TH | EN
TH | EN
หน้าแรกStartupจับตาวิกฤติ Silicon Valley Bank หรือจะเป็นชนวนใหม่ซ้ำรอย Lehman Brothers

จับตาวิกฤติ Silicon Valley Bank หรือจะเป็นชนวนใหม่ซ้ำรอย Lehman Brothers

ถือเป็นข่าวใหญ่สั่นสะเทือนแวดวงการเงินการธนาคาร พ่วงด้วยเทคโนโลยีและสตาร์ตอัพทั่วสหรัฐฯ รวมถึงอาจจะทั่วโลกในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อกระทรวงการป้องกันการเงินและนวัตกรรมแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ประกาศปิดกิจการของ ซิลิคอน วัลเลย์ แบงค์ (Sillicon Valley Bank) หรือ SVB เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม (ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ) พร้อมมอบหมายให้บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) เข้าไปดูแลเงินฝากของแบงก์ใหญ่แห่งนี้ 

นับเป็นข่าวการเลิกกิจการของธนาคารขนาดใหญ่ที่สร้างความปั่นป่วนได้มากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติเลห์แมน บราเธอร์ส (Lehman Brothers) ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ในปี 2008 และทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่า การล้มของธนาคารในครั้งนี้จะซ้ำรอยวิกฤติในอดีตหรือไม่ 

ทั้งนี้ ซิลิคอน วัลเลย์ แบงค์ ถือเป็นสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะที่เป็นธนาคารที่มีความสัมพันธ์อันดีกับเหล่าบริษัทสตาร์ตอัพเทคโนโลยีขั้นสูงระดับโลกหลายแห่ง โดยรวมถึงเป็นธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) ที่ให้การสนับสนุนด้านการเงินให้แก่ธุรกิจนอกเหนือจากสถาบันการเงิน 

กิจการธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของธนาคารทั้งหมดในสหรัฐฯ และเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในด้านเงินฝากในซิลิคอน วัลเลย์

ดร.มหิศร ว่องผาติ สตาร์ตอัพ “ไฮฟ์กราวนด์” ปั้นหุ่นยนต์ไทยสู่ตลาดโลก

InnoSpace Summit 2023 เดินหน้าหนุนสตาร์ตอัพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับสาเหตุของการล้มละลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงค์ นี้เป็นปัญหาที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากการตกต่ำของหุ้นเทคโนโลยีในปีที่ผ่านมาบวกกับนโยบายเข้มงวดทางการเงินและการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เพื่อสู้กับเงินเฟ้อ ทำให้ต้นทุนทางการเงินแพงขึ้น นักลงทุนส่วนใหญ่จึงเลี่ยงการลงทุนที่สร้างความเสี่ยง 

ขณะเดียวกันการที่นักลงทุนเลี่ยงการลงทุนในความเสี่ยงทำให้สตาร์ตอัพประสบปัญหาการระดมทุนจนบางรายตัดสินใจถอนเงินที่ฝากไว้กับซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ เพื่อรักษาสภาพคล่องภายใน กระเทือนต่อสถานะการเงินของธนาคารเองจนต้องขายบอนด์ก่อนกัดฟันขายหุ้นของธนาคารออกมา กลายเป็นสัญญาณที่ทำให้หลายฝ่ายตื่นตระหนกจนแห่กันไปถอนเงิน (Bank Run)  

ทำให้ในท้ายที่สุดบรรษัทค้ำประกันเงินฝากของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FDIC) ต้องสั่งปิดกิจการของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และเข้ามาจัดการพิทักษ์ทรัพย์ของธนาคารแห่งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาบานปลาย 

ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับ ซิลิคอน วัลเลย์ แบงค์ ได้รับการแก้ไขชั่วคราวแล้ว แต่ยังมีปัญหาใหญ่อีกสองประการที่เหลืออยู่ และสองปัญหานี้อาจบานปลายจนนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เพิ่มเติมหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว

หนึ่งคือเงินฝากจำนวนมากที่อยู่กับซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และสองคือผู้ที่จะรับช่วงเข้าไปดูแลธนาคารแห่งนี้ต่อ 

ขณะนี้ FDIC ได้ออกมาตรการให้การปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ฝากเงินแทนจะในทันทีที่มีการประกาศเลิกกิจการ โดยระบุชัดว่าเจ้าของเงินฝากจะสามารถเข้าถึงเงินฝากของตนได้ภายในช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) ผ่านทางสาขาต่าง ๆ ของธนาคารซึ่งจะเปิดทำการภายใต้การกำกับดูแลของ FDIC 

แต่อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองเงินฝากก็จำกัดเพียงแค่ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อผู้ฝากหนึ่งรายเท่านั้น ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ของธนาคารแห่งนี้เป็นกลุ่มธุรกิจที่ฝากเงินเอาไว้มากกว่า 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ

แถมกระบวนการต่าง ๆ กว่าจะได้เงินฝากคืนมาจำเป็นต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ ซึ่งธุรกิจจำนวนมากไม่สามารถรอได้ โดยสตาร์ตอัพหลายรายที่ฝากเงินไว้กับซิลิคอน วัลเลย์ แบงค์ ต่างเริ่มออกมาโอดครวญกันแล้วว่า บริษัทอาจไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน และอาจจำเป็นต้องระงับหรือยกเลิกโปรเจกต์เทคโนโลยีที่กำลังเดินหน้าพัฒนาอยู่ หรืออาจจะต้องปลดพนักงานชุดใหญ่ กลายเป็นอีกหนึ่งวิกฤติที่ซ้ำเติมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในวงกว้าง 

โดยรายงานเอกสารที่ยื่นต่อหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบ ณ สิ้นเดือนธันวาคม ปี 2022 พบว่า มากกว่า 95% ของเงินฝากของซิลิคอน วัลเลย์แบงค์แห่งนี้ยังเป็นการฝากเงินแบบไม่มีประกัน 

ในส่วนของปัญหาข้อที่สองที่ผู้เชี่ยวชาญกังวลกัน มีรายงานว่าจนถึงขณะนี้บรรดานักลงทุนในซิลิคอน วัลเวย์ และภาคการเงินส่วนหนึ่งต่างลุกขึ้นออกมาเรียกร้องขอให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ เปิดทางให้ธนาคารรายอื่นเข้าไปจัดการสินทรัพย์และหนี้สินของซิลิคอน วัลเลย์ แบงค์

แต่ยังไม่มีผู้แสดงความจำนงเข้าซื้อซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ แต่อย่างใด 

ทังนี้ โดยปกติหลังจากที่ธนาคารล้มแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลธนาคารจะมองหาธนาคารที่แข็งแกร่งกว่าเพื่อรับสินทรัพย์ของธนาคารที่ล้มเหลว ซึ่งในกรณีของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ ยังไม่มีธนาคารหรือสถาบันการเงินใด ๆ แสดงตัวออกมาเลย 

สถานการณ์ทำให้นักลงทุนส่วนหนึ่งเริ่มตั้งคำถามกันแล้วว่า วิกฤติของซิลิคอน วัลเลย์ แบงค์ จะลุกลามกระจายวงกว้างเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับกรณีของเลห์แมน บราเธอร์ส จนทำให้เกิดวิกฤตการเงินในปี 2008 หรือไม่ 

คำตอบที่ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำหลายสำนักตอบตรงกันก็คือไม่ 

แน่นอนว่า การปิดกิจการของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ อาจสั่นคลอนความเชื่อมั่นที่มีต่ออุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร แต่เชื่อว่าไม่น่าจะมีผลกระเทือนในวงกว้าง เพราะว่า ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ ถือเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ก็จริง แต่ก็มีตัวตนที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร 

เนื่องจากธนาคาแห่งนี้ให้บริการจำกัดเฉพาะกับบริษัทและธุรกิจที่อยู่ในแวดวงนวัตกรรมเทคโนโลยี รวมถึงบริษัทสตาร์ตอัพที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจเงินร่วมลงทุน (VC) เรียกได้ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงน่าจะจำกัดอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเท่านั้น ขณะที่ธนาคารและสถาบันการเงินอื่น ๆ มีความหลากหลายมากกว่า ทั้งในแง่ของบริการในหลายอุตสาหกรรม ฐานลูกค้า และสภาพภูมิศาสตร์การลงทุน

ยิ่งไปกว่านั้น จากการทดสอบ “Stress Test” ล่าสุด ซึ่งเป็นการทดสอบความมั่นคงแข็งแกร่งของธนาคารขนาดใหญ่ทั้งหลายภายใต้ภาวะวิกฤติต่าง ๆ ยังคงแสดงให้เห็นว่า ธนาคารเหล่านี้ยังมั่นคงดีอยู่ รวมถึงสามารถยืนหยัดรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงและการว่างงานที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างมากได้ในยุคอัตราดอกเบี้ยของขึ้นของเฟดนี้ 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็อดเตือนไม่ได้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับซิลิคอน วัลเลย์ แบงค์ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรประมาท เพราะหากไม่จัดการให้ดี โดยเฉพาะกับเงินฝากของธนาคารแห่งนี้ที่เหลืออยู่ อุตสาหกรรมของสตารตอัพของสหรัฐอเมริกาก็อาจจะกลายเป็นวิกฤติครั้งใหญ่ ที่แม้จำกัดอยู่ในวงแคบ แต่ก็อาจส่งแรงกระเพื่อมต่อความก้าวหน้าทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีของทั้งอุตสาหกรรมได้ 

ที่มา: AP News, CNN, CNBC, Channel News Asia

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ