TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessบำรุงราษฎร์ ทรานส์ฟอร์เมชัน เดินหน้านำ AI-Wearable ช่วยการรักษา

บำรุงราษฎร์ ทรานส์ฟอร์เมชัน เดินหน้านำ AI-Wearable ช่วยการรักษา

กว่า 40 ปี ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ผ่านการทรานส์ฟอร์เมชัน (Transformation) มาหลายครั้ง แต่ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีการแพทย์พัฒนาอย่างก้าวกระโดด รวมถึงโควิด-19 ทำให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จึงต้องเร่งเปลี่ยนผ่านโรงพยาบาลเพื่อให้ทันกับยุคสมัย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้เข้ามาใช้บริการ นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยแพทย์เพื่อเสริมประสิทธิภาพการรักษามากขึ้น

รศ.นพ.ทวีสิน ตันประยูร ประธานปฏิบัติการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า นโยบายของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ที่ผ่านมา บำรุงราษฎร์ได้สั่งสมประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านการแพทย์จากทั่วโลกเพื่อพัฒนาศักยภาพของทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพมาตลอด 40 ปี หรือเรียกว่า Bumrungrad Rich Heritage จนเป็นที่ยอมรับจากสถาบันการรับรองคุณภาพมาตรฐานในระดับสากลและได้รับความไว้วางใจจากผู้ป่วยทั่วโลก

“ในปี 2564 เราได้รับโหวตจาก Newsweek ร่วมกับ Statista Inc บริษัทวิจัยข้อมูลระดับโลก ให้ติดท็อป 200 โรงพยาบาลที่ดีที่สุดในโลก จาก 2,000 แห่ง ใน 25 ประเทศ และเป็นโรงพยาบาลอันดับ 1 ในประเทศไทย ด้วยคะแนน 92.05%” รศ.นพ.ทวีสิน กล่าว

-Med Park โรงพยาบาลเอกชนสำหรับ Next Generation
-ไอเน็ต จับมือ IBM ส่งเทคโนโลยีรักษาวัณโรค 75 โรงพยาบาลทั่วไทย

เป้าหมายต่อไปของบำรุงราษฎร์ในปี 2565 จะยังพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้อยู่ในระดับโลกที่ดียิ่งขึ้นไป ผ่านจุดแข็ง 3 ประการหลัก คือ

1.Critical Care การรักษาผู้ป่วยภาวะวิกฤติ มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านผู้ป่วยวิกฤติ และทีมสหวิชาชีพ ที่พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางที่มีประสบการณ์สูง เพื่อความแม่นยำและรวดเร็วในการวินิจฉัยและรักษาให้ทันต่อสถานการณ์ ควบคู่ไปกับความชำนาญในการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษา

2.Complicated disease การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนหลายโรค หรือเป็นผู้ป่วยที่อ่อนแอ มีโอกาสทรุดหนักหรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง มี Center of Excellence ที่ครอบคลุมการรักษาในทุกโรค มีทีมสหวิชาชีพที่ทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี มองเป้าหมายเดียวกันคือความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

3.Cutting-edge technology การรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้ดียิ่งขึ้น อาทิ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด da Vinci ช่วยศัลยแพทย์ผ่าตัด, MAKO แขนกลหุ่นยนต์เปลี่ยนข้อเทียม, คอมพิวเตอร์นำวิถี ฯลฯ เพื่อช่วยให้กระบวนการผ่าตัดที่มีความสลับซับซ้อนหรืออยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงยากทำได้อย่างแม่นยำ ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ก้าวต่อไปของบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลฯ มีแผนในการพัฒนาและขยายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence) อย่างต่อเนื่อง อาทิ

-ศูนย์ผู้ป่วยวิกฤติ (Intensive Care Unit)
-ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน (Horizon Reginal Cancer Center)
-ศูนย์ปลูกถ่ายเนื้อเยื่อและอวัยวะ (Tissue & Organ Transplantation Center)
-ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ (Urology Center)
-ศูนย์ทางเดินอาหาร-ตับ (Digestive Diseases GI Center)
-ศูนย์ศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal Surgery Center)
-สถาบันกระดูกสันหลัง (Spine Institute)
-ศูนย์โรคระบบประสาท (Neurology Center)
-ศูนย์หัวใจ (Cardiology Center)

โดยแผนการขยายศูนย์ฯ ส่วนหนึ่งจะดำเนินการผ่านโมเดลธุรกิจ Bumrungrad Health Network ร่วมกับโรงพยาบาลพันธมิตรกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ เพื่อขยายการเข้าถึงการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานบำรุงราษฎร์ในกลุ่มลูกค้าระดับกลาง ที่อาศัยอยู่ในเขตปริมณฑลและตามภูมิภาคต่าง ๆ

บำรุงราษฎร์ ทรานส์ฟอร์เมชัน เดินหน้านำ AI-Wearable ช่วยการรักษา
รศ.นพ.ทวีสิน ตันประยูร (ซ้าย)
ผศ.นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธ์ (ขวา)

ดึง AI-Wearable ช่วยการรักษา

นอกเหนือจากการขยายขยายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์แล้วนั้น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้เริ่มนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยการรักษา รวมถึงนำอุปกรณ์ Wearable เข้ามาดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังมากขึ้นเรื่อย ๆ

ผศ.นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธ์ รองประธานอาวุโสปฏิบัติการด้านการแพทย์ (Medical Quality & Affairs & Informatics & Human Resources) และผู้บัญชาการศูนย์โควิด-19 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เตรียมการเรื่อง AI มานานมาก แต่ยังรอเวลาที่เหมาะสม เพราะถ้านำมาใช้เร็วเกินไปก็จะมีความเสี่ยง

เมื่อไม่นานมานี้ทาง “ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย” ได้จัดสัมมนาเรื่อง AI, Machine Learning และ Big Data ก็มีโอกาสไปแชร์ประสบการณ์ พบว่าในระดับโลก AI ทางการแพทย์ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น อ้างอิงจาก McKinsey และ Deloitte เช่น ฟิล์มเอกซเรย์ AI จะเข้ามาช่วยอ่านได้แม่นยำขึ้น แต่สุดท้ายก็ยังต้องพึ่งแพทย์เข้ามาช่วยยืนยัน รวมถึงต้องเช็คอาการของคนไข้ ณ ปัจจุบัน เพื่อวิเคราะห์โรค

“แต่เราเชื่อว่าใน 5 ปีต่อจากนี้ AI จะขยายเข้าไปในมิติอื่นที่มากกว่าการเข้ามาช่วยอ่านฟิล์มเอกซเรย์ เช่น เข้ามามีส่วนช่วยตัดสินใจว่าแนวทางการรักษาจะเป็นอย่างไร” ผศ.นพ.ก่อพงศ์ กล่าว

ผศ.นพ.ก่อพงศ์ กล่าวต่อว่า บำรุงราษฎร์มีประสบการณ์ ร่วมกับ AI IBM Watson for Oncology มีโมดูลที่เข้ามาช่วยการรักษา ซึ่งบำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ได้ใช้นอกสหรัฐอเมริกา แพทย์ได้มีประสบการณ์ทดลองใช้ เพื่อจะได้ทราบว่าถึงเวลาหรือยังที่ AI จะเข้ามามีส่วนช่วยตัดสินใจเพื่อเพิ่มความแม่นยำมากขึ้น

ด้าน รศ.นพ.ทวีสิน กล่าวเสริมว่า AI จะเข้ามามีบทบาทอย่างแน่นอนและโรงพยาบาลจะต้องนำมาใช้ เพียงแต่จะเป็นเมื่อไรเท่านั้นเอง ซึ่งลักษณะเด่นของ AI คือ อะไรที่เป็นรูปแบบซ้ำ ๆ Machine Learning สามารถเรียนรู้ได้ AI ก็จะวิเคราะห์และเข้ามาช่วยได้

ลักษณะของการแพทย์มันไม่มีอะไร 100% การที่มีจุด 1 จุดอยู่ในปอด ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ AI จะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้แพทย์ได้เห็นจุดที่ผิดปกติ จากนั้นแพทย์ก็จะต้องใช้ความรู้ต่อไป และแนะนำการรักษาคนไข้ ส่วนตัวเชื่อว่า AI จะมีความแม่นยำมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็จะไม่แม่นยำ 100%

“สิ่งที่เรากังวลคือข้อกฎหมายว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ หาก AI อ่านผลออกมาว่าคนไข้เป็นมะเร็งแต่ในความเป็นจริงนั้นไม่ได้เป็น ซึ่งเรามองว่าจะต้องเป็นการพัฒนาไปด้วยกัน การนำ AI เข้ามาใช้จะต้องเหมาะสมภายใต้การดูแลของแพทย์ รวมทั้งในแง่ของการพัฒนาทางด้านของกฎหมายที่จะรองรับสิ่งเหล่านี้” รศ.นพ.ทวีสิน กล่าว

ส่วนด้านการนำอุปกรณ์ Wearable มาช่วยในการรักษา ผศ.นพ.ก่อพงศ์ กล่าวว่า อุปกรณ์ Wearable ปัจจุบันเป็นอุปกรณ์ที่คนทั่วไปใส่กัน เช่น นาฬิกาข้อมืออัจฉริยะ (Smart Watch) ณ วันนี้สามารถตรวจวัดค่าได้หลายอย่าง แต่สิ่งที่แพทย์กังวลมากกว่า คือ อุปกรณ์เหล่านี้มีความแม่นยำหรือไม่ ถ้าใส่อุปกรณ์เหล่านี้และจะให้แพทย์ดูแล แต่ผลออกมาไม่ตรง ก็จะเกิดความวุ่นวายทั้งผู้ป่วยและแพทย์ ทั้งนี้ก็เชื่อว่าในอนาคตอุปกรณ์เหล่านี้จะมีความเสถียรมากขึ้น

ปัจจุบันบำรุงราษฎร์ มีโครงการ Bumrungrad @Home เป็นโครงการที่ให้คุณหมอไปดูแลคนไข้ที่บ้านได้ และจะมีการพัฒนาในเฟสถัดไปในปีนี้ ซึ่งทางโรงพยาบาลคาดหวังมากกว่าในอนาคตอันใกล้นี้ อุปกรณ์ Wearable จะช่วยแพทย์ตรวจจับและแจ้งเตือน เมื่อคนไข้มีปัญหาค่าต่าง ๆ ในร่างกายผิดปกติ จะสามารถแจ้งเตือนมาที่ศูนย์กลางโรงพยาบาล

“เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถทำได้มากมาย แต่เรากำลังมองดูว่าเมื่อไรที่จะพร้อมให้บริการในภาพกว้างได้ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีการดูแลผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่เราจะตามมอนิเตอร์คนไข้ที่อยู่ที่บ้าน ซึ่งเราจะพยายามเพิ่มอุปกรณ์ Wearable เข้าไปในโครงการ Bumrungrad @Homeรศ.นพ.ทวีสิน กล่าวเสริม

รศ.นพ.ทวีสิน กล่าวปิดท้ายว่า ในอนาคตอุตสาหกรรมทางการแพทย์จะเป็นหนึ่งใน Megatrend ที่มีแนวโน้มเติบโต รวมถึงธุรกิจโรงพยาบาล จะถูกยกระดับความสำคัญและเป็นที่จับตามองมากยิ่งขึ้น การพัฒนาด้านคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร และนำไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยจะเป็นบทพิสูจน์ที่แสดงถึงศักยภาพทางการแพทย์ของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้กับผู้มาใช้บริการ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ