TH | EN
TH | EN
หน้าแรกStartupBOI ผนึกกำลัง NIA-เอกชน เสริมแกร่ง Deep Tech สตาร์ตอัพ เล็งให้ทุนด้านบุคลากร เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

BOI ผนึกกำลัง NIA-เอกชน เสริมแกร่ง Deep Tech สตาร์ตอัพ เล็งให้ทุนด้านบุคลากร เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

HIGHLIGHT

  • คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จับมือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) เพิ่มช่องทางและงบประมาณสนับสนุน สตาร์ตอัพเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ของไทย
  • หวังเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ให้สตาร์ตอัพไทยแจ้งเกิดบนเวทีโลก และเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
  • โฟกัส BCG DeepTech Startup ได้แก่ Food Tech, AgTech และ MedTech

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา บีโอไอมีมาตรการสนับสนุนการลงทุนในสตาร์ตอัพมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ มาตรการทางภาษี แต่ก็พบว่าสตาร์ตอัพไทยหลายรายไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวอย่างเต็มที่ และเมื่อสำรวจตลาดสตาร์ตอัพจริงจังพบว่า สิ่งที่สตาร์ตอัพไทยขาดแคลน และต้องการมากที่สุด คือเรื่องของเงินทุน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีหลายหน่วยงานของภาครัฐที่มีทุนให้การสนับสนุนสตาร์ตอัพ และบีโอไอต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าไปช่วยเสริมโดยไม่ซ้ำกับใคร โดยพบว่า อีกด้านหนึ่งที่สตาร์ตอัพยังขาดทุนสนับสนุนก็คือทุนด้านบุคลากร ดังนั้น บีโอเอจึงตั้งงบขึ้นมาภายใต้ช่องทางพิเศษ ซึ่งอยู่ในส่วนของพระราชบัญญัติเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ.2560 มุ่งเน้นกลุ่มที่มีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม (BCG)

ตั้งงบ 150 ล้าน สนับสนุน BCG Deep Tech Startup

ดวงใจกล่าวว่า ในปีนี้บีโอไอตั้งงบประมาณส่วนนี้ไว้ที่ 150 ล้านบาท โดยตั้งเป้าช่วยสนับสนุนสตาร์ตอัพ Deep Tech กลุ่ม BCG ให้เป็นค่าจ้างแก่บุคลากรเพื่อช่วยยกระดับศักยภาพของสตาร์ตอัพ และจะเป็นทุนสนับสนุนเป็นระยะเวลาต่อเนื่องไม่เกิน 2 ปี รวมถึงเป็นเงินเดือนให้แก่บุคลากรไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อเดือน

ทั้งนี้ กิจการในกลุ่ม บีซีจี ถือว่ามีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งจากสถิติขอรับการส่งเสริมการลงทุน ในปี 2564 ที่ผ่านมา คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม บีซีจี มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 152,434 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากจำนวนโครงการ 746 โครงการ ที่เพิ่มขึ้น 63%  อีกทั้ง ตั้งแต่ปี 2558 – 2564 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม บีซีจี มีมูลค่ารวม 675,781 ล้านบาท รวม 2,996 โครงการ

ในส่วนของบีโอไอมีมาตรการสนับสนุนธุรกิจในกลุ่มบีซีจีและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ครอบคลุมหลากหลายประเภทกิจการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือเล็ก และตระหนักถึงความสำคัญของผู้ประกอบการสตาร์ตอัพที่มีเทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่เศรษฐกิจและสังคม และช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งและยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นมาตรการส่งเสริมการลงทุนภายใต้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร รวมถึงมาตรการอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น Smart Visa

เตรียมแจ้งเกิด BCG Deep Tech 65 ราย ใน 3 ปี

ด้าน ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจหลักของ NIA คือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศตามแนวคิด “บีซีจี โมเดล” โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ตอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (BCG DeepTech Startup) 3 ด้าน ได้แก่

  • อาหาร (FoodTech)
  • เกษตร (AgTech)
  • การแพทย์ (MedTech)

ซึ่งเป็นสาขาที่มีโอกาสและศักยภาพการเติบโตสูง แต่ยังมีจำนวนไม่มากนักและต้องใช้ระยะเวลาในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนจากผลงานวิจัยและพัฒนา เพื่อนำไปสู่ความได้เปรียบทางการแข่งขัน

ดังนั้น NIA จึงได้วางกรอบการพัฒนาผู้ประกอบการหรือสตาร์ตอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก เพื่อเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันตั้งแต่ระยะแนวคิด ต้นแบบ ทดลองตลาด ขยายการเติบโต จนกระทั่งมีความสมบูรณ์พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยตั้งเป้าหมายที่จะสร้างให้เกิด BCG Deep Tech Startup จำนวน 65 ราย ภายใน 3 ปี

ทั้งนี้ ในมุมมองของเอ็นไอเอ กลไกการสนับสนุนสตาร์ตอัพประกอบด้วย 4 กลุ่มหลัก ๆ คือ

  1. Incubation และ Accerelation หรือการบ่มเพาะและการเร่ง ซึ่งขณะนี้มีการบ่มเพาะ และเร่งกระตุ้นสตาร์ตอัพสัญชาติไทยบ้างแล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นสตาร์ตอัพของไทย เพราะมีเป้าหมายให้ไทยเป็นฮับของการบ่มเพาะสตาร์ตอัพด้วยเช่นกัน
  2. สถาบันวิจัย อย่าง สวทช. หรือมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ที่ให้ความพร้อมสนับสนุนบริการงานวิจัยและนำเอาทรัพย์สินทางปัญญาไปแปลงเป็น Deep Tech
  3. ให้ทุนสนับสนุนแบบให้เปล่าและแบบมีเงื่อนไข (financial innovation/ granting)
  4. ย่านนวัตกรรมที่ทำร่วมกับภาคเอกชน

ตั้งเป้าปี 2565 มี Deep Tech 100 บริษัท

ดร.พันธ์รัตน์ กล่าวว่า จากกลไกทั้งหมดที่แจงออกมาจะเห็นได้ว่าระบบนิเวศของไทยสำหรับสตาร์ตอัพไม่ได้เป็นระบบที่เริ่มจากศูนย์แล้ว เรามีเป้าหมายว่าในปี 2566 ทางเอ็นไอเออยากให้ไทยมีการตั้งสตาร์ตอัพดีพเทค ซึ่งนิยามด้าน Deep Tech คือจะต้องมีการวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้น ให้ได้อย่างน้อย 100 บริษัท

“ระบบนิเวศของไทยมีความพร้อม ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนในงานวิจัยและนวัตกรรม แล้วก็มีส่วนของบริษัท องค์กรเอกชนในประเทศไทยที่เริ่มหันมาให้ความสนใจลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบีซีจีมากขึ้นแล้วเช่นกัน ดังนั้น เป้าหมายการลงทุนในอนาคตข้างหน้าคือเราต้องการให้มีสตาร์ตอัพดีพเทคอย่างน้อย 100 แห่ง ที่สามารถระดมทุนในรอบซีรีย์เอ และซีรีย์บี ได้ต่อไปในอนาคตอันใกล้”

นอกจากนี้ ดร.พันธ์รัตน์ ได้เน้นย้ำว่า ช่องทางการช่วยเหลือเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสตาร์ตอัพดีพเทค เนื่องจากความยากของสตาร์ตอัพก็คือการบ่มเพาะจนสามารถก่อตั้งเป็นธุรกิจที่ยืนอยู่ได้อย่างแข็งแกร่งในตลาด ซึ่งในช่วงที่บ่มเพาะนี้ สิ่งที่สตาร์ตอัพต้องการมากที่สุดก็คือ 1) การสนับสนุนทั้งในแง่ของเงินทุน 2) กำลังคนและ 3) เทคโนโลยี ซึ่งบทบาทของเอ็นไอเอก็คือการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการสร้างเสริมนวัตกรรมเพื่อการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอย่างยั่งยืน

ปี 64 ทั่วโลกลงทุนในสตาร์ตอัพมากที่สุด

ขณะที่ ศรัณย์ สุตันติวรคุณ นายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (ทีวีซีเอ) เสริมว่าในฐานะนักลงทุนเทรนด์การลงทุนในสตาร์ตอัพทั่วโลกเริ่มมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปีที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่มีการลงทุนในสตาร์ตอัพทั่วโลกมากสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งในแง่ของเม็ดเงินและจำนวนปริมาณของสตาร์ตอัพ

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไป 4-5 ปีก่อนหน้าจะเห็นได้ว่า สิ่งที่เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนที่เรียกว่า virtual cycle engine สำหรับสตาร์ตอัพถือได้ว่ามีความสมบูรณ์แล้ว โดยเครื่องยนต์ตัวนี้ ประกอบด้วยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนที่ภาครัฐทำหน้าที่ผลิตบุคลากร ขณะที่ภาคเอกชนเข้ามาเสริมในเรื่องของการลงทุน กับการนำเทคโนโลยีของสตาร์ตอัพมาประยุกต์ใช้ เพียงแต่องค์ประกอบเหล่านี้สำหรับประเทศไทยยังถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่

สำหรับต่างประเทศ สตาร์ตอัพในบีซีจีเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว แต่ในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ กระนั้นก็เป็นกระแสสตาร์ตอัพที่ต้องเกิดขึ้น เนื่องจากสอดคล้องกับแนวทางการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ที่บริษัทองค์กรทั้งหลายตระหนักว่าการลงทุนต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะสามารถทำกำไรให้องค์กรได้อย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคม และแสวงหาผลตอบแทนภายใต้แนวทางที่ถูกต้อง

“เป็นเรื่องน่ายินดีที่ที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ตอัพในประเทศไทย โดยเฉพาะสตาร์ตอัพรายเล็กที่ขาดเงินทุนเริ่มต้น ปัจจุบันสตาร์ตอัพไทยมีความเข้าใจพื้นฐานการทำธุรกิจเป็นอย่างดี มีการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะช่วยสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศได้” ศรัณย์กล่าว

สำหรับการสนับสนุนจากทางทีวีซีเอนั้น บทบาทหลักก็คือเป็นส่วนเสริมจากบีโอไอและเอ็นไอที่ทำหน้าที่บ่มเพาะและหล่อเลี้ยง (incubation & grooming) โดยการเป็นส่วนเสริมก็คือการช่วยสร้างความตระหนักรู้ในหมู่นักลงทุนแล้วดึงให้นักลงทุนเหล่านี้มาพบเจอกับสตาร์ตอัพดีพเทคทั้งหลาย เพื่อให้สตาร์ทอัพเข้าใจว่าสิ่งที่ตนเองขาดในแง่ธุรกิจคืออะไร และเพื่อให้รู้ว่าถ้าต้องการรับเงินลงทุนต้องทำอย่างไรบ้าง

TVCA ดึงนักลงทุน-สตาร์ตอัพให้มาเจอกัน

“อย่างไรก็ตาม บทบาทหลักของเราจริง ๆ ก็คือฝั่งของการลงทุน หลังจากที่บริษัทได้รับการอบรมบ่มเพาะมาแล้ว มีศักยภาพในการเติบโตได้แล้ว เราก็เข้าไปลงทุน ซึ่งจะมีสองส่วนด้วยกันคือ เข้าไปให้เงินทุนแล้วก็ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงที่จะผลักดันให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโตต่อไปได้” ศรัณย์กล่าว

ทั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์ถึงช่องทางส่งเสริมสตาร์ทอัพดีทเทคดังกล่าว ทางบีโอไอ เอ็นไอเอ และทีวีซีไอ จึงได้เตรียมจัดงาน มหกรรม “BCG Startup Investment Day” ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG Economy) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup ที่มีศักยภาพเข้าถึงแหล่งเงินทุนและมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ พร้อมทั้งเปิดให้มีการสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจในอนาคต

โดยงานจะจัดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้ที่ศูนย์ C asean ชั้น 10 อาคาร CW Tower ถนนรัชดาภิเษก รูปแบบกิจกรรมแบ่งเป็น กิจกรรม Startup Pitching กิจกรรม Startup Talk และกิจกรรมสร้างเครือข่ายพันธมิตร โดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมงานครั้งนี้ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากทางเว็บไซต์ของบีโอไอ

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ORZON Ventures ประกาศลงทุนใน 5 สตาร์ตอัพ ต่อยอดกลยุทธ์ Mobility และ Lifestyle ของโออาร์

กูเกิล ยกเอเชียแหล่งบ่มเพาะสตาร์ตอัพชั้นดี ชี้ ฟินเทค-เฮลท์เทค-เอไอ มาแรง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ