาแปลกหรือไม่สวยไม่หล่อตามค่านิยม ดังนั้น สิ่งที่ควรทำในขณะนี้คือการสร้างทัศนคติให้ทุกคนในสังคมตระหนักและเคารพเรื่อง “ความแตกต่างหลากหลาย” (Diversity) ของคน โดยไม่วิพากษ์วิจารณ์รูปร่างและหน้าตาของผู้อื่น เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ไม่ว่าผู้พูดจะมีอายุมากกว่าหรือเป็นเพื่อนในวัยเดียวกัน” ผศ.ดร.ธานี กล่าว 

ขณะที่ในเรื่องของความไม่เท่าเทียมทางเพศ เด็กรุ่นใหม่มองว่าต้นตอของปัญหามาจากการที่สังคมไทยหยิบยกเอาเรื่องการเป็นเพศที่สามมาล้อเลียนในเชิงขำขัน ทั้ง ๆ ที่ความจริง เรื่องรสนิยมและความชอบทางเพศของคน ๆ หนึ่งไม่ใช่เรื่องตลก ดังนั้นจึงควรใช้สื่อในการเผยแพร่ค่านิยมชุดใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนในสังคม ลบล้างทัศนคติความคิดของเรื่อง ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) และสร้างค่านิยมความเท่าเทียมทางเพศ ให้โอกาสทุกเพศและทุกคนอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ควรมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อสร้างความเท่าเทียมและความเสมอภาคทางเพศ พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องให้ทันสมัยและไม่สร้างภาระให้กับเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ 

ด้านการคุกคามทางเพศ สาเหตุหลักมาจากค่านิยมและบรรทัดฐานทางสังคมที่ให้ผู้ชายเป็นใหญ่ ทำให้กลายเป็นอภิสิทธิ์ที่เพศหนึ่งมีอำนาจกระทำการใด ๆ เหนือกว่าเพศอื่น ๆ ได้ โดยคนรุ่นใหม่มองว่า ควรมีการยกระดับและส่งเสริมการสร้างทัศนคติต่อต้านการคุกคามทางเพศ สอนให้เด็กรู้จักสิทธิส่วนบุคคลและเคารพในร่างกายของผู้อื่น ขณะเดียวกัน พ่อแม่ ครูและผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่แสดงพฤติกรรมที่ส่อไปในเชิงคุกคามทางเพศ ตลอดจนสร้างทัศนคติต่อต้านไซเบอร์บูลลี่และการใช้ความรุนแรงผ่านสื่อ

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธานี ได้สรุปแนวทางการแก้ไขออกเป็น 3 แนวทางหลักด้วยกันคือ 1) เริ่มต้นที่ตัวบุคคลด้วยการปรับทัศนคติของตนเอง เข้าใจประเด็นเรื่องไซเบอร์บูลลี่อย่างถ่องแท้ 2) สร้างความตระหนักรู้ในสังคม ไม่เพิกเฉยหรือมองข้าม และ 3) คือการออกมาตรการลงโทษและเยียวยาผู้ที่ถูกกระทำ 

“ไซเบอร์ บูลลี คือจุดเริ่มต้นของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่นโดยที่ผู้ทำไม่ต้องรับผิดชอบ มองให้ลึกลงไปก็คือการใช้อำนาจในทางที่ผิดที่ผู้ถูกกระทำโดนบีบให้ต้องอยู่ในภาวะจำยอม ดังนั้นจึงต้องสร้างสังคมใหม่ที่ เคารพต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เคารพความแตกต่างหลากหลาย อย่างน้อย วัฒนธรรมออนไลน์ที่ดีก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมที่จะยุติการไซเบอร์บูลลี” ผศ.ดร.ธานี กล่าว

ขณะที่ อรอุมา เสริมปิดท้ายว่า คนส่วนใหญ่ค่อนข้างคุ้นเคยกับคำว่า ไซเบอร์บูลลี่ นั่นหมายความว่า ไซเบอร์บูลลี่เป็นอะไรที่เกิดขึ้นใกล้ตัวมาก ๆ ดังนั้น อย่าเพียงแค่ยอมรับ แต่ให้ตระหนักและร่วมด้วยช่วยกันแก้ไข อย่างน้อยก็ให้เริ่มต้นที่ตัวเองก่อน เพราะว่าการ “บูลลี” ไม่ใช่เรื่องตลกและไม่เคยเป็นเรื่องตลก 

มุมมอง ‘ท๊อป จิรายุส’ ต่อ “ภาษีคริปโท” แนะกม.ไทยต้องเปลี่ยนให้ทันโลก สร้างโอกาส ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ

เศรษฐกิจปีเสือ กับ “โอมิครอน”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ