TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterview‘ปัญญา พรขจรกิจกุล’ ในวันเปลี่ยนผ่านสู่ ‘Bluebik Vulcan’ ... Digital Intelligence ที่ส่งต่อด้วย T2P

‘ปัญญา พรขจรกิจกุล’ ในวันเปลี่ยนผ่านสู่ ‘Bluebik Vulcan’ … Digital Intelligence ที่ส่งต่อด้วย T2P

กว่า 20 ปีในแวดวงไอทีของ ‘ปอง – ปัญญา พรขจรกิจกุล’ กับความชำนาญการด้านการพัฒนาแอปพลิเคชันที่เริ่มต้นจากหน่วยธุรกิจหนึ่งในเอ็มเฟค กรุ๊ป สู่ MD บริษัท Bluebik Vulcan ในปัจจุบัน เพื่อส่งต่ออาวุธทางเทคโนโลยีและความชาญฉลาดด้านดิจิทัล (Digital Intelligence) ให้องค์กรสามารถเผชิญความท้าทายและปรับตัวในทุกการเปลี่ยนผ่านด้วยกุญแจความสำเร็จ “T2P” คือ เทคโนโลยี (Technology) กระบวนการธุรกิจ (Process) และคน (People)

“Bluebik Vulcan ” เทพแห่งการช่างยุคดิจิทัล 

เทพโรมัน “วัลแคน” (Vulcan) หรือรู้จักในชื่อภาษากรีกว่า เฮฟเฟสตุส คือ เทพแห่งไฟ โลหะ และการช่าง ผู้ประกอบอัสนีบาตเป็นอาวุธให้เทพเจ้าซูส โดยมีสิ่งคู่กาย คือ ฆ้อน แทนความหมายเทพเจ้าแห่งการประดิษฐ์อาวุธและประติมากร ซึ่งสื่อถึงภาพลักษณ์ทางธุรกิจของ Bluebik Vulcan  นั่นคือ “การติดอาวุธทางเทคโนโลยีให้กับลูกค้าเพื่อสู้ศึกในโลกดิจิทัลปัจจุบัน”

“เป็นชื่อที่ตั้งล้อกับอีกหนึ่งหน่วยงานไอทีภายใต้ Bluebik (บลูบิค) คือ Bluebik Titans (บลูบิค ไททันส์) ซึ่งจะมาจับมือกันในการนำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันส่งมอบให้ลูกค้า”

คติพจน์ของ Bluebik Vulcan  คือ “Make Reality Alive” ต่อยอดจาก “Ambition to Reality” ของบลูบิค โดยดึงคำว่าเรียลลิตี้มานิยามการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีชีวิต เกิดขึ้นจริง และเติบโตไปกับลูกค้าในทุกยุคทุกสถานการณ์ ดังเช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันธุรกรรมการเงินบนมือถือที่เริ่มต้นตั้งแต่ยุคเอทีเอ็มซิม (ATM SIM) บริการโอนเงินต่างประเทศ WARP และอื่น ๆ จนมาเป็น Mobile Banking ธนาคารบนมือถือในปัจจุบัน 

ปัญญา ย้อนความเป็นมากว่าจะมาเป็น Bluebik Vulcan ให้ฟังว่า เดิมเป็นหน่วยธุรกิจดิจิทัล เดลิเวอรี่ (Digital Delivery) ภายใต้บริษัท เอ็มเฟค กรุ๊ป ทำงานด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบครบวงจร โดยมีลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มธนาคารราว 80% และกลุ่มพลังงาน 20% ส่วนการเข้าซื้อหน่วยธุรกิจนี้เพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบลูบิค กรุ๊ป นับเป็นโอกาสที่จะได้เสริมแกร่งในมิติการเป็นบริษัทที่ปรึกษา และต่อยอดโซลูชันเพื่อขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน โดยบลูบิคจะเป็นทัพหน้าในการเจรจารับทราบความต้องการของลูกค้า และมี Bluebik Vulcan เป็นทัพหลังในการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะทำให้ “เรามีศักยภาพมากพอที่จะเติบโตเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่สามารถแข่งขันได้กับต่างชาติ หรือเติบโตสู่ระดับโกลบอลได้ในอนาคต”

มัดใจลูกค้าแบบ End-to-End 

พันธกิจหลักของ Bluebik Vulcan ช่วง 1-2 ปีแรก จะเน้นการให้บริการฐานลูกค้าเดิมในกลุ่มการเงินการธนาคารและกลุ่มพลังงาน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบใด ๆ ในระยะเปลี่ยนผ่าน คู่ขนานไปกับการผสานแผนกลยุทธ์ร่วมกัน ก่อนขยายฐานไปยังกลุ่มธุรกิจบริการด้านสุขภาพ เช่น โรงพยาบาลเอกชน หรือบริการสุขภาพสำหรับภาคประชาชนอื่น ๆ ร่วมกับทีมงานที่เคยดูแลงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาก่อน ซึ่งทำให้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า สัดส่วนของลูกค้าเป้าหมายในอนาคตจะอยู่ในกลุ่มการเงินและการธนาคาร 70% พลังงาน 20% และบริการสุขภาพ 10% 

“ชาวต่างชาติที่กลับเข้ามาและธุรกิจที่ฟื้นตัวจะทำให้เกิดการพัฒนาแอปฯ เพื่อรองรับธุรกรรมและรูปแบบการชำระเงินใหม่ ๆ ในภาคการเงินการธนาคารทั้งในและระหว่างประเทศมากขึ้น ส่วนการจับตลาดพลังงานที่เพิ่งเริ่มเมื่อราว 1-2 ปี ที่ผ่านมา ทำให้เห็นโอกาสทางธุรกิจที่ไม่ใช่เฉพาะน้ำมันอีกต่อไป แต่คือ Business Ecosystem ที่ดึงซัพพลายเชนเข้ามาเพื่อให้การบริหารพื้นที่ในปั๊มน้ำมันเกิดประโยชน์เชิงการให้บริการลูกค้า ซึ่ง Super App น่าจะตอบโจทย์มากที่สุด และการเจาะตลาดสุขภาพซึ่งต้องการความรวดเร็วในการบริการ เช่น การนัดหมาย การเชื่อมข้อมูลคนไข้เข้าหากัน ตลอดจนระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล กฎหมาย PDPA ต่าง ๆ” 

การพัฒนาซอฟต์แวร์จะเป็นลักษณะแบบ End-to-End ตั้งแต่การพัฒนาระบบงานหน้าบ้านและหลังบ้าน การมองภาพรวมการเดินทางของลูกค้าต่อการใช้งานและมีปฏิสัมพันธ์กับสินค้าหรือบริการ (Customer Journey) ผ่านการพัฒนาแอปฯ เพื่อให้ลูกค้าได้รับทั้งประสบการณ์การใช้งานที่ดี (User Experience-UX) การออกแบบให้ใช้งานง่าย (User Interface-UI) ไปจนถึงการนำแอปพลิเคชันขึ้นสู่ระบบเพื่อส่งต่อการใช้งานจริง และการดูแลซ่อมบำรุงระบบ 

“ความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัลทำให้เราช้าไม่ได้ เราเคยเจอลูกค้าบางรายต้องการให้พัฒนาแอปพลิเคชันด้วยงบประมาณเท่านี้ให้เสร็จ พร้อมทดสอบและส่งมอบการใช้งาน (Minimal Viable Product-MVP) แบบเร็วสุดคือ 4 เดือน ซึ่งเป็นการวัดขีดความสามารถขององค์กรในเชิงการจัดการรายได้ และองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีที่แม่นยำของทีมงาน” 

การเติบโตไปเป็น Tech Company ที่ครบเครื่องจึงต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ “เทคโนโลยี” ที่ต้องตามให้ทัน “บุคลากร” ที่ต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และ “กระบวนการทำงาน” ที่ต้องไขน็อตให้เหมาะกับปัญหาหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง

เก็บตกทุกความต่างทางเทคโนโลยี

จุดพลิกผันของการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่พอแบ่งได้เป็น 2 ช่วง คือ ยุคของซอฟต์แวร์ที่เขียนมาสำหรับทำงานผ่านเว็บไซต์หรืออินเทอร์เน็ต หรือ “Web-based ” ที่ไม่ว่าลูกค้าต้องการแบบไหน นี่คือสิ่งที่องค์กรมีให้ แต่ในยุค Digital Transformation การพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นแบบ “Application-based” ที่ทำงานผ่าน Mobile Devices ซึ่งมีมากเป็นหมื่น ๆ แอปพลิเคชันบนแอปสโตร์ อีกทั้งแนวคิดของการพัฒนาแอปฯ ที่เปลี่ยนจาก “ทำไปอย่างไรก็มีคนใช้” กลายเป็น “ทำแล้วจะมีคนใช้หรือเปล่า” เพราะผู้ใช้บางรายอาจจะโหลดแอปฯ ลงมาใช้งานแค่ 3 นาทีก็ลบทิ้ง เพราะหากคลิกแค่ 3 ครั้งแล้วไม่ชอบ หรือใช้ยาก ผู้ใช้งานมักจะลบแอปฯ นั้นทิ้ง 

เมื่อเป้าหมายการพัฒนา คือ ทำอย่างไรให้ลูกค้าติดใจ และอยู่กับแอปพลิเคชันไปยาว ๆ จึงไม่ใช่การยืนอยู่กับที่แล้วรอลูกค้าเข้ามา แต่ต้องเริ่มต้นเข้าหาความต้องการของลูกค้าก่อน และไม่คิดว่าแอปพลิเคชันนี้ใช้กับลูกค้าได้ทุกกลุ่ม แต่ต้องลงลึกถึงบุคลิกลักษณะของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแต่ละกลุ่ม ทำการวิเคราะห์ความต้องการอย่างจริงจัง เพื่อให้การพัฒนาฟีเจอร์การทำงาน หน้าตาของแอปพลิเคชัน ประสบการณ์ที่ดีที่ต้องการส่งมอบนั้น เป็น “ใครกันแน่ที่ต้องการ ใครกันแน่ที่ยอมจ่าย” และด้วยความที่เทคโนโลยีไม่เหมือนเดิม เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ภาษาโปรแกรม เช่น JAVA  ที่มีการใช้งานกันยาว ๆ เป็นสิบปี ซึ่งต่างจากภาษาเกิดใหม่หรือเทคโนโลยีบางตัวที่มาไวไปไว จึงเป็นสิ่งที่ต้องชั่งใจให้ดีว่า ภาษานี้ควรเรียนรู้หรือไม่ ควรทุ่มบุคลากรไปกับเทคโนโลยีนี้หรือเปล่า เพราะบางตัวมีอายุงานแค่ 5 ปี ลูกค้าก็เลิกใช้แล้ว 

“ผมเคยพัฒนาแอปพลิเคชันให้กับธุรกิจบันเทิง โดยต้องทำให้ลูกค้าอยากใช้เวลาไปกับการใช้งานแอปพลิเคชันของเราให้มากที่สุด แต่ทำอย่างไรถึงจะแย่งเวลาจากเฟซบุ๊ก เกม ยูทูป หรือแอปฯ บันเทิงอื่น ๆ ที่เขาชอบ เราจึงต้องเข้าถึงลูกค้าและเข้าใจว่า เขาเหมาะกับเทคโนโลยีแบบไหน ภาษาแบบนี้เหมาะกับการพัฒนางานแบบไหน เพราะทุกอย่างที่พูดมาคือ การลงทุนทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น เงิน เวลา และกำลังคนในการเรียนรู้และพัฒนา ซึ่งผมเองมีทีมงานในการจับตาความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีตลอดเวลา”

ครบเครื่องคนเก่งเทคฯเก่งการจัดการ

การขาดแคลนบุคลากรไอทีเป็นโจทย์ใหญ่ขององค์กรในทุกยุคทุกสมัย แม้กระทั่ง Bluebik Vulcan ซึ่งมีทีมงานร่วม 300 คน และอยู่ในสายงานเทคโนโลยี เช่น นักพัฒนา นักวิเคราะห์ซอฟต์แวร์ นักวิเคราะห์ธุรกิจ และผู้จัดการโครงการมากถึง 90% ก็ยังไม่พอ หนำซ้ำในตลาดงานยังมีการแย่งตัวกันหนักมาก ดังนั้น แนวทางการพัฒนาคน คือ การทำงานร่วมกับทางมหาวิทยาลัยในการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและประสบการณ์จริงไปถ่ายทอด การรับนักศึกษามาฝึกงานราว 4-6 เดือน เพื่อจับมือสอนตั้งแต่เริ่มต้นจนสามารถพัฒนาแอปพลิเคชัน และรับเข้าทำงานหลังเรียนจบ เนื่องจากมีการเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องทักษะและเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานขององค์กร 

แต่สิ่งที่ท้าทายมากที่สุด คือ ทักษะการบริหารจัดการความต้องการของลูกค้า เพื่อให้การพัฒนาแอปพลิเคชันออกมาโดนใจ ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และมุมมองจากรุ่นพี่ในการเติมเต็มและขัดเกลา เช่น เทคนิคในการเจรจากับลูกค้าอย่างไร ทักษะในการเก็บข้อมูลความต้องการลูกค้าให้ครบถ้วนตรงใจของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปฏิบัติการ หัวหน้างาน หรือผู้บริหาร ตลอดจนทักษะการบริหารจัดการโปรเจกต์ และปิดงาน 

“ตอนทำงานเป็นนักพัฒนาอาวุโสที่เอ็มเฟคใหม่ ๆ รุ่นพี่จะพาผมไปเจอลูกค้า ไปดูวิธีคุยงาน สักพักก็ส่งไปคุยกับลูกค้าและปิดงานเอง ทำให้ได้รับประสบการณ์ตรงเรื่องการเก็บความต้องการของลูกค้าที่ต้องรอบด้าน เราคุยกับฝ่ายปฏิบัติการดิบดี พอทำงานไปเสนอ หัวหน้างานกลับเห็นต่างกัน ต้องเสียเวลาแก้ไขใหม่ เราจึงไม่ควรสันนิษฐานเอาเองว่าทุกฝ่ายจะเข้าใจตรงกันหรือเห็นเหมือนกัน  เหล่านี้คือความรู้ที่อยากถ่ายทอดให้น้อง ๆ ยิ่งถ้าสามารถโคลนนิ่งความรู้ทั้งหมดในตัวเราส่งต่อให้รุ่นน้องได้ก็ยิ่งดี”

แม้ Bluebik Vulcan จะได้ชื่อว่า เป็นผู้ให้บริการด้านไอทีครบวงจร หรือ SI ซึ่งเป็นคำที่ “ฟังดูไม่เซ็กซี่ แต่ตลาดกลับมีความร้อนแรง” ยิ่งในยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันที่เทคโนโลยีแทบจะฝังตัวเข้าไปเกือบทุกช่วงเวลาของชีวิต ความสนุกที่ได้รับจากการทำงานในวงการ SI  คือ การที่มีองค์ความรู้และการทำงานกับเทคโนโลยีที่เปิดกว้างหลากหลายไปในแทบทุกอุตสาหกรรม 

บรรยากาศการทำงานแบบครอบครัว สิทธิประโยชน์ที่คุ้มค่ากับความเหนื่อย การจัดกลุ่มพูดคุยทานอาหารหลังเลิกงานทุกวันอังคารสลับกันไป เพื่อสอบถามและรับฟังปัญหา ช่วยแชร์ความคิดและเสนอความช่วยเหลือแบบพี่แบบน้อง ล้วนอยู่บนหลักคิดที่ว่า “เราทำงานกับน้อง ๆ เหล่านี้ ไม่ใช่แค่เพราะอยากได้ Source Code จากเขา หรืออยากได้แค่ชิ้นงานของเขา แต่เราอยากเห็นพวกเขาพัฒนาและเติบโตในองค์กรไปเป็นรุ่นพี่ หัวหน้าทีมทำงาน ผู้จัดการ ผู้อำนวยการ” เพราะเด็กรุ่นใหม่บางคนอาจสนใจเฉพาะงานที่ตัวเองทำ โดยลืมมองถึงการเติบโตไปกับองค์กรในมิติอื่น ๆ เพื่อปูทางความมั่นคงในสายอาชีพนี้ต่อไปในอนาคต 

สำหรับสิ่งที่หายไปและต้องเติมให้เต็ม คือ ศักยภาพของน้อง ๆ ในการเข้าใจกระบวนการจัดกระบวนการทางธุรกิจ เรื่องของบิสซิเนสโดเมน (Business Domain) ต่าง ๆ เพื่อให้การพัฒนาแอปพลิเคชันมีเอกลักษณ์และตรงโจทย์ธุรกิจให้มากที่สุด

“ผมว่าเด็กรุ่นนี้อาจโชคร้ายหน่อยที่เกิดมาในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก แต่ความโชคดีคือ การเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายและมีศักยภาพในการตามทัน การแลกเปลี่ยนมุมมองและวิสัยทัศน์กับน้อง ๆ ทำให้เรามีส่วนช่วยเติมเต็มซึ่งกันและกัน เวลาที่ผมเกษียณหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จะได้มีคนรุ่นต่อไปมารับช่วงต่อ ซึ่งไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อการเติบโตของกำลังพลด้านไอทีให้พร้อมต่อการพัฒนาประเทศด้วย”

ไขน็อตกระบวนการทำงาน

ในโลกที่เทคโนโลยีเกิดขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลา การตามทันเทคโนโลยีว่ายากแล้ว แต่ยังไม่ยากเท่าการจำแนกให้ได้ว่า เทคโนโลยีนี้ควรใช้กับใคร ใช้ทำอะไร และทำอย่างไร เมื่อทำแล้วสามารถสร้างประโยชน์อย่างไร ขณะเดียวกัน กำลังคนที่จ้างมาแล้วก็ต้องรับผิดชอบในการพัฒนาให้เติบโต และส่งเสริมศักยภาพของพวกเขาอย่างเต็มที่ เพราะยิ่งมีมาก ลูกค้าก็ยิ่งได้ประโยชน์ 

เขาใช้วิธีบริหารจัดการทีมในรูปแบบ “สควอด (Squad)” โดยมีหัวหน้าและทีมงานในการรับผิดชอบหน่วยธุรกิจ (ไม่นับรวมส่วนงานจัดการทั่วไป) ทั้งหมด 8 หน่วยธุรกิจ แบ่งเป็น 2 แกนหลัก คือ แกนเทคโนโลยี เช่น กลุ่มเว็บ กลุ่มโมไบล์ และแกนประเภทลูกค้า เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคาร

โดยแต่ละหน่วยจะบริหารเสมือนเป็นสตาร์ตอัพภายใต้ Bluebik Vulcan มีความเป็นเจ้าของหน่วยธุรกิจที่ต้องบริหารเรื่องการพัฒนางาน ตัวเลขรายได้ กำไร และค่าใช้จ่ายของตัวเอง โดยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริหารไปตามสถานการณ์ เช่น การสลับสับเปลี่ยนเอาแกนเทคโนโลยีนำบ้าง แกนลูกค้านำบ้าง เพื่อให้เกิดพลวัตการขับเคลื่อนทางธุรกิจมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีหนึ่งตัวอาจจะขายลูกค้าได้หลายกลุ่ม อย่างแอปพลิเคชันบนโมไบล์ที่เคยขายกลุ่มลูกค้าการเงิน เมื่อตลาดกลุ่มนี้เริ่มนิ่งหรือมีความต้องการลดลง ก็อาจโยกไปทำตลาดกลุ่มลูกค้าพลังงาน เป็นต้น

รวมถึงการนำ “ข้อมูล” มาเสริมการขับเคลื่อนการบริหารองค์กรนอกเหนือจากการใช้ความรู้สึก ประสบการณ์ หรือความเก๋าเพียงอย่างเดียว ปัญญาบอกว่า ไม่วันใดก็วันหนึ่งองค์กรควรอยู่ด้วยการใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ปัญหา ความยากง่าย และความเป็นไปได้ของงานแต่ละโปรเจกต์ รวมถึงการประเมินศักยภาพของบุคลากรต่อการทำงานและความสำเร็จในโปรเจกต์ต่าง ๆ เพราะในวันที่บริษัทยังเล็ก มีงานและคนที่ต้องดูแลไม่มาก ยังพอมองเห็นภาพรวม แต่เมื่อเพิ่มเป็นคน 200 – 300 คน ภาพที่เคยมองเห็นก็อาจจะเบลอและยากขึ้น 

“องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลต้องเกิดขึ้นที่ตัวเราก่อนจึงจะนำไปอิมพลิเมนต์ต่อให้ลูกค้า ผมมองว่าก้าวต่อไปของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ยังไงก็ต้องใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์และทำนายผล การนำเสนอโซลูชันหรือแอปพลิเคชันจึงต้องพ่วงการจัดการข้อมูลที่ชาญฉลาดไว้ด้วย เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูง”

ตัวตนคนไม่เก่ง

“ผมไม่ได้โตมาแบบคนที่เก่งมาก แต่ผมโตได้เพราะการพัฒนาตัวเองและองค์กรให้โอกาส”

เด็กสวนกุหลาบอย่างปัญญาที่บอกว่าตัวเองเป็นเด็กเกรดซี เล่าให้ฟังว่า ตัวเองเรียนจบสถิติประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ต่อด้วยปริญญาโทด้านวิทยาการสารสนเทศ (Information Science) การเรียนสถิติทำให้เข้าใจกระบวนการทำงาน เข้าใจเรื่องการอ่านตัวเลข จนทะลุมาทำเรื่องการเขียนโปรแกรม และเริ่มการทำงานครั้งแรกที่บริษัทสตาร์ตอัพแห่งหนึ่งที่มีทุนมาทำธุรกิจในไทย ในตำแหน่งโปรแกรมเมอร์เขียนภาษา JAVA ธรรมดา ๆ

พอปี 2546 จึงลาออกไปทำงานที่เอ็มเฟค กรุ๊ป ในตำแหน่งนักพัฒนาอาวุโส ขยับขยายไปสู่นักวิเคราะห์ซอฟต์แวร์ และเป็นหัวหน้าทีมพัฒนา จากนั้นก็ลาออกไปทำงานที่บริษัท ธอมสัน รอยเตอร์ ราวปี 2551 และกลับไปทำงานที่เอ็มเฟคอีกครั้งในตำแหน่ง Deputy Project Director เมื่อปี 2554 จนมาถึง Bluebik Vulcan ในปัจจุบัน

ตอนอยู่ธอมสัน รอยเตอร์ นับเป็นโอกาสของการเปิดหูเปิดตาในการเรียนรู้กระบวนการจัดการทำงานของบริษัทระดับโกลบอล รวมถึงการแยกแยะและวิเคราะห์ปัญหาได้ดีขึ้น เพราะตอนที่ยังเด็ก เขามักจะมองปัญหาแบบรวม ๆ แต่การทำงานที่ธอมสัน รอยเตอร์ สอนให้เขาต้องแยกปัญหาออกมาแล้วแก้ทีละจุด เพื่อไม่ให้ปัญหานั้นย้อนกลับมาอีก หรือแก้แล้วไม่ไปสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น ไม่งั้นจะทับถมไปเรื่อย ๆ

เขากล่าววา ทักษะความสามารถของน้อง ๆ ที่ร่วมงานกันมา เมื่อเทียบกับธอมสันก็ไม่ได้ต่างกันมาก เพียงแต่ต้องปรับความคิดและการทำงานบางอย่าง เพื่อก้าวสู่การทำงานที่ทัดเทียมระดับอินเตอร์มากขึ้น

“พี่เล้ง – ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร CEO เอ็มเฟค เคยสอนผมเรื่องของ “การรักษาสมดุล” ให้รอบด้าน ทั้งการทำงาน การดำเนินชีวิต เทคโนโลยี ผู้ร่วมงาน ลูกค้า สิทธิประโยชน์ต่างๆ เราต้องพยายามขึงเชือกเพื่อให้แกนทุกแกนอยู่ได้ในตำแหน่งที่ดี ที่สมดุลกัน และที่สำคัญต้อง “รู้จักให้ รู้จักรับ (Give and Take) ”

ส่วนความเชี่ยวชาญแบบเป็ดที่เขาให้นิยามตัวเองไว้ว่า “อยากเป็นเป็ดที่เก่งที่สุด” ด้วยการพร้อมเปิดรับข้อมูลและการทำงานที่สดใหม่ไปกับโลกที่เปลี่ยนแปลงทุกวันแบบ 360 องศา ทำให้สามารถสื่อสารพูดคุยกับทุกคน ทุกที่ ในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง

“ผมอยู่กับ Mobile Banking  มาสิบกว่าปี ถ้ารวมยุคที่ทำเอทีเอ็ม ซิมด้วย คืออยู่กับสิ่งนี้มายาวนานมาก เป็นการลงทุนเวลาชีวิตที่ผมภูมิใจกับตรงนั้น เพราะทำให้เราต่อยอดความรู้และธุรกิจจนเติบโตมาถึงปัจจุบัน รวมถึงน้อง ๆ ที่ร่วมสร้างทีมกันมาตั้งแต่มีคนไม่ถึงร้อยจนมาเป็น 300 กว่าคนในวันนี้ ผมสามารถทำให้เขามีเส้นทางอาชีพที่เติบโตมากขึ้นในสายการพัฒนาและไปต่อได้ในสายงานการเป็นที่ปรึกษา ในมุมของลูกค้า ผมอยากทำให้ Bluebik Vulcan เป็นที่เชื่อมั่นไว้วางใจ รวมถึงการสร้างงานที่มีคุณภาพเพื่อนำพาพวกเขาไปสู่เป้าหมาย”

เทคโนโลยีกับสมดุลชีวิตและการเรียนรู้

ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเป็นสิ่งที่พูดถึงกันมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี และสิ่งนี้ถูกใช้ไปในการสร้างรูปแบบบริการต่าง ๆ แต่หลังจากนี้คือการต่อยอดเทคโนโลยีดิจิทัลให้มีความชาญฉลาดมากขึ้น (Digital Intelligence) ด้วย “ข้อมูล” ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการใช้งานแอปฯ ต่าง ๆ ของผู้ใช้งาน การเก็บประสบการณ์ของผู้ใช้ที่ผ่านมา เพื่อให้องค์กรรู้ใจลูกค้ามากขึ้นและสามารถผลิตสินค้าและบริการในแบบที่ “เรารู้นะว่าคุณกำลังคิดอะไรอยู่”  ส่วนการจะทำให้ข้อมูลมีประสิทธิผลได้ระดับนี้ จำต้องใช้ AI เข้ามาต่อยอด ซึ่งต้องเป็นการจับคู่ข้อมูลและแอปพลิเคชันที่ใช้งานอย่างเหมาะสม และต้องไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

“แต่คำถาม คือ เราจะเชื่อ AI อย่างเดียวแน่เหรอ แล้วสุดท้าย AI  ทำให้เรากลายเป็นมนุษย์ที่คิดน้อยลงหรือเปล่า”

เขาเชื่อว่า ยุคของ AI Revolution คงเกิดขึ้น แต่ใช่ว่าทุกคนจะใช้ AI ในการตอบโจทย์โลกใบนี้ทั้งหมด ในกลุ่มนักคิดนักพัฒนาเราอาจพ้นจากการครอบงำของ AI ไปได้ แต่ในมุมของลูกค้าหรือผู้บริโภคอาจถูก AI ครอบงำ เปรียบเทียบง่าย ๆ กับการขับรถโดยใช้แผนที่ Google Map อาจทำให้เรามองข้ามตัวเลือกอื่นที่อยู่ข้างทาง หรือเลือกที่จะไม่เปลี่ยนเส้นทาง ซึ่งต้องกลับไปนึกถึงคำว่า “สมดุล” ที่พูดถึงข้างต้น เช่น เราใช้ AI เป็นไกด์ไลน์ได้นะ แต่ก็ต้องเชื่อตัวเองบ้างในบางครั้ง และลองมองหาเส้นทางอื่นในการดำเนินชีวิตบ้าง เพื่อให้โลกความจริงไม่ไร้สีสันจนเกินไป

ส่วน Bluebik Vulcan เองก็จะทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนโครงสร้างและการปฏิบัติงานในทุกมิติ เพื่อติดอาวุธประเทศและองค์กรธุรกิจไทยให้มีศักยภาพในการสู้ศึกดิจิทัลไร้พรมแดนทั้งปัจจุบันและอนาคต

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เมื่อยุคของ Web 3.0 มาถึง โลกเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คุณคิด

‘ปิยธิดา ตันตระกูล’ ขายไอที ซีเคียวริตี้ ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ให้ลูกค้าเชื่อใจ

เรดดี้แพลนเน็ต ตำนาน ‘เว็บสำเร็จรูป’ 22 ปี แห่งความท้าทาย สู่เส้นทางโตยั่งยืน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ