TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเอเปค 2022 …. ฝันเห็นโลกสีเขียว

เอเปค 2022 …. ฝันเห็นโลกสีเขียว

การประชุม เอเปค 2022 หรือ การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ที่จะมีขึ้นสัปดาห์หน้า (14-19 พฤศจิกายน 2565 ) ที่กรุงเทพมหานคร ฯ นับว่ามา ถูกเวลาเพราะบรราดาผู้นำจากเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่ได้เจอหน้า จับเข่าคุยกัน แบบตัวเป็น ๆ มาหลายปีแล้ว เนื่องจากพิษของวิกฤติโควิดที่ทำให้มนุษย์ต้องพบกันหน้าจอ

อีกทั้งเวลานี้ สถานการณ์โลกอยู่ในสภาวะคาดเดายาก จากความแปรปรวนทางเศรษฐกิจ และความร้อนแรงของการเมืองระหว่างประเทศ การมาเจอกันของบรรดาผู้นำฯ ในครั้งนี้ ทั้งแบบทางการและนอกรอบ จะทำให้การสื่อสารระหว่างกันมีคุณภาพมากขึ้น และมีโอกาสคลำพบทางออกจาก “วิกฤติ” ที่ร่วมเผชิญกันอยู่เวลานี้ได้

และยังเป็นโอกาสของไทยที่จะโชว์ศักยภาพและเป็นตัวเร่งช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่บอบช้ำจากวิกฤติโควิดมา ในฐานะเจ้าภาพประเทศไทยจะเสนอ เป้าหมายกรุงเทพฯ (Bangkok Goals) ให้ผู้นำชาติสมาชิกร่วมลงนาม ข้อเสนอชุดดังกล่าวมี 4 ข้อ ประกอบด้วย

หนึ่ง ร่วมสร้างการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน สอง ร่วมบริหารจัดการทรัพยากร และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความหลากหลาย ทางชีวภาพอย่างยั่งยืน สาม ร่วมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายเป็น เขตเศรษฐกิจ ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และ สี่ ร่วมตัดของเสียและขยะอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนไปสู่ เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน- เศรษฐกิจสีเขียว หรือ รู้กันชื่อ บีซีจี โมเดล

ช่วงปีที่ผ่านมารัฐบาล เร่งวางแผนเติมความเขียวให้ระบบเศรษฐกิจมา ผ่านการขับเคลื่อนในด้านต่าง ๆ เป็นระยะ อาทิ ประกาศใช้แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (แผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular Green Economy: BCG Model) ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (พ.ศ. 2565-2570) โดยวางกรอบวงเงินงบประมาณราว 40,972.60 ล้านบาท ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ 42 แนวทางดำเนินการซึ่ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ใน 4 ยุทธศาสตร์ใหญ่ (สู่เศรษฐกิจสีเขียว) ที่เริ่มนับหนึ่งมาตั้งแต่ต้นปี และจะไปสิ้นสุดในปี พ.ศ.2570 ประกอบด้วย….

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีตัวชี้วัด เช่น อัตราการขยายตัวของ ผลิตภัณฑ์ มวลรวม (จีดีพี) ของภูมิภาคเติบโตไม่น้อยกว่า 50% จากปี พ.ศ.2565 และความเหลื่อมล้ำลดลงทางรายได้ลดลงไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน กรอบวงเงิน 1,820 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การยกระดับอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ บีซีจี 5 สาขา ได้แก่ การเกษตร และอาหาร การแพทย์ และสุขภาพ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน วงเงิน 33,301 ล้านบาท มีตัวชี้วัด เช่น จีดีพีสาขาเกษตร 300,000 ล้านบาท รายได้ครัวเรือนเกษตรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี เพิ่มจีดีพีสาขายาและวัคซีน เป็น 90,000 ล้านบาท สาขาเครื่องมือแพทย์ สร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม 100,000 ล้านบาท เพิ่มการเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ให้ประชาชนในภูมิภาคและชนบท 1 ล้านคน เพิ่มดันกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็น ท็อป 5 ภายในปี พ.ศ.2570

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก กรอบวงเงิน 3,213.5 ล้านบาท มีตัวชี้วัดอาทิ จำนวนผู้ที่ได้รับการพัฒนาให้มีทักษะสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 1 คน วิสาหกิจเริ่มต้น ( Start Up) และธุรกิจที่มีผู้ประกอบการมุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ บีซีจี 1,000 รายการ

นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10,000,000 กิโลตันคาร์บอนออกไซด์ เทียบเท่าและการเพิ่มพื้นที่ป่าจำนวน 1,000,000 ไร่ ส่วนภาคอุตตสาหกรรม หนึ่งในเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566 – 2570) หรือแผน ฯ 13 คือนำไทยขึ้นสู่แหล่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำตัญแห่งหนึ่งของโลก

ข้อมูล ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2565 บีโอไอ ให้การส่งเสริมโครงการรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว 17 บริษัท จำนวน 26 โครงการ มีทั้งโครงการรถไฟฟ้าแบบ HEV (ใช้พลังงานน้ำมันและไฟฟ้ารวมกัน) PHEV (ปลั๊กอินไฮบริด มีทั้งเครื่องยนต์สันดาป มอเตอร์ไฟฟ้า สามารถบรรจุไฟฟ้าจากภายนอกมาเก็บในแบตเตอรีได้ ) และแบบ BEV (รถยนต์ไฟฟ้า 100%) คณะกรรมการนโยบายรถยนต์แห่งชาติและได้กำหนดเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไห้ได้ 30% ของยอดการผลิตรวมในปี พ.ศ.2573 เพื่อก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เชื่อว่าการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปครอบนี้มีส่วนทำให้ แผนสู่เศรษฐกิจสีเขียวของไทยมีความชัดเจนขึ้น

ส่วนภาคเอกชนต่างประกาศ ร่วมลดภาระให้โลก ด้วยการขับเคลื่อน มุ่งสู่องค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก ฯลฯ เชื่อว่าการประชุมเอเปคครั้งนี้ที่มีเศรษฐกิจสีเขียวเป็นวาระหลัก จะช่วยกระตุ้นให้ผู้นำจากเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ โฟกัสต่อเป้าหมายลดโลกร้อน ลดขยะ ฯลฯ มากขึ้น แต่ฝันจากเวทีประชุมที่จะบรรลุเป้าหมายเป็นเขตเศรษฐกิจผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์จะเป็นจริงขนาดไหน อย่างไรนั้น คงต้องจับตาดูกันต่อไป. .. เวลคัมเอเปค

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจของผู้เขียน

บทเรียนจาก นโยบายภาษี ของ “ลิซ ทรัสส์” ถึงพรรคการเมืองไทย

ค่าปกติใหม่ของ “เงินบาท” และทิศทางที่ยากคาดเดา

กระตุ้น “ท่องเที่ยว” ดันเศรษฐกิจโค้งสุดท้าย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ