TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewพันธกิจ “ภาคภูมิ มะหะสิทธิ์” ผู้ก่อตั้ง EcoloTech ปักหมุด บริษัท Earth-Saving Technology ระดับโลก

พันธกิจ “ภาคภูมิ มะหะสิทธิ์” ผู้ก่อตั้ง EcoloTech ปักหมุด บริษัท Earth-Saving Technology ระดับโลก

ทำไมต้องเลิกดื่มน้ำบรรจุขวดพลาสติก? ยังคงเป็นคำถามคาใจหลายคน การดื่มน้ำสะอาดทำลายสิ่งแวดล้อมได้มากจริงหรือ เพราะขวดพลาสติกเหล่านั้นถูกการันตีว่าสามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ … ‘ภาคภูมิ มะหะสิทธิ์’ ผู้ก่อตั้งบริษัท EcoloTech มีมุมคิดอย่างไรในการตั้งบริษัทด้านสิ่งแวดล้อมในไทยเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากอยู่ต่างประเทศมานานกว่า 20 ปี และอะไรคือโอกาสทางธุรกิจเมื่อได้เห็นขวดน้ำพลาสติกในถังขยะ 

จากก้าวแรกของ EcoloTech 

ภาคภูมิ มะหะสิทธิ์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท EcoloTech กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ก่อนเริ่มทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ตนเองเริ่มต้นงานในสายแฟชั่นและคอสเมติกมากว่า 20ปี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยออกแบบกล่องผลิตภัณฑ์น้ำหอมให้กับแบรนด์ดัง โดยขั้นตอนก่อนจะมาเป็นกล่องที่สมบูรณ์สวยงามพร้อมจำหน่ายผ่านการทดลองหลายครั้ง แต่เมื่อวางจำหน่ายลูกค้าซื้อไปใช้ แกะกล่องเอาขวดน้ำหอมออกมาแล้วทิ้งกล่องทันที ทำให้รู้สึกเสียดายกล่องเหล่านั้นมาก รู้สึกในตอนนั้นว่าถ้าเป็นไปได้อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ ซึ่งตอนนั้นทำได้แค่คิด แต่วันหนึ่งที่ตัดสินใจกลับมาเมืองไทยเนื่องจากต้องดูแลครอบครัว จึงทำให้มองหาไอเดียการทำธุรกิจในเมืองไทย ซึ่งยอมรับว่าตนเองไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่อายุ 18 ปี และไม่ได้กลับมาใช้ชีวิตที่ไทยนานมาก การกลับมาในครั้งนั้นจึงค่อนข้างท้าทายมากในการมองหาประเภทธุรกิจที่จะทำในไทย เนื่องจากไม่อยากทำสายงานเดิมที่ทำมานาน

ทั้งนี้ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่ฝรั่งเศสตั้งแต่อายุ 18 ปี ซึ่งตอนแรกเรียนด้านกฎหมาย แต่ด้วยฝรั่งเศสมีการสอนด้านกฎหมายตั้งแต่ในระดับมัธยมปลาย ทำให้การเข้าเรียนกฎหมายในระดับมหาวิทยาลัยค่อนข้างมีอุปสรรคสำหรับตนเอง จึงเปลี่ยนมาเรียนด้านบริหารธุรกิจ (Business management marketing advertising) หลังจากเรียนจบกลับมาทำงานในไทย 2-3 ปี แต่ด้วยไม่เคยชินกับสังคมที่มีการตีกรอบทางความคิด จึงตัดสินใจกลับไปที่ฝรั่งเศสและได้ทำงานในแบรนด์เสื้อผ้าของอเมริกัน ซึ่งมีการเติบโตในงานระดับหนึ่งจึงเปลี่ยนงานไปทำกับแบรนด์เครื่องสำอางระดับโลก ประมาณ 7-8 ปี จนได้เปิดบริษัทเครื่องสำอางของตนเองที่ปารีส หลังจากนั้น 3 ปี จึงตัดสินใจกลับประเทศไทยเพราะต้องดูแลครอบครัวในปี 2556 

สิ่งแรกที่คิดคือต้องเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคก่อนว่า คนประเทศนี้กินอะไรกันจึงเริ่มที่ถังขยะ แล้วก็ได้รู้ว่าในถังขยะมีกล่องโฟม ขวดน้ำพลาสติกจำนวนมาก ซึ่งทำให้สงสัยว่าทำไมคนไทยดื่มน้ำบรรจุขวด มองว่าจากขยะที่พบเห็นมีขวดน้ำพลาสติกมากถึง 60% หลังจากนั้นจึงเริ่มหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่า ทำไมคนไทยต้องดื่มน้ำบรรจุขวดพลาสติก จนสุดท้ายได้รู้ว่าประเทศไทยมีปัญหาจากต้นน้ำคือ ประเทศไทยใช้น้ำจากแม่น้ำมาทำน้ำประปา ซึ่งทำให้น้ำประปามีปัญหา คนส่วนใหญ่ดื่มน้ำประปาโดยตรงไม่ได้ 

อีกทั้งบางบ้านใช้วิธีซื้อเครื่องกรองน้ำ แต่ถ้าต้นน้ำมีปัญหารสชาติของน้ำ หรือกลิ่นในบางพื้นที่ที่ผลิตน้ำประปาการใช้เครื่องกรองน้ำยังคงมีมีปัญหานี้อยู่ ซึ่งจากประสบการณ์ตรงส่วนตัวที่อาศัยในปารีส ฝรั่งเศส น้ำประปาที่นั่นรสชาติดี ไม่มีกลิ่นและดื่มได้จริง เนื่องจากมีการปรับปรุงคุณภาพอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงมองหาทางออกว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคน้ำบรรจุขวดพลาสติก เนื่องจากขวดพลาสติกย่อยสลายไม่ได้ วิธีการกำจัดคือการเผาซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแบบห่วงโซ่ และหลังจากหาข้อมูลเพิ่มเติมจึงพบว่ามีการผลิตน้ำจากอากาศ ซึ่งมองว่าหากต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนให้เลิกดื่มน้ำบรรจุขวดพลาสติกอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 20 ปี นั่นหมายความว่า 20 ปีนี้ บริษัทมีงานให้พัฒนาตลอดแน่นอน

ขณะที่ในช่วงแรกของการก่อตั้งบริษัทมีการพูดคุยกับเพื่อน ซึ่งเพื่อนเห็นด้วยและตั้งใจมาร่วมธุรกิจ ตนเองจึงได้ลงทุนทุกอย่างไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเช่าพื้นที่ตั้งบริษัท การสั่งเครื่องผลิตน้ำจากอากาศเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา แต่ในวันที่ต้องเปิดบริษัทอย่างเป็นทางการ แต่เพื่อนไม่มา ซึ่งหากมองย้อนกลับไปวันนั้นเรียกได้ว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะตนเองอยู่ต่างประเทศมาตลอด 20 ปี ในวันที่ต้องทำธุรกิจในประเทศไทยคือไม่ต่างอะไรกับชาวต่างชาติทำธุรกิจในไทย ในตอนนั้นต้องตัดสินใจว่า จะเลิก หรือจะไปต่อ ซึ่งการตัดสินใจไปต่อคือสิ่งที่ทำให้มีทุกวันนี้ 

คิดและลองทำจนกว่าจะสำเร็จ

ผู้ก่อตั้งบริษัท EcoloTech กล่าวต่อว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจเลือกทำธุรกิจต่อคือ มองเห็นโอกาสว่าทุกๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น จะต้องถูกแก้ไข ไม่ช้าก็เร็ว ซึ่งมันคือโอกาสของการทำธุรกิจ และด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาทางธุรกิจแต่เป็นปัญหาด้านวิถีชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็แล้วแต่จะต้องถูกแก้ไข อีกทั้งหน่วยงานรัฐยังไม่มีบทบาทมากพอในเรื่องนี้ ซึ่งสิ่งที่บริษัททำได้คือ เริ่มทำก่อนและค่อยๆ แก้ไขไปทุกวัน

บริษัทเริ่มคิดธุรกิจนี้ในปี 2556 และลงมือทำทันที โดยการนำเข้าเครื่องผลิตน้ำจากอากาศเครื่องแรกจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาจำหน่ายในไทย มีการเก็บข้อมูลการใช้งานของลูกค้าต่อเนื่อง เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงเครื่อง เรียนรู้ทุกครั้งจากที่เครื่องต้องส่งซ่อมและในขณะเดียวกันมีการศึกษาข้อมูลปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยพบว่ามีขยะขวดน้ำพลาสติกจำนวนมากในทะเล เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำให้มากกว่าการนำเครื่องผลิตน้ำจากอากาศมาวางจำหน่าย อาจต้องคิดให้ไกลกว่านั้น คือ จะต้องสร้างนวัตกรรมที่คนสามารถเข้าถึงเครื่องผลิตน้ำจากอากาศได้ง่ายและจะต้องมีการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้น้ำมีคุณภาพที่ดี 

ทั้งนี้เมื่อศึกษาปัญหาขยะขวดพลาสติกจากหลายแห่งพบว่าทั่วโลกมีปัญหาเดียวกัน ทำให้ตอกย้ำสิ่งที่บริษัทกำลังทำอยู่ว่ามาถูกทางแล้ว และเครื่องที่นำเข้ามาวางจำหน่ายในไทยยังคงมีจุดด้อยบางอย่าง จึงทำให้หลังจากวางจำหน่ายมาแล้ว 5 ปี บริษัทเริ่มมองหาวิธีการผลิตเครื่องที่เป็นของ EcoloTech เอง ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งจากโครงการของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA เพื่อนำมาสร้างเครื่องต้นแบบตามแนวคิดที่บริษัทต้องการ ซึ่งหลังจากสร้างเครื่องต้นแบบเสร็จแล้วได้รับความสนใจจากรัฐบาลเกาหลีใต้ ซึ่งที่นั่นมีสตาร์ตอัพที่ทำเรื่องนี้อยู่เช่นกัน หลังจากได้ลองทำงานร่วมกันระยะหนึ่งพบว่าเป้าหมายทางธุรกิจและด้านสิ่งแวดล้อมที่บริษัทต้องการมีความต่างกัน จึงไม่ได้ร่วมมือกันทางธุรกิจ 

อย่างไรก็ตามจากการนำเข้าเครื่องผลิตน้ำจากอากาศเพื่อวางจำหน่าย ปัจจุบันมีผู้ใช้เครื่องประมาณ 2,000 ราย ซึ่งมีการนำไปใช้ในครัวเรือน บริษัท โรงแรม หรือมีการนำไปบริจาคให้กับวัด โรงเรียน เป็นต้น ซึ่งนโยบายของบริษัทมีความชัดเจนว่าต้องการผลิตเครื่องที่เป็นของบริษัทเอง ดังนั้นการทำการตลาดที่ผ่านมาไม่ได้เน้นที่ยอดขายเครื่อง แต่เป็นการส่งต่อความรู้และเมื่อมีคนสนใจก็ติดต่อเข้ามาที่บริษัท โดยยอดขายที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะของการบอกต่อกันจากผู้ซื้อปากต่อปาก 

อย่างไรก็ตามมองว่า Key success แรกที่เกิดขึ้นคือ จากวันแรกที่กลับมาไทยและเริ่มทำธุรกิจ ตนเองคือ Nobody ที่ยังไม่มีใครรู้จัก แต่มาทุกวันนี้ ทุกคนเชิญตนเองไปให้ความรู้ในเวทีต่าง ๆ มีนักลงทุนหลายรายมาพูดคุยด้วย ซึ่งไม่ใช่นักลงทุนทุกคนที่บริษัทเลือก เนื่องจากถ้าเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมไม่ชัดเจนก็ทำงานร่วมกันไม่ได้ ซึ่งวิธีคิดหนึ่งที่บริษัทมองในการทำธุรกิจคือ จะสร้างเครื่องออกมายังให้คนทุกระดับเข้าถึงการดื่มน้ำสะอาดในราคาไม่แพงได้มากที่สุด โดยเป้าหมายคือต้องการให้ราคาน้ำต่อลิตรที่ผลิตขึ้นราคาสู้กับราคาของน้ำในตู้กดน้ำหยอดเหรียญได้ 

“คิดแล้วลองทำ ถ้าไม่ได้ก็เปลี่ยนวิธีแล้วลองทำใหม่ ลองไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายจะเจอวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งต้องมีการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เพื่อนำมาปรับใช้พัฒนาวิธีคิดในการสร้างโซลูชันที่ตอบโจทย์” ภาคภูมิ มะหะสิทธิ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท EcoloTech กล่าว

The Earth-Saving Technology Company

ผู้ก่อตั้งบริษัท EcoloTech กล่าวต่อว่า บริษัทมีการวางแผนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบในสตาร์ตอัพ 5 ด้าน ได้แก่ 1.SKYGIVE คือ เครื่องผลิตน้ำจากอากาศ ซึ่งช่วยลดปัญหาการดื่มน้ำจากขวดพลาสติก 2. REFOREBOT หรือ หุ่นยนต์ปลูกป่า เป็นการนำเทคโนโลยีปลูกป่าและดูแลป่าอย่างเป็นระบบอุตสาหกรรม 3. THE OCEAN PINK คือ ธุรกิจดูแลท้องทะเลด้วยศิลปะและเทคโนโลยี 4. BeesGreen หรือผึ้งงานสร้างเมือง ดำเนินกิจการเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ให้บริการรับซื้อขยะวัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้จากครัวเรือนและจำหน่ายให้กับภาคอุตสาหกรรม และ5.Znail เป็นแอพพลิเคชันที่ให้บริการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างจุดเรียกไปถึงขนส่งสาธารณะที่ใกล้ที่สุดในเขตนั้นๆ 

ทั้งนี้ 5 กลุ่มดังกล่าวใช้แนวคิดเดียวกันคือต้องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากต้นเหตุ เช่น หุ่นยนต์ปลูกป่า เป็นหุ่นยนต์โดรนที่ดูแลพื้นที่ของป่าขนาดใหญ่เพื่อมอร์นิเตอร์การบุกรุกป่า หรือการเข้ามาในพื้นที่ป่าที่ปลูกใหม่จะมีสัญญาณเตือนและโดรนจะถ่ายรูปส่งกลับมาที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ซึ่งบริษัทมองว่าระบบมอร์เตอริ่งของป่าไม้จะต้องถูกสร้างด้วยหุ่นยนต์ไม่ใช้คน เมื่อรู้วิธีแก้ปัญหาแล้วสิ่งที่ต้องทำต่อคือการหาคนผลิตเทคโนโลยีเพื่อมาตอบโจทย์ โดยมีบริษัทเป็นแพลตฟอร์มกลาง

“มีคำถามว่าระบบที่เราทำอยู่นอกจากเป็น SAVE EARTH TECHNOLOGY COMPANY แล้ว เราทำเงินได้จริงไหม บอกเลยว่า เราทำเงินได้ เพราะถ้าเราไม่ทำเงิน เราไม่ทำ แต่เป็นวิธีการทำเงินที่เป็นแบบใหม่ คนต้องอยู่กับสิ่งแวดล้อมไปตลอด การแก้ปัญหาจากสาเหตุต้นทาง อาจไม่เห็นผลในตอนนี้แต่ธุรกิจนี้ยั่งยืนในอนาคต”

เรื่อง ESG องค์กรต้องมี Green mindset

ผู้ก่อตั้งบริษัท EcoloTech กล่าวต่อว่า ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าประเทศไทยถ้าไม่ถูกบีบจากต่างชาติให้ต้องทำเรื่อง ESG ก็ยังไม่มีใครเริ่มทำ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปัญหาสิ่งแวดล้อมมีมาอย่างยาวนาน ตอนนั้นตนเองไม่ได้เป็นที่รู้จักพลังในการเข้าไปพูดคุยกับหน่วยงานของรัฐมีน้อย แต่ตอนนี้เมื่อ EU ออกมาประกาศเรื่อง ESG แน่นอนว่าทั่วโลกรวมถึงไทยจะต้องให้ความสนใจเพราะเกี่ยวโยงถึงการลงทุนและระบบเศรษฐกิจภาพใหญ่ ซึ่งบริษัทที่จำเป็นต้องทำและอาจมองว่านี่คือ ภาระ กับบริษัทที่มี Green mindset วิธีการลงมือทำจะต่างกัน ซึ่งการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช้การออกแบบแอพพลิเคชันให้คนดาวน์โหลดไปใช้ในกลุ่มเล็กๆ แต่คนต้องเข้าถึงและใช้ได้จริงในแบบมหาชนในหลักร้อยล้านคน เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นจากพฤติกรรมคนหลายพันล้านคน 

ทั้งนี้ความท้าทายของการทำธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อมคือ การสร้างความตระหนักรู้ให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งบางคนมองว่าแก้ยากปัญหาสิ่งแวดล้อม ทนอยู่กันไปแบบนี้แล้วกัน ซึ่งบริษัทมีหน้าที่ต้องหาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหา หรือกระบวนการต่างๆ มาช่วยให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป ซึ่งบางคนมองว่าภาครัฐต้องลงทุนแก้ปัญหานี้ แต่ภาครัฐเองไม่มีความรู้ในเชิงลึกมากพอในการจัดการ ดังนั้นต้องเป็นหน้าที่เอกชนเองต้องช่วยกัน 

EcoloTech ในปี 2566  

ผู้ก่อตั้งบริษัท EcoloTech กล่าวต่อว่า บริษัทยังคงมองหานักลงทุนที่สามารถพัฒนาเครื่องต้นแบบของบริษัทให้ออกสู่เชิงพาณิชย์ ดังนั้นตลาดที่บริษัทต้องการไปคือประเทศที่ต้องการลงทุน โดยตอนนี้มี 2 ประเทศที่น่าสนใจคือ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ แต่ทั้ง 2 ประเทศมีความได้เปรียบที่ต่างกัน ซึ่งอังกฤษมีกลุ่มคนที่เก่งด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก แต่อังกฤษไม่มีเงินทุนมากนัก ขณะที่สหรัฐอเมริกามีนักลงทุนที่เข้าใจรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ได้ง่ายและพร้อมลงทุน แต่มีจำนวนกลุ่มคนด้านเทคโนโลยีเก่งๆ ไม่มากนัก 

ดังนั้นตอนนี้บริษัทอยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจว่าจะเลือกไปประเทศอะไรเป็นที่แรก เพื่อให้การขยายธุรกิจในระดับโลกไปได้กว้างและเร็ว ซึ่งเป้าหมายอย่างหนึ่งคือต้องการให้บริษัทไปเป็นส่วนหนึ่งของประเทศนั้น สมมติ EcoloTech เลือกสหรัฐอเมริกาเข้ามาเป็นเจ้าของบริษัท การทำตลาดและขยายตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกาจะเกิดขึ้นเร็วมาก สามารถสร้างระบบใหม่และเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คนจำนวนมหาศาลได้ดีกว่า หากเป็นในสหรัฐอเมริกาจะเป็นการเข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ หรือ แนสแด็ก (NASDAQ : National Association of Securities Dealers Automated Quotations) เพื่อระดมทุนและเข้าทำงานร่วมกับบริษัทของสหรัฐอเมริกา หรือเป็นการร่วมลงทุน 

ทั้งนี้บริษัทจะมีระยะเวลา 2 ปี หากแผนธุรกิจประสบความสำเร็จเงินลงทุนที่ได้จากการระดมทุนบริษัทจะได้รับกลับมาเพื่อนำไปทำอย่างอื่นต่อได้ แต่ถ้าไม่สำเร็จจะต้องคืนเงินลงทุนดังกล่าวกลับไป ซึ่งตอนนี้มีการนำเสนอรูปแบบธุรกิจเบื้องต้นให้กับหลายบริษัทแล้วในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการตอบรับที่ดี โดยบริษัทต้องการ 10 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อทำเครื่องต้นแบบ 3 เครื่อง แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เครื่องที่ใช้ในครัวเรือน, เครื่องที่ใช้ในพื้นที่สาธารณะ และเครื่องสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งมั่นใจว่าในปี 2566นี้ จะได้เห็นการขยายธุรกิจลักษณะนี้อย่างแน่นอน 

อีกทั้งในปีนี้ได้เปิดบริษัทใหม่ชื่อว่า Green Rocket ทำหน้าที่เป็น Deal maker ซึ่งเป็นตัวกลางให้บริษัทไทยและบริษัทต่างชาติที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมได้พบกัน ซึ่งจะทำให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนด้าน Greentech ในประเทศไทย โดยบริษัทจัดทำเป็น Sandbox market หากโปรเจกนั้นๆ สามารถขยายธุรกิจให้เติบโตได้และถ้าต้องการระดมทุนระดับ IPO บริษัทสามารถส่งเสริมให้เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ เพราะเป้าหมายคือต้องการดึง Greentech เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยให้เร็วที่สุด โดยตอนนี้ Green locket มีการหารือกับหอการค้าใน 14 ประเทศที่สนใจเรื่อง Greentech แล้ว

สำหรับ Greentech ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันนั้น ต้องเข้ามาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ในระดับต้นเหตุของปัญหา ยกตัวอย่างเช่น ในร้านกาแฟที่ทุกวันนี้ใช้วิธีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการเปลี่ยนจากแก้วพลาสติกเป็นแก้วที่ทำจากกลุ่มพลาสติกชีวภาพ (Biodegradable Cup) แต่ทุกคนสั่งกาแฟแล้วนั่งดื่มในร้าน สุดท้ายแล้วคือทุกแก้วเป็นขยะ ทำไมไม่ใช้แก้วที่ล้างได้สำหรับคนนั่งดื่มในร้าน เหตุผลคือร้านไม่จ้างพนักงานล้างแก้ว เพราะเป็นต้นทุนและพนักงานในร้านมีจำกัดไม่มีเวลาสำหรับล้างแก้ว การแก้ปัญหานี้คือ ร้านต้องมีเครื่องล้างแก้วที่สะอาด ซึ่งสิ่งนี้เรียก Greentech ที่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ 

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ดร.มหิศร ว่องผาติ สตาร์ตอัพ “ไฮฟ์กราวนด์” ปั้นหุ่นยนต์ไทยสู่ตลาดโลก

เก่งสร้างได้ เพราะ I AM ABLE สไตล์ “แอม” ชญาน์นัทช์ ไชยวัฒนพงศ์ มนุษย์เป็ดยุคดิจิทัล

‘ปัญญา พรขจรกิจกุล’ ในวันเปลี่ยนผ่านสู่ ‘Bluebik Vulcan’ … Digital Intelligence ที่ส่งต่อด้วย T2P

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ