TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityจาก “สวีเดนโมเดล” สู่ “ไทยโมเดล” เป็นไปได้หรือไม่? โอกาสปรับใช้ จัดการป่าไทย สู่ความยั่งยืน

จาก “สวีเดนโมเดล” สู่ “ไทยโมเดล” เป็นไปได้หรือไม่? โอกาสปรับใช้ จัดการป่าไทย สู่ความยั่งยืน

การเปิดโอกาสให้สังคมไทยได้ทำความรู้จักบทเรียนการจัดการป่าอย่างยั่งยืนจากสวีเดน ผ่านเวที Redesign Sustainable Forestry: The Innovative Forest Management Forum ที่ทาง SCG ร่วมกับสถานทูตไทย-สวีเดนและพันธมิตรจัดขึ้น เพื่อเผยแพร่แนวคิดจัดการป่ายั่งยืนระดับสากล ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเป็นความท้าทายที่ทำให้ประเทศไทยต้องกลับมาทบทวนวิธีคิดในการจัดการป่า จากนโยบายการอนุรักษ์แบบหวงห้ามที่ไม่ได้ผล และไม่เท่าทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก 

จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ภาครัฐจะปรับเปลี่ยนวิธีคิดมาสู่ความเชื่อมั่นและทำงานร่วมกับชุมชน ขับเคลื่อนนโยบายที่สร้างแรงจูงใจในการฟื้นฟูป่าธรรมชาติ และสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดการใช้ไม้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ทุกโมเลกุลของป่าให้ได้คุณค่าและมูลค่าสูงสุดด้วยนวัตกรรม สร้าง “ไทยโมเดล” ที่เหมาะสมกับบริบทของไทยเอง 

ถอดรหัส สวีเดนโมเดล

ดลรวี วรานนท์ ที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม ชี้ว่าสิ่งที่สำคัญที่เราได้บทเรียนจากสวีเดน คือ การสร้างระบบนิเวศที่ทำให้ทุก ๆ องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องเติบโตขึ้นมาได้พร้อม ๆ กัน และส่งเสริมให้ป่าไม้เติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืน  

“ระบบนิเวศของการจัดการป่าอย่างยั่งยืนของสวีเดน แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ผู้ส่วนได้ส่วนเสีย หรือ stakeholders เป็นผู้ที่อยู่ในระบบนิเวศ ซึ่งจะมีส่วนช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน เบื้องต้นสามารถแบ่งได้เป็น 6 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ภาครัฐ มีความสำคัญอย่างมากในแง่ของการออกนโยบาย พัฒนากฎหมายที่สนับสนุนภาคเอกชนและประชาชน ช่วยเหลือกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มที่ 2 คือ ภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ใช้ไม้ หรือผู้สร้าง Demand และทำให้เกิดมาตรฐานขึ้นมา รวมถึงการวิจัยและพัฒนาก็สำคัญไม่แพ้กัน 

กลุ่มที่ 3 ภาควิชาการ มีส่วนสำคัญในการทำวิจัยและพัฒนา รวมถึงการสร้างความรู้ในการทำป่าไม้อย่างยั่งยืนให้กับภาคประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มที่ 4 ภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นสะพานเชื่อม ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายร่วมกับภาครัฐได้  

ส่วนที่ 5 ภาคอุตสาหกรรมป่าไม้ มีความสำคัญในการปลูกป่า และนำไม้มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

และส่วนที่ 6 ผู้ประกอบการป่าไม้ เกษตรกรรายย่อย จะมีส่วนร่วมในการสร้างป่าไม้ยั่งยืนของประเทศไทย การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ต้องมีคนกลุ่มนี้ และควรได้รับการ empower ให้เขามีพลังมากขึ้น เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ทำให้เขามีส่วนร่วมในการใช้พื้นที่ป่าอย่างเหมาะสม 

อีกส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ที่ต้องไปด้วยกัน คือ Demand กับ Supply  ในส่วน Supply ของสวีเดน มาจาก 3 ส่วนหลัก คือ หนึ่ง การส่งเสริมการปลูกป่าของภาคอุตสาหกรรม สอง คือการปลูกป่าจากผู้ประกอบการ เกษตรกรรายย่อย และ สาม การบริหารจัดการป่าไม้ธรรมชาติ ซึ่งมีความสำคัญมาก จากบทเรียนของสวีเดน ป่าอนุรักษ์ถ้าบริหารจัดการดี ๆ สามารถเติบโตได้ดีกว่าที่เราปล่อยให้มันโตโดยธรรมชาติ 

ส่วนของ Demand แน่นอนว่าเรื่องของการพัฒนาเมืองจากไม้ หรือ Wood City เป็นโมเดลที่คนสวีเดนให้ความสำคัญมาก การก่อสร้างอาคาร 1 หลัง ต้องใช้ไม้ที่หลากหลายชนิดมาก ตั้งแต่พื้น ผนัง หลังคา หรืออื่น ๆ ที่อยู่ในองค์ประกอบของอาคาร ไม้บางชนิดที่เมื่อก่อนอาจจะถูกด้อยค่าราคาไม่สูงมาก แต่สามารถที่จะสร้างมูลค่า เพิ่มมูลค่าให้กับไม้ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเราปลูกไม้ที่หลากหลายมากขึ้นได้ เป็นเรื่องของการส่งเสริมให้เกิดการปลูกป่าไม้ที่ไม่ใช่แค่เชิงเดี่ยว แต่เกิดความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น

สู่ “ไทยโมเดล” การพัฒนาป่ายั่งยืนในแบบของไทย 

ดร. สุวรรณ ตั้งมิตรเจริญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ ตัวแทนของภาครัฐ อธิบายถึง สิ่งที่ภาครัฐทำอยู่แล้วในด้านการจัดการป่าอย่างยั่งยืน ตามแนวทางที่สอดคล้องกับสากล ในรูปแบบของ Forest Landscape Restoration หรือ FLR ซึ่งที่ประกอบไปด้วยเรื่องป่าธรรมชาติ ป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ แล้วก็ลงไปถึงป่าในเมือง และมีบางส่วนเป็นป่าชายเลน 

ในส่วนของป่าเศรษฐกิจ เมื่อมองในเชิงพื้นที่ของไทย แบ่งได้เป็น 4 กลุ่มชัดเจน กลุ่มแรก คือ พื้นที่กรรมสิทธิ์ ซึ่งมีพื้นที่มากที่สุด เป้าหมายของป่าเศรษฐกิจในประเทศไทยคือ 15%  ครึ่งหนึ่ง คือเป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ และอีกส่วนหนึ่ง คือ พื้นที่ สปก. หรือสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ส่วนต่อมาคือ พื้นที่ คทช. คือ พื้นที่ที่รัฐอนุโลมให้กลุ่มที่ราษฎรอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน ลุ่มน้ำชั้น 3-4-5 ซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่ต้นน้ำ และส่วนสุดท้าย คือ พื้นที่ป่าถาวร   

ประเทศไทยมีการทำอุตสาหกรรมไม้มานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้สัก ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นตั้งแต่ 50 ปีมาแล้ว ที่ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศเดนมาร์กในโครงการปรับปรุงพันธุ์ไม้สัก เมื่อมองให้ครบทั้งห่วงโซ่มูลค่า ในส่วนของต้นน้ำได้มีการดำเนินการไปแล้วในเรื่องของการพัฒนาพันธุ์สัก การจัดการสวนป่าเพื่อเศรษฐกิจ ในส่วนของกลางน้ำ เป็นเรื่องของการแปรรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์ 

ส่วนของปลายน้ำก็เป็นเรื่องของการตลาด ที่จะต้องสร้างตลาดให้มีความเสถียร และเป้าหมายจริง ๆ คือ การส่งเสริมการส่งออกเพื่อทำให้เกิดแรงจูงใจว่าปลูกแล้วมีตลาดขายได้อย่างจริงจัง ประเมินว่าแค่เฉพาะตลาดภายในประเทศคงยังไม่เพียงพอ 

“เมื่อเปรียบเทียบกับกับทางสวีเดน ต้องยอมรับว่าเรายังห่างไกล โดยเฉพาะในเรื่องของ Wood Construction ซึ่งบทเรียนจากสวีเดนทำให้ไทยเราต้องหันมามองในเรื่องของ ป่าในเมือง ที่จะนำไปสู่การนำไม้มาใช้ใน Wood construction หรือ Wood Building ต่าง ๆ เห็นด้วยกับทางแมกโนเลียว่า น่าจะลองนำร่องดูในเรื่องของการทำโครงสร้างอาคารไม้ 8 ชั้น ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สำหรับภาคเอกชน หรือแม้แต่ในภาครัฐเอง ที่น่าจะต้องเพิ่มการใช้ไม้เข้าไปในสัดส่วนของหน่วยงานของภาครัฐเอง” ดร.สุวรรณกล่าว 

สุนิตย์ เชรษฐา ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Change Fusion Group ตัวแทนภาคประชาสังคมที่ทำงานในเรื่องนวัตกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคส่วนต่าง ๆ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการจัดการป่าโดยภาคประชาชนว่า

“ผมเห็น 3-4 เรื่องที่สำคัญมากในสวีเดน อันแรก คือ เรื่องธรรมชาติ เศรษฐกิจ ชุมชน และเมืองต่าง ๆ นั้นสามารถเติบโตแบบเสริมกันและกันได้ จากที่เราเห็นว่า ป่าเพิ่มขึ้นจาก 20% ไปเป็น 80% ได้ และอีกเรื่องหนึ่งที่ประทับใจมาก คือ เรื่องการกระจายอํานาจท้องถิ่น การที่รัฐบาลเมือง รัฐบาลแต่ละจังหวัด เขามีความสามารถและมีสิทธิมีของตัวเองในที่จะจัดการร่วมกับชุมชนหรือประชาชนได้ และที่สำคัญมาก ๆ คือ สวีเดนมีเรื่องของความโปร่งใส เรื่องของ Governance ที่ชัดเจนมาก ๆ เลย”

กลับมาที่ประเทศไทย ในเรื่องการกระจายอํานาจให้ชุมชนมีอำนาจการตัดสินใจ มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก ๆ คือ การออกพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ป่า ไม่ว่าจะเป็นป่าสงวนหรือป่าอุทยาน สามารถทำกินได้อย่างถูกต้องภายใต้กฎหมาย จากในอดีต ที่ภาครัฐพยายามยุติปัญหาการลักลอบตัดไม้ โดยการออกกฎหมายครอบทับหลาย ๆ พื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประชาชนอยู่ ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านมีพระราชวินิจฉัยเลยว่า บางทีมันไม่ใช่คนรุกป่า แต่เป็น กฎหมายป่าไปรุกคน แต่ว่าก็ค่อยๆ พัฒนาจนเกิด พรบ.ป่าชุมชน และมีการแก้ไข พรบ.อุทยานฯ และอื่น ๆ  

ปัจจุบัน มีชุมชนขึ้นทะเบียนป่าชุมชน กว่า 4,000 แห่งแล้ว จากกว่า 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 6 ล้านไร่ ที่มีประชาชนอยู่กับป่า พรบ.ป่าชุมชน จะเป็นกลไกสำคัญของภาครัฐที่จะทำให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน

แต่การขึ้นทะเบียนซึ่งมีหลายขั้นตอนและต้องมีการทำแผนจัดการป่าชุมชน เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการป่าชุมชนจังหวัด ก็มีภาคีองค์กรภาคเอกชนจำนวนมาก ที่ช่วยกันหนุนเสริมชาวบ้านในด้านการจัดทำแผนการจัดการป่าชุมชน เช่น ศูนย์วนศาสตร์เพื่อคนกับป่ายั่งยืน หรือ RECOFTC ซึ่งทำงานเรื่องนี้กับประมาณ 300 พื้นที่ป่าชุมชน โดยเข้าไปทำฐานข้อมูล Citizen Forest  เก็บเป็น Open Data  สามารถเข้าไปดูที่เว็บ thaicfnet.org ซึ่งเป็นโครงการนี้ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสวีเดน 

การจัดทำแผนจัดการป่าชุมชน จึงเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญมาก ๆ ที่จะทำให้ชุมชนจะสามารถทำในเรื่องที่เรียกว่าเป็น Non Timber อาจจะเป็นการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์จากของป่า ที่ทำได้ตามกฎหมาย ซึ่งกำลังรอให้กฎหมายลูกออกมา โดยอาจมีภาคเอกชนร่วมมือกันได้ แต่ว่าที่ทำยากมาก คือ ในส่วนของ Timber

ยกตัวอย่าง พื้นที่น่านแซนด์บอกซ์ มีพื้นที่ภาคีเครือข่ายที่ทำเรื่องขึ้นทะเบียนป่าชุมชนได้เรียบร้อยแล้ว เตรียมจะขึ้นทะเบียนการตัดไม้และการแปรรูปไม้ ซึ่งต้องมีขั้นตอนประมาณ 10 กว่าขั้น และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ข้ามกระทรวงจำนวนมาก ทำให้ใช้เวลามาก ดังนั้น อาจจะจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงหรือมีความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาช่วยสนับสนุนชุมชน

อีกข้อจำกัดหนึ่ง คือเรื่องสินค้า ยิ่งเป็นตัวเนื้อไม้ ชุมชนอาจจะไม่ได้มีศักยภาพที่จะคิดเองทำเอง ขนาดเริ่มแปรรูปไม้ทำเป็นของเล่น ยังค่อนข้างทำได้ยาก การจะแปรรูปเพื่อนำไปใช้ในงาน Building น่าจะยิ่งต้องใช้ศักยภาพ ดังนั้น คิดว่าน่าจะช่วยกันริเริ่มเป็นความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ร่วมกันสร้างตัวอย่างให้สำเร็จสักที่ 1-2 ที่ 

ณพัชร สุพัฒนกุล รองประธานอาวุโส บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวถึงบทบาทตัวแทนจากภาคเอกชนว่า 

“บทบาทของเราคือเป็นผู้ซื้อ ผู้ใช้งาน และจากสิ่งที่เราศึกษาวิจัยกันมา ผมไม่กังวลเรื่องการใช้ไม้ในประเทศเลย ยังมีดีมานด์ที่ต้องการจะใช้ไม้ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างอีกมาก ไม่ใช่แค่เรื่องความยั่งยืนเท่านั้น แต่คุณูปการของการเอาไม้มาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างยังมีอีกหลายอย่าง แต่เมื่อเรามีดีมานด์ และคิดจะหามาใช้ จุดนี้คือความลำบากของเรา

ข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญของสวีเดนวิเคราะห์ว่า จากไม้ 100% เราสามารถใช้ประโยชน์แค่ 10% ทำให้เราไม่กล้านะ ถ้าเกิดเราอยากจะเป็น Responsible Real Estate หรือ Developer เราก็พยายามไปดูว่า อเมริกา มีมาตรฐาน FSC (US – Forest Stewardship Council Certification) ที่มีกระบวนการที่ track ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่การเอาไม้จากต่างประเทศมาใช้ก็ไม่ใช่คำตอบ ทั้งราคาที่อาจจะไม่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ และเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการขนส่ง แต่เราต้องการใช้ไม้เพื่อช่วยในเรื่องลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จริงๆ ไม่ใช่การใช้ไม้เพียงแค่เป็นกิมมิคในการออกแบบ

สิ่งที่ผมอยากจะเรียนรู้จากสวีเดนคือ เรื่องของมาตรฐาน เป็นมาตรฐานที่ปรับได้ตามบริบทของเมืองไทย และทำให้ผู้ซื้อสบายใจว่าได้ซื้อไม้ที่มีมาตรฐาน  ส่วนในเรื่องระบบนิเวศ ผมมองไปถึงภาคการศึกษา ซึ่งตอนนี้การเรียนการออกแบบไม้ วิศวกรรมไม้ Timber Engineering เข้าใจว่า ตอนนี้อาจจะไม่ได้อยู่ในหลักสูตรแล้ว ถ้าเกิดเราเริ่มนำไม้มาใช้ ก็ต้องนำหลักสูตรเหล่านี้กลับมา ให้คนไทยได้มีความรู้เรื่องเหล่านี้” 

สร้าง Supply อย่างไร ให้ Serve Demand 

การที่สวีเดนจะใช้ไม้ในการสร้างเมือง จะมีการวางแผนระยะยาวรองรับ ว่าจะต้องใช้ไม้เท่าไหร่ ใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ในการปลูก เพื่อให้ได้จำนวนที่เพียงพอและต่อเนื่อง แต่ supply chain ของเมืองไทยยังคงมีความไม่ต่อเนื่อง อีกทั้งต้นน้ำ ซึ่งเป็นผู้ผลิตกับผู้ใช้ยังไม่เจอกัน ดร.สุวรรณ ยกตัวอย่างความเป็นจริงที่ปรากฏในปัจจุบันว่า 

“เกษตรกรรายย่อยที่ปลูกไม้สักในพื้นที่จังหวัดน่าน หรือจังหวัดแพร่ เห็นได้ชัดว่า วันนี้ปลูกมาแล้วไม่ได้ราคา หลายรายตัดแล้วไปปลูกยางพารา แต่มันมีทางแก้ปัญหา ถ้ามีความเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตหรือผู้ปลูก กับผู้ประกอบการ หากได้เจอกันก็มีโอกาสเกิดความสำเร็จขึ้นได้ ซึ่งตอนนี้ทางกรมป่าไม้ กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเว็บไซต์ที่มีช่องทางให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายได้เจอกันด้วย มีแหล่งรับซื้อ และมีจุดของผู้ที่ปลูกไม้ ปัจจุบันอยู่ในขั้นการเติมเต็มข้อมูลให้สมบูรณ์ขึ้น 

ประเทศไทยเคยมีองค์กรคล้ายกับ Sodra ของสวีเดนมาแล้ว เป็นสหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน แต่ไปต่อไม่ได้ด้วยหลายๆ เหตุผล ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะการปลูกไม้ป่าต้องใช้ระยะเวลานาน จึงเป็นข้อจำกัด คือต้องมีทุนพอสมควร แต่สิ่งที่มันจะเป็นไปได้ อาจเป็นรูปแบบ วิสาหกิจชุมชน ซึ่งรวมตัวกันได้ง่ายกว่า ด้วยมีระเบียบ หรือข้อจำกัดน้อยกว่าสหกรณ์สวนป่า  แต่ในปัจจุบัน วิสาหกิจส่วนใหญ่เป็นด้านการเกษตร เรื่องผลผลิตการเกษตร หรือการแปรรูปไม้ แต่วิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการปลูกสวนป่าโดยตรงยังมีไม่มาก” 

สุนิตย์ ให้ความเห็นว่าควรจะมีองค์กรที่สนับสนุนชุมชนในด้านการแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยยกตัวอย่าง กลุ่มชุมชนที่ปลูกสักมา 20 ปี ที่ไปขึ้นทะเบียนป่าชุมชน และมีแผนการจัดการในการแปรรูปไม้ คนเมืองอาจจะเข้าใจว่า ต้นสักอายุ 20 ปี ต้องขายได้หลายพันหรือหลายหมื่นบาท แต่ค่าเฉลี่ยที่มีพ่อค้าคนกลางไปซื้อ คือราคาเพียง 200 บาทต่อต้นเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า จำเป็นต้องมีการสร้าง Value Chain เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับไม้ 

ในอีกแง่หนึ่ง พื้นที่ป่าชุมชน เป็นพื้นที่เล็กมาก ไม่ถึง 6 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าปัจจุบัน  พื้นที่จำนวนมากที่เป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์สามารถทำเรื่องไม้ยั่งยืนได้ง่ายกว่าเยอะ และลงมือทำได้เลย เพียงแต่ว่า กรณีของพื้นที่ป่าชุมชน ที่มีคนอาศัยอยู่กับป่า ก็ต้องมีการสร้างอาชีพเพื่อเป็นทางออก เพราะถ้าไม่ทำให้เขามีรายได้จากเรื่องการฟื้นฟูป่า ภูเขาอาจจะกลายเป็นเขาหัวโล้นไปอีกรอบ

“ถามว่าทำแบบสวีเดนได้ไหม ก็เห็นด้วยว่า อาจจะทำเป็นลักษณะวิสาหกิจชุมชน แต่ว่าผมเชื่อว่า ถ้าจะทำให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นห่วงโซ่คุณค่า หรือ ระบบนิเวศ อาจจะต้องออกแบบตั้งแต่ต้น ต้องเอาทั้งเครือข่ายชุมชนที่ทำเรื่องนี้ได้ เอาบริษัทหรือหน่วยงานเอกชน อย่างเช่น แมกโนเลีย ที่มีดีมานด์ชัดเจน และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมาออกแบบร่วมกันเพื่อทำเป็นโครงการนำร่อง”

สำหรับภาคเอกชนที่เป็นฝั่งของดีมานด์อย่าง MQDC หรือ แมกโนเลีย ที่มีสโลแกนคือ For All Well Being ณพัชร ให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการในอนาคตที่อาจจะเป็นโมเดลนำร่องว่า 

“จริง ๆ แล้วการมีไม้ มีต้นไม้อยู่ในโครงการ มันทำให้ Well Being ดีขึ้นอยู่แล้ว ทั้ง Mental Well Being และด้านอื่นๆ คนที่อยู่ก็สบายใจ ในเสกลที่ใหญ่ออกมา การสร้างโครงการด้วยไม้ การมีป่าอยู่ในโครงการ มันทำให้ value ของโครงการเพิ่มขึ้น ณ จุดนี้อาจจะใช้เงินทุนมากขึ้นนิดนึง แต่ว่า value ของโครงการก็มากขึ้นไปด้วย รวมถึงชุมชนรอบ ๆ ก็มี value มากขึ้น ในตอนที่เศรษฐกิจอยู่ในขาลง มูลค่า property value ของอาคารที่สร้างด้วยไม้ ก็ไม่ได้ลดตาม นี่คุณูปการของการใช้ไม้ 

เมื่อมองในสเกลใหญ่ขึ้น เรื่อง Net Zero  เราก็มีส่วนช่วยโลก ลด climate change  ในเสกลที่ใหญ่ real estate ต้องการไฟแนนซ์ ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายภาคส่วนที่เป็น Green Fund ซึ่ง developer อาจจะสามารถทำโครงการด้วยต้นทุนทางการเงินที่น้อยลงได้ องค์ประกอบเหล่านี้ ไม่ใช่ MQDC ที่สามารถทำได้ ผมคิดว่ามันเป็นเทรนที่ยังไงทุกภาคส่วนก็จะสร้าง demand ตรงนี้ขึ้นมาพร้อมๆ กัน ในฐานะอีโคซิสเต็ม ทั้งภาครัฐ ทั้งภาคประชาสังคม เชื่อมต่อกัน หาวิธีที่จะทำแซนด์บ็อกซ์ รวบรวมประชาชน หรือว่าผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ พัฒนาร่วมกันเป็นโครงการนำร่อง” ณพัชร กล่าว

สุวรรณ ทิ้งทายเพิ่มเติมในฐานะที่เป็นตัวแทนภาครัฐว่า สิ่งที่ทางภาคอุตสาหกรรมไม้ต้องการนั้นมี 3 ส่วน Upstream – Midstream – Downstream ส่วนที่ต้องการความช่วยเหลือน่าจะเป็นส่วนกลาง และส่วนหลัง ก็คือส่วนของภาคการพัฒนาการแปรรูปหรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องการความรู้เยอะ และในส่วนของเรื่องการตลาด ไปจนถึงเรื่องสำคัญคือ อยากให้ทางสวีเดนช่วยทำ Standard Code ของไม้แต่ละชนิด ว่าควรจะมีมาตรฐานอย่างไร   

Next Step ช่วยกันลงมือทำวันนี้

นิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี แสดงความคิดเห็นต่อมุมมองสังคมไทยที่คิดว่า การอนุรักษ์ป่าคือห้ามตัดไม้ ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ ยิ่งทำให้ไม้มีราคาแพงขึ้น และยิ่งเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลักลอบตัดป่า ในขณะที่การบริหารจัดการระบบป่าแบบสวีเดน นอกจากปลูกทดแทนแล้ว การตัดต้นไม้แต่ละต้นต้องให้ใช้ประโยชน์สูงสุด เช่น เศษไม้ที่เหลือจะผสมกาวกลายเอาไปใช้ประโยชน์ได้อีก เรียกว่าใช้ประโยชน์ได้ทุกเม็ด ด้วยวิถีความเป็นอยู่ที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติทำให้คนสวีเดนผูกพันกับธรรมชาติและป่าเขา ป่าทั้งหมดเป็นของสาธารณะ ทุกคนเข้าถึงป่าได้ ท่องเที่ยว สร้างบ้านในป่า เก็บผลผลิตจากป่าได้ แต่ต้องกระทำอย่างเหมาะสม

แง่คิดที่เราได้จากการจัดการป่าแบบสวีเดนคือ หนึ่ง สวีเดนโมเดลสร้างความสำเร็จให้สวีเดน แต่ไทยต้องนำมาปรับใช้แบบไทยโมเดล ตามบริบทของประเทศไทย สอง ต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ภาครัฐต้องเป็นผู้นำ แต่จะสำเร็จได้ต้องอาศัยภาคเอกชนต้องมีความคิดริเริ่มเรื่องการปลูกป่าอย่างเหมาะสม รวมทั้งภาคประชาสังคม และชาวบ้าน ทุกฝ่ายต้องมีความตระหนักและช่วยกันดูแล

สาม ต้องใช้เทคโนโลยี อย่างธุรกิจบรรจุภัณฑ์หรือเอสซีจีพี ที่มีการใช้ไม้ยูคาลิปตัสเป็นวัตถุดิบหลัก ได้นำระบบการบริหารจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐาน Forest Stewardship Council (FSC) มาใช้กับพื้นที่ปลูกป่าเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมยูคาลิปตัสสายพันธุ์ใหม่ และใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น โดรนและภาพถ่ายดาวเทียมมาช่วยเพิ่มคุณภาพการปลูก และสี่ ต้องทำอย่างเป็นระบบ 

เอสซีจีดำเนินโครงการรักษ์ภูผาสู่มหานที ตามแนวทาง ESG 4 Plus ทำตั้งแต่เพิ่มการปลูกป่า ตลอดจนสร้างฝายชะลอน้ำแล้ว 115,000 ฝาย โดยมีเป้าหมายสร้างถึง 150,000 ฝาย  เพราะถ้ามีฝาย ก็จะมีแหล่งน้ำบำรุงป่าให้เติบโต โดยมีชาวบ้านช่วยดูแลด้วยทั้งป่าและฝายเพราะอยู่ในพื้นที่ ที่สำคัญคือ การปลูกฝังให้คนรักป่า โดยเฉพาะเด็ก ๆ ซึ่งเอสซีจีปลูกป่ามานานกว่า 10 ปี ปลูกต้นไม้มามากกว่าหนึ่งล้านต้น 

“สุดท้าย สิ่งที่ผมอยากจะบอก คือ ถ้าไม่มีการทำอะไรไปเรื่อย ๆ อาจจะเกิดวิกฤติหลายอย่างขึ้นมาได้ เช่น โลกร้อนมากขึ้น ป่าไม้อาจจะเพิ่มหรือลดลงอันนี้ ขึ้นกับว่ามีการลักลอบตัดมากน้อยขนาดไหน เพราะว่าการที่ไม้ราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ หายากขึ้นเรื่อย ๆ คนก็อยากจะลักลอบมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนคนดูแลมีฝั่งราชการแต่ว่าพื้นที่ป่าที่กว้างขวาง ถ้าเกิดเป็นป่าในลักษณะที่มีเกษตรกรดูแลเป็นเจ้าของ จะมีคนที่ดูแลทำให้ป่าอยู่ได้มากขึ้น

Next Step คือ วินาทีต่อไปที่พวกเราจะทำ เป็นความร่วมมือที่ต้องเริ่มลงมือทำกันเลย ไม่มีคำว่า อาทิตย์หน้า เดือนหน้า ปีหน้า ถ้าไม่เริ่มวันนี้อีกร้อยปีก็เหมือนเดิมหรืออาจจะแย่ลง แต่เราทุกคนต้องร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้อีกไม่เกิน 100 ปีข้างหน้า ไทยจะมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์และยั่งยืนเหมือนกับสวีเดน ถามว่าใครจะเป็นคนทำ มันเป็นคำถามที่ทุกคนต้องช่วยกันตอบ ราชการทำ เอกชนทำ สถานทูตทำ หรือว่าภาคประชาสังคมทำ จริง ๆ มันก็กลับมาข้อแรก ทุกคนจะต้องเริ่มทำ แล้วต้องลงมือทำวันนี้ เมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกัน ก็จะสามารถนำสวีเดนโมเดลมาปรับใช้ตามบริบทของไทย กลายเป็น ‘ไทยโมเดล’ ที่มีประสิทธิภาพ คนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากไม้ได้เต็ม 100% และเพิ่มพื้นที่ป่าให้อุดมสมบูรณ์ไปพร้อมกัน” นิธิกล่าวทิ้งท้าย 

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

พันธกิจ “ภาคภูมิ มะหะสิทธิ์” ผู้ก่อตั้ง EcoloTech ปักหมุด บริษัท Earth-Saving Technology ระดับโลก

เนสท์เล่ นำร่องรถขนส่งพลังงานไฟฟ้า 100% ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนตามแผนงานสู่ Net Zero

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ