TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistวัดกำลัง... อนาคต BTS สายสีเขียว มีผู้บริโภคเป็นตัวประกัน

วัดกำลัง… อนาคต BTS สายสีเขียว มีผู้บริโภคเป็นตัวประกัน

คลิปที่ สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ได้โพสต์คลิปวิดีโอความยาว 3.00 นาที ผ่านช่องทาง Youtube ของ BTS เนื้อหาโดยรวมเป็นการทวงถามการชำระหนี้ ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ BTS ทวงถามเรื่องหนี้สินก้อนดังกล่าวกับกรุงเทพมหานคร และรัฐบาล

ในเนื้อหาของคลิปวิดีโอระบุว่า “คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้น ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหา ด้วยการขอให้เอกชนรับภาระหนี้สินทั้งหมดกว่าแสนล้านจากรัฐบาล และ กรุงเทพฯ ไป เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดิน โดยรัฐจะอนุญาตให้สัมปทานเอกชนในการเดินรถ 30 ปี ทั้งนี้ต้องกำหนดค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายทุกเส้นทาง สูงสุดไม่เกิน 65 บาทเท่านั้น”

“กรุงเทพมหานคร โดย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ไม่ได้ชำระค่าจ้างเดินรถ จนเป็นเหตุให้มีภาระหนี้ติดค้าง นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 60 จำนวนเงิน 9,602 ล้านบาท และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ ไฟฟ้าและเครื่องกล ที่ถึงกำหนดชำระจำนวน 20,768 ล้านบาท (กำหนดชำระเมื่อมีนาคม 2564) รวมทั้งสิ้นกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาระการเงินที่มากเกินกว่า บีทีเอส จะแบกรับต่อไปได้”

-พนักงานการบินไทย รักคุณเท่าฟ้า (ใหม่)
-การออกแบบเลนส์ตาใหม่ให้เหมาะกับพฤติกรรมการใช้สายตา

เป็นเวลาเกือบ 4 ปี ที่ BTS รับภาระหนี้ที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในช่วงส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) เป็นหลัก และ ค่าเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 (ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า, ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง) ซึ่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อัศวิน ขวัญเมือง ได้แต่บอกว่า กรุงเทพมหานครไม่มีเงินชำระหนี้ดังกล่าว

คลิปที่ BTS นำออกเผยแพร่ หลายคนตีความว่า หาก กรุงเทพมหานครและรัฐบาลไม่พิจารณา เร่งดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ทาง BTS อาจจะหยุดเดินรถไฟฟ้าสายที่มีปัญหา ซึ่งเคยบอกไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

ปลายปีที่แล้ว ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 หลังกระทรวงมหาดไทยเสนอเป็นวาระจรเพื่อทราบ เรื่องการพิจารณาต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระยะเวลา 30 ปี แลกกับค่าโดยสาร 65 บาท ได้รับการคัดค้านจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดังนั้นทุกฝ่ายจึงไปหาข้อมูลเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ก่อนที่คลิป BTS จะถูกเผยแพร่ มีการประชุมคณะรัฐมนตรี ผ่านระบบ Video Conference พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมได้พูดถึงมาตรการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า จะนำเรื่องเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้วนำไปสู่เรื่องการเจรจา ที่มีการพูดคุยกันบ้างแล้ว และขอความร่วมมือเอกชน ว่าจะทำยังไงให้สิ่งต่าง ๆ เดินหน้าได้โดยเร็ว บรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน และค่าโดยสารไม่สูงนัก 

ด้านองค์กรผู้บริโภค 198 แห่ง ได้คัดค้าน เรื่องการฉวยโอกาสต่อสัญญาบีทีเอส และจัดเก็บค่าโดยสารราคา 65 บาท เนื่องจากเห็นว่า การจัดเก็บในราคา 25 บาทสามารถทำได้จริง พร้อมเชิญชวนให้ผู้บริโภคคัดค้านการที่มีความพยายามจะนำประเด็น ‘การต่อสัญญาสัมปทานและการขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า สายสีเขียว (รถไฟฟ้าบีทีเอส)’ และนำไปยื่นให้กับนายกรัฐมนตรีเพื่อแสดงออกผู้บริโภคไม่เห็นด้วยกับการต่อสัญญาสัมปทานและการปรับขึ้นราคาเป็น 65 บาท

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ขอให้นายกหยุดตัดตอนปัญหา และปิดปากประชาชนด้วยการโยนลูกเข้า ครม. ซึ่งการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้นต้องอยู่บนหลักการ ‘ขนส่งมวลชนเพื่อมวลชนทุกคน’ โดยควรกำหนดบนพื้นฐานประมาณร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำของคนในประเทศ และมีมาตรฐานเดียวกันกับราคารถไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก เพราะราคาค่ารถไฟฟ้า 65 บาทที่ กทม. เสนอมา นอกจากเป็นราคาที่สูงเกินกว่า ‘มวลชน’ จะจ่ายได้

หากราคา 65 บาทนี้ถูกพิจารณาผ่านและถูกนำมาใช้ จะส่งผลกระทบกับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคจะต้องผูกมัดจ่ายค่าโดยสารในราคานี้ไปอีก 38 ปี จนกว่าจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2602 ในขณะที่ข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมให้ใช้ราคาค่ารถไฟฟ้า 49.83 บาทเท่านั้น ซึ่งจะทำให้มีกำไรส่งรัฐในปี 2602 ถึง 380,200 ล้านบาท

สารี ยังเรียกร้องให้รัฐบาลส่งปัญหานี้กลับมายัง กทม. เพื่อให้ กทม. ทำกระบวนการการกำหนดราคาที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ประชาชนที่เป็นผู้รับภาระการจ่ายค่าโดยสารมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และกล่าวอีกว่า สภาฯ ผู้บริโภค เสนอทางเลือกว่าจากการคำนวณของสภาฯ พบว่า ค่ารถไฟฟ้าในราคา 25 บาท สามารถทำได้จริงแน่นอน ซึ่งในการคำนวณดังกล่าวได้อ้างอิงจากตัวเลขของกระทรวงคมนาคม โดยลดรายได้รวมลงครึ่งหนึ่งและคิดราคาค่าโดยสารเพียง 25 บาท สุดท้ายแล้ว กทม. ยังมีกำไรหรือมีเงินเหลือนำส่งรัฐได้ถึง 23,000 ล้านบาท

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวย้ำว่า ประเด็นนี้นายกรัฐมนตรีอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องขัดแย้งกัน แต่ในความเป็นจริงนั้นกลับเป็นเรื่องความไม่โปร่งใสของ กทม. ที่ยืนยันฝ่ายเดียวที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลการเจรจาที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐกับประชาชนมากกว่า โดยเฉพาะตัวเลขค่าโดยสาร 65 บาท ที่ กทม. ยังอธิบายต่อสังคมไม่ได้ว่าคำนวณมาจากอะไร และทำไมต้องมีราคา 65 บาท ทั้งที่ กทม. ควรต้องเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดสัญญาและที่มาของการคำนวณราคาค่าโดยสารต่อสาธารณะ เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตการใช้รถไฟฟ้าสายนี้ก่อนจะต่อหรือไม่ต่อสัญญา เพราะหาก ครม. อุ้ม กทม. ยอมต่อสัญญาสัมปทานครั้งนี้ ผู้ที่ต้องแบกรับภาระต่อจากนี้ คือ ประชาชนและอนาคตของลูกหลานที่จะต้องกลายมาเป็นผู้จ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 65 บาท ไปอีก 38 ปี

“พวกเราจำเป็นต้อง หยุด 65 บาท หยุด กทม. หยุดลักไก่แอบต่อสัญญา ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป และขอย้ำว่า กทม. ต้องหยุดจับผู้บริโภคเป็นตัวประกันต่อรองรัฐบาล อย่าห่วงแต่เรื่องหนี้สินและส่วนแบ่งรายได้ 2.4 แสนล้านบาทที่จะได้หลังต่อสัญญาฯ อีกทั้งถ้าหลักคิดรถไฟฟ้า คือ ขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กทม. ต้องทำให้ค่าโดยสารไม่เป็นภาระกับผู้บริโภค หรือไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงจะต้องทำให้รถไฟฟ้าเป็นขนส่งมวลชนที่ประชาชนเข้าถึงได้ ไม่ใช่เป็นเพียงขนส่งทางเลือกแบบทุกวันนี้” 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ